แนวแพทย์แผนไทย...การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม




เคยมีคนกล่าวไว้ว่า “เกิดที่ไหน ก็ควรใช้สิ่งที่อยู่ในพื้นที่เป็นหลัก เพราะธรรมชาติย่อมสร้างสรรค์สิ่งที่เหมาะสมกับคนในพื้นที่นั้นไว้แล้ว” และถ้าหากว่าคำกล่าวนี้เป็นจริง สิ่งที่เราควรหันมาสนใจ คงจะไม่พ้นแนวแพทย์แผนไทย ซึ่งเน้นการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมเป็นสำคัญ
การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม
จุดสำคัญของเรื่องนี้ก็คือ การเรียนรู้ถึงเรื่องธรรมชาติในร่างกายของเราให้ชัดเจน เพื่อดูแลร่างกายได้อย่างถูกต้อง และจุดแรกที่ควรเรียนรู้ก็คือ เรื่องของธาตุต่างๆ ในร่างกาย ที่มีอยู่ทั้งหมด 4 ธาตุ นั่นคือ
ธาตุดิน หรือ ปถวีธาตุ หมายถึง ของแข็งหรืออวัยวะต่างๆ ของร่างกายที่มีรูปร่างชัดเจน มีที่ตั้งอยู่ในร่างกาย 20 ประการ เช่น ผม ผิวหนัง เล็บ กล้ามเนื้อ หัวใจ กระเพาะ เป็นต้น
ธาตุน้ำ หรือ อาโปธาตุ หมายถึง ของเหลวที่มีการเปลี่ยนสภาพรูปร่างได้ ประกอบอยู่ในร่างกาย 12 ประการ เช่น น้ำดี น้ำเลือด น้ำลาย เป็นต้น
ธาตุลม หรือ วาโยธาตุ หมายถึง ธาตุที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหว หรือ อากาศ หรือลม ที่พัดไปพัดมาในร่างกาย มี 6 ประการ เช่น ลมหายใจเข้า-ออก ลมในกระเพาะอาหารเป็นต้น
ธาตุไฟ หรือ เตโชธาตุ หมายถึง สิ่งที่บ่งบอกความมีชีวิตของมนุษย์ เป็นองค์ความร้อนหรืออุณหภูมิของร่างกาย มี 4 ประการ เช่น ไฟที่ทำให้ร่างกายอบอุ่น ไฟในการย่อยอาหาร เป็นต้น
และจากคำกล่าวที่ว่า คนเราเกิดมาครบ 32 หมายถึงการมีธาตุดิน และธาตุน้ำครบถ้วน ก็คือการมีร่างกายที่ไม่พิกลพิการ หรือผิดปกติ ส่วนการมีธาตุลม และธาตุไฟที่สมบูรณ์คือ จิตใจสงบ ไม่เป็นโรคจิต โรคเครียด หรือโกรธ โมโหง่าย อารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ ไม่คงเส้นคงวา เป็นต้น




การจำแนก ธาตุเจ้าเรือน ตามหลักโหราศาสตร์การแพทย์ ระบุไว้ดังนี้
ธาตุไฟ คือ ผู้ที่เกิดระหว่างวันที่ 13 เมษายน - 13 พฤษภาคม
17 สิงหาคม -16 กันยายน
16 ธันวาคม - 13 มกราคม
ธาตุดิน คือ ผู้ที่เกิดระหว่างวันที่ 14 พฤษภาคม - 14 มิถุนายน
17 กันยายน - 16 ตุลาคม
14 มกราคม -12 กุมภาพันธ์
ธาตุลม คือ ผู้ที่เกิดระหว่างวันที่ 15 มิถุนายน - 15 กรกฎาคม
17 ตุลาคม -15 พฤศจิกายน
13 กุมภาพันธ์ -13 มีนาคม
ธาตุน้ำ คือ ผู้ที่เกิดระหว่างวันที่ 16 กรกฎาคม -16 สิงหาคม
16 พฤศจิกายน -15 ธันวาคม
14 มีนาคม -12 เมษายน
ธาตุเจ้าเรือนเหล่านี้คือ ธาตุประจำตัวที่มีลักษณะโดดเด่นกว่าธาตุอื่นๆ บางคนอาจมีธาตุเดียวโดดเด่น บางคนอาจมี 2 ธาตุผสม ทั้งนี้ ธาตุเจ้าเรือน จะเป็นตัวกำหนดให้บุคลิก ลักษณะ ท่าทาง อุปนิสัย โอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคจากธาตุไฟแปรปรวนได้มากกว่าคนเกิดธาตุอื่น







