พยากรณ์สงกรานต์ ตอน 1




บรรยากาศเทศกาลสงกรานต์เยื้องกรายเข้ามา บรรดาโหรานุโหรทั้งหลายต่างก็ทำนายทายทักถึงสถานการณ์บ้านเมืองที่จะเป็นไปในปีใหม่ไทยที่จะมาถึง

ซึ่งในทางราชการในสมัยโบราณนั้นจะมีกรมโหรหลวงทำหน้าที่พยากรณ์สงกรานต์ทูลเกล้าฯ ถวายพระเจ้าแผ่นดิน เพื่อให้ประจักษ์ว่าฤดูกาลดินฟ้าอากาศน้ำท่า การทำไร่ไถนาป่าสวน ตลอดจนผลิตผลด้านภักษาหาร มังสาหาร ที่จะเป็นไปในแผ่นดินนั้นเป็นประการใด และจะมีเหตุเภทภัยใดๆ เกิดขึ้นในบ้านเมืองบ้างหรือไม่

ดังนั้นในวาระเช่นนี้จึงเป็นวาระอันควรที่จะได้พยากรณ์สงกรานต์ตามแบบอย่างฉบับบรรพ์ ดังที่เคยปฏิบัติมาเช่นเดียวกับปีก่อนๆ และก็เป็นธรรมเนียมว่าจะต้องทำความเข้าใจกันเรื่องสงกรานต์พร้อมกันไปด้วย

เพราะในวันนี้มีการอธิบายและมีการกล่าวขวัญกันในเรื่องวันสงกรานต์แตกต่างหลากหลายกันไป และส่วนใหญ่ก็กล่าวกันไปตามความรู้สึกนึกคิดของตนเอง จนเลือนไกลออกไปจากคัมภีร์อันมีมาแต่โบราณ ซึ่งหวังยังประโยชน์ที่จะธำรงรักษาแบบอย่างหลักวิชาในการพรรณนาความเรื่องสงกรานต์ ที่สังคมไทยเรามีคติยึดถือมาแต่ก่อนด้วย

เคยมีการกล่าวขานว่าสงกรานต์หมายถึงสัตว์น้ำตัวเล็กๆ สีแดงคล้ายกับไรน้ำ ที่มีมากับฝนแรกในช่วงสงกรานต์ จนบางท่านนำไปกล่าวประชดตามสถานการณ์ในขณะนี้ว่า คนเสื้อแดงที่ชุมนุมอยู่หน้าทำเนียบรัฐบาลก็คือตัวสงกรานต์เช่นเดียวกัน แต่ไม่ได้มาพร้อมกับฝนรับสงกรานต์ เพราะมาชุมนุมกันตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2552 นี่คือตัวอย่างความเข้าใจผิดและความผิดเพี้ยนที่เกิดขึ้น

ความจริงสงกรานต์ไม่ใช่สัตว์น้ำตัวสีแดงดังกล่าว แต่หมายถึงการโคจรของพระอาทิตย์ในยามที่โคจรผ่านจุดสำคัญในจักรราศีและจักรวาล ซึ่งมีอยู่ 5 ชนิดด้วยกัน คือ

สงกรานต์วัน หมายถึงวันที่พระอาทิตย์โคจรผ่านข้ามองศาใดองศาหนึ่งในจักรราศี

สงกรานต์เดือน หมายถึงวันที่พระอาทิตย์โคจรผ่านข้ามราศีใดราศีหนึ่งในจักรราศี
สงกรานต์ปี หมายถึงวันที่พระอาทิตย์โคจรผ่านข้ามราศีมีนสู่ราศีเมษ ซึ่งคล้ายคลึงกับสงกรานต์เดือน เป็นแต่ว่าจะเกิดขึ้นปีละครั้งเดียว เพราะพระอาทิตย์โคจรผ่านข้ามราศีมีนสู่ราศีเมษเพียงปีละครั้งเดียวเท่านั้น


อายันสงกรานต์เหนือ หมายถึงวันที่พระอาทิตย์โคจรทางเฉียงไปถึงจุดกึ่งกลางขอบฟ้าข้างทิศเหนือ

