พุทธประวัติ ตอนที่ 1 กำเนิดพระสิทธัตถะ

พุทธทาสภิกขุ แปลและเรียบเรียงจาก ฉบับภาษาอังกฤษ ของ ภิกษุสีลาจาระ (J.F. Mc kechnie)

ตอนที่ 1 กำเนิดพระสิทธัตถะ


พุทธประวัติ ตอนที่ 1 กำเนิดพระสิทธัตถะ


ตอนที่ 1 กำเนิดพระสิทธัตถะ

เมื่อ 2500 ปีมาแล้ว ในดินแดนซึ่งบัดนี้เป็นเขตของประเทศเนปาลและของประเทศอินเดีย ตอนที่เป็นมณฑลอูธ (Oudh) และมณฑลพิหารเหนือ (North Behar) นั้น มีอาณาจักรน้อยๆ ของชนเชื้อชาติต่างๆ ตั้งอยู่ด้วยกันหลายอาณาจักร แต่ละอาณาจักรมีพระราชาของตนๆ เป็นผู้ปกครองบ้าง มีคณะบุคคลที่นับเนื่องในราชสกุลเป็นผู้ปกครองบ้าง ในบรรดาอาณาจักรเล็กๆ เหล่านั้น มีอาณาจักรหนึ่งตั้งอยู่ตรงพื้นที่ทางทิศเหนือของจังหวัดโครักขปุระ (Gorakhapore) ในปัจจุบันทางฝั่งเหนือของแม่น้ำรัปตี (Rapti) เป็นดินแดนของชนที่มีเชื้อชาติ อันเรียกกันมาว่าพวกศากยะ พระราชาซึ่งปกครองชนชาตินี้ ในครั้งนั้นมีพระนามว่า พระเจ้าสุทโธทนะ พระเจ้าสุทโธทนะมีชื่อสกุลว่า โคตมะ ดังนั้น พระองค์จึงทรงมีพระนามเต็มว่า สุทโธทนะโคตมะ นครซึ่งเป็นราชธานีของอาณาจักรและทั้งเป็นที่ตั้งแห่งราชสำนักของพระองค์นั้น มีนามว่า กบิลพัสดุ์

พระเจ้าสุทโธทนะมีพระอัครมเหสีนามว่า สิริมหามายา เมื่อทรงอยู่ร่วมกันมาเป็นเวลานานด้วยความผาสุก พระเทวีได้ทรงมีพระครรภ์ และทรงรู้พระองค์ว่าจักถึงเวลาประสูติในไม่นานนักแล้ว ได้ทูลขออนุญาตจากพระราชสวามี เพื่อเสด็จไปเยี่ยมนครอันเป็นที่กำเนิดของพระเทวีเอง อันมีนามว่า ? นครเทวทหะ? และตั้งอยู่ไม่ห่างไกลกันนัก พระเจ้าสุทโธทนะได้โปรดประทานอนุญาตแก่พระมเหสีของพระองค์ ด้วยความเต็มพระทัย ได้ทรงส่งบุรุษไปตระเตรียมหนทางสำหรับการเสด็จของพระนาง และให้เตรียมทุกๆ อย่างเพื่อให้เกิดความบันเทิงเริงรื่น ในการเสด็จไปเยี่ยมพระญาติวงศ์ของพระนางเองในครั้งนี้ ที่กึ่งทางระหว่างนครกบิลพัสดุ์กับนครเทวทหะต่อกันนั้น มีสวนป่าหรือวโนทยานอยู่แห่งหนึ่ง เรียกกันว่า สวนลุมพินี ที่นี้เป็นสถานที่ซึ่งประชาชนแห่งนครทั้งสองได้พากันไปเที่ยวเล่นในฤดูร้อน หาความบันเทิงภายใต้ร่มไม้สาละใหญ่ๆ อันมีอยู่ทั่วๆ ไป ในอุทยานนั้น ขณะนั้นเป็นวันเพ็ญในเดือนพฤษภาคม ต้นสาละใหญ่ๆ เหล่านี้ปกคลุมไปด้วยดอกอันสวยงาม แต่โคนต้นจนถึงยอด บนกิ่งยาวๆ ของมันมีหมู่นกนานาชนิดกำลังร้องด้วยสำเนียงอันไพเราะ ทำให้อากาศอื้ออึงไปด้วยเสียงอันจับใจ และตามดอกไม้อันมีอยู่มากมายเหลือที่จะคำนวณได้นั้น ก็เต็มไปด้วยแมลงผึ้งทำเสียงหึ่งๆ และง่วนอยู่ด้วยการเก็บน้ำหวานจากดอกไม้เหล่านั้น

