?คิดสร้างสรรค์? สร้างได้



ในยุคที่ลูกกลายเป็นเทพสำหรับพ่อแม่ในสังคมยุคใหม่ที่มีบริบทแห่งความเร็วเป็นตัวตอบสนองเป็นหลักนั้น ทำให้พ่อแม่ต้องประสบกับปัญหาการเลี้ยงดูลูกๆอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในสังคมบ้านเรา โดยเฉพาะการอบรมสั่งสอนให้เป็นคนดี เก่ง และมีความสุข

เหตุผลคลาสสิกที่สุดก็คงไม่พ้นพ่อแม่ต้องเอาเวลาส่วนนี้ไปทำมาหากินมากกว่ามีเวลาอบรมสั่งสอนเลี้ยงดูลูกอย่างในอดีต

เป็นที่ยอมรับกันว่าพัฒนาการในด้านต่างๆของเด็กทารกจำเป็นต้องอาศัยครอบครัวเป็นหลัก ลูกมนุษย์มีข้อได้เปรียบสัตว์อื่นๆที่มีระยะเวลาช่วงที่เป็นทารกค่อนข้างยาวนาน จึงเป็นโอกาสทองที่ดีที่สุดสำหรับการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ทั้งเรื่องครอบครัว สังคมรอบข้าง โดยความคิดสร้างสรรค์ต้องอาศัยประสบการณ์พื้นฐานในวัยเด็กเป็นสิ่งส่งเสริมที่สำคัญด้วย

ความหมายคือ ความคิดสร้างสรรค์และประสบการณ์วัยเด็กมีส่วนผลักดันให้เกิดความคิดสร้างสรรค์แก่เด็กได้ เพราะประสบการณ์ที่บุคคลได้พบเห็นมาก่อน โดยประสบการณ์เหล่านั้นทำให้เกิดความประทับใจ มีความสุข และมองเห็นคุณค่า

มาสโลว์ นักจิตวิทยากลุ่มมนุษยนิยม จัดวางให้ประสบการณ์บางชนิดเป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่าสูงยิ่ง และมีความสำคัญต่อชีวิตของบุคคลมาก

ประสบการณ์ที่มีคุณค่าสูงยิ่ง หมายถึงประสบการณ์ที่ทำให้บุคคลเกิดความรู้สึกพิศวงหรือประหลาดใจมาก (most wonderful) มีความสุขมาก (ecstatic) มีความรัก (love) หรือเกิดการหยั่งรู้ (insight) ในบางเรื่อง

เราจึงเรียกประสบการณ์ลักษณะนี้ว่า ?ประสบการณ์สร้างสรรค์? (creative experience) ที่จะมีส่วนช่วยให้บุคคลเปลี่ยนเจตคติ การรับรู้ วิธีการคิด ทรรศนะการมองโลก มองชีวิต

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ทำให้บุคคลรู้จักตนเอง เกิดการค้นพบตัวเอง มองเห็นว่าตนเองมีคุณค่าจนสามารถกำหนดเป้าหมายในชีวิตของตน และพัฒนาศักยภาพที่มีอยู่ไปสู่เป้าหมายนั้นได้อย่างสมบูรณ์ในที่สุด

มาซารุ อิบูกะ เห็นด้วยว่าประสบการณ์ในวัยเยาว์ของเด็กมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเกิดความคิดสร้างสรรค์ในวัยต่อมา

กรณีตัวอย่างของคาร์ล ฟรีดริช เกาส์ นักคณิตศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ในสมัยศตวรรษที่ 19 และโซอิชิโร ฮอนด้า ประธานบริษัทฮอนดะกิเคง เป็นเรื่องที่ยืนยันความชัดเจนข้อนี้ได้ดี

เกาส์มีบิดาเป็นช่างก่ออิฐธรรมดาสามัญ เมื่อบิดาออกไปทำงานก็พาลูกชายออกไปด้วย สิ่งที่เด็กชายทำก็คือ นั่งลงข้างพ่อของเขาและส่งอิฐให้ ความสามารถทางคณิตศาสตร์ของเขาจึงเกิดขึ้นจากประสบการณ์ในวัยเด็กนี้เอง

