ชุมชนกุฎีจีน
รอยบรรจบแห่งความแตกต่าง




ชุมชนกุฎีจีน


ชุมชนกุฎีจีน


ชุมชนกุฎีจีน


ชุมชนกุฎีจีน




??กุฎีจีน หรือกะดีจีน เป็นย่านชุมชนชาวจีนเก่าแก่ที่อาศัยอยู่ริมน้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามกับปากคลองตลาด ซึ่งมีศาลเจ้าเกียนอันเกง เป็นที่เคารพสักการะของคนในชุมชนตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน

ร่องรอยทางประวัติศาสตร์ของชุมชนกุฎีจีนแห่งนี้ยังมีเรื่องให้เล่าขานอีกมากมาย โดยเฉพาะสัมพันธภาพภายใต้ความแตกต่างของเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรมของคนในชุมชนที่ประกอบไปด้วยชาวจีน อินเดีย และยุโรป ที่อยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์มาเป็นเวลากว่า 200 ปี แล้ว...?
สำหรับโบสถ์นี้ เป็นหลังที่ 3 ที่สร้างขึ้นมาเมื่อประมาณ พ.ศ.2456 โดยบาทหลวงกูเกียลโม กิ๊น ดาครู้ส ตัวโบสถ์เป็นสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิคผสมกับเรเนอซองส์ ตัวอาคารเป็นแบบก่ออิฐฉาบปูนตกแต่งด้วยปูนปั้นเป็นลวดลายใบไม้สวยงาม ใครที่ผ่านไปผ่านมาในแม่น้ำเจ้าพระยาก็คงจะได้เคยเห็นกันบ้าง เพราะโบสถ์ตั้งอยู่ริมน้ำเจ้าพระยาพอดี

ส่วนภายในโบสถ์เป็นเหมือนห้องโถงใหญ่เพดานสูง มีแท่นสำหรับให้บาทหลวงยืนเทศน์ และมีรูปปั้นพระเยซูถูกตรึงกางเขนอยู่ด้านหลัง มีม้านั่งยาวเป็นแถวสำหรับให้คนมานั่งฟังเทศน์
แต่สิ่งหนึ่งที่ค่อนข้างจะพิเศษก็คือกระจกสีที่ประดับอยู่ตามกรอบหน้าต่างและประตูทุกบาน ซึ่งลวดลายของกระจกก็คือเรื่องราวในช่วงชีวิตของพระเยซูนั่นเอง แม้ภายในโบสถ์จะมืดไปสักหน่อย แต่ฉันว่ามันยิ่งช่วยขับให้กระจกสีเหล่านี้ดูโดดเด่นสวยงามขึ้นมาอย่างมากเลยทีเดียว



ชุมชนกุฎีจีน



เรามักจะได้ยินคำกล่าวที่ว่า ประเทศไทยนี้เป็นประเทศที่มีความอิสระในการนับถือศาสนา ใครใคร่จะนับถือศาสนาใดไม่มีการจำกัด คำพูดดังกล่าวดูเหมือนจะแจ่มชัดเมื่อข้าพเจ้าได้ไปเยี่ยมเยือนชุมชนเก่าแก่แห่งหนึ่งริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณฝั่งธนบุรีที่มีนามว่า ?ชุมชนกุฎีจีน?

ชุมชนกุฎีจีน หรือ กะดีจีน มีประวัติความเป็นมาเก่าแก่กว่า 200 ปี ย้อนไปครั้นหลังจากที่กรุงศรีอยุธยาแตก สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงกอบกู้เอกราชและสถาปนากรุงธนบุรีขึ้น โดยที่พระองค์ได้รวบรวมเหล่าไพร่พลที่กระจัดกระจายหลังจากศึกสงคราม ทั้งชาวไทย ชาวจีน ชาวโปรตุเกส และพระราชทานที่ดินเพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยทำมาหากินเป็นเวลาสืบเนื่องต่อมา โดยผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ล้วนแตกต่างกันด้วยแนวความคิด เชื้อชาติ วัฒนธรรม และศาสนา แต่ใครจะคาดคิดว่าภายใต้ภาวะแห่งความแตกต่างนั้น กลับก่อให้เกิดการหล่อหลอมผสมสานแนวการดำรงชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์หาชุมชนใดเหมือน

