กำลังแสดงผล 1 ถึง 8 จากทั้งหมด 8

หัวข้อ: ?นอสตราดามุส?

  1. #1
    ดูแลตรวจสอบเนื้อหา สัญลักษณ์ของ auddy228
    วันที่สมัคร
    Jun 2007
    ที่อยู่
    THAILAND
    กระทู้
    1,176
    บล็อก
    1

    สว่างใจ ?นอสตราดามุส?

    ?นอสตราดามุส? (NOSTRADAMUS)



    ?นอสตราดามุส?



    1. ชาติกำเนิด

    มิเชล เดอ นอสเตรอดัม (Michel de Nostredame) ผู้ซึ่งได้รับการขนานนามจากชาวโลกว่าเป็น ?ราชาโหรโลก? นี้โดยทั่วไปผู้คนรู้จักเขาในชื่อที่เป็นภาษาละตินว่า ?นอสตราดามุส? (NOSTRADAMUS) เขาเกิดเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ค.ศ. 1503 ตามแบบปฏิทินจูเลียนโบราณ ซึ่งตรงกับวันที่ 23 ธันวาคม ค.ศ. 1503 ตามแบบปฏิทินเกรกอเรียน บ้านเกิดอยู่ที่ แซงต์ เรมี เดอ โปรวองซ์ ประเทศฝรั่งเศส

    แต่เดิมมีผู้เข้าใจว่าตระกูลของนอสตราดามุส สืบเชื้อสายมาจากขุนนางแพทย์ชาวอิตาเลียนเชื้อสายยิว ซึ่งเป็นแพทย์หลวงประจำราชสำนักของ พระเจ้าเรอเนแห่งอังจู แต่ความจริงแล้ว ตระกูลของนอสตราดามุสไม่ได้สืบเชื้อสายมาจากขุนนางแพทย์อย่างที่เคยกล่าวอ้างนั้นแต่อย่างใด ทว่าสืบทอดเชื้อสายมาจากตระกูลสามัญชนชาวเมืองอาวิยอง

    จากหลักฐานที่ได้จากการค้นคว้าและวิจัยพบว่า ปู่ของนอสตราดามุส มีชื่อว่า ปีโรต์หรือปีแอร์ เดอ นอสเตรอดัม ซึ่งประกอบอาชีพเป็นพ่อค้าขายข้าวผู้มีฐานะมั่งคั่ง และได้แต่งงานกับหญิงสาวนอกศาสนายิวคนหนึ่งชื่อบลังช์ ต่อมานายปีแอร์ เดอ นอสเตรอดัมผู้นี้มีบุตรกับนางบลังช์คนหนึ่งชื่อ จูมหรือจาคส์ ซึ่งก็คือบิดาของนอสตราดามุสนี่เอง นายจาคส์ได้ย้ายที่อยู่จากเมืองอาวิยองไปอยู่ที่เมือง แซงต์ เรมี เดอ โปรวองซ์ ในปี ค.ศ. 1495 หลังจากย้ายมาอยู่ในที่แห่งใหม่นี้แล้ว นายจ๊าคศ์ได้เลิกประกอบกิจการค้าข้าว โดยเด็ดขาด และได้แต่งงานอยู่กินกับ นางเรนีร์ เดอ แซงต์ เรมี หลานสาว ของนายแพทย์ผู้หนึ่งซึ่งเปลี่ยนอาชีพจากแพทย์มาเป็นนายอากร

    เมื่อวันที่ 26 กันยายน ค.ศ. 1501 พระเจ้าหลุยส์ที่ 12 แห่งฝรั่งเศส ทรงมีพระบรมราชโองการป่าวประกาศ บังคับชาวยิวทุกคนให้เปลี่ยนศาสนาเดิมมานับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก ซึ่งถ้าหากชาวยิวผู้ใดไม่ปฏิบัติตาม พระบรมราชโองการนี้ ก็จะต้องอพยพโยกย้ายออกจากมณฑลโปรวองซ์ภายในสามเดือน ก่อนหน้านี้ คือในปี ค.ศ. 1458 หลังจากพระเจ้าหลุยส์แห่งอารากองสิ้นพระชนม์ ทั้งมณฑลโปรวองซ์และมณฑลแม็ง ได้ตกอยู่ในอำนาจ การปกครองของกษัตริย์ฝรั่งเศส

    เมื่อพระเจ้าหลุยส์แห่งฝรั่งเศสทรงมีพระบรมราชโองการประกาศออกมาเช่นนี้ ครอบครัวของนอสตราดามุสจึงจำใจต้องเปลี่ยนศาสนาจากยูดายเป็นคาทอลิกอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงใด ๆ ได้ มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดว่า เมื่อปี ค.ศ. 1512 ซึ่งเป็นตอนที่นอสตราดามุสยังอยู่ในเยาว์วัย มีอายุเพียง 9 ขวบ บิดามารดาของเขามีชื่ออยู่ในบัญชีของผู้เปลี่ยนศาสนาอื่นมานับถือคริสต์นิกายคาทอลิก

    ผู้ที่ต้องการจะถอดข้อความในคำทำนายของนอสตราดามุสอย่างน้อยจะต้องตระหนักในข้อเท็จจริงที่ว่า นอสตราดามุสมีพื้นเพสืบเชื้อสายมาจากยิว เพราะเป็นที่แน่นอนว่าเขาได้รับอิทธิพลจากการที่ได้เคยอ่านตำรับตำราไสยศาสตร์ของพวกยิว

    ยิ่งไปกว่านั้น นักเขียนชีวประวัติหลายต่อหลายคนยังอ้างด้วยว่า ตระกูลของนอสตราดามุสสืบเชื้อสายมาจากยิวโบราณเผ่าอิสซาการ์ ซึ่งเป็นพวกที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านดาราศาสตร์มาก สามารถตีความปรากฏการณ์ ธรรมชาติต่าง ๆ ที่ปรากฏบนท้องฟ้าได้ โจเซฟุสนักประวัติศาสตร์ชาวยิวเคยกล่าวถึงยิวเผ่าอิสซาการ์นี้ว่า เป็นพวก ?ที่สามารถหยั่งรู้สิ่งทั้งหลายซึ่งจะอุบัติขึ้นในอนาคตได้?

