กำลังแสดงผล 1 ถึง 1 จากทั้งหมด 1

หัวข้อ: มิลินทปัญหา วรรคที่สอง

  1. #1
    Maximum learning
    ศิลปิน นักเขียน
    สัญลักษณ์ของ khonsurin
    วันที่สมัคร
    Apr 2008
    ที่อยู่
    ท่าตูม สุรินทร์
    กระทู้
    8,063
    บล็อก
    197

    มิลินทปัญหา วรรคที่สอง

    มิลินทปัญหา วรรคที่สอง
    ฉบับแปลในมหามกุฏราชวิทยาลัย


    มิลินทปัญหา  วรรคที่สอง


    วรรคที่สอง

    1 ธัมมสันตติปัญหา

    พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้า ผู้ใดเกิดขึ้น เขาจะเป็นผู้นั้น หรือจะเป็นผู้อื่น "

    พระเถรเจ้าทูลตอบว่า "จะเป็นผู้นั้นก็ไม่ใช่ จะเป็นผู้อื่นก็ไม่ใช่"

    ร "ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมาให้ข้าพเจ้าฟัง"

    ถ "พระองค์จะทรางสดับต่อไปนั้นเป็นไฉน ข้อความที่อาตมภาพจะทูลถาม: ก็เมื่อเวลาใด พระองค์ยังทรงพระเยาว์เป็นเด็กอ่อน บรรทมหงายอยู่ในพระอู่, พระองค์นั้นนั่นแหละได้ทรงพระเจริญวัย เป็นผู้ใหญ่ขึ้นในเวลานี้ "

    ร "ไม่ใช่อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า, ในเวลานั้น ข้าพเจ้าเป็นเด็กอ่อนนอนหงายอยู่นั้นคนหนึ่ง ในเวลานี้ ข้าพเจ้าเป็นผู้ใหญ่ขึ้นคนหนึ่ง"

    ถ "ก็เมื่อเป็นอย่างนั้น แม้มารดาบิดาอาจารย์ และคนมีศีลมีสิปปะมีปัญญาก็จักไม่มีนะซิ, มารดาของสัตว์ซึ่งแรกปฏิสนธิ เป้นกลละ เป็นอัมพุทะ เป็นชิ้นเนื้อ เป็นแท่ง และมารดาของสัตว์ที่เป็นทารก มารดาของสัตว์ที่เป็นผู้ใหญ่ คนละคน ไม่ใช่คนเดียวกันดอกหรือ คนหนึ่งศึกษาสิปปะ คนหนึ่งเป็นผู้ได้ศึกษาแล้ว คนหนึ่งทำบาปกรรม มือและเท้าทั้งหลายของคนหนึ่งขาดไปหรือ "

    ร "ไม่เป็นอย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า, ก็เมื่อเขาถามพระผู้เป็นเจ้าอย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้าจะตอบอย่างไร "

    ถ "อาตมภาพนี้แหละเป็นเด็ก อาตมภาพนี้แหละเป็นผู้ใหญ่ ในเวลานี้ สภาวธรรมทั้งหลายอาศัยกายนี้นี่แหละ นับว่าเป็นอันเดียวกันทั้งหมด"

    ร "ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมาให้ข้าพเจ้าฟังอีก"

    ถ "เหมือนอย่างว่า บุรุษคนหนึ่งจะตามประทีป อาจตามไปได้จนตลอดรุ่งหรือไม่ "

    ร "ได้ซิ พระผู้เป็นเจ้า"

    ถ "เปลวไปอันใดในยามแรก เปลวไฟอันนั้นหรือในยามกลาง"

    ร ไม่ใช่ พระผู้เป็นเจ้า"

    ถ "เปลวไฟอันใดในยามกลาง เปลวไฟอันนั้นหรือในยามสุด "

    ร ไม่ใช่ พระผู้เป็นเจ้า"

    ถ ประทีบในยามแรก ในยามกลาง และในยามสุด ดวงหนึ่ง ๆ ต่างหากกันหรือ "

    ร "ไม่ใช่ พระผู้เป์นเจ้า, ประทีปที่อาศัยประทีปนั้นนั่นแหละสว่างไปแล้วจนตลอดรุ่ง"