ธาตุเจ้าเรือนธาตุดิน
ลักษณะโครงสร้าง - - เป็นคนที่มีโครงสร้างมั่นคง กระดูกใหญ่ น้ำหนักตัวมาก เคลื่อนไหวช้า เนื้อละเอียด ผมดกดำ เสียงดังฟังชัด
ลักษณะสมดุล - - เป็นคนอ่อนโยน รักสงบ สุขุม รอบคอบ ละเอียดลออ มีเป้าหมายในชีวิต รักธรรมชาติ จิตใจหนักแน่น มีความอดทนสูง ทนต่อแรงกดดันได้ดี
เมื่อไม่สมดุล - - จะมีแนวโน้มเครียดง่าย คิดเล็กคิดน้อย ลังเล ไม่มั่นใจ ดื้อรั้น ส่งผลให้เกิดโรคประจำตัว คือโรคเครียด โรคกระเพาะ โรคท้องผูก เป็นต้น และบ่อยครั้งจะเกิดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อบริเวณคอ หลัง ไหล่
ปัญหาสุขภาพที่ควรระวัง - - ระบบหัวใจ การไหลเวียนเลือดลม ระบบย่อยอาหาร ระบบลำไส้ ระบบขับถ่าย
รสชาติอาหารที่เหมาะ - - รสฝาด หวาน มัน และเค็ม และควรรับประทานผัก ผลไม้ที่มีรสหวาน รสมัน และรสเค็ม เช่น ฝรั่งดิบ หัวปลี กล้วย มะละกอ เผือก มัน ถั่วพู กะหล่ำปลี ผักกระเฉด อาหารรสฝาดจะช่วยให้ชุ่มชื่นและบำรุงกำลัง ส่วนอาหารรสมันจะช่วยแก้อาการปวดเสียว ขัดยอก และกระตุกได้
ตัวอย่างอาหาร - - ข้าวกล้องงาดำกะหล่ำปลียัดไส้ ข้าวซอยผัดแห้ง หัวปลีทอดกรอบ ปลากะพงราดซอสงาขาว ไก่หมักงาดำ
การออกกำลัง - - เหมาะกับการออกกำลังกายกลางแจ้ง หรือกิจกรรมที่ใช้พลังงานมากๆ เช่น การปีนเขา การเดินป่า เพราะเป็นธาตุที่มีความอดทนสูง และมีพลังงานสะสมไว้มาก จึงควรเลือกกิจกรรมที่สามารถปลดปล่อยพลังงานที่สะสมไว้ออกไป เพื่อลดอาการเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วน โรคเครียด
เกร็ดความรู้ - - ผู้มีธาตุเรือนเป็นธาตุดิน มักจะไม่ค่อยเจ็บป่วยเพราะธาตุดินเป็นที่ตั้งของกองธาตุ


ธาตุเจ้าเรือนธาตุน้ำ
ลักษณะโครงสร้าง - - เป็นคนที่มีโครงสร้างสมส่วน รูปร่างสมบูรณ์ ผิวพรรณสดใส เต่งตึง ตาหวาน ผมเป็นเงางาม เคลื่อนไหวนุ่มนวล
ลักษณะสมดุล - - เป็นคนอ่อนหวาน นุ่มนวล ผิวพรรณสดใส มีน้ำมีนวล กระตือรือร้น กล้าคิดกล้าทำ ช่างเจรจา ใจกว้าง ชอบศิลปะ มีรสนิยมดี ชอบดูแลช่วยเหลือผู้อื่น
เมื่อไม่สมดุล - - จะมีแนวโน้มเกียจคร้าน ขี้เบื่อ หงุดหงิดง่าย คิดมาก ไม่สดชื่น ผิวพรรณหม่นหมอง ส่งผลให้เกิดโรคประจำตัว คือโรคอ้วน โรคระบบขับปัสสาวะ โรคระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหวัด เจ็บคอ มีเสมหะ เป็นต้น และบ่อยครั้งจะเกิดอาการปวดเมื่อยบริเวณเอว แผ่นหลัง และอาการบวมน้ำตามแขน และขา
ปัญหาสุขภาพที่ควรระวัง - - ความเครียด อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ ระบบขับถ่าย ระบบสืบพันธุ์ ระบบทางเดินหายใจ เช่นภูมิแพ้ และบางครั้งขณะออกกำลังกาย เหงื่อจะออกมาก แต่ตัวเย็นเหมือนจะเป็นลม
รสชาติที่เหมาะ - - ควรรับประทานผัก ผลไม้ ที่มีรสเปรี้ยว และขม หลีกเลี่ยงอาหารรสมันจัด อาหารรสเปรี้ยวจะช่วยกัดฟอกเสมหะ กระตุ้นน้ำลาย ทำให้เจริญอาหาร
ตัวอย่างอาหาร - - ข้าวผัดสับปะรด ผัดเปรี้ยวหวาน ยำมะม่วง ส้มตำแครอท แกงส้มชะอมไข่ทอด
การออกกำลัง - - เหมาะกับการออกกำลังกายที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายแบบมีศิลปะ มีความสวยงาม เช่น ว่ายน้ำ แอโรบิก เนื่องจากเป็นธาตุที่รักความสวยงาม และมีแนวโน้มอ้วนง่าย จึงควรเลือกกิจกรรมที่ได้พบปะผู้คน มีความสนุกสนาน และสามารถลดพลังงานที่สะสมในร่างกายออกไปได้มากที่สุด
เกร็ดความรู้ - - ในช่วงอายุแรกเกิด – 16 ปี มักจะมีอาการเป็นหวัด คัดจมูก ตาแฉะ ในฤดูหนาวจะเจ็บป่วยง่ายเพราะธาตุน้ำกำเริบ