ฮอนด้าในวัยเด็กปู่ได้พาขี่หลังไปดูโรงสีข้าว ซึ่งสมัยก่อนยังไม่มีมอเตอร์ไฟฟ้าใช้ ต้องใช้เครื่องยนต์หลั่งน้ำมัน ฮอนด้าชอบ เพราะมีเสียงดังปึงปัง ทำให้สนุกมาก ตอนเด็กต้องขี่หลังปู่ไปดูบ่อยๆ ต่อมาเสียงดังของเครื่องเป็นเสมือนเสียงเพลงกล่อมเด็ก กลิ่นควัน กลิ่นน้ำมัน เป็นกลิ่นที่ให้ความรู้สึกคุ้นมาก

นี่เป็นต้นเหตุที่ทำให้ฮอนด้าชอบเครื่องยนต์ และได้พัฒนาเป็นเครื่องยนต์ฮอนด้าจนมีชื่อเสียงยอมรับไปทั่วโลก

ประสบการณ์ในวัยเด็กจึงเป็นสิ่งส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ที่สำคัญอย่างยิ่ง สิ่งที่จะต้องคิดต่อไปก็คือ ประสบการณ์ลักษณะใดจึงส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์สำหรับเด็กอย่างแท้จริง

เด็กทุกคนจำเป็นต้องไปนั่งส่งก้อนอิฐหรือไปฟังเสียงรถยนต์ตั้งแต่เล็กๆกันทั้งหมดจึงจะมีความคิดสร้างสรรค์อย่างนั้นหรือ

วิธีการที่น่าจะได้ผลก็คือ ครอบครัวจำเป็นจะต้องให้ประสบการณ์หลายอย่างแก่เด็ก เป็นการเพิ่มโอกาสให้เด็กมีความสุข มีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น

บทบาทของพ่อมักจะให้ความสำคัญในเรื่องการสอน การชี้แนะความคิดเรื่องสติปัญญาในการดำเนินชีวิต ตลอดจนแนวทางในการเรียนรู้เกี่ยวกับอาชีพกับเด็ก

ในขณะที่บทบาทของแม่มักจะให้ความสำคัญในเรื่องการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์เป็นเรื่องสำคัญ ทั้งพ่อ แม่ และบุคคลอื่นในครอบครัว จะต้องช่วยกันอย่างเข้มแข็งจึงจะบังเกิดผล

การส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นในตัวเด็กจำเป็นที่จะต้องเริ่มต้นกระทำตั้งแต่ยังเล็กๆ โดยให้ความสำคัญแก่บทบาทที่ถูกต้องในการอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่

พ่อแม่ ครู บุคลากรทางการศึกษา และผู้เกี่ยวข้องกับการอบรมเลี้ยงดูเด็ก มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทราบว่าความคิดสร้างสรรค์นั้นได้เกิดขึ้นในช่วงใดของพัฒนาการของชีวิต

ทฤษฎีทางจิตวิทยาพัฒนาการหรือแนวคิดที่สำคัญของผู้ที่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้อย่างละเอียด พ่อแม่ ครู และบุคคลอื่น จำเป็นจะต้องเรียนรู้เทคนิค วิธีการส่งเสริม หรือกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงการจัดบรรยากาศสิ่งแวดล้อมให้เอื้ออำนวยต่อการเกิดความคิดสร้างสรรค์ด้วย

นักจิตวิทยาพัฒนาการ ไม่ว่าจะเป็นอิริคสัน พีอาเจต์ รวมทั้งทอแรนช์ ต่างเห็นตรงกันว่าพัฒนาการของเด็กในช่วงวัยทารกเป็นรากฐานที่สำคัญที่มีอิทธิพลต่อบุคลิกภาพและสติปัญญาของเด็กเมื่อเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่

ขณะเดียวกันความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในวัยเด็ก ถ้าได้รับการส่งเสริมอย่างต่อเนื่องและถูกต้องก็จะสามารถพัฒนาสูงขึ้นและเพิ่มปริมาณขึ้นได้ด้วย

ครอบครัวจึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการส่งเสริมสติปัญญาและความคิดสร้างสรรค์ในวัยเด็ก การอบรมเลี้ยงดูอย่างเหมาะสมในช่วงเวลา 2-5 ปีแรกของชีวิต นอกจากจะเป็นการส่งเสริมพัฒนาการทางสติปัญญาแล้ว ยังส่งเสริมความคิดใหม่ๆไปพร้อมกันด้วย และหากจะให้ได้ผลดีต้องส่งเสริมไปอย่างต่อเนื่องตลอดจนกระทั่งเด็กอายุ 15 ปี