    ถ "ข้อนั้นฉันใด, ความสืบต่อแห่งสภาวธรรมก็สืบต่อกัน ฉันนั้นนั่นแหละ; สภาวะอันหนึ่งเกิดขึ้น สภาวะอันหนึ่งดับไป, เหมือนกะสืบต่อพร้อม ๆ กัน, เพราะเหตุนั้น ผู้ที่เกิดขึ้นจึงได้ชื่อว่าจะเป็นผู้นั้นก็ไม่ใช่ จะเป็นผู้อื่นก็ไม่ใช่ แต่ถึงความสงเคราะห์ว่าปัจฉิมวิญญาณ"

    ร "ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมาให้ข้าพเจ้าฟังให้ยิ่งขึ้นอีก"

    ถ "เหมือนอย่างว่า น้ำนมที่เขารีดออก ครั้นเวลาอื่น แปรเป็นนมส้มไป, และแปรไปจากนมส้มก็เป็นเนยข้น, แปรไปจากเนยข้นก็เป็นเปรียง, และจะมีผู้ใดผู้หนึ่งมาพูดอย่างนี้ว่า 'น้ำนมอันใด นมส้มก็อันนั้นนั่นเอง นมส้มอันใด เนยข้นก็อันนั้นนั่นเอง เนยข้นอันใด เปรียงก็อันนั้นนั่นเอง' ฉะนี้ เมื่อผู้นั้นเขาพูดอยู่ จะชื่อว่าเขาพูดถูกหรือไม่ "

    ร "ไม่ถูก พระผู้เป็นเจ้า, มันอาศัยน้ำนมนั้นนั่นเองเกิดขึ้น"

    ถ "ข้อนั้นฉันใด, ความสืบต่อแห่งสภาวธรรม ก็สืบต่อกันฉันนั้นนั่นแหละ; สภาวะอันหนึ่งเกิดขึ้น สภาวะอันหนึ่งดับไป, เหมือนกะสืบต่อพร้อม ๆ กัน, เพราะเหตุนั้น ผู้ที่เกิดขึ้นจึงได้ชื่อว่าจะเป็นผู้นั้นก็ไม่ใช่ จะเป็นผู้อื่นก็ไม่ใช่ แต่ถึงความสงเคราะห์ว่าปัจฉิมวิญญาณ"

    ร "พระผู้เป็นเจ้าช่างฉลาดจริง ๆ"

    .........................................

    2 นับปปฏิสันธิคหณปัญหา

    พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้า ผู้ใดไม่ปฏิสนธิ ผู้นั้นรู้ได้หรือไม่ว่า 'เราจักไม่ปฏิสนธิ"

    พระเถรเจ้าทูลตอบว่า "ขอถวายพระพร รู้ได้"

    ร "รู้ได้ด้วยอย่างไร "

    ถ "สิ่งใดเป็นเหตุเป็นปัจจัยของความถือเอาปฏิสนธิ, เพราะความสิ้นไปแห่งเหตุและปัจจัยนั้นนั่นแหละ เขาจึงรู้ได้ว่า 'เราจักไม่ปฏิสนธิ"

    ร "ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมาให้ข้าพเจ้าฟัง"

    ถ "เหมือนอย่างว่า ชาวนาเขาไถแล้ว หว่านแล้ว ก็ขนข้าวเปลือกมาไว้ในฉางให้เต็มแล้ว, สมัยอื่นอีก ชาวนานั้นก็ได้ไถและมิได้หว่านอีก บริโภคข้าวเปลือกที่ตนได้สั่งสมไว้อย่างไรนั้นเสียบ้าง จำหน่ายเสียบ้าง น้อมไปตามประสงค์บ้าง, เขาจะรู้ได้หรือไม่ว่า 'ฉางสำหรับเก็บข้าวเปลือกของเราจักไม่เต็มขึ้นได้อีก"

    ร "รู้ได้ซิ พระผู้เป็นเจ้า"

    ถ "รู้ได้ด้วยอย่างไร "

    ร "สิ่งใดเป็นเหตุเป็นปัจจัย ซึ่งจะทำฉางสำหรับไว้ข้าวเปลือกให้เต็มขึ้นได้, เพราะความสิ้นไปแห่งเหตุและปัจจัยนั้นนั่นแหละ เขาจึงรู้ได้ว่า 'ฉางสำหรับไว้ข้าวเปลือกของเราจักไม่เต็มขึ้นได้อีก"

    ถ "ข้อนั้นฉันใด, สิ่งใดเป็นเหตุเป็นปัจจัยของความถือเอาปฏิสนธิ, เพราะความสิ้นไปแห่งเหตุและปัจจัยนั้นนั่นแหละ เขาจึงรู้ได้ว่า 'เราจักรไม่ปฏิสนธิ' ก็ฉันนั้นนั่นแหละ"

    ร "พระผู้เป็นเจ้าช่างฉลาดจริง ๆ"

    ................................................