    นอสตราดามุสเป็นบุตรคนโตของครอบครัว มีน้องเกิดร่วมท้องอีก 4 คน คือ เบอร์ทรันต์, เฮ็กโตร์, อังตวง และ ฌอง เราไม่สามารถค้นหาประวัติละเอียดของ เบอร์ทรันต์,เฮ็กโตร์ และอังตวงได้ แต่สำหรับคนที่ชื่อ ฌอง พอค้นหาประวัติได้ว่าเป็นนักประพันธ์และนักวิจารณ์เพลงพื้นเมืองของมณฑลโปรวองซ์ ต่อมาได้เล่นการเมืองและได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทน ราษฎรของมณฑลโปรวองซ์




    :heart:

  2. #2
    ดูแลตรวจสอบเนื้อหา สัญลักษณ์ของ auddy228
    วันที่สมัคร
    Jun 2007
    ที่อยู่
    THAILAND
    กระทู้
    1,176
    บล็อก
    1

    สว่างใจ การศึกษาในปฐมวัย

    2. การศึกษาในปฐมวัย


    การศึกษาในปฐมวัย



    แววอัจฉริยะของนอสตราดามุส ได้ฉายออกมาให้เห็นอย่างเด่นชัดตั้งแต่เยาว์วัยเลยทีเดียว การศึกษาในปฐมวัยของเขาเริ่มต้นที่บ้านก่อน โดยมีปู่เป็นผู้สอนความรู้เบื้องต้นของวิชาภาษาละติน ภาษากรีก ภาษาฮิบรู คณิตศาสตร์และโหราศาสตร์ให้ ในสมัยนั้น นอสตราดามุสเรียกวิชาโหราศาสตร์ นี้ว่า ?นภศาสตร์? (Celestial Science)
    เมื่อปู่ถึงแก่กรรมแล้ว นอสตราดามุสได้ย้ายกลับไปอยู่ที่บ้านกับบิดา มารดา แต่การศึกษาก็ยังคงดำเนินอยู่ต่อไป โดยคราวนี้มีตาเป็นผู้สอนให้ ต่อมาถูกส่งให้ไปเรียนต่อที่เมืองอาวิยอง โดยได้ไปพักอยู่กับญาติ ๆ ซึ่งยังมีอยู่ในเมืองนั้น
    นอสตราดามุสให้ความสนใจในวิชาโหราศาสตร์มากเป็นพิเศษ จนเป็นที่กล่าวขวัญในหมู่เพื่อนฝูงที่เรียนอยู่ด้วยกัน พวกเพื่อน ๆ ถึงกับขนานนามให้เขากว่า ?โหรน้อย? นอกจากนั้นนอสตราดามุส ยังสนับสนุนทฤษฎีของ โคเปอร์นิคัส ที่กล่าวว่าโลกกลม และหมุนรอบดวงอาทิตย์อีกด้วย ซึ่งความเชื่อนี้ยังผลให้กาลิเลโอถูกฝ่ายศาสนจักรคาทอลิกนำตัวไปประหารชีวิต ในอีกร้อยปีต่อมา

  3. #3
    ดูแลตรวจสอบเนื้อหา สัญลักษณ์ของ auddy228
    วันที่สมัคร
    Jun 2007
    ที่อยู่
    THAILAND
    กระทู้
    1,176
    บล็อก
    1

