อัจฉริยปัจจัย : พันธุกรรมและ/หรือสภาพแวดล้อม





เราใช้ตัววัดอะไรในการบอกความสามารถระดับอัจฉริยะของคน คะแนนสอบ คะแนน IQ หรือปริญญา นักจิตวิทยาได้รู้มานานแล้วว่า คะแนนหรือกระดาษใบดังกล่าวไม่สามารถชี้บอกความสามารถระดับอัจฉริยะได้ เพราะการสอบส่วนใหญ่เป็นการทดสอบความสามารถในการวิเคราะห์และสังเคราะห์ด้วยกระดาษและปากกา ในช่วงเวลาสั้นๆ ในเมื่อความเป็นอัจฉริยะของคนมีหลายรูปแบบ เช่น ความสามารถด้านดนตรี วาดรูป ด้านการประพันธ์หรือประดิษฐ์และผลงานประเภทนี้ต้องใช้เวลาในการสร้างสรรค์นาน ดังนั้นข้อสอบทั่วไปจะไม่สามารถวัดความสามารถระดับอัจฉริยะของคนที่มีพรสวรรค์ด้านนี้ได้เลย


นักจิตวิทยาจึงได้พยายามตอบคำถามว่า อัจฉริยปัจจัยมีอะไรบ้าง การที่ใครจะเป็นอัจฉริยะได้ต้องมีพรสวรรค์หรือพรแสวงกันแน่ หรือทั้งสองอย่าง


Thomas Edison นักประดิษฐ์เอกของโลก ผู้ประดิษฐ์หลอดไฟฟ้า เครื่องฉายภาพยนต์ ฯลฯ ได้เคยกล่าวว่า ใครก็ตามสามารถเป็นอัจฉริยะได้หากคนคนนั้นมีความพยายาม 99% และพรสวรรค์ 1% ตัวเลข 99% นักจิตวิทยาปัจจุบันไม่เห็นด้วย เพราะคิดว่าปัจจัยด้านพันธุกรรม สรีระ และการฝึกฝนอย่างจริงจังก็มีบทบาทไม่น้อย ในการที่จะทำให้คนคนหนึ่งประสบความสำเร็จสูงสุด นอกจากนี้นักจิตวิทยาแทบทุกคนก็ยังมีความเห็นว่า คนที่จะเป็นอัจฉริยะได้จะต้องมียีน (gene) อัจฉริยะในตัว และถ้าไม่มียีนนี้ ถึงจะพยายามสักเพียงใดเขาก็ไม่มีวันจะไปถึงดวงดาว


ซึ่งเราทุกคนก็คงเห็นด้วยว่า ความพยายามแต่เพียงอย่างเดียวถึงให้บวกแรงจูงใจแล้วเสริมด้วยแรงผลักดันสักปานใด เราก็ไม่มีวันที่จะแต่งซิมโฟนีได้ไพเราะและลึกซึ้งเหมือน Beethoven เราก็ไม่มีความสามารถจะเตะลูกฟุตบอลได้ดีและน่าอัศจรรย์เหมือน Pele และถึงแม้จะให้นั่งทำงานกับ Einstein และให้ Einstein สอนและฝึกนานสักปานใด เราก็ไม่มีวันจะพบทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป และเราก็รู้อีกว่าโลกมีคนนับล้านที่ได้เคยเห็นผลไม้ตกจากต้นก่อน Newton แต่ก็มี Newton เท่านั้นที่รู้ว่า การที่เป็นเช่นนี้เพราะแอปเปิลถูกโลกดึงดูด ซึ่งการ "ตรัสรู้" เช่นนี้ไม่ได้มาจากการฝึกฝนแต่อย่างใด
แต่การที่จะสรุปฟันธงลงไปว่ายีนอัจฉริยะต้องมีอยู่ในคนคนนั้น เขาจึงจะเป็นอัจฉริยะได้ และคิดว่าสภาพแวดล้อมไม่มีบทบาทเลยนั้นก็ไม่ถูก เพราะนั่นก็เหมือนกับการสรุปว่า คนดำเท่านั้นที่สามารถวิ่งได้เร็ว หรือคนขาวเท่านั้นที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ได้ เพราะ Roger Bannister ผู้พิชิตระยะทาง 1 ไมล์ได้ภายในเวลาน้อยกว่า 4 นาทีเป็นคนขาวหาใช่คนดำ และ Hideki Yukawa นักฟิสิกส์รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์เป็นคนญี่ปุ่นที่ไม่ใช่คนขาว เป็นต้น


