พระมัญชุศรีโพธิสัตว์

พระมัญชุศรีโพธิสัตว์


พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ เป็นพระโพธิสัตว์ในกลุ่มตถาคตโคตรของพระไวโรจนะพุทธะ ชื่อของท่านแปลว่า แสงอันอ่อนหวานหรืออ่อนโยน เป็นพระโพธิสัตว์ที่มีผู้นับถือในทิเบต รองลงมาจากพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ชื่อของท่านมีปรากฏในพระสูตรต่างๆมากมาย เช่น สัทธรรมปุณฑรีกสูตร ถือว่าเป็นพระโพธิสัตว์แห่งปัญญาและมีหน้าที่คุ้มครองนักปราชญ์

ในงานทางพุทธศิลป์ ท่านมักปรากฏคู่กับพระสมันตภัทรโพธิสัตว์ โดยพระมัญชุศรีอยู่บนสิงโตเขียวส่วนพระสมันตภัทรอยู่บนช้างสีขาวในทิเบต รูปของพระมัญชุศรีเป็นชายหนุ่ม อายุราว 16 ปี นั่งบนดอกบัว มือขวาถือพระขรรค์ มือซ้ายถือดอกบัว หรือคัมภีร์ใบลาน มีกายเป็นสีเหลือง ในจีน ท่านมีชื่อว่า "บุ่งซู้" มีลักษณะเป็นผู้ใหญ่มากกว่าภาพลักษณ์ในทิเบต


ปางดุ

รูปปั้นยมานตกะในพิพิธภัณฑ์ที่อังกฤษพระมัญชุศรีมีภาคสำแดงที่ดุร้ายหลายปางเช่น มัญชุวัชระ ซึ่งมี 3 หัว กายสีแดง อารยมัญชุโฆษะ กายสีเหลือง มี 6 แขน และยมานตกะเป็นต้น ในภาคดุร้ายนี้ ท่านมีศักดิ์ตามความนิยมของนิกายตันตระด้วย



ความเชื่อ
พระสูตรเริ่มกล่าวถึงพระมัญชุศรีตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 8 บางสำนักเชื่อว่าท่านจะปรากฏให้ผู้คนรับรู้ในความฝันเฉพาะเสียงเท่านั้น ถือว่าท่านเป็นพระโพธิสัตว์ที่เป็นเอกทางปัญญา เป็นเทพแห่งเกษตรกรรม วิทยาศาสตร์ โหราศาสตร์และสถาปัตยกรรม ชาวเนปาลเชื่อว่า พระมัญชุศรีเป็นผู้นำพุทธศาสนาไปเผยแพร่ในเนปาล

กำเนิดของมัญชุศรีโพธิสัตต์นั้น มีตำนานเล่ากันไปต่างๆนาๆที่เมืองจีนว่า เกิดจากพระนลาฎของพระศากยมุนีพุทธเจ้า ด้วยลำแสงที่พุ่งออกไปนั้นตัดต้นไม้ต้นหนึ่งที่ภูเขาอู่ไถ่ แล้วบังเกิดดอกบัวมารองรับพระมัญชุศรีขึ้นมา ดังนั้นพระโพธิสัตต์พระองค์นี้จึงไม่แปดเปื้อนครรภ์มลทินแต่อย่างไร

อีกเรื่องหนึ่งเล่าว่า คหบดีจีนท่านหนึ่ง ต้องการเลี้ยงพระทั้งวัดบนภูเขาอู่ไถ่ พระจึงชักชวนคนยากจนมารับทานด้วย เพราะพระโพธิสัตต์มัญชุศรีมักจะสอนเน้นให้คนทั้งหลายมีความเสมอกัน ไม่แบ่งแยกระหว่างคนรวยกับคนจน ไม่แบ่งแยกระหว่างพระกับฆราวาส ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงใคร่อยากรู้ใจมนุษย์ จึงจำแลงร่างเป็นหญิงขอทานที่กำลังตั้งครรภ์ คหบดีรำคาญใจมากที่เห็นชาวบ้านพวกนี้

เรื่องเล่าจากอินเดียว่า เมื่อครั้งที่พระศากยมุนีพุทธเจ้าจะเสด็จไปแสดงธรรมนั้น พระมัญชุศรีประกาศว่า ขอให้คอยสดับพระธรรมจากพระธรรมราชา (พระพุทธเจ้า) พระธรรมของพระธรรมราชาเป็นเช่นนั้นเอง เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาแล้วประทับ ณ พุทธอาสน์ ไม่ทรงแสดงธรรมอันใดเลย เพราะพระมัญชุศรีแสดงธรรมไปหมดแล้ว ทั้งสั้นและได้ใจความ " พระธรรมเป็นเช่นนั้นเอง "



