การใช้ภาษาของเด็กไทย



ทุกวันนี้เราเห็นคนในสังคม (บางคน) พูดไทยคำอังกฤษคำ หรือเด็กวัยรุ่นใช้ภาษาไทยไม่ค่อยจะถูกต้อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความนิยมเฉพาะกลุ่มและบุคคลที่ต้องการสร้างอรรถรสในการพูดคุยกันเอง ซึ่งทำให้ความสำคัญของภาษาไทยลดน้อยถอยลงอย่างที่ทุกคนเป็นกังวล แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากไปกว่านั้นคือ เมื่อต้องการใช้ภาษาไทยที่เป็นทางการ โดยเฉพาะการเขียน จะพบว่าเกิดข้อผิดพลาดเป็นจำนวนมาก

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดทำการทดสอบวัดสมรรถภาพในการใช้ภาษาไทย หัวข้อทักษะการเขียนภาษาไทยเพื่อการประกอบอาชีพ โดยนำนิสิตจากจุฬาฯจำนวน 398 คน มาทำการทดสอบ ซึ่งพบข้อผิดพลาดอยู่หลายจุด และพบว่าไม่มีผู้ใดได้ผลในเกณฑ์ดีมาก ในระดับดีมีอยู่เพียง 28 คน ข้อผิดพลาดที่พบคือ เรื่องวรรคตอนผิด ใช้คำไม่หลากหลาย ซึ่งมีผู้ผ่านเกณฑ์การทดสอบ 250 คนที่บ่งบอกว่าเป็นผู้ใช้ปฏิบัติงานได้ สื่อความคิดได้ครบถ้วน แต่ยังคงต้องเพิ่มเรื่องการเชื่อมโยงความคิด การใช้คำเชื่อม การใช้คำให้ตรงความหมาย และการสะกดคำ ขณะที่มีผู้ทดสอบไม่ผ่าน 120 คน ปัญหาที่สรุปได้คือ ยังขาดความสามารถในการเขียนที่จำเป็นต้องใช้ในการปฏิบัติงาน ควรแก้ไขการสื่อความคิดที่ไม่ชัดเจนหรือวกวน ใช้คำผิด สะกดผิด ใช้ภาษาไม่เหมาะสมกับประเภทของงานเขียน

ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศ.กิตติคุณ ดร.ปราณี กุลละวณิชย์ กรรมการผู้อำนวยการศูนย์ภาษาไทยสิรินธร กล่าวในระหว่างแถลงข่าวการจัดการทดสอบวัดสมรรถภาพในการใช้ภาษาไทย ทักษะการเขียนภาษาไทยเพื่อการประกอบอาชีพว่า การทดสอบดังกล่าว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดสอบให้แก่นิสิตชั้นปีที่ 3-4 และขยายสู่บุคคลทั่วไป พร้อมจัดบริการหลักสูตรอบรมเสริมความรู้ โดยเน้นวัดความสามารถในการเขียนรายงานประเภทต่างๆ รวมถึงการเขียนแสดงความคิดเห็น เนื่องจากเป็นทักษะที่ผู้ประกอบการมีความต้องการ นิสิตจึงควรได้รับทราบสถานะความสามารถของตนเพื่อจะสามารถพัฒนาต่อไปได้ ขณะเดียวกันหน่วยงานสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานได้ ทั้งนี้ เชื่อว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นพัฒนาให้นิสิตรวมถึงประชาชนทั่วไปตื่นตัวในการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง เป็นประโยชน์ต่อตนเองและการพัฒนาประเทศได้

ศ.กิตติคุณ ดร.ปราณีกล่าวว่า ศูนย์ภาษาไทยสิรินธรได้ทำการวิจัยลักษณะความสามารถในทักษะการเขียนภาษาไทยที่ผู้ว่าจ้างต้องการมากที่สุดในบุคลากรที่จบปริญญาตรี พบว่าผู้บริหารหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน 80 แห่ง ส่วนใหญ่ต้องการความสามารถในการเขียนรายงานประเภทต่างๆ เช่น รายงานการปฏิบัติงาน รายงานการประชุม ซึ่งต้องอาศัยทักษะการสรุปจับประเด็นสำคัญ จัดประเภทและเรียงลำดับความสำคัญ การรู้จักคำที่หลากหลาย รู้จักเลือกใช้คำที่เหมาะสมในการสื่อความหมาย ที่ผ่านมาจุฬาฯได้จัดสอบให้แก่นิสิตชั้นปีที่ 1 และชั้นปีที่ 4 เป็นปรกติ เด็กส่วนใหญ่อยู่ระดับ ?ผ่าน? แต่คาดหวังให้ส่วนใหญ่อยู่ในระดับ ?ดี? จุดบกพร่องที่มักพบคือ นิสิตตีโจทย์ไม่แตก ไม่สามารถเขียนให้เหมาะสมกับผู้รับสาร เรียงลำดับประโยคไม่ได้ การใช้คำเชื่อมไม่ถูกต้อง ลายมืออ่านยาก

ดร.เทพี จรัสจรุงเกียรติ รองกรรมการผู้อำนวยการศูนย์ภาษาไทยสิรินธร กล่าวว่า เด็กยุคใหม่ชอบเขียน โดยเฉพาะบนอินเทอร์เน็ต แต่ยังไม่รู้ว่าการเขียนมีหลายประเภทที่ต้องเลือกใช้วิธีการเขียนที่แตกต่างกัน ส่วนใหญ่มักคิดว่าการเขียนบนอินเทอร์เน็ตอย่างอิสระสามารถใช้เขียนได้ทุกที่ทุกสถานการณ์ เราจะทำอย่างไรให้เด็กเลือกใช้ภาษาที่แตกต่างไปในการเขียนรายงานการประชุม การเขียนจดหมายสมัครงาน

สำหรับแบบทดสอบวัดสมรรถภาพในการใช้ภาษาไทย ทักษะการเขียนภาษาไทยเพื่อการประกอบอาชีพ จะกำหนดสถานการณ์การทำงานของหน่วยงานหนึ่งพร้อมข้อมูลบางด้านเพื่อให้ผู้ทำแบบทดสอบคิดวิเคราะห์และเขียนนำเสนอเป็นรายงานที่ระบุ โดยจะตรวจประเมินความสามารถในการเขียนได้ตรงตามคำสั่ง ประเด็นครบถ้วนชัดเจน ความสามารถในการเขียนได้เหมาะสมกับประเภท ความสามารถในการเขียนลำดับความคิดต่อเนื่อง ไม่วกวน ความสามารถในการเขียนภาษาไทยอย่างถูกต้อง เช่น การใช้คำเชื่อม การสะกด วรรคตอน ลายมืออ่านง่าย และความสามารถในการเลือกใช้คำศัพท์ที่หลากหลาย