ชุมชนกุฎีจีน

โบสถ์ซางตาครูส...โบสถ์ฝรั่งสีเหลืองครีม สถาปัตยกรรมแบบอิตาเลียนสมัยเรเนสซองส์ ที่เรียกว่า แบบนีโอคลาสสิก ตั้งตระง่านหันหน้าไปทางทิศเหนือออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ถูกรายล้อมไปด้วยชุมชนชาวไทยจีนที่อาศัยกันอยู่อย่างหนาแน่น คงไม่แปลกหากที่ที่ข้าพเจ้ายืนนี้อยู่ในประเทศแถบยุโรป แต่หันมองไปทางใดก็เห็นแต่ชาวบ้านที่มีใบหน้าและสีข้าพเจ้าที่บ่งบอกได้ว่าเป็นชาวเอเชียอย่างชัดเจน แสดงถึงความเป็นมาในอดีตของชุมชนแห่งนี้ว่ามีเรื่องราวที่น่าสนใจไม่น้อยทีเดียว ?ข้าพเจ้าเกิดมาก็เห็นโบสถ์หลังนี้แล้ว ตรงนี้เมื่อก่อนก็เป็นสนามหญ้า แต่เห็นว่ามันรกและทำกิจกรรมอะไรไม่ค่อยสะดวก เค้าก็เลยทำเป็นลานปูนทั้งหมด แต่เริ่มเดิมทีข้าพเจ้าทราบมาว่าโบสถ์หลังนี้เป็นไม้ แล้วก็มีไฟไหม้ ชำรุดทรุดโทรม แล้วก็ซ่อมแซมปรับปรุงเปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อย จนเป็นอย่างที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้? สมศักดิ์ หนุ่มพนักงานออฟฟิศ เล่าถึงเรื่องราวความเป็นมาของโบสถ์ซางตาครูสที่เขาเห็นมาตั้งแต่วัยเยาว์ ก่อนที่เขาจะขอตัวลงเรือที่ท่าน้ำวัดซางตาครูสเพื่อไปทำงานซึ่งถือเป็นกิจวัตรประจำวัน

ความเป็นมาของโบสถ์ซางตาครูสมีเรื่องราวที่ยาวนานกว่า 200 ปี โบสถ์แห่งนี้ก่อตั้งโดยบาทหลวงกอรร์ และชาวโปรตุเกสราว 400 คนที่เซซัดมาจากสงครามเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 จึงเข้ามาตั้งรกรากบริเวณนี้และก่อสร้างโบสถ์ขึ้นมาในปี พ.ศ. 2312 และตั้งชื่อว่า ?โบสถ์ซางตาครูส? มีความหมายว่า กางเขนศักดิ์สิทธิ์ เนื่องจากที่ดินบริเวณนี้ได้รับพระราชทานจากพระเจ้าตากสินในวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2312 ซึ่งถือเป็นวันฉลองเทิดทูนไม้กางเขนของคริสตศาสนิกชน โบสถ์ซางตาครูสหลังแรกสร้างด้วยไม้ ครั้งเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จมาเห็นว่าทรุดโทรมมากจึงมีรับสั่งให้ซ่อมแซมบูรณะ ตราบจนมีอายุ 65 ปี จากนั้นในปีพ.ศ. 2378 โบสถ์หลังที่สองก็สร้างเสร็จโดยบาทหลวงปัลเลอกัว ซึ่งมีรูปทรงคล้ายศาลเจ้าจีน จึงอาจเป็นที่มาของชื่อชุมชนกุฎีจีนแห่งนี้ โบสถ์หลังที่สองมีอายุถึง 78 ปี แต่ห้วงเวลาดังกล่าวได้เกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้นหลายครั้งไม่ว่าจะเป็นภัยน้ำท่วมและไฟไหม้ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2456 โบสถ์หลังที่ 3 ก็ถูกสร้างขึ้นโดยบาทหลวงกูเลียล โมกิ๊น ดาครูส ซึ่งก็โบสถ์ที่เห็นในปัจจุบันนั่นเอง