    3 ปัญญานิรุชฌนปัญหา

    พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้า ญาณเกิดขึ้นแล้วแก่ผู้ใด ปัญญาก็เกิดขึ้นแก่ผู้นั้นหรือ "
    ]
    พระเถรเจ้าทูลตอบว่า "ขอถวายพระพร ญาณเกิดขึ้นแล้วแก่ผู้ใด ปัญญาก็เกิดขึ้นแก่ผู้นั้น"

    ร "ญาณอันใด ปัญญาก็อันนั้นนั่นเองหรือ "

    ถ "ขอถวายพระพร ญาณอันใด ปัญญาก็อันนั่นนั่นแหละ"

    ร "ก็ญาณเกิดขึ้นแล้วแก่ผู้ใด ปัญญาก็เกิดขึ้นแก่ผู้นั้น, ผู้นั้นจะหลงหรือไม่หลง "

    ถ "หลงในที่บางแห่ง, ไม่หลงในที่บางแห่ง"

    ร "หลงในที่ไหน, ไม่หลงในที่ไหน "

    ถ "หลงในสิปปะที่ตนยังไม่ได้เคยเรียน ในทิศที่ตนยังไม่เคยไป และในการตั้งชื่อ (คือภาษา) ที่ตนยังไม่ได้เคยฟัง"

    ร "เขาไม่หลงในที่ไหนเล่า "

    ถ "ก็สิ่งใด คือ อนิจจจังก็ดี ทุกขังก็ดี อนัตตาก็ดี ที่ปัญญาได้ทำไว้, เขาไม่หลงในสิ่งนั้น"

    ร "ก็โมหะของผู้นั้นไปในที่ไหนเล่า "

    ถ "เมื่อญาณเกิดขึ้นแล้ว โมหะก็ดับไปในที่นั้นเอง"

    ร "ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมาให้ข้าพเจ้าฟัง"

    ถ "เหมือนอย่างว่า บุรุษคนหนึ่งส่องแสงไฟเข้าไปในเรือนที่มือ, แต่นั้นมืดก็หายไป แสงสว่างก็ปรากฏขึ้น, เมื่อญาณเกิดขึ้นแล้ว โมหะก็ดับไปในที่นั้น ฉะนั้น"

    ร "ก็ปัญญาไปในที่ไหนเล่า "

    ถ "ถึงปัญญาเมื่อทำกจของตนแล้ว ก็ดับไปในที่นั้นเอง, ก็แต่ว่าสิ่งใด คือ อนิจจังก็ดี ทุกขังก็ดี อนันตตาก็ดี ที่ปัญญาได้ทำไว้, สิ่งนั้นมิได้ดับไป"

    ร "ข้อที่พระผู้เป็นเจ้ากล่าว่า 'ปัญญาทำกิจของตนแล้ว ดับไปในที่นั้นเอง, ก็แต่ว่าสิ่งใด คือ อนิจจังก็ดี ทุกขังก็ก็ดี อนันตาก็ดี ที่ปัญญาได้ทำไว้ สิ่งนั้นมิได้ดับไป,' ฉะนั้น ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมาสิ่งนั้นให้ข้าพเจ้าฟัง"

    ถ "เหมือนอย่างว่า บุรุษคนหนึ่ง อยากจะส่งจดหมายไปในกลางคืน ให้เรียกเสมียนมาแล้ว จึงให้จุดไฟแล้วให้เขียนจดหมาย ครั้นให้เขียนจดหมายเสร็จแล้ว ก็ให้ดับไฟเสีย, เมื่อไฟดับไปแล้ว จดหมายก็มิได้หายไป ฉันใด; ปัญญาทำกิจของตนแล้ว ก็ดับไปในที่นั้นเอง ฉะนั้น; ก็แต่ว่าสิ่งใด คือ อนิจจังก็ดี ทุกขังก็ดี อนัตตาก็ดี ที่ปัญญานั้นได้ทำไว้, สิ่งนั้นมิได้ดับไป"

    ร "ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมาสิ่งนั้นให้ข้าพเจ้าฟัง ให้ยิ่งขึ้นอีกสักหน่อย"