เมื่อขบวนเสด็จของพระเทวีผ่านมาถึงวโนทยานแห่งนี้ พระนางสิริมหามายา ทรงมีพระประสงค์จะทรงพักเล่นในสวนนี้สักครู่หนึ่ง ตามร่มเงาอันเย็นเพราะเป็นเวลาเที่ยงวัน ดังนั้นพระเทวีจึงทรงรับสั่งให้เขานำพระองค์ผ่านไปตามระหว่างหมู่ไม้ในอุทยานนั้น แต่ชั่วเวลาอันไม่นานในขณะที่พระเทวีกำลังเสด็จดำเนินไปมาโดยทรงเพลิดเพลินอยู่กับสิ่งสวยงาม และเสียงอันไพเราะในสวนนั่นเอง พระนางทรงเกิดความรู้สึกพระองค์ขึ้นมาอย่างกระทันหันว่า จักต้องมีการประสูติในสถานที่นั้นเสียแล้ว ต่อมาอีกชั่วเวลาเล็กน้อย พระนางก็ได้ประสูติพระโอรส ณ สวนลุมพินี ภายใต้ต้นสาละ อันเต็มไปด้วยหมู่นกและแมลงผึ้งนั่นเอง สถานที่อันเป็นที่ตั้งแห่งสวนลุมพินีนั้น เป็นที่รู้จักกันได้ไม่ยากในสมัยนี้ เพราะพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งครอบครองประเทศอินเดีย ในเวลาสามสี่ร้อยปีต่อมาจากสมัยของพระเจ้าสุทโธทนะนั้น ได้ทรงรับสั่งให้สร้างเสาศิลาอันสูงใหญ่ขึ้นตรงที่ซึ่งเป็นที่ประสูติของพระโอรสแห่งพระเจ้าสุทโธทนะและพระนางสิริมหามายาแห่งนครกบิลพัสดุ์ เพื่อเป็นเครื่องกำหนดหมายสถานที่อันสำคัญนั้น

ที่เสานั้น พระเจ้าอโศกมหาราชรับสั่งให้จารึกอักษร ซึ่งยังคงอ่านได้อยู่จนกระทั่งทุกวันนี้ มีข้อความว่า พระองค์ทรงได้สร้างเสานี้ขึ้นเพื่อให้ชนชั้นหลังทราบได้ถึงสถานที่ที่เคยมีเหตุการณ์อันสำคัญคือ การประสูติของพระพุทธองค์ แม้เวลาจะล่วงมา นับแต่กาลนั้นมาจนถึงบัดนี้ 2,000 ปีกว่าแล้วก็ตาม แม้เสาท่อนบนจะได้หักออกและท่อนที่เหลือจะเคยเอียงเอนไปทางหนึ่งแล้วก็ตาม เสานั้นก็ยังคงอยู่ในที่ซึ่งพระเจ้าอโศกรับสั่งให้สร้างขึ้นนั่นเอง สืบมาจนถึงทุกวันนี้ พร้อมด้วยอักษรจารึกที่กล่าวแล้ว มีประชาชนจำนวนมากได้ไปเยี่ยมและนมัสการสถานที่นี้ทุกๆปี