    สว่างใจ ที่มหาวิทยาลัยมองต์เปลิเย

    ที่มหาวิทยาลัยมองต์เปลิเย



    3. ศึกษาแพทยศาสตร์
    ที่มหาวิทยาลัยมองต์เปลิเย

    การเป็น ?โหรน้อย? ของนอสตราดามุส ได้สร้างความวิตกกังวลอย่างใหญ่หลวงให้แก่บิดามารดาของเขา ด้วยว่าในยุคนั้นฝ่ายศาสนจักรคาทอลิก ได้ทำการปราบปรามผู้ที่ประพฤตินอกรีตนอกรอยคำสั่งสอนของศาสนาคริสต์ โดยได้จัดตั้งคณะกรรมการฝ่ายศาสนจักรเพื่อทำหน้าที่สอบสวน และทำการลงโทษผู้กระทำความผิดในเรื่องนี้ขึ้น
    ด้วยเหตุที่ครอบครัวของนอสตราดามุสมีภูมิหลังเป็นยิว คณะกรรมการฝ่ายศาสนจักรจึงน่าที่จะจับตามอง เพื่อจับผิดมากเป็นพิเศษกว่าคนเผ่าอื่น ดังนั้น เพื่อป้องกันอันตรายให้แก่บุตร ซึ่งอาจถูกกล่าวหาจากฝ่ายศาสนจักรได้ บิดามารดาจึงตัดสินใจส่งนอสตราดามุสไปศึกษาวิชาการแพทย์ที่มหาวิทยาลัยมองต์เปลิเย เมื่อ ค.ศ. 1522 มหาวิทยาลัยแห่งนี้ มีชื่อเสียงโด่งดังทางด้านวิชาการแพทย์รองลงมาจากมหาวิทยาลัยปารีส ซึ่งนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1376 เป็นต้นมา มหาวิทยาลัยมองต์เปลิเยแห่งนี้ได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 1 แห่งอังจู ให้นำศพนักโทษประหารมาชำแหละเพื่อวิจัยทางการแพทย์ได้เป็นกรณีพิเศษ
    ขณะเริ่มเข้ามาศึกษาวิชาการแพทย์นี้ นอสตราดามุสมีอายุ 19 ปี เขาใช้เวลาศึกษาอยู่เพียง 3 ปี ก็สามารถสำเร็จปริญญาตรีทางด้านการแพทย์อย่างง่ายดายเป็นประวัติการณ์ ซึ่งแสดงว่าเขาเป็นอัจฉริยะมีความเฉลียวฉลาดมากเป็นพิเศษกว่าบุคคลอื่น
    จากบันทึกต่าง ๆ ที่รวบรวมมาได้จากหลาย ๆ แหล่ง มีรายละเอียดเกี่ยวกับระบบการสอบไล่ปีสุดท้ายในระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยมองต์เปลิเย ซึ่งสำแดงว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่มีระบบการสอบที่ยากมาก โดยเริ่มสอบกันตั้งแต่แปดโมงเช้าเรื่อยไปจนถึงเที่ยงวัน
    นักศึกษาผู้เข้าสอบจะถูกบรรดาศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยซักไซ้ไล่เลียงเพื่อตะล่อมให้จนมุม ซึ่งนักศึกษาจะต้องตอบข้อซักถามนั้น ๆ ตามหลักวิชาการที่ตนได้ร่ำเรียนมา จนเป็นที่พอใจของบรรดาศาสตราจารย์ที่เป็นกรรมการสอบ และจะต้องสามารถพิสูจน์ให้กรรมการเห็นว่า ความรู้ที่ตนร่ำเรียนมานั้นแข็งแกร่งพอ ๆ กับความรู้ของกรรมการสอบเลยทีเดียว นักศึกษาที่สามารถผ่านการสอบปากเปล่านี้ได้ ทางมหาวิทยาลัยมองต์เปลิเย จะจัดพิธีมอบครุยปริญญาสีแดงให้ใช้สวมใส่แทนครุยนักศึกษาซึ่งเป็นสีดำ
    ที่มหาวิทยาลัยมองต์เปลิเยในสมัยนั้น ?เพียงแต่ได้ปริญญาตรีทางการแพทย์ไม่ได้มีผลให้นักศึกษาได้ใบประกอบโรคศิลป์โดยอัตโนมัติเหมือนอย่างสมัยนี้ นักศึกษาแพทย์จะต้องผ่านการทดสอบความสามารถในด้านการบรรยายทางวิชาการในหัวข้อต่าง ๆ ถึง 5 หัวข้อ โดยกำหนดเวลาไว้ 3 เดือน ซึ่งแต่ละหัวข้อที่นักศึกษาจะนำมาบรรยายให้กรรมการสอบฟังนั้น ทางคณบดีคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมองต์เปลิเยเป็นผู้ทำการคัดเลือกให้ด้วยตนเอง
    หลังจากสอบผ่านในขั้นตอนการบรรยายได้แล้ว ก็จะเป็นการสอบที่เรียกกันในภาษาฝรั่งเศสสมัยนั้นว่า ?แปร์ แอ็งตังซิออแน็ม? (Per intentionem)ซึ่งนักศึกษาแพทย์จะถูกกรรมการสอบตั้งปัญหาถามจำนวน 4 ข้อด้วยกัน แต่ละหัวข้อทางกรรมการจะบอกนักศึกษาไปเตรียมค้นคว้าหาคำตอบไว้ก่อนวันสอบหนึ่งวัน
    นักศึกษาจะถูกบรรดาศาสตราจารย์ที่เป็นกรรมการ สอบซักไซ้ปัญหาแต่ละข้อ เป็นเวลาหนึ่งชั่วโมง และภาษาที่ใช้ในการสอบขั้นนี้คือภาษาละติน การสอบขั้นแปร์ แอ็งตังซิออแน็มนี้กว่าจะครบทุกขั้นตอนใช้เวลา 1-2 วัน
    อีก 8 วันต่อมาหลังจากสอบผ่านขั้นแปร์แอ็งตังซิออแน็มนี้ได้ นักศึกษาแพทย์จะต้องเข้าสอบเพื่อตอบปัญหาข้อที่ 5 ซึ่งเป็นปัญหาที่คณะกรรมการสอบไม่ได้บอกให้นักศึกษาไปเตรียมค้นคว้าหาคำตอบเป็นการล่วงหน้า ผู้ที่ทำหน้าที่คัดเลือกปัญหาข้อนี้มาถามนักศึกษาแพทย์ ได้แก่ตัวอธิการบดีมหาวิทยาลัยมองต์เปลิเย
    หากสอบผ่านขั้นนี้ไปด้วยดี ขั้นต่อไปนักศึกษาแพทย์จะต้องเขียนวิทยานิพนธ์อธิบายวาทะของท่าน ฮิปโปเครติส (Hippocrates) นักปรัชญากรีก ซึ่งถือกันว่าเป็นบิดาแห่งวิชาการแพทย์ของโลก กับจะต้องเขียนวิทยานิพนธ์นี้ให้แล้วเสร็จ เพื่อส่งให้กรรมการสอบทำการตรวจในวันรุ่งขึ้น
    การสอบในขั้นตอบปัญหาข้อที่ 5 และการเขียนวิทยานิพนธ์ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งคืนนี้ ถือว่าเป็นการสอบที่ยากเย็นเข็ญใจที่สุด ทั้งยังสร้างความเครียดและความกระวนกระวายใจให้นักศึกษาแพทย์มากที่สุดอีกด้วย ในสมัยนั้นจึงเรียกการสอบทั้งสองแบบนี้ว่า ?การสอบขั้นกระดูกขัดมัน?
    หากเราลองเปรียบเทียบการสอบปีสุดท้ายของนักศึกษาแพทย์ของ มหาวิทยาลัยมองต์เปลิเยแห่งนี้ กับการสอบปีสุดท้ายของนักศึกษาแพทย์ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในสมัยปัจจุบัน ก็พอจะเห็นความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดคือ กว่าที่จะมีคุณสมบัติครบถ้วนเป็นบัณฑิตแพทย์ของมหาวิทยาลัยมองต์เปลิเยได้นั้นนักศึกษาจะต้องผ่านการทดสอบหลายขั้นตอนและใช้เวลายาวนานมาก ทั้งนี้ก็เพื่อให้ได้มาตรฐานตามที่มหาวิทยาลัยได้ตั้งเอาไว้
    อย่างไรก็ตาม นอสตราดามุสสามารถสอบได้ปริญญาตรีทางการแพทย์ ที่ใครต่อใครในสมัยนั้นเห็นว่าแสนยากนี้อย่างง่ายดาย และในที่สุดเขาก็ได้เข้าพิธีรับใบประกอบโรคศิลป์จากมือของบิช็อบแห่งเมืองมองต์เปลิเย เมื่อ ค.ศ. 1525