อายันสงกรานต์ใต้ หมายถึงวันที่พระอาทิตย์โคจรทางเฉียงไปถึงจุดกึ่งกลางขอบฟ้าข้างทิศใต้


ในจำนวนสงกรานต์ 5 ชนิดนี้ที่เกี่ยวข้องกับวันสงกรานต์หรือเทศกาลสงกรานต์ก็คือสงกรานต์ปี นั่นคือสงกรานต์ชนิดที่พระอาทิตย์โคจรผ่านข้ามราศีมีนสู่ราศีเมษ ซึ่งจะเกิดขึ้นปีละหนึ่งครั้ง

ในปีพุทธศักราช 2552 นี้ พระอาทิตย์โคจรผ่านข้ามราศีมีนสู่ราศีเมษ ในวันอังคารที่ 14 เมษายน 2552 เวลา 01 นาฬิกา 8 นาที 24 วินาที ซึ่งตามปฏิทินทางสุริยคติระบุว่าเป็นวันอังคาร เพราะเวลาที่พระอาทิตย์ย้ายราศีนั้นล่วงเลยเวลา 0 นาฬิกา ของวันใหม่ไปแล้ว จึงอาจเกิดความเข้าใจสับสนว่าเป็นวันอังคารแล้ว

แต่ในทางจันทรคติและในทางโหราศาสตร์นั้นยังคงถือว่าเป็นวันจันทร์ เพราะการจะเปลี่ยนวันทางจันทรคติจะถือเอาวันเวลาที่พระอาทิตย์อุทัยคือวันเวลาที่พระอาทิตย์ทอแสงทาบขอบฟ้าเบื้องบูรพาทิศเป็นสำคัญ ดังนั้นแม้เวลาที่พระอาทิตย์โคจรผ่านข้ามราศีทางสุริยคติจะเป็นวันที่ 14 เมษายน 2552 แต่เมื่อยังไม่ถึงเวลาอุทัยคือรุ่งอรุณแล้ว ทางจันทรคติจึงยังถือว่าเป็นวันจันทร์

ดังนั้นคำประกาศสงกรานต์ประจำปีพุทธศักราช 2552 จึงเป็นดังนี้

“ปีพุทธศักราช 2552 เป็นปกติมาส ปกติวาร และปกติสุรทิน สงกรานต์วันที่ 14 เมษายน 2552 เวลา 01 นาฬิกา 8 นาที 24 วินาที ตรงกับวันจันทร์ทางจันทรคติ นางสงกรานต์ชื่อพระนางโคราคะเทวี ทรงพาหุรัด ทัดดอกปีบ แก้วมุกดาหารเป็นอาภรณ์ ภักษาหารน้ำมัน เนย พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จไสยาสน์หลับเนตรมาบนหลังเสือ เถลิงศกขึ้นจุลศักราช 1371 ในวันที่ 16 เมษายน 2552 เวลา 05 นาฬิกา 6 นาที 0 วินาที ตรงกับวันพุธทางจันทรคติ วันเสาร์เป็นธงชัย วันพุธเป็นอธิบดี วันศุกร์เป็นอุบาทว์และโลกาวินาศ”

ในคำประกาศสงกรานต์นี้มีหลายเรื่องผสมอยู่ด้วยกัน คือประกาศวันเวลาสงกรานต์อย่างหนึ่ง ประกาศพระนามและเครื่องทรง ตลอดจนอิริยาบถและพาหนะของนางสงกรานต์ซึ่งเข้าเวรประจำปีอย่างหนึ่ง ประกาศการเถลิงศกสำหรับปีจุลศักราชอย่างหนึ่ง และประกาศกาลโยค คือกำหนดวัน ยาม ราศี ดิถีและฤกษ์ที่เป็นธงชัย อธิบดี อุบาทว์ และโลกาวินาศอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งจะนำไปใช้เป็นพื้นฐานในบทพยากรณ์สงกรานต์.




ขอขอบคุณ คุณสิริอัญญา หนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์ 5 เมษายน 2552