ธาตุเจ้าเรือนธาตุลม
ลักษณะโครงสร้าง - - เป็นคนที่มีโครงสร้างเล็ก รูปร่างโปร่ง ผอม ผมบาง ผิวแห้ง หยาบ เคลื่อนไหวรวดเร็ว
ลักษณะสมดุล - - พบว่าเป็นคนช่างเจรจา มีเสน่ห์ มีวาทศิลป์ในการพูด มีความคิดสร้างสรรค์ ชอบพบปะบุคคล ชอบงานสังคม ฉลาด มีไหวพริบเฉียบคม เรียนรู้เร็ว แต่ก็ลืมง่าย
เมื่อไม่สมดุล - - จะมีแนวโน้มกระวนกระวาย ตื่นเต้นตกใจ หวาดวิตกง่าย เอาแน่เอานอนไม่ได้ หมดแรง อาหารไม่ย่อย ส่งผลให้เกิดโรคประจำตัวคือ โรคท้องอืด โรคกระเพาะ โรคประสาท เป็นต้น
ปัญหาสุขภาพที่ควรระวัง - - เหนื่อยง่าย ผิวพรรณขาดความเปล่งปลั่งนุ่มนวล ระบบไหลเวียนโลหิต ระบบย่อยอาหาร (ก่อนหรือหลังทานอาหารย่อยช้า ท้องอืด) ระบบกล้ามเนื้อปวดเมื่อย
รสชาติที่เหมาะ - - ได้แก่ รสเผ็ดร้อน สุขุม คนธาตุลมจำเป็นต้องมีโภชนาการที่ดี เพื่อป้องกันปัญหาที่เกิดกับระบบทางเดินอาหาร ควรควบคุมโภชนาการอย่างสม่ำเสมอ เลือกกินอาหารที่ย่อยง่าย และเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์ในการกระตุ้นระบบย่อยอาหาร เช่น ขิง กระเทียม หอมใหญ่
ตัวอย่างอาหาร - - ข้าวผัดน้ำพริกหนุ่ม ก๋วยเตี๋ยวผัดขี้เมา ไก่ผัดพริกขิง ปลาทับทิมนึ่งโหระพา
การออกกำลัง - - เหมาะกับการออกกำลังกายที่เบาๆ ไม่หนักมาก มีการเคลื่อนไหวช้าๆ มีระเบียบแบบแผน เช่น โยคะ ไทเก็ก เนื่องจากจะได้ผ่อนคลายกับจิต และร่างกายที่ฟุ้งซ่าน ลดความรีบเร่ง หรือความรวดเร็วลงไป และสามารถปรับสภาพจิตใจให้สงบลงไปกับกิจกรรมที่เลือกได้
เกร็ดความรู้ - - ในช่วงอายุ 32 ปีขึ้นไป มักจะมีอาการเวียนหัว หน้ามืด เป็นลมง่าย ในฤดูฝนจะเจ็บป่วยง่าย เพราะธาตุลมกำเริบ