Anders Ericsson นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย Florida State ในสหรัฐอเมริกา เป็นนักวิชาการผู้หนึ่งที่สนใจใฝ่รู้ในเรื่องนี้ เขากลับเชื่อว่าใครก็ตามสามารถจะแสดงความเป็นอัจฉริยะได้ หากได้รับการฝึกฝนอย่างจริงจังเป็นเวลานานอย่างน้อย 10 ปี โดย Ericsson ได้อ้างว่า Mozart ก็ไม่สามารถจะเป็น Mozart ที่โลกยอมรับได้ หากไม่ได้รับการฝึกฝนหนักตั้งแต่เด็ก


แต่โลกก็มีตำนานมากมายที่กล่าวถึง บุคคลระดับอัจฉริยะ เช่น Gauss ผู้เป็นนักคณิตศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของโลกว่า สามารถเรียนรู้คณิตศาสตร์ประเภทบวกลบได้ด้วยตนเองก่อนเข้าโรงเรียน หรือ Mozart เองก็สามารถจะเล่นดนตรีได้ก่อนที่จะมีครูสอน เป็นต้น ซึ่งตัวอย่างทั้งสองนี้ขัดแย้งกับทฤษฎีของ Ericsson แต่ Ericsson ก็ได้ชี้ให้เห็นว่า ตัวอย่างที่ยกมากล่าวถึงนี้เป็นตำนาน ที่อาจปราศจากมูลความจริง ดังนั้น Ericsson จึงมีความเห็นว่า ในการที่จะศึกษาค้นหาอัจฉริยปัจจัย เราควรสนใจศึกษาจากบุคคลปัจจุบันที่กำลังมีชีวิตอยู่ในขณะนี้มากกว่า


Ericsson ไม่เชื่อเรื่องพรสวรรค์ แต่เขาเชื่อว่า อัจฉริยชนเป็นบุคคลพิเศษที่สามารถใช้สมองส่วนที่ทำหน้าที่บันทึกความจำระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่ง ซึ่งความทรงจำชนิดนี้เป็นปัจจัยที่จำเป็นมากในการทำงานระดับสูง


เมื่อเร็วๆ นี้ N.Tzourio - Mazoyer แห่งมหาวิทยาลัย Caen ในฝรั่งเศสได้วัดคลื่นสมองของเด็กอัจฉริยะที่มีความสามารถทางคณิตศาสตร์ ขณะคำนวณและเขาก็ได้พบว่าเด็กคนที่ชื่อ Rudiger Gamm สามารถคำนวณรากที่ห้าของเลขสิบหลักได้โดยใช้เวลาไม่ถึง 1 นาที และคำนวณคำตอบของเลขสองหลักที่ยกกำลังเก้าได้โดยใช้เวลาไม่ถึงนาทีเช่นกัน หรือเมื่อถูกบอกให้หารเลขจำนวนหนึ่งด้วยเลขอีกจำนวนหนึ่ง Gamm ก็สามารถให้คำตอบที่มีเลขทศนิยมถึง 60 ตำแหน่งได้ในทันทีทันใด ซึ่งผลการศึกษาของ Tzourio - Mazoyer นี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Nature Neuroscience ประจำเดือนมกราคม ปี พ.ศ.2543 จึงถือได้ว่างานวิจัยของ Tzourio - Mazoyer เป็นความพยายามครั้งแรกของนักวิทยาศาสตร์ในการศึกษาสมองของอัจฉริยะขณะทำงาน




เทคนิคที่ Tzourio - Mazoyer ใช้ในการศึกษาเรื่องนี้มีชื่อเรียกว่า positron emission tomograph หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า PET เธอได้พบว่าขณะคำนวณตัวเลข Gamm ใช้พื้นที่ของสมองมากกว่าคนปกติ ในขณะที่คนปกติใช้สมองประมาณ 12 ส่วน แต่ Gamm ใช้สมองมากกว่าคนปกติอีก 5 ส่วน ซึ่งสมอง 5 ส่วนที่เกินนี้เป็นสมองส่วนที่ทำงานด้านการบันทึกความทรงจำระยะยาว


