"ทุกข์เพราะคิดผิด"




จากคำสอนของพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก ซึ่งเป็นศิษย์
รุ่นแรกของ พระอาจารย์ชา สุภัทโท จากหนังสือ
"ทุกข์เพราะคิดผิดคิดถูกดับทุกข์ได้" ของพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก
วัดป่าสุนันทวนาราม อ. ไทรโยค กาญจนบุรี
ซึ่งเป็นหนังสือธรรมะที่ไพเราะและจับใจคนอ่านเป็นอย่างมาก

จิตของเรานี้เมื่อเป็นจิตที่ไม่ได้ฝึกฝน ชอบที่จะคิดโน่นคิดนี่สารพัด
คิดไปในอดีต คิดไปในอนาคต ปรุงแต่งไปเรื่อย ๆ จนปวดหัว ฟุ้งซ่าน
จิตที่ไม่ได้ฝึกฝนจะมีลักษณะอย่างที่กล่าวมานี้ หรือที่เรียกว่า
"จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว" คิดปรุงแต่งออกไปภายนอกเรื่อย ๆ

การคิดไปเรื่อย ๆ จึงเป็นเหตุให้เกิดทุกข์

ทุกข์ที่เกิดขึ้นกับเราทุกวันนี้ เพราะเราไม่รู้จักความคิด
ทุกข์เกิดเพราะคิดผิด คิดปรุงแต่งเรื่อยไป เห็นอะไร ได้ยินอะไร
ไม่ชอบใจ ก็คิดปรุงแต่งไปจนไม่สบายใจ หรือว่าอยู่ดี ๆ นึกถึงอดีต
ที่เคยมีเรื่องราวไม่ถูกใจ คิดไป นึกไป ปรุงไป จนไม่สบายใจเป็นทุกข์
บางทีเกิดอาฆาตพยาบาทก็ได้

ฝึกหัดใจให้หยุดคิด หยุดปรุงแต่ง
เมื่อไม่ปรุง ก็ไม่มีทุกข์อะไร

เรานั่งสมาธิ ทำใจให้สงบสักพักหนึ่ง 5 นาที หรือ 10 นาที ดูลม
หายใจเข้า หายใจออก จิตก็ไม่คิดอะไร ก็สงบสบาย ไม่มีทุกข์ใช่ไหม

คิดอย่างไรเรียกว่าคิดถูก คิดอย่างไรเรียกว่าคิดผิด

เราต้องเข้าใจให้ชัดเจนทั้งสองอย่าง
ในการปฏิบัติ เราต้องพยายามติดตามดูความรู้สึกนึกคิดตลอดวัน
ตลอดคืน

เมื่อเราคิดดี พูดดี ทำดี เราก็สบายใจ
ถ้าเราไม่รู้ไม่เข้าใจ เราก็ย่อมจะทำอะไรผิด ๆ ถูก ๆ เรื่อยไป

"ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว"

ทำดี คือ คิดดี พูดดี ทำดี
ทำชั่ว คือ คิดไม่ดี พูดไม่ดี ทำไม่ดี
ได้ดี คือ ความสุขใจ สบายใจ
ได้ชั่ว คือ ไม่สบายใจ ทุกข์ใจ

พระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่อง ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ และ
ข้อปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงซึ่งความดับทุกข์

ทุกข์เกิดที่ไหน ทุกข์ก็เกิดที่ใจเรา
ความไม่สบายใจก็เกิดที่ใจเรา
ทุกข์อยู่ที่ไหน เหตุก็อยู่ที่นั่น เพราะทุกข์มาจากเหตุ

พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า
เพื่อดับทุกข์ เราต้องละเหตุ ละเหตุที่ใจเรา
เมื่อละได้ ความดับทุกข์ก็ปรากฏ

เราจะละเหตุได้ก็ต้องเจริญมรรค
คือ ศีล สมาธิ ปัญญา หรือ สติ สมาธิ ปัญญา
มรรค มี สัมมาทิฏฐิเป็นข้อต้น
สัมมาทิฏฐิ ก็คือ ความเห็นถูก คิดถูก

เพื่อเจริญมรรค เราต้องสนใจพัฒนาสร้างกำลังของใจ
การสร้างกำลังของใจที่สำคัญ คือ สร้างสติ
สติ คือความระลึกได้ ต้องสนใจสร้างให้เกิดขึ้น
สร้างสมาธิ คือ ความตั้งใจมั่น
สร้างปัญญา คือ ความรอบรู้ในสังขาร

ร่างกายของเรายังต้องรับประทานอาหาร
ส่วนจิตนี้ต้องอาศัยสติ คือความระลึกได้
ขาดสติเมื่อไร จิตก็หลง ... คิดผิดทันที
ขาดสติ 3 นาที ก็บ้า 3 นาที ... นั่นคือ จิตคิดผิดไปเรื่อย ๆ

การนั่งสมาธิ ระลึกถึงลมหายใจเข้า ลมหายใจออก นี่เป็นสติ
เราทำทุกสิ่งทุกอย่างก็เพื่ออบรมสติให้เจริญทั้งนั้น
การปฏิบัติของเรา คือการอบรมสติ สร้างสติ ด้วยการสำรวมกายวาจาจิต
คอยระวังการกระทำ ระวังการพูด ระวังความคิด

ผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ต้องสนใจอบรมสติ สร้างสตินี่แหละ
บางคนแก่แล้ว มีความทุกข์มาก ไม่สบายใจ เพราะไม่ได้สนใจที่จะปฏิบัติ
ฝึกฝนจิต

แม้จะมีเงินทองมากเท่าใด ถ้าทำใจไม่ได้ จะเป็นทุกข์ตลอดเวลา
จิตใจไม่สงบ นอนไม่ค่อยหลับ และหลายคนอาจจะเป็นโรคประสาทก็ได้

เราปฏิบัติ เจริญสมาธิปัญญาจนมีกำลังใจสมบูรณ์
อินทรีย์แก่กล้า สติสมาธิปัญญาดี ทำใจสงบได้ ก็หมดปัญหา

ปกติใจ คือ ใจสงบ
ใจสงบเป็นศีลเป็นปกติ
สงบกาย สงบวาจา สงบใจ เป็นศีลทั้งหมด
กายเป็นศีล วาจาเป็นศีล ใจเป็นศีล
ใจสงบธรรมดา เรียกว่าใจเป็นศีล ใจเป็นปกติ

คำว่า "สงบ" มีความหมายลึกซึ้ง และกว้างมาก มีหลายระดับ
สงบของศีล เป็นสงบธรรมดา คือจิตไม่ฟุ้งซ่าน
สงบของสมาธิก็มี
สงบของขั้นปัญญาก็มี
(ปัญญา คือ ความรอบรู้ในขันธ์ 5 รูป เวทนา สัญญา สังขาร
วิญญาณ ตามความเป็นจริง)

เราใช้คำว่า "สงบ" เหมือนกัน