ทำไมต้องกู้เงิน



ในสัปดาห์มีกฎหมายการเงินที่สำคัญๆ ถึง 3 เรื่องคือ

พระราชกำหนดและพระราชบัญญัติที่ให้กระทรวงการคลังสามารถกู้เงินมาใช้ในวงเงิน 800,000 ล้านบาท มาสำหรับฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกถดถอย และพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2553 (ตุลาคม 2552-กันยายน 2553) วงเงินรวม 1.7ล้านล้านบาท

ซึ่งหากพระราชกำหนดและพระราชบัญญัติได้ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรไปแล้วก็จะทำให้รัฐบาลสามารถผลักดันมาตรการในการนำเงินไปสำหรับการกระตุ้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้โดยคาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบได้ในเดือนสิงหาคมนี้



ได้มีข้อวิพากษ์วิจารณ์กันมากถึงกฎหมายที่ให้อำนาจรัฐบาลกู้เงินมาใช้ก็คงอยากจะทำความเข้าใจนะคะว่า

(1)ทำไมจึงต้องกู้เงิน และ

(2) รัฐมีแผนจะนำไปใช้จ่ายให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติอย่างไรบ้าง
และ

(3) ความสนใจของประชาชนคงจะอยู่ที่ว่าแล้วจะมีการชำระคืนหนี้ได้อย่างไร



ประการแรก ความจำเป็นต้องกู้เงินนั้นเกิดจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก
ประเทศไทยซึ่งเป็นเศรษฐกิจเปิดและพึ่งพาภาคการค้าระหว่างประเทศสูง
ดังนั้นเมื่อรายได้จากการส่งออกหดตัวลงก็จะกระทบต่อนักธุรกิจและผู้ผลิตสินค้าและบริการและนำสู่การลดการผลิตและเชื่อมโยงต่อไปยังการปลดและลดการจ้างงาน
ดังจะเห็นได้ว่าอัตราการว่างงานเดิมที่เคยอยู่ที่ระดับประมาณ 1% ได้เพิ่มขึ้นมาเกือบเท่าอยู่ที่ประมาณ 2.1% หรือประมาณ 800,000 คนในปัจจุบัน การที่มีคนตกงานจำนวนมากและมีความรู้สึกไม่มั่นคงต่องานที่มีอยู่ ทำให้ประชาชนไม่กล้าใช้จ่ายและส่งผลย้อนกลับสู่การลดการผลิตและการลงทุนของธุรกิจเอกชน

ดังนั้น กลไกในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ 4 ตัวซึ่งเปรียบเสมือนกับเครื่องยนต์
(การบริโภคภาคเอกชน การลงทุนของภาคธุรกิจ การใช้จ่ายของรัฐบาล และการค้าระหว่างประเทศ) เครื่องยนต์ 3 ตัวไม่ทำงาน

ดังนั้นจึงต้องเป็นภาระและหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องมีการใช้จ่ายและใช้จ่ายมากกว่าปกติเพื่อจะพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดตัวเลวร้าย และภายใต้วิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกในครั้งนี้รัฐบาลของประเทศต่างๆ ได้ออกมาตรการใช้จ่ายหรือที่เรียกว่าใช้มาตรการการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยกันแทบทั้งสิ้นตามแต่กำลังเงินหรือฐานการคลังที่มีอยู่ และนอกจากนี้แล้วการที่เศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรงนี้ทำให้รายได้จากการจัดเก็บภาษีของหน่วยงานภาครัฐก็ต่ำกว่าที่เคยตั้งไว้ จึงต้องมีการกู้เงินส่วนหนึ่งมาใช้ชดเชยรายได้ (ที่ได้ผูกพันการใช้จ่ายไว้แล้วในพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี)


ประการที่สอง คือ การนำเงินกู้ไปใช้จ่ายอย่างไรนั้นเป็นประเด็นที่สำคัญมากกว่า
ซึ่งคงจะพูดถึงเงินก็จำนวน 800,000 ล้านบาทนี้ ว่าจะมีการนำไปใช้จ่ายใน 2 ส่วนหลักคือ ส่วนแรกประมาณ200,000 ล้านบาทจะนำไปใช้ทดแทนเงินคงคลัง และส่วนหนึ่งจะเป็นการนำไปใช้ในการโครงการต่างๆ ภายใต้สโลแกน ?ไทยเข้มแข็ง? ใน 7 โครงการสำหรับ ปี 2552-2553 รวมทั้งสิ้น 235,720 ล้านบาท ดังนี้

(1) สร้างความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน รวมทั้งการอนุรักษ์ระบบนิเวศน์ และสิ่งแวดล้อมและการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมในสาขาทรัพยากรน้ำและการเกษตร 64,422 ล้านบาท

(2) ปรับปรุงบริการสาธารณะขั้นพื้นฐาน ด้านเศรษฐกิจสังคม
สิ่งแวดล้อมเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ในสาขาขนส่ง 47,875 ล้านบาท สาขาสวัสดิภาพของประชาชน 5,944 ล้านบาท สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2,636 ล้านบาท และสาขาสิ่งแวดล้อม 1,417 ล้านบาท

(3) สร้างศักยภาพในการหารายได้จากการท่องเที่ยว ในสาขาโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยว 1,159 ล้านบาท และสาขาพัฒนาการท่องเที่ยว 3,900 ล้านบาท

(4) สร้างฐานรายได้ใหม่ของประเทศจากเศรษฐกิจความคิดสร้างสรรค์หรือเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ในสาขาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ 1,379 ล้านบาท

(5) ยกระดับคุณภาพการศึกษาและระบบการเรียนรู้ทั้งระบบ 45,873 ล้านบาท

(6) ปฏิรูปคุณภาพระบบสาธารณสุขที่มีมาตรฐานสูงสำหรับคนไทย 31,776 ล้านบาท

(7) สร้างอาชีพและรายได้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในระดับชุมนุม 1,339 ล้านบาท


จะเห็นได้ว่าวัตถุประสงค์ของการใช้เงินดังกล่าวก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยรวมคงจะอยู่ที่ว่าจะมีกลไกการกำกับดูแลการใช้เงินอย่างไรไม่ให้รั่วไหลและให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

สำหรับประเด็นสุดท้ายที่ว่า แล้วใครจะเป็นผู้รับผิดชอบชำระคืนหนี้ภาครัฐบาลดังกล่าว
ก็คงจะตอบว่าจำนวนหนี้ที่เพิ่มขึ้นนี้เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้นแล้วรัฐก็จะมีเงินรายได้มาทยอยชำระหนี้จำนวนดังกล่าวโดยที่ไม่จำเป็นต้องเป็นภาระโดยตรงของประชาชนเหมือนกับหนี้ของครัวเรือน


อ้างอิง ส่องกล้องเศรษฐกิจ : ดร.อาภรณ์ ชีวะเกรียงไกร
กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2552