สิทธิกั้นทางจำเป็น



บางท่านอาจเคยประสบปัญหาว่า ที่ดินของตนถูกล้อมไว้จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ ทำให้มิอาจใช้ประโยชน์หรือลดคุณค่าในที่ดินแปลงนี้ไป กฎหมายมีทางช่วยเหลือเจ้าของที่ดินประเภทนี้โดยให้สิทธิร้องขอเปิดทางจำเป็นออกสู่ทางสาธารณะได้ โดยต้องไม่สร้างความเสียหายเกินเหตุแก่เจ้าของที่ดินซึ่งล้อมอยู่

กรณีศึกษานี้เป็นตัวอย่างของการใช้สิทธิในทางจำเป็นโดยอำนาจของกฎหมาย แต่ต้องไม่ก่อความเสียหายแก่เจ้าของที่ดินซึ่งใช้เป็นทางจำเป็นนั้น ตาม คำพิพากษาฎีกาที่ 4508/2544 นาย กอง ยื่นฟ้องคดีให้ หมู่บ้านมั่นคง รื้อคานเหล็กที่ปิดกั้นถนนในหมู่บ้านอันเป็นทางจำเป็นไปสู่ที่ดินของนายกอง ตามข้อเท็จจริงในคดีปรากฏว่า นายกองให้รถบรรทุกสิบล้อหนัก 20 ตันแล่นผ่านถนนพิพาทนี้จนสร้างความเสียหายแก่พื้นถนนและก่อความรำคาญให้คนในหมู่บ้านมั่นคงอย่างหนัก ทำให้หมู่บ้านสร้างคานเหล็กปิดกั้นมิให้รถบรรทุกขนาดใหญ่ผ่านเข้าออกได้ จึงเกิดกรณีพิพาทขึ้น ศาลฎีกามีคำพิพากษาว่า นายกองมีสิทธิใช้ถนนพิพาทในฐานะเป็นทางจำเป็นได้โดยอำนาจของกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 ซึ่งบัญญัติว่า ที่ดินแปลงใดมีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธราณะได้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นจะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้ ซึ่งหมายความว่า ต้องอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 1349 วรรค 3 ซึ่งบัญญัติว่า ที่และวิธีทำทางผ่านนั้นต้องเลือกให้พอควรแก่ความจำเป็นของผู้มีสิทธิจะผ่าน กับทั้งให้คำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายแต่น้อยที่สุดที่จะเป็นไปได้ ถ้าจำเป็น ผู้มีสิทธิจะผ่านจะสร้างถนนเป็นทางผ่านก็ได้ เมื่อทางดังกล่าวเป็นถนนในหมู่บ้านจัดสรรกว้าง 6 เมตร เป็นคอนกรีตหนาประมาณ 15 เซนติเมตร รับน้ำหนักได้ไม่เกิน 10 ตัน ไม่สามารถให้รถบรรทุกสิบล้อน้ำหนักประมาณ 20 ตันขึ้นไปผ่านได้ หากยอมให้ผ่านจักเกิดความเสียหาย อีกทั้งรบกวนการอยู่อาศัยตามปกติของคนในหมู่บ้านจัดสรร เช่น นอนไม่หลับ เด็กนักเรียนทำการบ้านไม่ได้ ดินที่หล่นบนถนนจะทำให้ถนนลื่นและเคยเกิดอุบัติเหตุมาแล้ว หมู่บ้านมั่นคงจึงชอบที่จะสร้างคานเหล็กซึ่งมีความสูงจากพื้นผิวถนน 2.50 เมตร ปิดกั้นทางมิให้รถบรรทุกขนาดใหญ่ผ่านเข้าออกได้

ตัวอย่างคดีดังกล่าวทำให้เห็นว่า แม้กฎหมายจักให้สิทธิเปิดทางจำเป็นได้ แต่ไม่ยอมให้ผู้ใช้ทางจำเป็นนั้นละเมิดสิทธิของผู้อื่นมากเกินเหตุ บางครั้งยังต้องชดใช้ค่าเสียหายในภายหลังอีกด้วย ดังนั้น ต้องพึงระลึกไว้ว่า มีสิทธิ ใช้สิทธิ เคารพสิทธิของแต่ละฝ่าย จักอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข


จากข้อเขียนของ ลีลา LAW บล็อก windowslive.com