สรุปรายงานภาวะสังคมไตรมาสหนึ่ง ปี 2552
มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 10 มิถุนายน 2552






คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปรายงานภาวะสังคมไตรมาสหนึ่ง ปี 2552 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอดังนี้

ภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2552

มิติด้านคุณภาพคน : อัตราการว่างงานสูงขึ้นเป็นร้อยละ 2.1 เนื่องจากการลดคนงานภาคอุตสาหกรรมและมีแรงงานจบการศึกษาใหม่จำนวนมาก แต่การจ้างงานในภาพรวมทั้งประเทศยังขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 1.9 ทั้งภาคเกษตร บริการ และการจ้างงานภาครัฐ ประกอบกับมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะเร่งด่วนเริ่มมีผล จึงช่วยรองรับและบรรเทาความรุนแรงของปัญหาด้านแรงงาน สำหรับด้านการศึกษา ผลสอบ O-NET ยังคงสะท้อนผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาอยู่ในระดับต่ำ จึงต้องมีการลงทุนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งระบบและติดตามการดำเนินงานให้มีความคุ้มค่า ด้านสุขภาพของประชาชน โรคชิคุนกุนยาระบาดอย่างรวดเร็ว รวมทั้งขยายวงจากภาคใต้ตอนล่างสู่พื้นที่อื่นรวม 28 จังหวัด และปัญหาไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 ซึ่งกำลังระบาดในหลายประเทศ โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ฤดูฝนที่ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลแพร่ระบาด ต้องเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการข้ามสายพันธุ์ของเชื้อนี้กับไข้หวัดใหญ่ธรรมดา นอกจากนี้ ผู้ป่วยวัณโรคมีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สาเหตุสำคัญมาจากโรคเอดส์ที่ทำให้ผู้ป่วยขาดภูมิคุ้มกันจึงติดเชื้อได้ง่าย และปัญหาการดื้อยาทำให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงขึ้นมาก

มิติด้านความมั่นคงทางสังคม : คดีอาชญากรรมโดยรวมลดลงโดยเฉพาะคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ แต่ยาเสพติดยังคงเป็นปัญหาต่อเนื่องและแพร่ระบาดรุนแรงขึ้น วัยรุ่นเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด อุบัติเหตุจากการจราจรมีสาเหตุหลักมาจากขับรถเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ความถี่ของอุบัติเหตุจากเมาแล้วขับเพิ่มขึ้นมากโดยเฉพาะในช่วงสงกรานต์ และเกิดอุบัติเหตุจากผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สูงสุดถึงร้อยละ 81.9 ขณะเดียวกัน ในกลุ่มเด็กอายุต่ำ กว่า 15 ปี การจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุที่สูงเป็นอันดับหนึ่ง

มิติด้านพฤติกรรมและความเป็นอยู่ของคน : ปัญหาทางเศรษฐกิจทำให้คนลดการบริโภคยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการก่อหนี้ แต่เริ่มมีสัญญาณของหนี้ค้างชำระที่สูงขึ้นในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย โรงรับจำนำเป็นทางเลือกหนึ่งของแหล่งเงินทุน ช่วยเสริมสภาพคล่องในการจับจ่ายใช้สอยและลดปัญหาหนี้สินจากบัตรเครดิตหรือหนี้นอกระบบ

มิติด้านสิ่งแวดล้อม : มลพิษจากภาคอุตสาหกรรมส่งผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่มาบตาพุดอย่างชัดเจน จนต้องประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ ดังนั้นชุมชนและภาคธุรกิจต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ด้วยการรักษาสภาพแวดล้อม ปฏิบัติตามมาตรฐานและกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด


เรื่องเด่นประจำฉบับ : พฤติกรรมการบริโภคของคนไทยในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ
ในช่วงปี 2551 คนและสังคมไทยได้รับผลกระทบจากปัญหาทางเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นในเรื่องความมั่นคงของอาชีพและรายได้ลดลง จึงปรับพฤติกรรมในการบริโภคโดยระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ชะลอการซื้อสินค้าคงทนและลดการใช้สินค้าไม่จำเป็น แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าจำนวนผู้ซื้อสลากกินแบ่ง/หวยเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย และจากราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นมากทำให้มีการปรับตัว โดยลด/งดการบริโภคเครื่องดื่มชูกำลังและแอลกอฮอล์ อาหารฟุ่มเฟือยราคาแพง รวมทั้งเปลี่ยนสถานที่ซื้อเป็นตลาดนัดหรือร้านใกล้บ้านและซื้อเท่าที่จำเป็น

หนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคของภาคครัวเรือนขยายตัวในอัตราชะลอลง ผู้มีรายได้น้อยที่เป็นหนี้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น และมีหนี้นอกระบบเนื่องจากมีปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การลดลงของรายได้ส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของผู้มีรายได้น้อย จะทำให้ต้องเสียค่าปรับผิดนัดชำระหนี้อัตราสูง และมีความเสี่ยงต่อปัญหาการทวงหนี้นอกระบบ ซึ่งรัฐต้องดูแลและคุ้มครองเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม

จากการสำรวจของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ช่วงระหว่างวันที่ 16-30 เมษายน 2552 ในกลุ่มเป้าหมาย 3,133 คน จาก 10 จังหวัดทั่วประเทศ พบว่าประชาชนปรับวิถีการดำรงชีวิตโดยนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ คือ ใช้จ่ายอย่างมีเหตุผล เก็บออมไว้ใช้ยามจำเป็น ไม่สร้างหนี้เพิ่ม บำรุงรักษาเครื่องใช้ให้ใช้งานได้ยาวนานและใช้การซ่อมแซมแทนการซื้อใหม่ การเผยแพร่ความรู้ สร้างความเข้าใจในหลักคิดของเศรษฐกิจพอเพียง จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนจำนวนมากขึ้น

สำหรับมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน เพิ่มรายได้และกำลังซื้อให้กับผู้มีรายได้น้อยที่ภาครัฐดำเนินการนั้น จากการสำรวจกลุ่มเป้าหมาย 4 กลุ่ม ในช่วงปลายเดือนเมษายน มีผู้ได้รับเช็คช่วยชาติแล้วร้อยละ 93 ผู้สูงอายุมีผู้มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 กลุ่มตัวอย่างที่เป็น อสม. ได้รับเงินแล้วร้อยละ 26.6 สำหรับแผนการใช้เงินที่ได้รับ ผู้สูงอายุร้อยละ 24 ตั้งใจจะนำเงินไปเก็บออมทั้งจำนวน ส่วนผู้ได้รับเช็คช่วยชาติและ อสม. ตั้งใจออมทั้งจำนวนร้อยละ 11 และ 14 ตามลำดับ และมาตรการเหล่านี้มีส่วนช่วยให้ประชาชนรู้สึกว่าเศรษฐกิจและรายได้ของตนดีขึ้น ส่วนโครงการลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนยังครอบคลุมไม่ทั่วถึง ร้อยละ 63.6 ของกลุ่มตัวอย่างเคยใช้ประโยชน์จากโครงการ 5 มาตรการ 6 เดือน แต่มีเพียงร้อยละ 15.8 ที่เคยซื้อสินค้าโครงการจำหน่ายสินค้าราคาถูกหรือ ?ธงฟ้า? ส่วนผู้มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือในโครงการเรียนฟรีร้อยละ 80 ได้รับเงินแล้วอีกบางส่วนโรงเรียนจะจ่ายให้เมื่อเปิดเทอม

ในด้านความคิดเห็นต่อมาตรการทางอ้อมที่จะช่วยสร้างงานและพัฒนาศักยภาพนั้น ตรงกับความต้องการของชุมชน โดยเฉพาะโครงการชุมชนพอเพียง แต่บางส่วนยังมีปัญหาการมีส่วนร่วมของชุมชน ส่วนโครงการต้นกล้าอาชีพมีปัญหาเรื่องการประชาสัมพันธ์ไม่ทั่วถึง และความคล่องตัวในการเข้าสู่ระบบ เป็นต้น


ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 มิถุนายน 2552

--จบ--