ประเพณีวิ่งควาย
ประเพณีวิ่งควาย เป็นประเพณีเก่าแก่ดั้งเดิมของจังหวัดชลบุรีมีอยู่แห่งเดียวในเมืองไทย เมื่อใกล้เทศกาลออกพรรษาครั้งใดก็แสดงว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการไถหว่านได้ผ่านพ้นไปแล้ว ถึงเวลาที่บรรดาชาวไร่ชาวนา จะได้มีโอกาสหยุดพักผ่อน เพื่อรอคอยเวลาที่ผลผลิตจะตกดอกออกรวงและก็เป็นเวลาที่วัวควายจะได้พักเหนื่อยเสียทีหลังจากที่ถูกใช้งานมาอย่างหนัก

ใน วันงาน ชาวไร่นาจะหยุดงานทั้งหมด และจะตกแต่งควายของตนอย่างสวยงามด้วยผ้าแพรพรรณ และลูกปัดสีต่างๆ และจะนําควายมาชุมนุมกันที่ตลาด พร้อมกันนั้นก้จะนําผลิตผลของตนบรรทุกเกวียนมาขายให้ชาวบ้านร้านตลาดพร้อมๆ กัน เมื่อจับจ่ายขายสินค้าซื้อหาของต้องประสงค์เสร็จแล้ว ต่างคนต่างก็ถือโอกาสมาพบปะสนทนากัน บ้างก็จูงควายเข้าเที่ยวตลาด บ้างก็ขึ้นขี่ควายวิ่งไปรอบๆตลาดด้วยความสนุกสนาน จนกลายมาเป็นประเพณีการแข่งขันวิ่งควายกันขึ้น

และจากการที่ชาวไร่ชาวนาต่างก็พากันตกแต่งประดับประดาควายของตนอย่างสวยงามนี่เอง ทําให้เกิดการประกวดประชันความสวยงามของควายกันขึ้น พร้อมๆ ไปกับการแข่งขันวิ่งควาย

ปัจจุบัน ประเพณีวิ่งควายในเขตเทศบาลเมืองชลบุรี จะจัดในวันขึ้น 14 คํ่า เดือน 11 อําเภอบ้านบึง จัดในวันขึ้น 15 คํ่า เดือน 11 ตลาดหนองเขิน อําเภอบ้านบึง จัดในวันแรม 1 คํ่า เดือน 11 วัดดอนกลาง ตําบลแสนสุข อําเภอเมือง จัดวิ่งควายในวันทอดกฐินประจําปีของวัด

ในวันนี้นอกจากจะจัดให้มีการแข่งขันวิ่งควาย ประกวดความงามของควาย และประกวดสุขภาพของควายแล้ว ยังมีการ "สู่ขวัญควาย" หรือทําขวัญควายไปในตัวอีกด้วย

แม้ปัจจุบัน เกษตรกรส่วนใหญ่ในประเทศจะหันมาใช้เครื่องจักรกลหรือที่เรียกว่าควายเหล็กช่วยผ่อนแรงในการทํานาแล้วก็ตาม แต่ชาวชลบุรีก้ยังคงอนุรักษ์ประเพณีท้องถิ่นอันแปลกนี้อยู่ เพราะนอกจากจะเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดแล้ว ยังเป็นเครื่องแสดงถึงความสามัคคีของชาวชลบุรีอีกด้วย


------------------------
ที่มา ::ของประเพณีวิ่งควาย

มีที่มาจากเหตุการณ์ที่ควายของ ชาวบ้านที่เลี้ยงไว้เพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้ล้มตายโดยไม่ทราบสาเหตุ เป็นจำนวนมาก หลังจากนั้น มีพระธุดงค์รูปหนึ่งเดินทางผ่านมาได้แนะนำให้ชาวบ้านจัดพิธีบูชาเทพเจ้า ประจำเมืองขึ้น ชาวบ้านจึงร่วมมือกันจัดพิธี ขอให้เทพเจ้าประจำเมืองช่วยให้ควายหายป่วย เมื่อควายหายป่วย ชาวบ้านจึงนำควายมาวิ่งเพื่อเป็นการแก้บน หลังจากสิ้นฤดูการเพาะปลูกเป็นประจำทุกปี

ประเพณีวิ่งควายยุคแรกเริ่มจัดขึ้นที่ วัดใหญ่อินทาราม จ.ชลบุรี ซึ่งเกิดจากการที่ชาวบ้านมาชุมนุมกันที่วัด และนำเครื่องกัณฑ์ใส่ควายเทียมเกวียนมาพักที่วัดเพื่อรอการติดกันเทศน์ ในเทศกาลเทศน์มหาชาติ

ระหว่างที่รอเจ้าของควายจะนำควายของตนไปอาบน้ำที่สระภายในวัด เมื่อต่างคนต่างก็พาควายไปอาบน้ำ จึงเกิดมีการแข่งขันประลองฝีเท้าควายขึ้นมา เพื่อความสนุกสนานและเพื่อทดสอบความแข็งแรงของควาย เกิดเป็นประเพณีวิ่งควายอันขึ้นชื่อของจังหวัดชลบุรีที่โด่งดังไปไกลถึงต่าง ประเทศ

การแข่งขันวิ่งควายในระยะแรกเป็นเพียงการบังคับให้ควายขณะวิ่งในระยะที่ กำหนด โดยคนขี่ห้ามตกจากหลังควาย ก่อนที่จะพัฒนาต่อเนื่องเรื่อยมาเป็นการวิ่งควายในปัจจุบันที่มีการตกแต่ง ควายอย่างสวยงาม อาทิ การแต่งตัวควายด้วยผ้าหลากสีสัน หรือไม่ก็ตกแต่งด้วยเครื่องประดับมากมาย และมีอยู่ ครั้งหนึ่ง ได้มีเหตุการณ์เกิดขึ้นกับชาวชลบุรีว่า ในปีหนึ่งชาวชลบุรีไม่ได้จัดงานวิ่งควายบ้านของชาวบ้านได้เกิดไฟไหม้ และชาวบ้านได้ฝันว่า มีเทพ องค์หนึ่ง ได้บอกกับชาวบ้านว่าถ้าไม่จัดอีกจะมีการเกิดไฟไหม้ขึ้นอีก

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ประเพณีวิ่งควาย - วิกิพีเดีย