การทำนิติกรรมหรือสัญญาต่าง ๆ
คำว่านิติกรรม คืออะไร
- ตาม ปพพ. ให้คำนิยามว่า นิติกรรม หมายความว่า การใด ๆ อันทำลงโดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยใจสมัคร มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์
สรุป คือการกระทำอันชอบด้วยกฎหมายของบุคคล โดยมุ่งที่จะก่อให้เกิดผลทางกฎหมาย การเคลื่อนไหวแห่งสิทธิ หรือการเคลื่อนไหวในสิทธิอันได้แก่ การก่อการเปลี่ยนแปลง การโอน การสงวน หรือการรับซึ่งสิทธิต่าง ๆ
สัญญา คืออะไร
สัญญา เป็นนิติกรรมสองฝ่ายที่เกิดขึ้นจากการแสดงเจตนาของบุคคลแต่ละฝ่าย โดยมีความประสงค์ตกลงกันและร่วมใจกันในอันที่จะก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์อย่างใด อย่างหนึ่งขึ้น
สัญญาเกิดขึ้นอย่างไร
เกิดจากการแสดงเจตนาของบุคคลตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไปโดยฝ่ายหนึ่งทำ คำเสนอ อีกฝ่ายหนึ่ง ทำคำสนอง เมื่อคำเสนอและคำสนองมีข้อความถูกต้องสอดคล้องกัน สัญญาจึงจะเกิดขึ้นและก่อหนี้ผูกพันคู่สัญญาทุกฝ่ายต้องให้ปฏิบัติตามสิทธิและหน้าที่อันเป็นนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายที่เกิดขึ้น
การเกิดสัญญาต้องประกอบด้วยสาระสำคัญ 3 ประการ
1. ต้องมีบุคคลอย่างน้อยสองฝ่ายคือฝ่ายผู้เสนอและฝ่ายผู้สนอง
2. ต้องมีการแสดงเจตนาต่อกันและกันทั้งฝ่ายผู้เสนอและฝ่ายผู้สนอง
3. ต้องมีการแสดงเจตนา ที่สอดคล้องต้องตรงกัน
สาระสำคัญของสัญญา
1. ต้องมีบุคคลเป็นคู่สัญญาสองฝ่าย เช่น สัญญาซื้อขาย ต้องมีผู้ขายและผู้ซื้อ
2. ต้องมีการแสดง เจตนารมณ์ คือมีคำเสนอและมีคำสนองตรงกัน
ประเภทของสัญญา
1. สัญญาต่างตอบแทน
2. สัญญาไม่ต่างตอบแทน
สัญญาต่างตอบแทน
คือ นิติกรรม 2 ฝ่าย ซึ่งต่างฝ่าย ต่างมีประโยชน์ตอบแทนกันโดยค่าตอบแทนนี้อาจเป็นประโยชน์หรือทรัพย์สินหรือการชำระหนี้ตอบแทนก็ได้ เช่น สัญญาซื้อขาย
ตัวอย่างสัญญาต่างตอบแทน
1. สัญญาซื้อขาย คือ สัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่งเรียกผู้ขาย โอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่า ผู้ซื้อ และผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย
2. สัญญาขายฝาก คือ สัญญาซื้อขายซึ่งกรรมสิทธิ์ ในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อโดยมีข้อตกลงกันว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้
3. สัญญาเช่าทรัพย์ คือ สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ผู้ให้เช่า ตกลงให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้เช่า ได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งระยะเวลาอันจำกัด และผู้เช่าตกลงจะให้ค้าเช่าเพื่อการนั้น
4. สัญญาเช่าซื้อ คือ สัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่าและให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้น หรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า โดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว
5. สัญญากู้ยืมเงิน คือ สัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิในทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไปนั้นเป็นปริมาณมีกำหนดให้ไปแก่ผู้ยืมและผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท ชนิด และปริมาณเช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น และสัญญานี้ย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม
หลักเกณฑ์การกู้ยืมเงิน
1. การกู้ยืมเงินกว่า 2,000 บาทขึ้นไป ต้องมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ มิฉะนั้นจะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้
2. การใช้เงินคืน ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดงหรือเอกสารที่เป็นหลักฐานการกู้ยืมได้เวนคืนให้แก่ผู้ยืมได้แทงเพิกถอนลงในเอกสาร
6. สัญญาค้ำประกัน คือ สัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ค้ำประกันผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่ง เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ นั้น
สัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้
7. สัญญาจำนอง คือ สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้จำนองเอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้รับจำนอง เป็นประกันการชำระหนี้ โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินให้แก่ผู้รับจำนอง
8. สัญญาจำนำ คือ สัญญาซึ่งบุคคลหนึ่ง เรียกว่า ผู้จำนำ ส่งมอบสังหาริมทรัพย์สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า ผู้รับจำนำ เพื่อประกันการชำระหนี้
ความไม่สมบูรณ์ของสัญญาที่เกิดขึ้น
1. มีผลทางกฎหมายให้สัญญาเป็นโมฆะ
2. มีผลทางกฎหมายให้สัญญาเป็นโมฆียะ
สาเหตุที่ทำให้นิติกรรมหรือสัญญาเป็นโมฆะ
1. ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน
2. แบบแห่งนิติกรรมหรือสัญญา
2.1 ต้องทำเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เช่น การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ การจำนอง เป็นต้น
2.2 ต้องทำเป็นหนังสือต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
2.3 ต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เช่น การสมรส การจดทะเบียนรับบุตรนอกสมรส การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม
2.4 ต้องทำเป็นหนังสือโดยไม่ต้องทำต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เช่น ทำสัญญาเช่าซื้อสัญญาก่อนสมรส
3. การแสดงเจตนา ได้แก่
3.1 การแสดงเจตนาลวงของคู่สัญญา
3.2 สัญญาที่ทำโดยการอำพราง
สาเหตุที่ทำให้สัญญาตกเป็นโมฆียะ
1. ความสามารถของบุคคลที่ถูกจำกัดความสามารถในการทำสัญญา ได้แก่
1.1 ผู้เยาว์
1.2 คนไร้ความสามารถ
1.3 คนเสมือนไร้ความสามารถ
2. การแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉล
3. การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่
หลักทั่วไปของการเลิกสัญญา
1. ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้เลย
2. ลูกหนี้ชำระหนี้ล่าช้าล่วงเลยเวลาที่กำหนดไป
3. ลูกหนี้ชำระหนี้ผิดความประสงค์แห่งหนี้ที่ตกลงไว้