ข้าวมธุปายาส หรือข้าวทิพย์

ข้าวมธุปายาส หรือข้าวทิพย์


นางสุชาดาน้อมถวายข้าวมธุปายาสแด่พระพุทธเจ้า

ตำนานข้าวมธุปายาส มาจากเรื่องของ นางสุชาดา ธิดาเศรษฐี ณ หมู่บ้านเสนานี ใกล้ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม มีหญิงรับใช้ชื่อนางปุณณา นางสุชาดาได้บวงสรวงขอบุตรชายต่อเทวดาประจำต้นไทร เมื่อได้บุตรชายตามประสงค์แล้ว นางจึงให้คนตระเตรียมทำข้าวมธุปายาสเพื่อนำไปเป็นพลีแก่เทวดา ที่บันดาลให้ความหวังของนางเป็นจริง แต่ก็ได้ถวายแด่ นักบวชสิทธัตถะ ผู้ประทับนั่งใต้ร่มไทรนั้น ซึ่งเมื่อนางเห็นก็เข้าใจว่าเป็นรุกขเทวดาที่แสดงตนมาเป็นนักบวช เพราะมีลักษณะงาม นางจึงน้อมข้าวมธุปายาสนั้นเข้าไปถวาย ครั้นนักบวชสิทธัตถะได้บอกความจริงแก่นางแล้วนางก็ยิ่งมีใจศรัทธา จึงได้ถวายข้าวนั้นทั้งถาด นักบวชสิทธัตถะได้นำข้าวมธุปายาสมาแบ่งเป็น ๔๙ ก้อน แล้วฉันจนหมด จากนั้นจึงนำถาดไปอธิษฐานแล้วลอยไปในแม่น้ำเนรัญชรา เพื่อเสี่ยงทายเรื่องที่จะสามารถตรัสรู้ได้หรือไม่ ข้าวมธุปายาสของนางสุชาดาจึงนับว่าเป็นอาหารมื้อสุดท้ายก่อนที่นักบวชสิทธัตถะจะได้บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้า ดังคำกล่าวที่ว่า



นับหกปีที่พระสิทธัตถะ
ฝึกตบะเพียรภาวนามั่น
จวบวิสาขะรุ่งอรุณพลัน
นางสุชาดานั้นเฝ้าพระองค์
ถวายข้าวปายาสด้วยศรัทธา
เสวยแล้วโมทนาดังประสงค์
ลอยถาดทวนสายชลจนจมลง
เสด็จตรงแนวป่าพนาลัย



วิธีเตรียมทำข้าวมธุปายาสของนางมีดังนี้ นางให้เลี้ยงแม่วัวนมไว้ในป่าชะเอมจำนวน ๑,๐๐๐ ตัว แล้วให้แม่วัวนม ๕๐๐ ตัว ดูดกินน้ำนมของแม่วัวนม ๑,๐๐๐ ตัวนั้น แล้วให้แม่วัวนม ๒๕๐ ตัว ดื่มกินน้ำนมของแม่วัวนม ๕๐๐ ตัวนั้น แล้วให้แม่วัวนม ๑๒๕ ตัว ดูดกินน้ำนมของแม่วัวนม ๒๕๐ ตัวนั้น แล้วให้แม่วัวนม ๖๓ ตัว ดูดกินน้ำนมของแม่วัวนม ๑๒๕ ตัวนั้น แล้วให้แม่วัวนม ๓๒ ตัว ดูดกินน้ำนมของแม่วัวนม ๖๓ ตัวนั้น แล้วให้แม่วัวนม ๑๖ ตัว ดูดกินน้ำนมของแม่วัวนม ๓๒ ตัวนั้น และในท้ายที่สุดนางให้แม่วัวนม ๘ ตัว ดื่มกินน้ำนมของแม่วัวนม ๑๖ ตัวนั้น หลังจากนั้นนางก็จะนำแม่วัวนมทั้ง ๘ ตัว มารีดเอาน้ำนม และนำน้ำนมมาเคี่ยวจนข้นเป็นนมข้นหวาน ทำให้มีรสอร่อยมาก เรียกว่า "ขีรปริวรรต" และในวันที่นางให้รีดนมนั้น ลูกวัวไม่กล้าเข้าใกล้แม่วัวเหล่านั้นเลย พอนางสุชาดาน้อมภาชนะเข้าไปเท่านั้น น้ำนมก็หลั่งออกมาจากเต้านมของแม่วัวเอง นางเห็นดังนั้นก็เกิดความปิติยินดีอย่างยิ่ง เมื่อได้แล้วจึงเทน้ำนมลงใส่ภาชนะใหม่ยกขึ้นตั้งบนเตา

ในวันที่นางปรุงข้าวมธุปายาสนั้น ท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ คือ ท้าวธตรฐ ท้าวรุฬหก ท้าววิรูปักข์ และ ท้าวเวสวัณ ก็มายืนอารักขาก้อนเส้าเตาปรุงทั้ง ๔ ทิศ รวมทั้ง ท้าวมหาพรหม ก็นำทิพย์เศวตฉัตรมากางกั้นข้างบนกระทะเพื่อเป็นสิริมงคล และป้องกันธุลีบนนภากาศ สมเด็จอมรินทราธิราช เสด็จลงมาก่อไฟใส่ฟืน เทวดาเจ้าในหมื่นโลกธาตุ ก็นำทิพยโอชามารวมใส่ลงไปในหม้อปรุงนั้น ประชาชนในทวีปทั้ง ๔ และทวีปน้อย ๒,๐๐๐ ห้อมล้อม ต่างเป็นดังจักรบีบรวงผึ้งอันอุดมด้วยน้ำผึ้งใส่เข้าไปในภาชนะที่กำลังปรุงนั้น เมื่อทำดังนี้แล้วก็ได้เป็นข้าวมธุปายาส เพื่อนำไปถวายแด่พระภิกษุต่อไป




ข้าวมธุปายาส หรือข้าวทิพย์



ที่มาข้อมูล :
เข้ามธุปายาส (ข้าวมธุปายาส).บำรุง บารมี, มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.
สารานุกรมวัฒนธรรมไทย (ภาคเหนือ) เล่ม ๒ : กรุงเทพฯ.

พิธีสงฆ์ คู่มือชาวพุทธ. เสงี่ยม คุมพวาส, พิมพ์ที่ เทพนิมิตรการพิมพ์, ๒๕๐๘: ๓๑๒-๓๓๓