พระพุทธรูปประจำวันอาทิตย์

พระพุทธรูปประจำวันเกิด

เป็นพระพุทธรูปปางถวายเนตร มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปยืน ลืมพระเนตร พระหัตถ์ทั้งสองประสานกันไว้ที่พระเพลา โดยที่พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย
พระพุทธรูปปางนี้มีที่มาจากการที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ณ ควงไม้ศรีมหาโพธิ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลคยาสีสะ ประเทศมคธ ในสมัยนั้น ซึ่งคือ พุทธคยาในปัจจุบัน เมื่อตรัสรู้แล้ว พระพุทธองค์ได้ทรงเปลี่ยนพระอริยาบท ประทับยืนเพ่งพระเนตร ไปยังพระโพธิบัลลังก์ ตลอดระยะเวลาเจ็ดวัน
ตามคติโบราณกำหนดให้มีคาถาบูชาพระพุทธรูปปางถวายเนตรนี้ เป็นคาถาพระยานกยูงทอง ที่มีมาในชาดก นอกเหนือจากทศชาติชาดก มีข้อความดังนี้

บทสวดบูชาประจำวันอาทิตย์
อุเทตะยัญจักขุมา เอกะราชา หะริสสะวัณโณ ปะฐะวิปปะภาโส
ตัง ตัง นะมัสสามิ หะริสสะวัณนัง ปะฐะวิปปะภาสัง
ตะยัชชะ คุตตา วิหะเรมุ ทิวะสัง เย พราหมะณา เวทะคุ สัพพะธัมเม
เต เม นะโม เต จะ มัง ปาละยันตุ นะมัตถุ พุทธานัง นะมัตถุ โพธิยา
นะโม วิมุตตานัง นะโม วิมุตติยา อิมัง โส ปะริตตัง กัตะวา โมโร จะระติ เอสะนา ฯ

พระอาทิตย์ผู้เป็นดวงตาของโลก ผู้ยิ่งใหญ่พระองค์นี้ เสด็จอุทัยขึ้นทรงพระรัศมีสีทองสาดส่องปฐพี ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าขอนมัสการพระอาทิตย์ผู้ทรงรัศมีสีทองสาดส่องปฐพีพระองค์นั้น พระองค์ได้คุ้มครองข้าพระองค์ในวันนี้แล้ว ขอให้ข้าพระองค์มีชีวิตยั่งยืนอยู่ตลอดวัน พระพุทธเจ้าเหล่าใดทรงรู้แจ้งธรรมทั้งปวง ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระพุทธเจ้าเหล่านั้น ขอพระพุทธเจ้าเหล่านั้น จงคุ้มครองข้าพเจ้า ขอนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้าผู้หลุดพ้นแล้ว ขอนอบน้อมแด่วิมุตติธรรม เมื่อนกยูงนั้นสาธยายพระปริตรอย่างนี้แล้ว จึงออกแสวงหาอาหาร