  4. #4
    ดูแลตรวจสอบเนื้อหา สัญลักษณ์ของ auddy228
    วันที่สมัคร
    Jun 2007
    ที่อยู่
    THAILAND
    กระทู้
    1,176
    บล็อก
    1

    สว่างใจ นอสตราดามุส ตอนที่ 4

    นอสตราดามุส ตอนที่ 4




    4. เป็นแพทย์ผู้ชำนาญในการรักษากาฬโรค


    ในระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 16 ได้เกิดกาฬโรคระบาดขึ้นทางภาคใต้ของฝรั่งเศส ในสมัยนั้นคนฝรั่งเศสเรียกโรคนี้ว่า ?โรคถ่าน? ทั้งนี้เพราะเหตุที่ว่าใครเป็นโรคนี้ จะเกิดจุดดำใต้หนังกำพร้าทั่วร่างกาย ตลอดชีวิตของนอสตราดามุส เขาจะถูกใครต่อใครให้ร้ายป้ายสีอยู่ตลอดเวลา ทั้งๆ ที่ความจริงเขาเป็นคนดีคนหนึ่งที่สมควรได้รับการยกย่องเทิดทูน เป็นแพทย์ที่กล้าหาญ ไม่หวาดหวั่นต่ออันตรายจากการติดเชื้อกาฬโรคจากผู้ป่วย เป็นผู้มีมนุษยธรรม และเมตตาธรรมต่อคนไข้อย่างเสมอต้นเสมอปลาย และเป็นผู้มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เห็นอกเห็นใจคนยากจนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
    ทั้งนี้ดังจะเห็นได้ว่า หลังจากสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมองต์เปลิเยแล้ว นอสตราดามุสมีชื่อเสียงโด่งดังและได้รับการยกย่องทั่วฝรั่งเศส ในฐานะที่เป็นแพทย์ผู้อุทิศตนเพื่อคนไข้อย่างแท้จริง เขาชอบสงเคราะห์คนไข้ผู้ยากไร้ในชนบทมากกว่าคนไข้ผู้ร่ำรวยในเมืองใหญ่ ๆ
    ในระยะแรกของการเป็นแพทย์ เขาได้เดินทางไปอยู่ที่เมืองนาร์บอง ซึ่งที่เมืองนี้นอกจากจะได้ทุ่มเทชีวิตเพื่อรักษาเยียวยาคนไข้ที่เป็นกาฬโรคแล้ว เขายังใช้เวลาว่างเข้าไปศึกษาอยู่ในสำนักของพวกนักเล่นแร่แปรธาตุชาวยิว ที่เปลี่ยนศาสนามาเป็นคริสเตียน ซึ่งสมัยนั้นเป็นสำนักเล่นแร่แปรธาตุที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาก
    จากนั้นนอสตราดามุสได้เดินทางต่อไปยังเมืองอื่นๆ ที่มีกาฬโรคระบาดอีกหลายต่อหลายเมืองและได้ให้การรักษาเยียวยาแก่คนไข้โดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยของตนเองเลยแม้แต่น้อย
    นอสตราดามุสเป็นแพทย์ผู้มีโลกทรรศน์ที่ทันสมัย เขาไม่เห็นด้วยกับวิธีป้องกันกาฬโรคที่บรรดาแพทย์ร่วมสมัยกับเขานิยมแนะนำประชาชนฝรั่งเศสให้ทำกัน คือการใช้ผ้ายันตร์ศักดิ์สิทธิ์ 7 สี ซึ่งปรากฏว่าอีกร้อยปีต่อมา พวกแพทย์อังกฤษก็เคยใช้ผ้ายันตร์ชนิดนี้เหมือนกัน เมื่อกาฬโรคระบาดครั้งใหญ่ที่ลอนดอนประเทศอังกฤษ
    นอสตราดามุสเป็นคนมีนิสัยไม่ชอบอยู่ที่ใดเป็นหลักแห่ง จากเมืองนาร์บองเขาเดินทางไปอยู่ที่เมืองคาร์คาสซอน โดยได้ไปพำนักอยู่ในบ้านของบิช็อบ อาเมเนียง เดอ ฟาอีส์ และได้ปรุงสูตรยาอายุวัฒนะให้แก่บิช็อบรูปนี้ด้วย
    ต่อมานอสตราดามุสได้เดินทางไปพำนักอยู่ที่บ้านหลังหนึ่งแถวๆย่านถนนตริเปอรี ในเมืองตูลูส จากตูลูสได้ไปอยู่ที่เมืองบอร์โดว์ ซึ่งขณะนั้นมีกาฬโรคระบาดอยู่อย่างหนักเช่นกัน จากบอร์โดว์นอสตราดามุสได้กลับไปอยู่ที่เมืองอาวิยอง และได้ทำการศึกษาค้นคว้าอยู่ที่เมืองนี้เป็นเวลาหลายเดือน เขาคงจะเริ่มสนใจไสยศาสตร์และศาสตร์ลี้ลับต่าง ๆ ในช่วงที่ไปอยู่ที่เมืองอาวิยองในครั้งนี้ เพราะจากหลักฐานทางเอกสารปรากฏว่า ในสมัยนั้นเมืองนี้มีห้องสมุด ซึ่งมีหนังสือประเภทลึกลับมหัศจรรย์อยู่มากมายก่ายกอง
    ขณะเดียวกัน ในช่วงนี้นอสตราดามุสได้ประสพความสำเร็จ สามารถคิดค้นสูตรทำเยลยี่ผลควินซ์ ให้แก่ท่านสมณทูตของพระสันตะปาปา และจอมอัศวินแห่งมอลตา ซึ่งทั้งสองท่านในขณะนั้นได้พำนักอยู่ที่เมืองอาวิยองด้วย ปรากฏว่าสูตรทำเยลลี่ของนอสตราดามุสนี้เป็นที่ขึ้นชื่อลือชามาก แต่เมื่อเปรียบเทียบกับเยลลี่ในสมัยปัจจุบันแล้ว เยลลี่ทำจากสูตรของนอสตราดามุสคิดค้นได้นี้ออกจะหวานไปสักหน่อย
    ที่ประชาชนฝรั่งเศสในยุคนั้นนิยมใช้เยลลี่ทำขนมแทนน้ำตาล ก็เพราะสมัยนั้นน้ำตาลมีราคาแพงมาก คนที่สามารถซื้อหาน้ำตาลมาทำขนมหรือปรุงอาหารรับประทานได้ ต้องเป็นคนที่ร่ำรวย หรือไม่ก็คนที่อยู่ในวงสังคมชั้นสูงเท่านั้น