เมื่อพระนางสิริมหามายาได้ประสูติพระโอรสในสวนลุมพินีเช่นนั้น คนทั้งหลายก็งดการพาพระนางไปสู่นครเทวทหะ แต่ได้นำกลับคืนสู่นครกบิลพัสดุ์ พระเจ้าสุทโธทนะทรงดีพระทัย และทรงจัดให้พระเทวีและพระโอรสของพระองค์ได้รับการเอาใจใส่เป็นอย่างดี บนทิวเขานอกเมืองกบิลพัสดุ์ เป็นที่อยู่แห่งฤษีจำนวนมาก ในบรรดาฤษีเหล่านั้น มีมหาฤษีผู้สูงอายุรูปหนึ่งชื่อ กาฬเทวิล เป็นที่เคารพนับถืออย่างสูงของชาวเมืองกบิลพัสดุ์ แม้พระเจ้าสุทโธทนะเอง ก็ทรงมีความเคารพรักใคร่ในฤษีรูปนี้เป็นพิเศษ ดังนั้น

เมื่อฤษีผู้เฒ่าได้ทราบว่าพระราชาซึ่งเป็นมหามิตรของตนได้โอรสประสูติใหม่เช่นนั้น ก็ได้มาสู่ราชสำนักแห่งนครกบิลพัสดุ์เพื่อดูพระราชกุมาร เมื่อฤษีมาถึง พระเจ้าสุทโธทนะได้ทรงประสงค์จะให้ท่านอำนวยพรแก่พระโอรสของพระองค์ จึงได้ทรงให้นำพระกุมารมาเพื่อทำความเคารพแก่พระฤษี เมื่อพระฤษีได้เห็นพระราชกุมารแล้ว ได้กล่าวขึ้นว่า "มหาราชเจ้า ! มันไม่ใช่พระโอรสของพระองค์ที่ควรแสดงความเคารพต่ออาตมาเสียแล้ว แต่มันเป็นอาตมาเองต่างหากที่ควรแสดงความเคารพต่อพระโอรสของพระองค์ อาตมาได้เห็นชัดแล้วว่า พระกุมารนี้มิใช่เป็นกุมารตามธรรมดา อาตมาได้เห็นชัดแล้วว่า เมื่อพระกุมารนี้เจริญวัยเติบโตเต็มที่แล้ว จักเป็นศาสดาเอก สอนธรรมอันสูงสุดแก่โลกโดยแน่นอนทีเดียวอาตมามั่นใจว่าพระกุมารนี้ต้องเป็นศาสดาอันสูงสุดที่โลกจะพึงมี"

เมื่อกล่าวดังนี้แล้ว พระฤษีได้นิ่งอึ้งอยู่ขณะหนึ่ง มีใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส แสดงความปลึ้มอกปลึ้มใจออกมานอกหน้า แต่แล้วน้ำตาได้ค่อยๆ ไหลซึมออกมาทีละน้อยๆ จนกระทั่งเป็นการร้องไห้มีน้ำตานองทีเดียว พระราชาได้ตรัสถามด้วยความตกพระทัยอย่างยิ่งว่า "ทำไมกัน เกิดเรื่องอะไรแก่พระคุณเจ้าเล่า เมื่อตะกี้นี้พระคุณเจ้าได้ยิ้มอยู่ บัดนี้กลับร้องไห้ มีเหตุการณ์อะไรร้ายแรงหรือ พระคุณเจ้าได้มองเห็นเหตุร้ายอันใดอันหนึ่งซึ่งจะเกิดขึ้นแก่โอรสของข้าพเจ้าหรือ"

พระฤษีได้ทูลว่า "หามิได้เลย มหาราชเจ้า พระองค์อย่าได้ทรงตกพระทัยเลย ไม่มีเหตุร้ายอันใดจะมาแผ้วพานพระโอรสของพระองค์ได้ เกียรติคุณของพระกุมารจักรุ่งโรจน์ พระกุมารจักเป็นผู้เรืองอำนาจอันสูงสุด"

พระราชาได้ตรัสถามว่า "ถ้าเช่นนั้น ทำไมพระคุณเจ้าจึงร้องไห้เล่า " พระฤษีได้ทูลว่า "อาตมาภาพร้องไห้เพราะเห็นว่า อาตมามีอายุมากจนจะต้องล่วงลับไปในไม่ช้า จักไม่มีโอกาสอยู่เห็นพระโอรสของพระองค์ได้ตรัสรู้เป็นพระศาสดาอันสูงสุดในวันหน้า ดูกรมหาราชเจ้า พระองค์จักทรงมีพระชนมายุอยู่จนถึงวันอันนำมาซึ่งความสุขอย่างยิ่งนั้น ชนเหล่าอื่นเป็นอันมากก็จักได้ประสพเหตุการณ์อันนั้น ส่วนอาตมาไม่มีโอกาสที่จะได้ประสพโชคอันใหญ่หลวงจึงไม่อาจจะอดกลั้นการร้องไห้ไว้ได้"