พระพุทธรูปประจำวันจันทร์

พระพุทธรูปประจำวันเกิด

เป็นพระพุทธรูปปางห้ามญาติ มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปยืน พระหัตถ์ซ้าย ทอดลงข้างพระวรกาย พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระ ฝ่าพระหัตถ์แบไปด้านหน้า แสดงกิริยาห้ามให้หยุด
พระพุทธรูปปางนี้ มีที่มาจากพุทธประวัติตอนหนึ่ง เป็นเหตุการณ์หลังจากที่ พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้แล้ว มีอยู่สมัยหนึ่งพระกษัตริย์แห่งโกลิยะวงศ์ ซึ่งเป็นพระประยุรญาติ ทางฝ่ายพระพุทธมารดา กับพวกกษัตริย์แห่งศากยวงศ์ ซึ่งเป็นพระประยูรญาติ ทางฝ่ายพระพุทธบิดา ต่างแย่งน้ำกัน โดยต่างฝ่ายต่างก็ให้ทดน้ำจากแม่น้ำโรหิณีเข้านาของฝ่ายตน เนื่องจากปีนั้นฝนน้อย น้ำไม่พอทำนา เกิดการวิวาทกันขึ้นจนถึงขึ้นใกล้จะทำสงครามกัน
พระพุทธองค์ทรงทราบด้วยพระญาณ จึงได้ทรงเสด็จไป ณ ที่ซึ่งทั้งสองฝ่ายเผชิญหน้ากัน และตรัสถามว่าวิวาทกันด้วยเรื่องอะไร ทั้งสองฝ่ายทูลตอบว่า วิวาทกันเรื่องน้ำ พระองค์จึงตรัสถามต่อไปว่า น้ำกับกษัตริย์ อย่างไหนสำคัญและจะมีค่ามากกว่ากัน ทั้งสองฝ่ายก็ทูลตอบว่า กษัตริย์สำคัญ และมีค่ามากกว่า พระพุทธองค์จึงได้เทศนาให้ทั้งสองฝ่ายฟัง เหตุการณ์จึงสงบลงได้ด้วยดี
ตามคติโบราณกำหนดให้มีคาถาบูชาพระพุทธรูปปางห้ามญาติ มีข้อความดังนี้

บทสวดบูชาประจำวันจันทร์

ยันทุนนิมิตตัง อะวะมังคะลัญจะ โย จามะนาโป สกุณัสสะ สัทโท ปาปัคคะโห ทุสสุปินัง อะกันตัง พุทธานุภาเวนะ วินาสะเมนตุ ฯ
ยันทุนนิมิตตัง อะวะมังคะลัญจะ โย จามะนาโป สกุณัสสะ สัทโท ปาปัคคะโห ทุสสุปินัง อะกันตัง พุทธานุภาเวนะ วินาสะเมนตุ ฯ
ยันทุนนิมิตตัง อะวะมังคะลัญจะ โย จามะนาโป สกุณัสสะ สัทโท ปาปัคคะโห ทุสสุปินัง อะกันตัง พุทธานุภาเวนะ วินาสะเมนตุ ฯ
ขอลางร้าย สิ่งที่เป็นอัปมงคล เสียงนกที่น่าหวั่นเกรง เคราะห์ร้าย และฝันร้ายที่ไม่ต้องการ จงพินาศไปด้วยพุทธานุภาพ
ขอลางร้าย สิ่งที่เป็นอัปมงคล เสียงนกที่น่าหวั่นเกรง เคราะห์ร้าย และฝันร้ายที่ไม่ต้องการ จงพินาศไปด้วยพุทธานุภาพ
ขอลางร้าย สิ่งที่เป็นอัปมงคล เสียงนกที่น่าหวั่นเกรง เคราะห์ร้าย และฝันร้ายที่ไม่ต้องการ จงพินาศไปด้วยพุทธานุภาพ


พระพุทธรูปประจำวันอังคาร
พระพุทธรูปประจำวันเกิด

เป็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์ มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปนอนตะแคงด้านขวา พระพาหาขวาวางอยู่บนพระเขนย พระหัตถ์หนุนพระเศียร พระหัตถ์ซ้ายวางทอดไปตามพระวรกาย พระบาทซ้ายวางอยู่บนพระบาทขวาเสมอกัน หลับพระเนตร เรียกว่า ท่าสีหไสยาสน์
พระพุทธรูปปางนี้มีที่มาจากพระพุทธประวัติตอนที่ พระพุทธองค์ใกล้จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ ใต้ควงไม้รัง เมืองกุสินารา เมื่อวันเพ็ญเดือนหก ดวงจันทร์เสวยวิสาขฤกษ์ พระพุทธองค์ทรงประทับนอนในอิริยาบทนี้
ตามคติโบราณกำหนดให้มีคาถาบูชาพระพุทธรูปปางไสยาสน์ มีข้อความดังนี้