ชุมชนกุฎีจีน
ขนมฝรั่งในชุมชน



โบสถ์ซางตาครูสเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับชาวบ้านที่นับถือศาสนาคริสต์ในชุมชนมาก ทุกวันทั้งเช้าและเย็นจะมีพิธีมิสซาภายในโบสถ์ สำหรับวันที่ข้าพเจ้าไปเยี่ยมชม คนค่อนข้างบางตา มีเพียงหลวงพ่อ ซิสเตอร์ 2 ท่าน และชาวบ้านอีก 6-7 คน เท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นผู้สูงอายุ จากการสังเกตุเค้าโครงหน้าคาดว่าน่าจะมีเชื้อสายจีนและชาวไทยปะปนกันไป ?วันธรรมดาคนก็น้อยอย่างนี้แหละ ถ้าเป็นเสาร์-อาทิตย์คนจะแน่นทีเดียว ทั้งคนหนุ่มคนสาว อาม่า อาแปะ พวกนักเรียนก็เยอะ พิธีมิสซาเป็นพิธีที่สงบและศักดิ์สิทธิ์ โบสถ์นี้เก่าแก่และก็เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนที่เค้านับถือมาก ปกติแล้วจะไม่ค่อยมีใครเข้ามาถ่ายภาพอย่างนี้หรอก ต้องขออนุญาติก่อน เคยมีนะ ขอเข้ามาถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอ ตอนถ่ายไปก็มีโบสถ์โล่งๆ แล้วเอาไปตัดต่ออะไรเนี่ยแหละ ทำมิวสิควิดีโอใส่แดนเซอร์แต่งตัวโป๊เข้าไป น่าเกลียดมาก คนโทรมาด่าระงม พักหลังนี่เลยไม่ค่อยอยากให้ใครมาวุ่นวาย ความเลื่อมใสในศาสนาของคนชุมชนนี้มันละเอียดอ่อนมากๆ ไม่ใช่เฉพาะคริสต์นะ คนนับถือพุทธก็เหมือนกัน? นางประดับ ตั้งเจริญพันธ์ แม่บ้านดูแลโบสถ์กล่าวกับข้าพเจ้า ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกผิดไม่น้อยกับการกระทำอันไม่เหมาะไม่ควรของข้าพเจ้า แต่ก็ได้อธิบายเหตุผลให้ฟังแล้วก็ขอโทษขอโพยเป็นการใหญ่

ชุมชนชาวไทยพุทธ อาศัยอยู่โดยรอบบริเวณวัดกัลยาณมิตรมหาวรวิหาร เสมือนศูนย์รวมจิตใจชาวไทย-จีนที่นับถืบศาสนาพุทธ วัดแห่งนี้บอกถึงวิถีการดำรงชีวิตของชาวไทย-จีน ที่มีประวัติศาสตร์มาเนิ่นนาน ซึ่งยังคงหลักฐานที่แสดงได้เด่นชัด ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อทางศาสนา การเฉลิมฉลองในเทศกาลสำคัญของชาวจีน ศิลปะอันงดงามที่สอดแทรกอยู่ตามมุมต่างๆ ของวัด วัดกัลยาณมิตรตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในอดีตเป็นพระอารามหลวงชั้นโท โดยเจ้าพระยานิกรบดินทร์ หรือโต กัลยาณมิตร ได้อุทิศบ้านพร้อมที่ดิน ทั้งนี้ยังได้ซื้อที่ดินบริเวณใกล้เคียงก็คือหมู่บ้านกุฎีจีนเพิ่มเติมอีกส่วนหนึ่ง แล้วได้สร้างเป็นวัดเมื่อปี พ.ศ.2368 ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 และถวายเป็นพระอารามหลวง แล้วได้รับการพระราชทานนามว่า ?วัดกัลยาณมิตร? ในกาลนั้นรัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระวิหารหลวงและพระประธาน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยซึ่งชาวบ้านเรียกกันว่า ?พระโต? ทั้งนี้คงเนื่องมาจากขนาดอันใหญ่โตขององค์พระซึ่งมีหน้าตักกว้าง 11.15 เมตร และสูงถึง 15.45 เมตร