    ถ "เหมือนอย่างว่า มนุษย์ทั้งหลายในปุรัตถิมชนบท ตั้งหม้อน้ำไว้เรือนละห้าหม้อ ๆ สำหรับดับไฟ, ครั้นเมื่อไฟไหม้เรือนแล้ว เขาก็โยนหม้อน้ำห้าหม้อนั้นขึ้นไปบนหลังคาเรือน, ไฟนั้นก็ดับไป, มนุษย์ทั้งหลายนั้นจะต้องคิดว่า 'ตนจักทำกิจด้วยหม้อแห่งน้ำน้ำอีกหรือ "

    ร "ไม่ต้องคิดอีกเลย พระผู้เป็นเจ้า, พอแล้วด้วยหม้อเหล่านั้น, ประโยชน์อะไรด้วยหม้อน้ำเหล่านั้นอีก"

    ถ "ผู้มีปัญญาควรเห็นอินทรีย์ทั้งห้า คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เหมือนหม้อน้ำห้าหม้อ, ควรเห็นพระโยคาวจรเหมือนมนุษย์ทั้งหลายนั้น, ควรเห็นกิเลสทั้งหลายเหมือนไฟ, กิเลสทั้งหลายดับไปด้วยอินทรีย์ทั้งห้า และกิเลสทั้งหลายเหมือนไฟ, กิเลสทั้งหลายดับไปด้วยอินทรีย์ทั้งห้า และกิเลสที่ดับไปแล้วไม่เกิดอีก เหมือนไฟดับไปด้วยหม้อน้ำทั้งห้า ข้อนั้นฉันใด; ปัญญาทำกิจของตนแล้ว ก็ดับไปในที่นั้นฉันนั้น, ก็แต่ว่าสิ่งใด คือ อนิจจังก็ดี ทุกขังก็ดี อนัตตาก็ดี ที่ปัญญาได้ทำไว้, สิ่งนั้นมิได้ดับไป"

    ร "ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมาให้ข้าพเจ้าฟังให้ยิ่งขึ้นอีก"

    ถ "เหมือนอย่างว่า แพทย์ถือเอารากไม้ที่เป็นยาห้าอย่าง เข้าไปหาคนไข้แล้ว บดรากไม้ที่เป็นยาห้าอย่างนั้นให้คนไข้ดื่มกิน, โทษทั้งหลายก็ระงับไปด้วยรากไม้ที่เป็นยาห้าอย่างนั้น, แพทย์นั้นจะต้องคิดว่า 'ตนจักทำกิจด้วยรากไม้นั้นอีกหรือ "

    ร "ไม่ต้องคิดอีกเลย พระผู้เป็นเจ้า, พอแล้วด้วยรากไม้ที่เป็นยาห้าอย่างเหล่านั้น, จะประโยชน์อะไรด้วยรากไม้เหล่านั้น"

    ถ "ผู้มีปัญญา ควรเห็นอินทรีย์ทั้งห้ามีอินทรีย์ คือ ศรัทธาเป็นต้น เหมือนรากไม้ที่เป็นยาห้าอย่าง, ควรเห็นพระโยคาวจรเหมือนแพทย์, ควรเห็นกิเลสทั้งหลายเหมือนพยาธิ, ควรเห็นปุถุชนทั้งหลายเหมือนบุรุษที่เจ็บ, กิเลสทั้งหลายระงับไปด้วยอินทรีย์ทั้งห้า และกิเลสที่ระงับไปแล้วไม่เกิดอีก เหมือนโทษทั้งหลายของคนไข้ระงับไปด้วยรากไม้ที่เป็นยาห้าอย่าง ครั้นเมื่อโทษระงับไป คนไข้ก็เป็นผู้หายโรค ฉะนั้น ข้อนี้ฉันใด; ปัญญาทำกิจของตนแล้วก็ดับไปในที่นั้น ฉันนั้น, ก็แต่ว่าสิ่งใด คือ อนิจจังก็ดี ทุกขังก็ดี อนัตตาก็ดี ที่ปัญญาได้ทำไว้, สิ่งนั้นมิได้ดับไป"

    ร "ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมาให้ข้าพเจ้าฟังให้ยิ่งขึ้นอีก"

    ถ "เหมือนอย่างว่า ทหารที่เข้าสู่สงคราม ถือเอาลูกศรไปห้าลูกแล้วเข้าสู่สงคราม เพื่อจะเอาชัยชำนะกองทัพแห่งข้าศึก, ทหารนั้นเข้าสู่สงครามแล้วยิงลูกศรทั้งห้านั้นไป, กองทัพแห่งข้าศึกก็แตกไปด้วยลูกศรทั้งห้านั้น, ทหารที่เข้าสู่สงครามนั้น จะต้องคิดว่า 'ตนจักทำกิจด้วยลูกศรอีกหรือ"