บทสวดบูชาประจำวันอังคาร
ยัสสานุภาวะโต ยักขา เมวะ ทัสเสนติ ภิงสะนัง
ยัมหิ เจวานุยุญชันโต รัตตินทิวะมะตันทิโต
สุขัง สุปะติ สุตโต จะ ปาปัง กิญจิ นะ ปัสสะติ
เอวะมาทิคุณูเปตัง ปะริตตันตัมภะณามะ เหฯ

เหล่าเทวดาย่อมไม่แสดงสิ่งที่น่ากลัว เพราะอานุภาพของพระปริตรใด อนึ่งบุคคลผู้ไม่เกียจคร้าน เจริญพระปริตรใดทั้งกลางวันและกลางคืน ย่อมหลับสบาย เมื่อหลับย่อมไม่ฝันร้าย ขอเราทั้งหลายจงสวดประปริตรนั้น อันประกอบด้วยคุณอย่างนี้เป็นต้นเถิด


พระพุทธรูปประจำวันพุธ (กลางวัน)

พระพุทธรูปประจำวันเกิด

เป็นพระพุทธรูปปางอุ้มบาตร มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปยืน พระหัตถ์ทั้งสองประคองบาตร ส้นพระบาทชิดกัน แสดงพระอิริยาบทการออกบิณฑบาต ซึ่งเป็นพุทธกิจตอนเช้า
พระพุทธรูปปางนี้ มีที่มาจากพุทธประวัติ ที่พระพุทธองค์พร้อมพระภิกษุสงฆ์ จำนวนมากได้เสด็จออกบิณฑบาตที่กรุงกบิลพัสดุ์ ตามที่อำมาตย์กาฬุทายุได้ขออาราธนา พระพุทธองค์ได้ทรงทอดเนตรบรรดาพระประยูรญาติ ยังมีทิฐิมานะ ไม่เคารพพระองค์ และพระสงฆ์ พระพุทธองค์จึงได้แสดงปาฎิหารย์ บันดาลให้เกิดฝนโบกขรพรรษตกลงมา ท่ามกลางพระประยูรยาติ ฝนโบกขรพรรษนี้ผู้ใดอยากให้เปียก ก็จะเปียก ถ้าไม่อยากให้เปียก ก็จะไม่เปียก ดุจน้ำฝนตกลงในใบบัว ทำให้พระประยูรญาติทั้งหลายคลายทิฐิมานะ จากนั้นพระพุทธองค์จึงแสดงเทศนาเรื่องพระเวสสันดรชาดก
ตามคติโบราณกำหนดให้มีคาถาบูชาพระพุทธรูปปางอุ้มบาตร มีข้อความดังนี้

บทสวดบูชาประจำวันพุธ (กลางวัน)
สัพพาสีวิสะชาตีนัง ทิพพะมันตาคะทัง วิยะ
ยันนาเสติ วิสัง โฆรัง เสสัญจาปิ ปะริสสะยัง
อาณักเขตตัมหิ สัพพัตถะ สัพพะทา สัพพะปาณินัง
สัพพะโสปิ นิวาเนติ ปะริตตันตัมภะณามะ เห ฯ

พระปริตรย่อมป้องกันพิษและอันตรายอื่น ๆ ของสัตว์ทั้งปวง ตลอดเขตแห่งอำนาจทุกแห่งเสมอ เหมือนทิพยมนต์และโอสถทิพย์ที่ขจัดพิษร้ายของอสรพิษทั้งปวง ขอเราทั้งหลายจงร่วมกันสวดพระปริตรนั้นเถิด


พระพุทธรูปประจำวันพุธ (กลางคืน)