  5. #5
    ดูแลตรวจสอบเนื้อหา สัญลักษณ์ของ auddy228
    วันที่สมัคร
    Jun 2007
    ที่อยู่
    THAILAND
    กระทู้
    1,176
    บล็อก
    1

    สว่างใจ นอสตราดามุส 5

    นอสตราดามุส  5




    5. สำเร็จปริญญาเอกสาขาแพทยศาสตร์



    หลังจากที่ได้ออกตระเวนไปอยู่ตามเมืองต่าง ๆ ในประเทศฝรั่งเศส นานถึง 4 ปีแล้ว นอสตราดามุสได้หวนกลับไปที่เมืองมองต์เปลิเยอีกครั้งหนึ่ง เขากลับไปคราวนี้ก็เพื่อที่จะศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกในมหาวิทยาลัยเดิมที่เขาสำเร็จปริญญาตรีมานั่นเอง
    ผู้อ่านอาจจะสงสัยว่า ทำไมนอสตราดามุสถึงไม่เรียนปริญญาโทก่อนแล้วจึงค่อยเรียนปริญญาเอกในภายหลัง การที่นอสตราดามุสก้าวกระโดดไปเรียนปริญญาเอกได้เลยนี้ อาจจะเป็นเพราะว่าหลักสูตรการศึกษาในมหาวิทยาลัยมองต์เปลิเยกำหนดให้ผู้จบปริญญาตรีสามารถเรียนต่อปริญญาเอกได้เลย ไม่ต้องผ่านปริญญาโท ในกรณีที่นักศึกษาผู้นั้นมีผลการเรียนดีเยี่ยมในระดับปริญญาตรีมาแล้ว ซึ่งปัจจุบันบางมหาวิทยาลัยทั้งในยุโรปและอเมริกา หรือแม้แต่ในเมืองไทยของเราก็ถือแนวปฏิบัติเช่นเดียวกันนี้ นอสตราดามุสเริ่มลงทะเบียนเป็นนักศึกษาปริญญาเอก เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม ค.ศ. 1529 การสอบในระดับปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยมองต์เปลิเย ในสมัยนั้น ใครที่สามารถผ่านได้ก็ถือว่า ต้องยอดเยี่ยมจริง ๆ นักศึกษาต้องเตรียมศึกษาค้นคว้าวิชาต่าง ๆ เพื่อให้กรรมการทำการสอบจำนวน 12 วิชา แต่ในเวลาสอบจริง ๆ จะเลือกสอบเพียง 6 วิชา ใน 6 วิชานี้ 3 วิชาเลือกโดยวิธีจับสลาก ส่วนอีก 3 วิชา คณบดีคณะแพทยศาสตร์เป็นผู้เลือกให้ด้วยตนเอง
    เมื่อได้ทำการเลือกข้อสอบตามกรรมวิธีดังกล่าวแล้ว นักศึกษาผู้เข้าสอบต้องอภิปรายถกแถลง และตอบข้อซักถามกับบรรดากรรมการสอบจนเป็นที่พอใจของทุกคน
    กล่าวกันว่า เมื่อนอสตราดามุสสอบเพื่อรับปริญญาเอกในครั้งนี้ ได้ถูก กรรมการรุมกินโต๊ะถามอย่างหนัก ทั้งนี้ก็เพราะเหตุที่เขามีแนวการวินิจฉัยและแนวการรักษาโรคผิดแผกแตกต่างไปจากแพทย์คนอื่น ๆ
    นอกจากนั้นที่กรรมการซักนอสตราดามุสหนักกว่านักศึกษาระดับปริญญาเอกคนอื่น ๆ เพราะพวกกรรมการสอบเองไม่ค่อยจะชอบขี้หน้านัก เพราะเขามีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่เคารพยกย่องในหมู่ของประชาชน จนเกินหน้าเกินตาแพทย์คนอื่น ๆ ในสมัยนั้น
    อย่างไรก็ตาม นอสตราดามุสได้แสดงความสามารถออกมาอย่างเด่นชัดว่ามีความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติในด้านการแพทย์เป็นยอดเยี่ยม จนกระทั่งกรรมการสอบผู้มีอคติไม่สามารถจะหาข้อติใดๆ ได้ ในที่สุด นอสตราดามุสก็ได้รับปริญญาเอก ซึ่งทำให้เขามีศักดิ์และสิทธิ์ที่จะสวมหมวก ทรงสี่เหลี่ยมอย่างที่เราเห็นอยู่ในรูปของเขาที่โบสถ์เมืองซาลอง นอกจากนั้นเขายังได้รับแหวนทองประจำตัวแพทย์อีกวงหนึ่ง กับตำราแพทย์ของฮิปโปเครติสอีกหนึ่งเล่ม ในโอกาสเดียวกันนี้ด้วย