จากนั้นรัชกาลที่ 4 ได้พระราชทานนามว่า พระพุทธไตรรัตนายก ซึ่งเป็นที่เลื่อมใสศรัทธากันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะชาวจีนมักจะเรียกติดปากกันว่า ซำปอฮุดกง หรือ ซำปอกง วัดกัลยาณมิตรเป็นสถาปัตกรรมไทยผสมจีนที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ด้วยความทรงคุณค่าของวัดแห่งนี้กรมศิลปากรจึงได้ขึ้นทะเบียนวัดเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2492

เมื่อเดินออกไปทางด้านท่าน้ำหลังวัดเลียบริมแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านย่านชุมชนที่แบ่งเป็นตรอกซอกเล็กซอยน้อยไปหมด เสียงบทเพลงของเดอะ บิทเทิ่ล แผ่วเบามาจากบ้านหลังหนึ่ง ผสมกับเสียงเพลงประกอบละครเกาหลีที่กำลังโด่งดังในบ้านเราจากบ้านอีกหลังหนึ่ง ลอยมาสัมผัสโสตประสาทของข้าพเจ้า สร้างความรู้สึกประหลาดใจให้ข้าพเจ้าไม่น้อยทั้งที่บ้านเหล่านั้นห่างจากวัดศาลเจ้าเกียนอันเก๋งเพียงไม่ถึงยี่สิบก้าวเท่านั้น กระแสวัฒนธรรมได้แทรกเข้าไปยังชุมชนทุกครัวเรือนอย่างปฏิเสธมิได้เสียแล้ว...

ศาลเจ้าเกียนอันเก๋ง หรือศาลเจ้าแม่กวนอิมที่ชาวบ้านเรียกกันติดปาก ตั้งอยู่ตรงบริเวณคลองกุฎีจีน คาดว่าคงเป็นหนึ่งในข้อสัณนิษฐานที่มาของชื่อชุมชนแห่งนี้ตามวินิจฉัยของกรมพระยาดำคงราชานุภาพที่ทรงอธิบายไว้ในสาส์นถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ว่า ?...ที่เรียกว่ากุฎีจีนนั้นมีกุฎีจริงและเป็นของสำคัญในโบราณคดีด้วย หม่อมฉันก็เผอิญไปรู้เห็นมาโดยมิได้คิดคาด ครั้งหนึ่งหม่อมฉันรับเชิญไปช่วยงานหล่อระฆังใหญ่ที่วัดกัลยาณมิตร กระบวนการงานออกจะยุ่งต้องคอยอยู่นานกว่าชั่วโมง หม่อมฉันจึงไปเที่ยวดูวัดกัลยาณมิตร ไปถึงเขตวัดทางด้านใต้ที่ริมคลองกุฎีจีน แลดูข้ามฟากคลองไป เห็นศาลเจ้าจีนอยู่ทางฝั่งโน้นห่างลับแม่น้ำเข้าไปสักสองเส้น...?