พระพุทธรูปประจำวันเกิด

เป็นพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งบัลลังก์ พระบาททอดลงเหยียบพื้น พระพาหาทั้งสองวางอยู่บนพระเพลา พระหัตถ์ขวาหงายขึ้น อันเป็นกิริยารับของถวาย
พระพุทธรูปปางนี้ มีที่มาจากเหตุการณ์ในพุทธกาล ตอนที่พระพุทธองค์ เสด็จหลีกออกมาจากพระสงฆ์สาวก ณ เมืองโกสัมพี ที่ก่อการวิวาทกันด้วยเรื่อง เล็กน้อย แม้พระพุทธองค์จะได้ทรงตรัสห้ามถึงสามครั้ง พระสงฆ์เหล่านั้นก็ไม่เชื่อฟัง พระพุทธองค์จึงเสด็จหลีกไปจำพรรษาอยู่ที่ป่ารักขิตวัน มีช้างปาลิไลยกะมาอยู่คอยปฏิบัติ และมีลิงเอารวงผึ้งมาถวาย เมื่อชาวเมืองโกสัมพีทราบเหตุจึงพากันไม่ถวาย ภัตตาหารแก่พระสงฆ์ ที่ก่อการวิวาทดังกล่าว หลังจากออกพรรษาแล้ว ชาวเมืองโกสัมพี จึงได้นิมนต์ให้พระอานนท์ ไปอาราธนาพระพุทธองค์ให้เสด็จกลับเข้าเมืองโกสัมพี ช้างปาลิไลยกะตามพระพุทธองค์ออกมาด้วย แต่พระพุทธองค์ได้ทรงห้ามไว้เมื่อพ้นเขตป่า
ตามคติโบราณกำหนดให้มีคาถาบูชาพระพุทธรูปปางปาเลไลยก์ มีข้อความดังนี้

บทสวดบูชาประจำวันพุธ (กลางคืน)
กินนุ สันตะระมาโน วะ ราหุ สุริยัง ปะมุญจะสิ
สังวิคคะรูโป อาคัมมะ กินนุ ภีโต วะ ติฏฐะสีติ
สัตตะธา เม ผะเล มุทธา ชีวันโต นะ สุขัง ละเภ
พุทธะคาถาภิคีโตมหิ โน เจ มุญเจยยะ สุริยันติ

ดูก่อนราหู เพราะเหตุใดหนอ ท่านจึงเร่งรีบปล่อยพระอาทิตย์ไปเสียเล่า และทำไมหนอ ท่านจึงดูเศร้าสลด มายืนซึมอยู่ตรงนี้เล่า
ข้าพเจ้าถูกขับด้วยคาถาของพระพุทธเจ้า ดังนั้น หากข้าพเจ้าไม่ปล่อยสุริยเทพบุตรไป ศีรษะของข้าพเจ้าพึงแตกเจ็ดเสี่ยง ถึงมีชีวิตอยู่ต่อไป ก็จะไม่ได้รับความสุขเลย