  6. #6
    ดูแลตรวจสอบเนื้อหา สัญลักษณ์ของ auddy228
    วันที่สมัคร
    Jun 2007
    ที่อยู่
    THAILAND
    กระทู้
    1,176
    บล็อก
    1

    สว่างใจ นอสตราดามุส 6

    นอสตราดามุส 6

    6. เป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยมองต์เปลิเย


    หลังจากสำเร็จการศึกษาขั้นปริญญาเอกแล้ว ทางคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมองต์เปลิเย เชื่อในความสามารถจึงได้เสนอตำแหน่งอาจารย์สอนประจำคณะให้แก่นอสตราดามุส ซึ่งเขาก็รับคำเชิญเป็นอาจารย์อยู่ที่นี่เป็นเวลาหนึ่งปี แต่ทว่าในช่วงที่เป็นอาจารย์อยู่นี้เกิดขัดแย้งกับคณาจารย์อื่น ๆ เกี่ยวกับความเห็นด้านทฤษฎีการแพทย์ คือที่สำคัญนอสตราดามุสไม่เห็นด้วยกับการที่จะรักษาคนไข้ ซึ่งเป็นกาฬโรคด้วยวิธีถ่ายเลือดให้ ซึ่งแพทย์ร่วมสมัยนิยมทำกันในสมัยนั้น ประจวบกับนอสตราดามุสมีนิสัยไม่ชอบอยู่เป็นที่อย่างถาวร ดังนั้นเขาจึงลาออกจากการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยแล้ว เดินทางร่อนเร่พเนจรไปอยู่ยังที่ต่าง ๆ อีกครั้งหนึ่งเมื่อปี ค.ศ. 1532
    ในช่วงที่ท่องเที่ยวไปในครั้งหลังนี้ นอสตราดามุสมักประสพกับปัญหาความยุ่งยาก อยู่เสมอ ๆ เพราะเขาชอบสวมเสื้อคลุมและหมวกสีดำ ซึ่งทำให้ผู้ที่พบเห็นเข้าใจผิดคิดว่าเขาเป็นยิว จึงช่วยกันแจ้งให้ฝ่ายศาสนจักรจับตาดูพฤติกรรมของเขาอยู่ทุกระยะ ไม่ว่าเขาจะไปอยู่ ณ ที่ใด
    มีข้อที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ นักเขียนฝรั่งเศสชื่อ ราบิเลส์ (Rabelais) ซึ่งชอบเขียนหนังสือแนวขบขันหยาบโลน ก็สำเร็จปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยมองต์เปลิเยเมื่อปี ค.ศ. 1530 ด้วยเหมือนกัน แต่ก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่านอสตราดามุสและราบิเลส์เคยพบกันมาก่อน

  7. #7
    ดูแลตรวจสอบเนื้อหา สัญลักษณ์ของ auddy228
    วันที่สมัคร
    Jun 2007
    ที่อยู่
    THAILAND
    กระทู้
    1,176
    บล็อก
    1