นับแต่อดีตประวัติของศาลเจ้าแห่งนี้มิได้มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร อาศัยการเล่าสืบต่อกันมาจากคนเถ้าคนแก่ กล่าวกันว่าเดิมที่เป็นที่ตั้งของศาลเจ้า 2 หลัง คือศาลเจ้าพ่อโจวซือกง และศาลเจ้าพ่อกวนอู ที่สร้างโดยชาวจีนที่ตามเสด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ครั้นเมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 1 พระองค์ทรงย้ายราชธานีไปอยู่ฝั่งพระนคร ทำให้ชาวจีนอพยพย้ายถิ่นฐานตามไป ศาลเจ้าทั้งสองจึงชำรุดทรุดโทรม ครั้นมาในสมัยรัชกาลที่ 3 ต้นตระกูล ตันติเวชกุล และสิมะเสถียรได้ทำการรื้อและสร้างศาลเจ้าขึ้นมาใหม่เนื่องจากหลังเก่าทรุดโทรมมาก แล้วได้อัญเชิญเจ้าแม่กวนอิมมาแทนเจ้าพ่อโจวซือกงและเจ้าพ่อกวนอู ปัจจุบันศาลเกียนอันเก๋งกำลังโครงการบรูณะซ่อมแซมอีกครั้ง เพื่อให้ศาลเจ้าแห่งนี้เป็นแหล่งรวมความศรัทธาของชาวจีนในชุมชน และเป็นแหล่งบอกเล่าถึงวัฒนธรรมจีนในประเทศไทยที่สำคัญในอดีตกาล

วิถีชีวิตของชาวกุฎีจีนในอดีตมีหลักฐานปรากฎอยู่น้อยมากเนื่องจากเหตุการณ์น้ำท่วมและไฟไหม้ เหลือเพียงหลักฐานที่สืบค้นได้จากโรงเรียนซางตาครูสที่ตั้งอยู่ในย่านชุมชนกุฎีจีนที่ห่างจากโบสถ์เพียงกำแพงกั้น ผู้คนในชุมชนครั้งก่อนเดินทางสัญจรโดยอาศัยเรือ ส่วนใหญ่มีอาชีพทำสวนและทำประมงพื้นบ้าน บ้านเรือนเป็นบ้านทรงไทยยกใต้ถุนสูงเพื่อใช้เลี้ยงหมู เป็ด ไก่ หากมีพื้นที่ก็ขุดบ่อเลี้ยงปลา บริเวณนี้ในอดีตมีค้างคาวแม่ไก่ชุกชม ทำให้เกิดอาชีพจับค้างคาวแม่ไก่ขาย ส่วนแม่บ้านก็จะสร้างรายได้จากการทำขนมฝรั่งขาย เป็นขนมที่นำเข้ามาโดยชาวโปรตุเกสที่เข้ามาตั้งรากบริเวณนี้ ลักษณะคล้ายขนมไข่ ใช้แรงงานคนและใช้ไม้ฟืนเป็นเชื้อเพลิงทำให้มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ปัจจุบันบ้านที่ทำขนมฝรั่งขายมีเหลือเพียงอยู่ 2 หลังเท่านั้น ซึ่งต่างก็มีสูตรและขั้นตอนการทำที่แตกต่างกัน ส่วนผสมของขนมฝรั่งทำมาจากแป้งสาลี ไข่ น้ำตาลทราย มาตีผสมให้เข้ากัน ตักใส่แม่พิมพ์ นำไปผิงหรืออบที่อุณหภูมิและเวลาที่เหมาะสม อาจตกแต่งหน้าด้วยลูกเกด ฟักเชื่อม ลูกพลับเชื่อม น้ำตาลทราย เพื่อเพิ่มรสชาติ