พระพุทธรูปประจำวันพฤหัสบดี

พระพุทธรูปประจำวันเกิด

เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิ พระบาทขวาทับพระบาทซ้าย พระหัตถ์ขวาซ้อนพระหัตถ์ซ้าย พระกายตั้งตรง
พระพุทธรูปปางนี้ มีที่มาจากการบำเพ็ญเพียรทางจิตของเจ้าชายสิทธัตถะ เพื่อแสวงหาโมกขธรรม เพื่อความหลุดพ้นแห่งอาสวะ อันนำไปสู่ความสิ้นสุดแห่งวัฎสงสาร จนได้บรรลุพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นสมเด็จพระสัมมสัมพุทธเจ้าในโลก ที่ใต้ควงไม้โพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลคยาสีสะ ประเทศมคธ ในสมัยนั้น ปัจจุบันคือ พุทธคยาในประเทศอินเดีย ณ วันเพ็ญเดือนหก ที่เราเรียกว่า วันวิสาขบูชา ในปัจจุบัน การตรัสรู้ของพระพุทธองค์ เป็นผลสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ ที่หาผู้เสมอเหมือนมิได้ มีกระบวนการโดยย่อดังนี้ คือ
ในปฐมยามแห่งราตรีนั้น พระองค์ทรงนั่งสมาธิบัลลังก์ ด้วยลักษณะอาการ ดังกล่าวข้างต้น แล้วบำเพ็ญเพียรทางจิต ตามหลักของสัมมาสมาธิ เริ่มต้นด้วยการ ละนิวรณ์ ๕ อันทำให้สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม จนบรรลุฌาณที่ ๑,๒,๓ และ ๔ ตามลำดับ จนจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อนควรแก่การงาน จากนั้นได้น้อมใจไปสู่ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือ ระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก จนนับประมาณมิได้ เป็นการบรรลุวิชชาที่หนึ่ง ได้ความรู้แจ้งชัดในวัฎสงสาร คือ การเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์นั้นมีจริง
ต่อมาในมัชฌิมยาม ด้วยสภาพจิตเช่นเดิม พระองค์ได้น้อมจิตไปสู่จุตูปปาตญาณ ทรงรู้ชัดถึงสัตว์ผู้กระทำกรรมอย่างใดไว้ จะได้รับผลแห่งกรรมนั้น เป็นการบรรลุวิชชาที่สอง ได้ความรู้แจ้งชัดในเรื่องของกรรมว่ามีอยู่จริง
ต่อมาในปัจฉิมยาม ด้วยสภาพจิตเช่นเดิม พระองค์ได้น้อมจิตไปสู่อาสวขยญาณ ทรงรู้ชัดถึงอริยสัจสี่ และความหยั่งรู้ในธรรม อันเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะ เป็นการบรรลุวิชชาที่สาม อันเป็นวิชชาที่สูงสุดในพระพุทธศาสนา
ตามคติโบราณกำหนดให้มีคาถาบูชาพระพุทธรูปปางสมาธิ มีข้อความดังนี้


บทสวดบูชาประจำวันพฤหัสบดี

ปูเรนตัมโพธิสัมภาเร นิพพัตตัง โมระโยนิยัง
เยนะ สังวิหิตารักขัง มะหาสัตตัง วะเนจะรา ฯ
จิรัสสัง วายะมันตาปิเนวะ สักขิงสุ คัณหิตุง
พรัหมะมันตันติ อักขาตัง ปะริตตันตัมภะณามะ เห ฯ

นายพรานทั้งหลายเพียรพยายามอยู่นาน ก็ไม่สามารถจับพระมหาสัตว์ ผู้เกิดเป็นนกยูงทอง ผู้บำเพ็ญบารมีเพื่อจะบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ผู้คุ้มครองตนอย่างดีแล้วด้วยพระปริตรใด ขอเราทั้งหลายร่วมกันสวดพระปริตร ที่ถือว่าเป็นมนต์อันประเสริฐนั้นเถิด


พระพุทธรูปประจำวันศุกร์

พระพุทธรูปประจำวันเกิด

เป็นพระพุทธรูปปางรำพึง มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปยืน พระหัตถ์ทั้งสองทาบอยู่บนพระอุระ พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย พระบาทชิดกัน ทอดพระเนตรไปข้างหน้า
พระพุทธรูปปางนี้ มีที่มาจากเหตุการณ์หลังจากที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้แล้ว ได้เสด็จ พระราชดำเนินเปลี่ยนพระอิริยาบถ พักผ่อนอยู่ภายใต้ร่มไม้อชบาลนิโครธ ทรงรำพึงถึงพระธรรม ที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้ ว่าเป็นธรรมที่สุขุมลึกซึ้ง ยากที่คนทั่วไปจะรู้ตามได้ แต่เมื่อทรงคำนึงถึงคนสามประเภท อันเปรียบได้กับดอกบัวสามชนิด คือ พวกที่อยู่เหนือน้ำ เป็นพวกที่มีสติปัญญา จะเข้าใจหลักธรรมได้โดยฉับพลัน พวกอยู่เสมอน้ำ สามารถเข้าใจหลักธรรมได้ โดยอธิบายขยายความโดยพิสดารออกไป พวกที่อยู่ใต้น้ำ เป็นพวกที่พอแนะนำได้ด้วยการแนะนำฝึกสอนอบรม เมื่อคำนึงได้ดังนี้ จึงตกลงพระทัยที่จะเผยแพร่พระธรรม ทรงระลึกถึงอาฬารดาบส และอุทกดาบส ว่าเป็นบุคคลที่ควรไปโปรดก่อน แต่ก็ทราบว่าทั้งสองท่านได้ตายไปแล้ว จึงทรงระลึกถึงปัญจวัคคีย์ ที่เคยติดตามพระองค์มาสมัยที่ออกทรงผนวช พระองค์จึงเสด็จไปโปรด ได้แสดงธัมมจักกัปปวัตนสูตร อันเป็นปฐมเทศนา ณ ป่าอิติปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี จบพระธรรมเทศนา โกณทัญญะ หนึ่งในปัญจวัคคีย์ได้ดวงตาเห็นธรรม
ตามคติโบราณกำหนดให้มีคาถาบูชาพระพุทธรูปปางรำพึง มีข้อความดังนี้