    สว่างใจ นอสตราดามุ 7

    นอสตราดามุ 7


    7. แต่งงานครั้งแรก

    ในช่วงสองปีหลังจากลาออกจากมหาวิทยาลัยมองต์เปลิเยแล้ว นอสตราดามุสได้ท่องเที่ยวผ่านไปยังเมืองบอร์โด เมืองลาโรเชล และเมืองตูลูส ขณะที่ทำการรักษาคนไข้อยู่ในสามเมืองนี้ เขาได้รับจดหมายฉบับหนึ่งจากจูเลียส ซีซาร์ ชาลิแจร์ นักปรัชญาคนสำคัญของยุโรปในยุคกลาง ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังไม่แพ้นักปรัชญายุคเดียวกันที่ชื่อ อีราสมุส
    ชาลิแจร์เป็นนักปรัชญาที่สนใจหลายด้าน เป็นต้นว่าด้านการแพทย์ คำประพันธ์ ปรัชญา พฤกษศาสตร์และคณิตศาสตร์ ที่ชาลิแจร์เขียน จดหมายไปนี้ก็เพื่อเชิญนอสตราดามุสให้ไปอยู่ด้วยกันที่บ้านของเขาที่เมืองอากัง
    นอสตราดามุสได้รับจดหมายฉบับนี้แล้วก็ตอบไปว่า ตนยินดีที่จะไปอยู่ที่บ้านของชาลิแจร์ด้วย นอสตราดามุสชอบชีวิตความเป็นอยู่ในเมืองอากังนี้มาก ราวปี ค.ศ. 1545 เขาได้ยุติการใช้ชีวิตร่อนเร่พเนจรชั่วคราว โดยได้ตัดสินใจแต่งงานกับหญิงสาวคนหนึ่ง ซึ่งว่ากันว่า เธอผู้นั้นนอกจากจะสะสวยน่ารักแล้วแถมยังร่ำรวยเสียอีกด้วย แต่เป็นที่น่าเสียดายที่เราไม่สามารถค้นหาชื่อภรรยาคนแรกของนอสตราดามุสนี้ได้
    นอสตราดามุสมีลูกกับภรรยาคนนี้ 2 คน เป็นชาย 1 หญิง 1 ชีวิตในครอบครัวของเขาเป็นไปอย่างราบรื่น ส่วนในด้านอาชีพการแพทย์ของเขานั้นเล่า ก็ประสพความเจริญก้าวหน้า และสร้างชื่อเสียงให้แก่เขามากยิ่งขึ้น
    นอกจากนั้น เขายังได้ประโยชน์มากมายจากการที่ได้มาอยู่กับจูเลียส ซีซาร์ ชาลิแจร์ เพราะได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับนักปรัชญาผู้นี้เป็นประจำ กับทั้งได้มีโอกาสพบปะและแลกเปลี่ยนทรรศนะกับผู้คนที่ไปมาหาสู่ชาลิแจร์อีกมากมาย ซึ่งทำให้นอสตราดามุสได้ความรู้มีโลกทรรศน์กว้างไกล และฉลาดเฉียบแหลมมากยิ่งขึ้น

  8. #8
    ดูแลตรวจสอบเนื้อหา สัญลักษณ์ของ auddy228
    วันที่สมัคร
    Jun 2007
    ที่อยู่
    THAILAND
    กระทู้
    1,176
    บล็อก
    1