เมื่อพระฤษีกล่าวดังนั้นแล้ว ได้ลุกขึ้นจากที่นั่งทรุดตัวลงประคองอัญชลีด้วยมือทั้งสอง แล้วน้อมตัวลงถวายนมัสการแก่พระกุมารนั้น พระเจ้าสุทโธทนะได้ทรงตกตะลึงในคำกล่าวและการกระทำของพระฤษี ผู้น้อมศีรษะอันขาวโพลนไปด้วยหงอก ก้มลงทำความเคารพตรงหน้าของทารกน้อยๆ แต่ในที่สุด พระองค์ก็ได้ทรงรู้สึกว่า แม้พระองค์เองก็ควรทรงกระทำเช่นเดียวกับพระฤษีนั้นได้กระทำ ดังนั้น พระองค์จึงได้ทรงประคองอัญชลีแล้วทรุดพระองค์ลงถวายบังคมแก่พระโอรสของพระองค์เอง ซึ่งยังเป็นเพียงทารกอยู่เช่นเดียวกับพระฤษีนั้น

ในประเทศอินเดียในครั้งนั้นมีธรรมเนียมว่า เมื่อเด็กผู้ชายเกิดมาได้ห้าวัน ในวันที่ครบห้านั้นจะต้องมีการเชื้อเชิญผู้เป็นปราชญ์มาประชุมกัน เพื่อทำพิธีสระเกล้าแล้วขนานนามแก่กุมาร ตามที่ที่ประชุมแห่งนักปราชญ์เหล่านั้นจะเห็นควร พระเจ้าสุทโธทนะก็ได้ทรงประกอบพิธีดังกล่าวนี้แก่พระโอรสของพระองค์ตามธรรมเนียม ครั้งนั้น ที่ประชุมแห่งนักปราชญ์ได้เลือกเฟ้น แล้วขนานนามให้แก่พระโอรสของพระองค์ว่า "สิทธัตถะ" แปลว่า "ผู้มีความสำเร็จสมประสงค์ในทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนตั้งใจจะทำ" นักปราชญ์เหล่านั้นพากันกล่าวว่าเขาได้มองเห็นว่า พระกุมารนี้จักไม่เป็นไปดังเช่นกุมารทั้งหลายใด ถ้าหากว่าอยู่ครองฆราวาส จักเป็นพระราชาในเวลาอันสมควร แล้วจักเป็นมหาราชาผู้จักรพรรดิในที่สุด ถ้าหากว่าไม่อยู่ครองฆราวาส แต่ออกบวชเป็นนักบวชแล้ว ก็จักเป็นพระศาสดาชั้นสูงสุดทำนองเดียวกัน แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีนักปราชญ์คนหนึ่งในหมู่ปราชญ์เหล่านั้นยืนยันผิดแปลกออกไปจากนักปราชญ์ทั้งหลาย ท่านผู้นี้ได้กล่าวว่า ตามความเห็นของท่านแล้ว ท่านแน่ใจว่าเมื่อพระกุมารนี้เติบโตขึ้น จักไม่เจริญรอยตามพระราชบิดาอย่างแน่นอน แต่จักสละราชบัลลังก์ และราชอาณาจักรทุกสิ่งทุกอย่างไว้เบื้องหลัง แล้วประพฤติพรหมจรรย์บรรลุธรรมเป็นศาสดาเอกในโลก