บทสวดบูชาประจำวันศุกร์
อับปะสันเนหิ นาถัสสะ สาสะเน สาธุ สัมมะเต
อะมะนุสเสหิ จัณเฑหิ สะทา กิพพิสะการิภี
ปะริสานัญจะ ตัสสันนะ มะหิงสายะ จะ คุตติยา
ยันเทเสสิ มะหาวีโร ปะริตตันตัมภะณามะ เห ฯ

พระมหาวีรเจ้าทรงแสดงพระปริตรใด เพื่อคุ้มครองพุทธบริษัทสี่ มิให้ถูกเบียดเบียนจากเหล่าอมนุษย์ผู้ดุร้าย หยาบกระด้างอยู่เสมอ ไม่เลื่อมใสคำสอนของพระโลกนาถ อันบัณฑิตยกย่องว่าเป็นคำสอนที่ดี ขอเราทั้งหลายจงร่วมกันสวดพระปริตรนั้นเถิด



พระพุทธรูปประจำวันเสาร์

พระพุทธรูปประจำวันเกิด

เป็นพระพุทธรูปปางนาคปรก มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปนั่งสมาธิเช่นเดียวกับ ปางสมาธิ บนขนดของพญานาค เบื้องหลังมีพญานาค ๗ เศียร แผ่พังพานอยู่เหนือพระเศียร
พระพุทธรูปปางนี้ มีที่มาจากเหตุการณ์หลังที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้แล้ว ได้ทรงประทับเสวยวิมุตติสุข ณ สถานที่ต่าง ๆ ด้วยพระอิริยาบทต่าง ๆ แห่งละเจ็ดวัน ในห้วงเวลาที่ประทับอยู่ใต้ต้นมุจลินทร์ (ต้นจิก) และเข้าฌาณอยู่ ได้เกิดพายุฝนตกหนัก พญานาคที่อาศัยอยู่ในสระมุจลินทร์ข้างต้นจิต จึงได้ทำขนดล้อมพระวรกายของ พระพุทธองค์ แล้วแผ่พังพานปกคลุมพระองค์ไว้จากลมและฝน
ตามคติโบราณกำหนดให้มีคาถาบูชาพระพุทธรูปปางนาคปรก มีข้อความดังนี้

บทสวดบูชาประจำวันเสาร์

ยโตหัง ภะคินิ อะริยาย ชาติยา ชาโต นาภิชา นามิ สัญจิจจะ ปาณัง ชีวิตา โวโรเปตา เตนะ สัจเจนะ โสตถิ เต โหตุ โสตถิ คัพภัสสะ ฯ

ดูก่อนน้องหญิง นับแต่เราเกิดโดยอริยชาตินี้แล้ว เราไม่เคยคิดปลงชีวิตสัตว์เลย ด้วยสัจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแด่เธอ ขอความสวัสดีจงมีแก่ครรภ์ของเธอ



+++++++++++++++++
พระพุทธรูปประจำวันเกิด