    สว่างใจ นอสตราดามุส

    นอสตราดามุส



    8. ประสพเคราะห์กรรม

    แต่ครั้นถึงปี ค.ศ. 1537 โศกนาฏกรรมหลายต่อหลายอย่างได้ซัด กระหน่ำชีวิตและครอบครัวของนอสตราดามุส คือปีนั้นกาฬโรคระบาดเข้ามาในเมืองอากัง และในที่สุด ได้คร่าเอาชีวิตภรรยาและลูกทั้งสองคนของนอสตราดามุสไปด้วย ทั้งๆ ที่เขาได้พยายามอย่างสุดความสามารถ แต่ก็ไม่อาจช่วยชีวิตภรรยาและลูกทั้งสองคนของเขาได้
    เมื่อการณ์กลับปรากฏเป็นเช่นนี้ เกียรติภูมิของนอสตราดามุสในฐานะที่เป็นแพทย์ผู้สามารถในการรักษากาฬโรคได้ถูกทำลายลงไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อประชาชนทราบว่าเขาไม่สามารถช่วยชีวิตแม้แต่คนในครอบครัวของตัวเองได้
    ยิ่งไปกว่านั้น ในระยะต่อมาเขาเกิดแตกคอกับนายชาลิแจร์ จนถึงขั้นตัดความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างกันในที่สุด ซึ่งที่จริงผู้ที่ก่อเรื่องไม่ใช่ฝ่ายนอสตราดามุส แต่เรื่องเกิดขึ้นเพราะชาลิแจร์เป็นผู้ก่อ ชาลิแจร์ไม่เพียงแต่ก่อเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกับนอสตราดามุสเท่านั้น แต่ยังเที่ยวหาเรื่องกับเพื่อนฝูงทุกคนของเขาด้วย
    อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความเป็นเพื่อนระหว่างนอสตราดามุสกับชาลิแจร์จะสิ้นสุดลงไปแล้ว แต่นอสตราดามุสไม่เคยกล่าวให้ร้ายป้ายสีชาลิแจร์เลย ในหนังสือ Traite des fardemens นอสตราดามุสยังคงเขียนสรรเสริญ เยินยอเกียรติคุณของชาลิแจร์ ไว้ว่า ?เป็นผู้สืบทอดวิญญาณของ ซิเซโรทางด้านวาทศิลป์ เป็นผู้สืบทอดวิญญาณของเวอร์จิลทางด้านการประพันธ์ และเป็นผู้สืบทอดวิญญาณของกาลังทางด้านการแพทย์ ข้าพเจ้าเป็นหนี้บุญคุณชาลิแจร์ ยิ่งกว่าบุคคลอื่นใดในโลก?
    จะเห็นได้ว่า ข้อความที่ยกมานี้เป็นการยกย่องสดุดีความสามารถทางด้านต่างๆของชาลิแจร์ นอสตราดามุสไม่ได้เอ่ยถึงความเลวของเพื่อน นักปรัชญาผู้นี้แม้แต่น้อยนิด
    เคราะห์กรรมของนอสตราดามุสยังไม่หมดแต่เพียงเท่านี้ เพราะปรากฏว่าเขาถูกพ่อตาแม่ยายฟ้องร้องทางศาลเพื่อเรียกสินสอดทองหมั้น ที่ฝ่ายพ่อตาแม่ยายจ่ายให้เขาตอนแต่งงานกับลูกสาวคืน ซึ่งนี่ก็แสดงว่าในประเทศฝรั่งเศสสมัยนั้นเมื่อชายหญิงแต่งงานกัน ฝ่ายหญิงจะเป็นผู้จ่ายสินสอดให้แก่ฝ่ายชายเหมือนอย่างที่ประเทศอินเดีย
    นอกจากนั้นในปี ค.ศ. 1538 นอสตราดามุสถูกกล่าวหาว่าทำตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อศาสนจักรคาทอลิก โดยระบุว่าครั้งหนึ่งเมื่อหลายปีก่อนหน้านี้เขาเคยกล่าวลบหลู่ดูหมิ่นศาสนจักรนิกายคาทอลิกอะไรบางอย่างเอาไว้ คนที่ได้ยินคำพูดของเขาจึงได้รายงานถึงเจ้าหน้าที่ของฝ่ายศาสนจักร
    แต่เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า วันหนึ่งนอสตราดามุสเดินไปพบช่างคนหนึ่งกำลังหล่อรูปของพระแม่มารีอยู่ เขาเกิดคะนองปากพูดวิจารณ์ไปว่ารูปพระแม่มารีที่ช่างกำลังหล่ออยู่นั้นมีลักษณะเหมือนกับรูปของปีศาจ
    เมื่อเกิดเรื่องราวขึ้นมาเช่นนี้ ทางฝ่ายนอสตราดามุสได้อุทธรณ์ไปว่า ที่เขาพูดเช่นนั้นไม่ได้จงใจที่จะลบหลู่ดูหมิ่นสิ่งเคารพของชาวคริสเตียน เป็นเพียงแต่กล่าววิจารณ์ว่า พระรูปของแม่พระมารีไม่งดงามในเชิงสุนทรียศาสตร์เท่านั้นเอง อย่างไรก็ตาม ทางคณะกรรมการสอบสวนของฝ่ายศาสนจักรคาทอลิก ไม่เชื่อในคำอุทธรณ์นี้ และได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปที่เมืองอากัง เพื่อทำการจับกุมนอสตราดามุสนำมาลงโทษที่เมืองตูลูส
    นอสตราดามุสตระหนักเป็นอย่างดีว่า หากเขายอมให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายศาสนจักรจับกุม ก็มีหวังจะต้องถูกนำตัวขึ้นศาลพระ หรือดีไม่ดีอาจจะถูกนำตัวไปเข้าหลักประหารอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนั้น เขาจึงได้หลบหนีออกจากเมืองอากัง ก่อนที่เจ้าหน้าที่ของฝ่ายศาสนจักรจะเดินทางไปถึง เที่ยวหลบ ๆ ซ่อน ๆ เพื่อให้พ้นภัยจากฝ่ายศาสนจักรอยู่เป็นเวลานานถึง 6 ปีเต็ม
    นอสตราดามุสไม่ยอมแต่งงานใหม่ และครองตนเป็นพ่อหม้ายอยู่จนกระทั่งปี ค.ศ. 1547 จึงได้ตกลงปลงใจแต่งงานกับแม่หม้ายทรงเครื่องคนหนึ่งที่เมืองซาลอง อัง โปรวองซ์
    นอสตราดามุสมีลูกกับแม่หม้ายคนนี้ถึง 6 คน มีคนหนึ่งฉลาดเฉียบแหลมได้พ่อชื่อ ซีซาร์ เดอ นอสเตรอดัม เมื่อผู้พ่อเสียชีวิต ซีซาร์ผู้นี้อายุได้ 9 ปี ที่เรื่องราวของนอสตราดามุสไม่สูญหายไปจากโลก ส่วนหนึ่งก็เพราะซีซาร์นำมาบันทึกไว้ในหนังสือที่เขาเขียนขึ้นชื่อ Histoire de Provence
    ในช่วงที่นอสตราดามุสยังเป็นพ่อหม้ายหลบหนีการจับกุมของฝ่ายศาสนจักรอยู่นั้น เราไม่ค่อยทราบรายละเอียดเกี่ยวกับเส้นทางการเดินทางของเขามากนัก ที่เห็นมีอยู่บ้างก็แต่ในหนังสือที่เขาเขียนขึ้นในเวลาต่อมาชื่อ Moultes Opuscules ซึ่งระบุว่าได้ไปที่เมืองลอร์เร็น เมืองเวนิช และเมืองซิซิลี เขาไปในประเทศอิตาลีเพื่อรวบรวมข้อมูลที่จะนำมาใช้เขียนหนังสือเกี่ยวกับทฤษฎีทางการแพทย์ และสูตรยารักษาโรคต่าง ๆ รวมทั้งเพื่อไปพบปะกับนักโหราศาสตร์ นักเล่นแร่แปรธาตุ และเกจิอาจารย์ทางไสยศาสตร์คนสำคัญ ๆ ที่อยู่ในเมืองต่าง ๆ เหล่านั้น
    ในช่วงเดียวกันนี้ นอสตราดามุสได้แปลหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ Horus Apollo ของ ฟิลิปปุส จากภาษากรีกเป็นภาษาฝรั่งเศส เป็นหนังสือประมวล ความรู้ทางด้าน
    จริยศาสตร์และปรัชญาธรรมดาๆ ซึ่งไม่ดีเด่นเป็นที่น่าสนใจของบรรดานักอักษรศาสตร์ในยุคหลังมากนัก

Tags for this Thread

กฎการส่งข้อความ

  • You may not post new threads
  • You may not post replies
  • You may not post attachments
  • You may not edit your posts
  •