โรคกระดูกพรุนโรคกระดูกพรุน
โรคกระดูกพรุน...คุณรู้จักดีแค่ไหน?
ด้วยวัยที่มากขึ้นมักมาพร้อมกับความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย ?กระดูกพรุน? ก็เป็นภาวะเสื่อมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน ปัจจุบันจึงมักพบเห็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเกี่ยวกับกระดูกออกวางจำหน่ายในท้องตลาดมากมาย เพื่อยื้อความแข็งแรงของโครงสร้างของร่างกายเอาไว้ให้นานเท่าที่จะทำได้
โดยปกติกระดูกของคนเราเป็นอวัยวะที่มีชีวิต กระดูกจะมีเซลล์หลักอยู่ 2 ชนิด ชนิดแรกมีหน้าที่สลายกระดูกเรียกว่า Osteoclast และอีกชนิดหนึ่งมีหน้าที่สร้างกระดูกใหม่เรียกว่า Osteoblast ซึ่งเซลล์ทั้ง 2 ชนิดนี้ทำงานอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่เกิดจนตาย โดยช่วง
เวลาของการสร้างและสลายกระดูกสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ช่วงดังนี้

1. ช่วงของการสร้างมวลกระดูก เริ่มต้นเมื่อแรกเกิดจนถึงอายุประมาณ 30 ปี ช่วงนี้เป็นช่วงที่มีการสร้างมวลกระดูกมากกว่าการสลายมวลกระดูก มวลกระดูกของร่างกายจึงเพิ่มขึ้นจนถึงจุดสูงสุดที่เรียกว่า Peak Bone Mass
2. ช่วงของการคงมวลกระดูก หลังจากอายุ 30 ปีไปแล้วการสร้างกระดูกจะลดลงจนเท่ากับการสลายกระดูก มวลกระดูกรวมจึงคงที่ไปจนถึงอายุประมาณ 45 ปี
3. ช่วงการสลายมวลกระดูก จากอายุ 45 ปีขึ้นไป การสร้างมวลกระดูกจะลดลงเรื่อยๆ มวลกระดูกรวมของร่างกายจึงลดลงตามลำดับ สตรีในช่วงหมดประจำเดือน การสลายมวลกระดูกจะรวดเร็วมากทำให้มวลกระดูกลดลงอย่างรวดเร็ว
โรคกระดูกพรุน คือ โรคที่ผู้ป่วยมีมวลกระดูกต่ำกว่าปกติ และมีแนวโน้มจะต่ำลงเรื่อยๆ จนเป็นสาเหตุให้เกิดกระดูกหักจากอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย และมีโอกาสที่กระดูกที่หักอาจไม่สามารถติดกันได้
อาการสำคัญของโรค ได้แก่ ปวดตามกระดูกส่วนกลางที่รับน้ำหนัก เช่น กระดูกสันหลัง กระดูกสะโพก และอาจมีอาการปวดข้อร่วมด้วย ต่อมาความสูงของลำตัวจะค่อยๆ ลดลง หลังจะโก่งค่อมหากหลังโก่งค่อมมาก ๆ จะทำให้ปวดหลังมากเสียบุคลิก เคลื่อนไหวลำบากระบบทางเดินหายใจและทางเดินอาหารถูกรบกวน เมื่อเป็นโรคติดเชื้อของทางเดินหายใจจะหายยาก ระบบย่อยอาหารผิดปกติ ท้องอืดเฟ้อ และท้องผูกเป็นประจำ
กระดูกพรุนอันตรายอย่างไร?

โรคแทรกซ้อนที่อันตรายที่สุดของโรคกระดูกพรุน คือ กระดูกหัก บริเวณที่พบมาก ได้แก่ กระดูกสันหลัง กระดูกสะโพก และกระดูกข้อมือ ซึ่งหากกระดูกสันหลังหัก จะทำให้เกิดอาการปวดมาก จนไม่สามารถเคลื่อนไหวไปไหนได้
การพักรักษาตัวเป็นเวลานานย่อมทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ขึ้นได้ เช่น ภาวะถุงลมโป่งพอง ภาวะการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ภาวะโรคหัวใจและหลอดเลือด อันเป็นสาเหตุให้สุขภาพโดยรวมแย่ลงอย่างรวดเร็วจนอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้เมื่อผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนได้รับอุบัติเหตุทำให้เกิดภาวะกระดูกหัก กระดูกจะใช้เวลาในการเชื่อมต่อตัวเองนานกว่ากระดูกปกติ หรืออาจไม่ติดเลยก็ได้ ผู้ป่วยจะต้องอยู่ในเฝือกนานขึ้นเป็นสาเหตุให้เกิดอาการข้อยึดติด ไม่สามารถใช้ร่างกายส่วนนั้นได้เป็นระยะเวลานาน หรืออาจต้องเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัดยึดกระดูกซึ่งผลการรักษามักไม่ได้ผลดี
การตรวจหาโรคกระดูกพรุน

ปัจจุบันมีเครื่องมือวัดความหนาแน่นของกระดูก Bone DEXA scan (Dual Energy X-ray Absorptiometry) เป็นเครื่องมือเอ็กซเรย์ระบบ 2 พลังงาน ที่ใช้ในการประเมินผลว่า ผู้มารับบริการมีความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนมากน้อยเพียงใด และยังช่วยในการตัดสินใจวางแผนการรักษาและติดตามผลการรักษาอย่างเหมาะสม โดยทั่วไปแพทย์จะพิจารณาส่งตรวจส่วนที่ต้องการตามรอยโรคของผู้ป่วย แต่หากต้องการตรวจเพื่อสุขภาพ จะแนะนำให้ตรวจ 2 บริเวณ คือ กระดูกสันหลังและกระดูกสะโพก ซึ่งเป็นวิธีที่จะทราบถึงสภาวะมวลกระดูกของเราได้ดีที่สุด การตรวจหามวลกระดูกจะแปรผลออกมาเป็นค่าทางสถิติ โดยใช้การเปรียบเทียบมวลกระดูกของเรากับมวลกระดูกของประชากรในอายุและเพศเดียวกัน
การแปรผลการตรวจมวลกระดูกจะแปรผลออกมา คือมวลกระดูกปกติ (Normal) หมายถึง มีมวลกระดูกหนาแน่นเป็นปกติในคนที่อายุยังน้อย มวลกระดูกบาง (Osteopenia) หมายถึง มีมวลกระดูกน้อยกว่าปกติ แต่ยังไม่ถึงขั้นเป็นโรคกระดูกพรุน เป็นภาวะที่ต้องรับการรักษาก่อนที่จะเป็นโรคกระดูกพรุน
กระดูกพรุน (Osteoporosis) หมายถึง มีมวลกระดูกน้อยกว่าปกติมากจนเสี่ยงต่อกระดูกหักหรือกระดูกยุบตัว
ภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน

1.หญิงวัยหมดประจำเดือน การขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนทำให้กระดูกสลายตัวในอัตราที่เร็วขึ้น
2.หญิงที่มีประจำเดือนหมดเร็ว หรือ หญิงที่ตัดรังไข่
3.กรรมพันธุ์จากมารดาสู่บุตร
4.ชาวเอเชีย และคนผิวขาว มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากกว่าคนยุโรป

ข้อมูลโดย โรงพยาบาลเวชธานี
ที่มา : นสพ.ไทยรัฐ