ในประเทศธิเบตยังมีการสร้างภาคดุร้ายของพระมัญชุศรีด้วย ปางนั้นคือ ยมานตกะ โดยสร้างตำนานขึ้นสนับสนุนว่า พระมัญชุศรีลงไปยังยมโลก พระยมมีศีรษะเป็นกระบือ พระมัญชุศรีจึงต้องแปลงร่างเป็นเช่นนั้น เพื่อให้พระยายมกลัว

ทั้งที่พระยมเป็นเจ้าแห่งความตาย แต่ยังเกรงในพระบารมี จนแลเห็นความไม่สิ้นสุดของพระโพธิสัตต์พระองค์นี้ ชาวธิเบตนิยมเพ่งรูปยมานตกะเพื่อเอาชนะความตาย

นอกจากนี้ยังทรงแบ่งภาคออกเป็นปางต่างๆมากมาย อาทิ ธรรมธาตุวาคีศวร , ไภรวัชร , พระวัชรนังคอารยมัญชุโฆษ , พระยมานตกะ

มหาบุรุษโพธิสัตต์ที่ชาวธิเบตให้การยกย่องนั้นมี อวโลกิเตศวร , มัญชุศรีและวัชรปาณี ด้วยเหตุที่เป็นสัญลักษณ์ของกรุณา ปัญญาและพละ ตามรูปศัพท์แล้ว มัญชุศรี แปลว่า ผู้มีเสียงไพเราะ และมีความสามารถพิเศษในการเทศนาให้คนเกิดปัญญาได้

ตามคติในฝ่ายมหายานนั้น ยกย่องให้พระองค์เป็นพระโพธิสัตต์แห่งปัญญาและคุ้มครองนักปราชญ์ ทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของวิทยาศาสตร์ และการแสวงหาสัจจะทั้งปวง ด้วยเหตุนี้ การบูชาพระโพธิสัตต์พระองค์นี้ เพื่อให้ได้มาซึ่งความชาญฉลาด มีความจำดี และสามารถจดจำคัมภีร์ต่างๆได้อย่างแม่นยำ

พระโพธิสัตต์มัญชุศรีได้รับการยกย่องและนับถือกันมากในเมืองสารนาถ แคว้นมคธ เบงกอล เนปาลและธิเบต คัมภีร์ซึ่งทรงถือนั้นคือ ปรัชญาปารมิตา ซึ่งถือเป็นคัมภีร์ของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ที่จะมาตรัสรู้

พระนามของพระองค์ปรากฏครั้งแรกในคัมภีร์อมิตยุสสูตร เพราะพระองค์เป็นหัวหน้ากลุ่มพระโพธิสัตต์บนเขาคิชฌกูฎ และในคัมภีร์คัณฑวยุหสูตร กล่าวว่า ความยิ่งใหญ่ของพระองค์นั้นเทียบเท่ากับพระอวโลกิเตศวร ผู้ใดที่จะบรรลุพระสัมมาสัมพุทธะ ต้องได้รับการช่วยเหลือจากพระองค์เสียก่อน

เหตุที่ชาวเนปาลนับถือพระมัญชุศรีโพธิสัตต์ มีเรื่องบรรยายอยู่ในคัมภีร์สวยัมภูปุราณะว่า ราวศตวรรษที่ 8 พระโพธิสัตต์มัญชุศรีเดินทางจากเมืองจีน เพราะแต่เดิมนั้นทรงสถิตย์ ณ ยอดเขาโหงวไท้ซัว (ภูเขา 5 ยอด) แล้ววันหนึ่งพระองค์ทราบด้วยญาณทิพย์ว่า พระอาทิพุทธแบ่งภาคลงมาเป็นเปลวไฟบนดอกบัว ในทะเลสาปกาลีหรัท ที่เนปาล ดังนั้นพระองค์จึงเสด็จมาพร้อมด้วยสานุศิษย์ และสร้างวัดครอบไฟนั้นไว้ เรียกว่า สวยัมภูเจดีย์ ทั้งยังได้กำจัดสัตว์ร้ายที่ทะเลสาปนั้น และสถาปนาผู้ติดตามคือ พระเจ้าธรรมกรเป็นกษัตริย์ปกครองเนปาล

ท่านสงกะปะ อันเป็นต้นตอของนิกายแห่งองค์ทาไลลามะ ถือว่าเป็นนิรมาณกายของพระมัญชุศรีแบ่งภาคมาเกิด

พระมัญชุศรีโพธิสัตว์