ธาตุเจ้าเรือนธาตุไฟ
ลักษณะโครงสร้าง - - เป็นคนที่มีโครงสร้างสมส่วน รูปร่างดี สง่างาม เคลื่อนไหวรวดเร็วมีพลัง คล่องตัว มักมีกระ
ลักษณะสมดุล - - เป็นคนมีความคิดก้าวหน้า มีความเป็นผู้นำ ช่างจินตนาการ คล่องแคล่ว กระฉับกระเฉง มีวาทศิลป์ อบอุ่น กล้าคิดกล้าทำ กล้าเสี่ยง มั่นใจในตนเองสูง ชอบวางแผน ชอบความสำเร็จ
เมื่อไม่สมดุล - - เครียดง่าย หงุดหงิด คิดมาก ใจร้อน ไม่มั่นใจ ลังเล เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ส่งผลให้เกิดโรคประจำตัวคือ โรคความดันโลหิตสูง โรคเครียด โรคหัวใจ โรคเบาหวาน และบ่อยครั้งจะเกิดอาการอาหารไม่ย่อย ร้อนใน เหงื่อออกมากผิดปกติ
ปัญหาสุขภาพที่ควรระวัง - - โรคความดันโลหิตสูง ความเครียด โรคระบบหัวใจ ออกกำลังกายนานไม่ได้ เพราะทำให้มือเท้าเย็น มีเหงื่อออกมาก อ่อนเพลีย หน้ามืดเป็นลม ผิวพรรณไม่เต่งตึงเหมือนขาดการบำรุง
รสชาติที่เหมาะ - - ได้แก่ ขม เย็น จืด ควรรับประทานอาหารรส ขม เย็น และจืด เพราะอาหารรสขมจะช่วยแก้โลหิตเป็นพิษ ดีพิการ ส่วนอาหารรสเย็นจะช่วยแก้ร้อนใน และดับพิษร้อน เช่น สะเดา แตงโม หัวผักกาด ฟักเขียว แตงกวา คะน้า บวบ มะเขือ และควรหลีกเลี่ยงอาหารรสเผ็ดร้อน
ตัวอย่างอาหาร - - ข้าวกล้องตำลึงหน้ากุ้งน้ำแดง มะระตุ๋นยาจีน ปลาย่างผักขม ยำมะเขือยาว
การออกกำลัง - - เหมาะกับการออกกำลังกายในร่ม ไม่ควรออกกำลังกายกลางแจ้งที่มีแดดจัดๆ เพราะจะยิ่งทำให้ธาตุไฟรุนแรงขึ้น ควรเป็นกิจกรรมที่ เน้นการผ่อนคลาย เช่นโยคะ นั่งสมาธิ ฟิตเนส เป็นต้น เพื่อลดความร้อนรุ่มจากภายในร่างกาย และปรับสมดุลของจิตใจให้สงบอีกด้วย
เกร็ดความรู้ - - ในช่วงอายุ 16-32 มักจะหงุดหงิดง่าย อารมณ์เสียบ่อย เป็นคนเจ้าอารมณ์ในฤดูร้อน จะเจ็บป่วยง่าย อาจเป็นไข้ ตัวร้อนง่าย เพราะธาตุไฟกำเริบ










พฤติกรรมที่ทำให้ร่างกายแปรปรวน
1. การกินอาหารที่ไม่ถูกกับธาตุ หรืออาหารไม่สะอาด หรือกินมากเกินไป กินน้อย
เกินไป
2. การฝืนอิริยาบถ ได้แก่ การนั่ง ยืน เดิน นอน ไม่สมดุล ทำให้โครงสร้างเสีย
สมดุล
3. อยู่ในที่อากาศร้อน หรือ เย็นเกินไป
4. การอดหลับ อดนอน อดข้าว อดน้ำ
5. การกลั้นอุจจาระ ปัสสาวะ นานๆ หรือบ่อยๆ
6. การทำงานหักโหม เกินกำลังความสามารถ หรือหมกมุ่นเกินไป
7. การโศกเศร้าเสียใจ ดีใจ มากเกินไป
8. การโมโห หรือมีโทสะมากเกินไป จนขาดสติ เป็นต้น





พฤติกรรมที่ช่วยในการปรับสมดุลของธาตุ
1. การเรียนรู้หลักการของธาตุ 4 และวิเคราะห์ถึงสาเหตุการเปลี่ยนแปลงของ
แต่ละธาตุได้
2. การเลือกรับประมานอาหารให้หลากหลายรสชาติ และเหมาะสมกับธาตุ
3. การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และเหมาะสมกับพฤติกรรมของแต่ละธาตุ
4. การปฏิบัติตนตามหลักธรรมะ คือธรรมชาติ หรือทางสายกลาง รู้เท่าทันอารมณ์
หรือจิตตนเอง
5. การพักผ่อน หย่อนคลายจิตใจตามหลักธรรมชาติให้เหมาะสม


ขอบคุณข้อมูลทั้งหมดจาก อาจารย์สมบัติ ไตรศรีศิลป์ อุปนายกสมาคมผู้ประกอบโรคศิลปแผนไทย (เชียงใหม่)