ดังนั้น จึงดูเหมือนว่า Gamm ต้องใช้สมองส่วนนี้จึงทำงานได้เร็วและถูก และนั่นก็หมายความว่ากรณีของ Gamm คือประจักษ์หลักฐานที่ได้ชี้ให้เห็นว่า ความคิดของ Ericsson ถูก เพราะ Ericsson เชื่อว่าการมีความทรงจำระยะยาวที่ประเสริฐเป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้คนเป็นอัจฉริยะ และปัจจัยสำคัญนี้สามารถทำให้เกิดในบุคคลได้ หากคนคนนั้นมีความเพียรพยายามและได้รับการฝึกฝนอย่างดีและเพียงพอ


เมื่อประมาณ 20 ปีก่อนนี้ Ericsson ได้เคยทดสอบทฤษฎีของเขา โดยการนำเด็กนักเรียนที่มีความจำและความสามารถระดับธรรมดามาฝึกให้เป็น "อัจฉริยะ" โดยให้จดจำตัวเลข ตามปกติคนทั่วไปมักจดจำตัวเลขได้ 7 หลัก แต่ถ้าได้รับการฝึกเป็นอย่างดีนานถึง 1 ปี บุคคลที่ Ericsson นำมาทดลอง ก็จะสามารถจำตัวเลขที่มีตั้งแต่ 80-100 หลักได้อย่างสบายๆ นั่นคือ Ericsson ได้ประสบความสำเร็จในการทำคนธรรมดาให้มีความสามารถระดับ "อัจฉริยะ" ได้โดยการฝึกแต่เพียงลูกเดียว โดยไม่ต้องพึ่งพาอาศัยพรสวรรค์แต่อย่างใด


Elton Winner นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย Boston เป็นอีกบุคคลหนึ่งที่สนใจศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความสำเร็จในการเรียนกับการมีความสามารถระดับอัจฉริยะ และเธอก็ได้พบว่าจะมีก็แต่เด็กที่มีความทะเยอทะยานสูงเท่านั้น ที่สามารถทนภาวะกดดันและกระบวนการฝึกฝนที่ทารุณได้ ดังนั้นถ้าเด็กคนนั้นฟันฝ่าอุปสรรคเหล่านี้ได้ เขาจึงจะมีสิทธิประสบความสำเร็จสูงสุด และ Ericsson ก็ยอมรับว่าการที่เด็กจะอดทนต่อการฝึกฝนอย่างทารุณได้ เด็กจะต้องมียีนในร่างกายที่ช่วยให้เขาสามารถยืนหยัดต่อสู้กับความกดดันทั้งหลายได้ เขาจึงจะเป็นอัจฉริยะได้


ดังนั้น เราจึงอาจกล่าวได้ว่า ถึงแม้โลกจะไม่มีผู้ใดเป็นอัจฉริยะมาตั้งแต่เกิด แต่โลกก็สามารถมีอัจฉริยะได้ หากคนคนนั้นมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มีความสามารถมากพอประมาณ และมีความอดทนในการที่จะฝึกฝนตนเองอย่างหนักและนาน
ส่วน Dean Simonton แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียที่ San Diego นั้น เชื่อว่า ยีนอัจฉริยะคือปัจจัยสำคัญ และเขาได้เรียบเรียงหนังสือเล่มหนึ่ง ซึ่งกล่าวถึงนักจิตวิทยาระดับอัจฉริยะหลายคน สมาคม American Psychological Association มีกำหนดจะพิมพ์หนังสือของ Simonton ในปลายปีนี้ แต่ในหนังสือเล่มนั้นไม่มีการกล่าวถึง Ericsson ดังนั้น Ericsson จะต้องพยายามอีก 10 ปี เขาจึงจะได้เข้าไปอยู่ในทำเนียบนักจิตวิทยา โลกที่ Simonton จัด