?ผู้คนในชุมชนนี้ ก็อยู่กันสงบดี แต่ป้าว่ามันน่าจะเรียกว่าเป็นสลัมมากกว่าชุมชน เพราะอยู่กันแน่นเหลือเกิน บ้านนึงอยู่หลายๆ คน อยู่กันครอบครัวใหญ่ๆ อาชีพก็ทำกันหลากหลาย มีตั้งแต่รับจ้าง ขายของกิน อย่างป้านี่ก็ร้อยดอกดาวเรืองขาย ไปรับมาจากปากคลองตลาด รับมาทั้งก้าน แล้วมาเด็ดเอาเฉพาะดอก ก็ช่วยๆ กันลูกๆ หลานๆ เค้าเหนื่อยก็ไปนอน วันเสาร์-อาทิตย์ไม่ได้ไปไหนก็มาช่วยกัน เด็ดเสร็จก็เอามาร้อยเป็นพวงๆ แล้วก็เอากลับไปขายที่ปากคลองตลาดอีกที ทำมาสามสี่สิบปี ก็พออยู่ได้ ไม่ได้กำไรอะไรมาก ทำกันเป็นครัวเรือนมากกว่า อย่างบ้านตรงนั้นก็ทำสายมาลัยที่ใช้คล้อง อีกบ้านก็เอาไปต่อรวมกันอีกที เหมือนแบ่งหน้าที่กันทำ ส่วนผู้คนตรงแถวโบสถ์ฝรั่งส่วนใหญ่เค้านับถือคริสต์ แต่ป้าเองนับถือพุทธนะ ก็อยู่กันได้ ไม่มีปัญหาอะไร ทุกวันนี้ก็ยังอาศัยพึ่งพากัน เดินทางไปไหนมาไหน เราก็อาศัยไปลงเรือตรงท่าน้ำซางตาครูสแถวๆ โบสถ์ฝรั่งนั่นแหละ ตรงศาลาท่าน้ำนั่นก็สวยนะ เป็นศาลาแบบฝรั่ง ชาวบ้านบางคนก็ไปตั้งร้านข้าว ร้านขนม ขายให้ทั้งชาวไทยพุทธ ชาวไทยคริสต์? นางรำไพ แม่ค้าพวงมาลัยกล่าวถึงเรื่องความเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชนกุฎีจีนที่อาศัยพึ่งพากัน


นับตั้งแต่ก่อกำเนิดชุมชนจนตราบทุกวันนี้ แม้กาลเวลาจะผ่านไปเนิ่นนาน วิถีการดำรงชีวิตของผู้คนในชุมชนยังคงมีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ยังคงอาศัยการสัญจรทางน้ำ และยังคงอิงอยู่กับความศรัทธาในศาสนา โดยวิถีเหล่านี้มิได้เสื่อมสลายไปตามกาลเวลาแต่อย่างใด เพียงแต่แปรเปลี่ยนไปในทิศทางที่มันควรจะเป็น ความศรัทธาในศาสนาไม่ว่าจะเป็นศาสนาคริสต์หรือศาสนาพุทธของผู้คนในชุมชนกุฎีจีนยังคงแจ่มชัด ดังจะเห็นได้จากการที่ชาวบ้านในชุมชนและผู้คนต่างถิ่นมิได้ว่างเว้นที่จะแวะมากราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ฟังเทศฟังธรรม สวดมนต์ ปฏิบัตธรรมในแนวทางที่ตนเองเชื่อถืออยู่เนืองๆ รวมไปถึงการบริจาคกำลังกายและกำลังทรัพย์เพื่อบูรณะซ่อมแซมศาสนสถานที่กำลังดำเนินการไปอย่างต่อเนื่อง เสมือนการหล่อเลี้ยง ทำนุบำรุงศาสนา สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นถึงชีวิตความเป็นอยู่ ความเชื่อ และความยึดมั่นในศาสนาของชาวบ้านละแวกนี้ได้แจ่มชัด แม้ว่านับวันความเป็นไปในชุมชนกุฎีจีน ชุมชนริมน้ำเล็กๆ แห่งนี้กำลังถูกเบียดบังจากกระแสความเจริญทางเทคโนโลยีและการเติบโตทางด้านวัตถุที่ล้อมรอบชุมชนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันก็ตาม




เรื่องและภาพโดย คัมภีร์ ผาติเสนะ