เป็นธรรมดาอยู่เอง ที่พระราชาย่อมทรงดีพระทัยเป็นอย่างยิ่งว่า ประชาชนและนักปราชญ์ราชบัณฑิตทั้งหลายในอาณาจักรของพระองค์ ได้พากันหวังว่าพระกุมารน้อยนี้เมื่อทรงเจริญวัยแล้ว จักเป็นมหาบุรุษ แต่พระองค์ไม่ทรงสบายพระทัยในข้อที่ว่า พระกุมารนี้จักไม่เจริญรอยตามพระองค์ในการครองราชสมบัติ แต่จักออกบวชเป็นศาสดาผู้สอนศาสนาไปเสีย พระองค์ทรงพระประสงค์ให้พระโอรสของพระองค์ทรงเป็นอยู่อย่างชาวโลก และทรงทำอย่างที่ชาวโลกเขาทำกัน กล่าวคือ การสมรสและมีบุตร เมื่อพระองค์เองก็ทรงชราภาพมากแล้ว จักไม่อยู่ครองอาณาจักรไปได้นาน จึงทรงประสงค์ที่จะเห็นพระโอรสของพระองค์ขึ้นครองบัลลังก์ ปกครองประชาราษฎร์ให้อยู่เย็นเป็นสุขดังที่พระองค์กระทำมาด้วยความสวัสดี

พระองค์ได้ทรงรำพึงในใจว่า "ต่อไปวันหน้า ใครจะรู้ได้ บางทีลูกของเราจักเป็นมหาราชครอบครองอาณาจักรไม่เพียงแต่นครกบิลพัสดุ์น้อยๆ นี้เท่านั้น แต่จักครอบครองชมพูทวีปทั้งหมดทั้งสิ้นก็ได้" พระเจ้าสุทโธทนะได้ทรงปลอบพระองค์เองดั่งนี้ ความคิดเช่นนี้เอง ได้ทำให้พระองค์ทรงมีความหวัง และมีความอิ่มพระทัยเป็นอันมาก พระองค์ทรงตกลงพระทัยในการที่จะทรงกระทำทุกสิ่งทุกอย่างเท่าที่พระองค์จะทรงทำได้ เพื่อให้เป็นที่แน่นอนว่าพระสิทธัตถะจักอยู่ครองฆราวาส และจะไม่คิดถึงสิ่งใดอื่นมากไปกว่านั้น

แต่ในขณะเดียวกัน พระองค์ต้องทรงประสพความหม่นหมองพระทัยด้วยเรื่องอื่นอีกเรื่องหนึ่ง จำเดิมแต่พระนางเจ้าสิริมหามายาได้ประสูติพระสิทธัตถะแล้ว พระเทวีได้ประชวรและไม่อาจจะกลับมีพระกำลังเข้มแข็งดั่งเดิม แม้ว่าจะได้รับความประคบประหงมอย่างสูงสุด ตามที่พระราชินีทั้งหลายพึงจะได้รับ มีแพทย์อย่างดี มีผู้รักษาพยาบาลอย่างดี แต่ในที่สุด พระเทวีก็สิ้นพระชนม์ชีพในวันที่สอง นับแต่วันที่ได้มีการขนานนาม หรือนับเป็นวันที่เจ็ดจากวันที่พระนางได้ประสูติพระโอรส คนทุกคนได้พากันเศร้าโศกในการสิ้นพระชนม์ของพระนาง ผู้ที่โศกเศร้าเป็นอย่างยิ่งก็คือพระราชสวามีของพระนาง เพราะเหตุที่พระนางเป็นกุลสตรีที่ประเสริฐสุด

เป็นพระเทวีที่มีคุณธรรมสูงเหนือสตรีและเทวีทั้งหลาย เมื่อเหตุการณ์เป็นไปดั่งนี้ พระราชาจำต้องทรงประทานพระโอรสกำพร้ามารดาองค์นี้ ให้อยู่ในความอารักขาของพระเทวีองค์หนึ่งซึ่งเป็นพระน้านาง และมีนามว่า มหาปชาบดี พระเทวีพระองค์นี้ ได้ทรงเอาพระทัยใส่ทะนุถนอม ราวกับว่าเป็นพระโอรสของพระองค์เองก็ปานกัน ด้วยเหตุนี้พระสิทธัตถะกุมารจึงไม่เคยทรงเห็นพระพักตร์พระมารดาอันแท้จริงของพระองค์เลย