ยาต้านโรคมะเร็งกรรมพันธุ์




อังกฤษศึกษาทางคลินิกยาโรคมะเร็งขนานใหม่ เบื้องต้นพบได้ผลดี ทำให้เซลล์มะเร็งหดตัวลงหรือไม่แพร่กระจาย ยาทำงานโดยสกัดกั้นการซ่อมแซม DNA ของเซลล์มะเร็ง ซึ่งสุดท้ายส่งผลทำให้เซลล์ตาย

การศึกษาทดลองทางคลินิกนำโดยสถาบันโรคมะเร็งของอังกฤษ หนึ่งในองค์การศึกษาวิจัยแนวหน้าของโลก พบว่ายามะเร็งใหม่ ซึ่งเป็นยากลุ่ม PARP inhibitors ที่ทำงานมุ่งทำลายเซลล์มะเร็งโดยไม่ส่งผลต่อเซลล์ดีนั้น ในเบื้องต้นสามารถยับยั้งมะเร็งที่มีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมหลายชนิด รวมถึงมะเร็งเต้านมระยะลุกลาม มะเร็งรังไข่ และมะเร็งต่อมลูกหมากซึ่งเกิดจากการผ่าเหล่าของยีน BRCA1 และ BRCA2 ได้ผลดี

ทั้งนี้ ยีนผ่าเหล่าทั้ง 2 ชนิดส่งผลทำลายความสามารถในการซ่อมแซม DNA ของเซลล์ และเชื่อว่าเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ประมาณ 5% และทำให้เกิดมะเร็งต่อมลูกหมากประมาณ 1-2% ในการศึกษาล่าสุดที่ดำเนินการกับผู้ป่วย 19 คน โดย 12 คนซึ่งไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นได้ผลแล้ว พบว่าเซลล์มะเร็งหดตัวลงหรือไม่ขยายตัวเพิ่มโดยมีอาการข้างเคียงน้อยมาก ในขณะที่มี 1 ราย ผลในการรักษายังคงอยู่หลังผ่านพ้นไป 2 ปี

นับเป็นตัวอย่างความสำเร็จครั้งแรกของยารักษาเฉพาะรายที่ใช้เทคนิคที่เรียกว่า "synthetic lethality" ซึ่งเป็นการดึงความบกพร่องระดับโมเลกุลมาใช้ให้เป็นประโยชน์ โดยยาใหม่จะไปขัดขวางการซ่อมแซม DNA ของเซลล์มะเร็ง โดยะไปสกัดกลไกการซ่อมแซม DNA ของเซลล์ด้วยการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ชื่อว่า PARP ซึ่งเซลล์ปรกติจะไม่ได้รับผลกระทบ เพราะสามารถใช้กลไกอื่นมาซ่อมแซม DNA ได้ ซึ่งคุมโดยยีน BRCA ปรกติ แต่ในเซลล์มะเร็งที่มียีน BRCA ผ่าเหล่าหรือผิดปรกติจะไม่มีความสามารถดังกล่าว และไม่มีทางเลือกอื่น ทำให้เซลล์ตายในที่สุด และจากการศึกษาแสดงให้เห็นว่าเซลล์มะเร็งที่มียีนผ่าเหล่า BRCA1 หรือ BRCA2 ตอบสนองต่อยาใหม่เป็นอย่างดี อีกทั้งยังพบด้วยว่ายาใหม่อาจใช้รักษามะเร็งชนิดอื่นๆที่มีความบกพร่องในการซ่อมแซม DNA ที่แตกต่างได้ด้วย