โรคซึมเศร้า
ปัจจุบันมีคนไทยป่วยเป็นโรคซึมเศร้าประมาณ 5% หรือ 3 ล้านคน แต่มาพบแพทย์ไม่ถึงแสนคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าเป็นห่วงมาก เพราะผู้ป่วยอาจคิดสั้นฆ่าตัวตายได้
นพ.อภิชัย มงคล รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัญหาเรื่องโรคซึมเศร้าเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญ นอกจากจะส่งผลกระทบต่อตัวผู้ป่วย ญาติ รวมทั้งสมาชิกในครอบครัวแล้ว ยังมีผลกระทบต่อสังคมโดยรวม
โรคซึมเศร้าเป็นโรคทางจิตเวชที่พบได้ในประชากรทั่วไป โรคนี้จะส่งผลต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น การเปลี่ยนแปลงระบบสารเคมีในสมอง โดยผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะมีอารมณ์ซึมเศร้าที่เกิดขึ้นอยู่เป็นระยะเวลานานโดยไม่มีท่าทีว่าจะดีขึ้น หรือเป็นรุนแรงร่วมกับการทำหน้าที่ หรือการทำงาน และกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ แย่ลง
โดยปกติโรคซึมเศร้าจะแสดงอาการของการขาดประสิทธิภาพของการรู้ การคิด ซึ่งคล้ายคลึงกับโรคสมองเสื่อม ความ ผิดปกติของการรู้ การคิดของผู้ป่วยโรค ซึมเศร้ามักแสดงออกมาในลักษณะของ การหลงลืมง่าย ความคิดอ่านช้าลง ลังเล ตัดสินใจไม่แน่นอน ไม่มั่นใจในตนเอง ผู้ป่วยจะมองโลกภายนอก รวมถึงมองชีวิตตัวเองในแง่ลบ คิดว่าชีวิตตนเองไม่มีคุณค่า ไม่มีความหมายต่อใคร ผู้ป่วยบางคนมีความรู้สึกผิดหรือกล่าวโทษ ตำหนิตนเองต่อสิ่งที่ตนเองได้กระทำลงไป แม้เป็นการกระทำที่ผู้อื่นเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อย ความคิดอยากตายพบได้ถึงร้อยละ 60 และพบว่ามีการฆ่าตัวตายร้อยละ 15
ในช่วงแรกผู้ป่วยอาจแค่รู้สึกเบื่อชีวิต ไม่รู้จะมีชีวิตอยู่ต่อไปทำไม เมื่ออาการเป็นมาก ขึ้นจะรู้สึกอยากตาย อยากวิ่งให้รถชน ต่อมาจะคิดถึงการฆ่าตัวตาย เริ่มมีการคิดถึงวิธีการ มีการวางแผน จนถึงการกระทำการฆ่าตัวตายในที่สุด
เกณฑ์การวินิจฉัยโรคซึมเศร้า มีการคัดกรองด้วย 2 คำถาม คือ
1. ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา คุณรู้สึกไม่สบายใจ ซึมเศร้าหรือท้อแท้หรือไม่
2. ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา คุณรู้สึกเบื่อ ทำอะไร ๆ ก็ไม่เพลิดเพลินหรือไม่
ใครไม่มี 2 ข้อนี้เลย ก็แสดงความยินดีกับเขาได้ว่า ขณะนี้คุณยังไม่มีอาการของโรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้า รักษาหายได้ เมื่อคุณหรือญาติมีภาวะของโรคซึมเศร้า ควรพบแพทย์หรือจิตแพทย์ใกล้บ้าน ซึ่งจำเป็นต้องกินยาอย่างต่อเนื่องประมาณ 6-12 เดือน หรือนานกว่านั้น หากมีข้อบ่งชี้ ควรมาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง
การปฏิบัติตัวเมื่อมีภาวะซึมเศร้า คือ ออกกำลังกาย เลือกทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดความรู้สึกดี เช่น ฟังเพลง ดูหนัง ทำงานอดิเรกที่ชอบ พูดคุยกับคนที่ไว้ใจ ผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีการต่าง ๆ วางเป้าหมายการทำงานที่เหมาะสม เป็นขั้นตอนอย่างง่ายๆ มองโลกในแง่ดี อย่าด่วนตัดสินใจเรื่องสำคัญต่อชีวิตในช่วงนี้ กินอาหารที่มีประโยชน์ กินผักผลไม้มาก ๆ หลีกเลี่ยงการดื่มสุราหรือแอลกอฮอล์ ทำกิจกรรมกับเพื่อน ญาติ คนในครอบครัว และพักผ่อนให้เพียงพอ
ส่วนญาติควรเป็นกำลังใจให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ด้วยการใส่ใจ ให้เวลา ให้กำลังใจ เปิดโอกาสให้ระบายความคับข้องใจไม่ซ้ำเติม สนับสนุนในการติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง ลดความคาดหวัง ยอมรับ อดทนต่อการแสดงออกของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ควรหลีกเลี่ยงให้เขาตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญจนกว่าจะดีขึ้น เฝ้าระวังการทำร้ายตัวเองและไม่ควรปล่อยให้อยู่คนเดียว ช่วยดูแลเรื่องการรับประทานยาของผู้ป่วย โดยเฉพาะช่วงแรกที่ซึมเศร้ามาก อาจจะคิดอยากตาย และส่งเสริมให้เห็นคุณค่าของตัวเอง.


วันนี้หนอนไปอบรมภาวะซึมเศร้าให้อสม.มาจ้า
วันนี้หนอนไปอบรมภาวะซึมเศร้าให้อสม.มาจ้า
วันนี้หนอนไปอบรมภาวะซึมเศร้าให้อสม.มาจ้า