ส่งดิสคัฟเวอรีคราวนี้ นาซาว่า "สวยสุดๆ"


บริเวณแหลมคานาเวอรัล (Cape Canaveral) มลรัฐฟลอริดา
เมื่อวันที่ 15 มี.ค.52 เวลา 19.43 น.




ส่งดิสคัฟเวอรีคราวนี้ นาซาว่า "สวยสุดๆ"



ส่งดิสคัฟเวอรีคราวนี้ นาซาว่า "สวยสุดๆ"




ส่งดิสคัฟเวอรีคราวนี้ นาซาว่า "สวยสุดๆ"





นาซาสุดประทับใจ ยานดิสคัฟเวอรีเที่ยวบินล่าสุดทะยานฟ้างดงาม สุกสว่างราวกับดาวฤกษ์บนท้องฟ้ายามราตรี ไม่ทำให้ผิดหวังแม้ถูกเลื่อนกำหนดมากว่า 1 เดือน 7 นักบินเตรียมติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์คู่สุดท้าย เพื่อขยายการรองรับลูกเรือบนสถานีอวกาศให้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวตั้งแต่เดือน พ.ค. เป็นต้นไป

องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ได้ฤกษ์ส่งยานอวกาศดิสคัฟเวอรี (Discovery) จากศูนย์อวกาศเคนเนดี (Kennedy Space Center) บริเวณแหลมคานาเวอรัล (Cape Canaveral) มลรัฐฟลอริดา เมื่อวันที่ 15 มี.ค.52 เวลา 19.43 น. ตามเวลาท้องถิ่นหรือตรงกับเวลา 06.43 น. ของวันที่ 16 มี.ค. ตามเวลาในประเทศไทย

ทั้งนี้ สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ภารกิจของดิสคัฟเวอรี เที่ยวบินเอสทีเอส-119 (STS-119) ในครั้งนี้ คือการนำชิ้นส่วนแผงโซลาร์เซลล์คู่สุดท้ายขึ้นไปติดตั้งบนสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station: ISS) เพื่อเตรียมขยายสถานีเป็น 2 เท่าในเร็วๆ นี้ พร้อมด้วยชิ้นส่วนอุปกรณ์อื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับสถานีอวกาศ

ไมค์ เลนแบช (Mike Leinbach) ผู้อำนวยการการปล่อยยานดิสคัฟเวอรี กล่าวว่าการทะยานฟ้าของดิสคัฟเวอรีในค่ำคืนนี้ สวยงามสมบูรณ์แบบอย่างมาก โดยเขากล่าวกับสื่อมวลชนว่าเขาเคยเห็นการปล่อยยานอวกาศมาแล้วนักต่อนัก แต่ครั้งนี้เป็นภาพที่สวยงามที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา โดยเฉพาะเมื่อยามที่ตัวยานต้องแสงอาทิตย์ สวยงามมากจริงๆ ซึ่งเอพีบรรยายความสวยงามของดิสคัฟเวอรีว่าราวกับดาวฤกษ์ส่องแสงสุกใส เป็นประกายสีชมพู พีช และทอง

อย่างไรก็ตาม นาซามีกำหนดปล่อยยานดิสคัฟเวอรีตั้งแต่ราวกลางเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา แต่เนื่องจากก่อนหน้าปล่อยยานเพียงไม่กี่วัน เจ้าหน้าที่ก็พบปัญหาถังเชื้อเพลิงรั่วซึม จึงจำเป็นต้องเลื่อนการเดินทางออกไปเพื่อซ่อมแซมและแก้ไขปัญหาดังกล่าวจนเรียบร้อยอย่างสมบูรณ์ และพร้อมปล่อยยานได้ในคืนวันที่ 15 มี.ค. ดังกล่าว หลังจากที่เลื่อนกำหนดเดินทางนับรวม 5 ครั้ง


ส่งดิสคัฟเวอรีคราวนี้ นาซาว่า "สวยสุดๆ"



ภารกิจสำคัญของลูกเรือดิสคัฟเวอรีในครั้งนี้คือการติดตั้งแผงโซลาเซลล์คู่ที่ 4 ซึ่งเป็นคู่สุดท้ายที่จะติดตั้งบนสถานีอวกาศนานาชาติ นับตั้งแต่มีการสร้างสถานีอวกาศแห่งนี้ขึ้นเมื่อปี 2541 และหลังจากนั้นสถานีอวกาศนานาชาติจะสามารถรองรับลูกเรือประจำการได้ถึง 6 คน ตั้งแต่เดือน พ.ค. เป็นต้นไป จากปรกติที่รองรับได้เพียง 3 คนเท่านั้น

สำหรับลูกเรือทั้ง 7 นาย ของยานดิสคัฟเวอรีเที่ยวบินนี้ประกอบด้วย ผู้บังคับการลี อาร์แชมโบลต์ (Commander Lee Archambault), โทนี แอนโตเนลลี (Tony Antonelli) นักบิน, จอห์น ฟิลิปส์ (John Phillips), สตีฟ สแวนสัน (Steve Swanson) รวมทั้ง โจเซฟ อคาบา (Joseph Acaba), ริชาร์ด อาร์โนลด์ ทู (Richard Arnold II) สองคุณครูวิทยาศาสตร์ที่ฝึกซ้อมเป็นนักบินอวกาศมานานถึง 5 ปี และโคอิชิ วาคาตะ (Koichi Wakata) นักบินจากองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่นหรือ แจกซา (Japan Aerospace Exploration Agency: JAXA) ซึ่งจะเป็นนักบินญี่ปุ่นคนแรกที่ขึ้นไประจำการบนสถานีอวกาศนานาชาติเป็นเวลา 3 เดือน โดยจะผลัดเปลี่ยนกลับแซนดรา แมกนัส (Sandra Magnus) นักบินสหรัฐฯ ที่จะกลับมาพร้อมกลับดิสคัฟเวอรี หลังประจำการอยู่บนไอเอสเอสมากว่า 4 เดือน

ลูกเรือของดิสคัฟเวอรีมีระยะเวลาปฏิบัติภารกิจจำนวน 13 วัน และต้องการเดินอวกาศจำนวน 3 ครั้ง จากเดิมที่กำหนดไว้ว่าต้องเดินอวกาศรวม 4 ครั้ง ในเวลาปฏิบัติภารกิจทั้งสิ้น 14 วัน แต่เนื่องจากดิสคัฟเวอรีออกเดินทางล่าช้ากว่ากำหนดกว่า 1 เดือน ประกอบกับรัสเซียจะส่งยานโซยุซ (Soyuz) ในวันที่ 26 มี.ค.นี้ จึงจำเป็นต้องลดเวลาปฏิบัติภารกิจของลูกเรือดิสคัฟเวอรีออก 1 วัน อย่างไรก็ดีนาซาเชื่อว่าการปรับเปลี่ยนกำหนดการต่างๆ นั้นไม่มีผลกระทบต่อการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์และภารกิจอื่นๆ แต่อย่างใด.




ส่งดิสคัฟเวอรีคราวนี้ นาซาว่า "สวยสุดๆ"



ส่งดิสคัฟเวอรีคราวนี้ นาซาว่า "สวยสุดๆ"