    ร "ไม่ต้องคิดอีกเลย พระผู้เป็นเจ้า, พอแล้วด้วยลูกศรห้าลูกนั้น, จะประโยชน์อะไรด้วยลูกศรเหล่านั้น"

    ถ "ผู้มีปัญญา ควรเห็นอินทรีย์ทั้งห้ามีศรัทธาเป็นต้น เหมือนลูกศรทั้งห้า, ควรเห็นพระโยคาวจร เหมือนทหารผู้เข้าสู่สงคราม, ควรเห็นกิเลสทั้งหลาย เหมือนกองทัพแห่งข้าศึก, กิเลสทั้งหลายที่แตกไปด้วยอินทรีย์ทั้งห้า และกิเลสที่แตกไปแล้วไม่เกิดอีก เหมือนกองทัพแห่งข้าศึกที่แตกไปด้วยลูกศรทั้งห้า ขอนั้นฉันใด; ปัญญาทำกิจของตนแล้วก็ดับไปในที่นั้น ฉันนั้น, ก็แต่ว่าสิ่งใด คือ อนิจจังก็ดี ทุกขังก็ดี อนัตตาก็ดี ที่ปัญญาได้ทำไว้, สิ่งนั้นมิได้ดับไป"

    ร "พระผู้เป็นเจ้าช่างฉลาดจริง ๆ"

    ..............................................................


    4 ปรินิพพานปัญหา

    พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้า ผู้ใดไม่ปฏิสนธิ เขาจะเสวยเวทนาที่เป็นทุกข์หรือไม่ "

    พระเถรเจ้าทูลตอบว่า "เสวยบ้าง ไม่เสวยบ้าง"

    ร "เสวยเวทนาชนิดไหน, ไม่เสวยเวทนาชนิดไหน "

    ถ "เสวยเวทนาที่มีกายเป็นสมุฏฐาน, ไม่เสวยเวทนาที่มีจิตเป็นสมุฏฐาน"

    ร "ไฉนจึงเสวยเวทนาที่มีกายเป็นสมุฏฐาน, ไฉนจึงไม่เสวยเวทนาที่มีจิตเป็นสมุฏฐาน "

    ถ "สิ่งใดเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดทุกขเวทนา ที่มีกายเป็นสมุฏฐาน, เพราะยังไม่สิ้นแห่งเหตุและปัจจัยนั้น จึงเสวยทุกขเวทนาที่มีกายเป็นสมุฏฐาน, สิ่งใดเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดทุกขเวทนาที่มีจิตเป็นสมุฏฐาน, เพราะความสิ้นแห่งเหตุและปัจจัยนั้น จึงไม่เสวยทุกขเวทนาที่มีจิตเป็นสมุฏฐาน แม้คำนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า "พระอรหันต์ท่านเสวยแต่เวทนาที่มีกายเป็นสมุฏฐานอย่างเดียว, มิได้เสวยเวทนาที่มีจิตเป็นสมุฏฐาน"

    ร "พระผู้เป็นเจ้า ก็เมื่อพระอรหันต์ท่านเสวยทุกขเวทนาอยู่, เหตุไฉนท่านไม่ปรินิพพานเสียเล่า "

    ถ "เพราะว่า ความรักความชังของพระอรหันต์ไม่มีเลย, อนึ่ง พระอรหันต์ทั้งหลายท่านไม่เร่งกาลเวลา ท่านคอยกาลเวลาอยู่ ถึงคำนี้ พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถรเจ้าก็ได้กล่าวไว้ว่า "เรามิได้ยินดีความตาย หรือชีวิต (ความเป็นอยู่) แต่เราคอยกาลเวลาอยู่, เหมือนลูกจ้างคอยค่าจ้างอยู่ และเรามิได้ยินดีความตายหรือชีวิตเลย, แต่เรามีสติรู้ รอคอยกาลเวลาอยู่"

    ร "พระผู้เป็นเจ้าช่างฉลาดจริง ๆ"


    ...............................................................


    5 สุขเวทนาปัญหา

    พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้า เวทนาที่เป็นสุขเป็นกุศลหรืออกุศล หรือเป็นอพยากฤต"

    พระเถรเจ้าทูลตอบว่า "เป็นกุศลก็มี อกุศลก็มี อพยากฤตก็มี"

    ร "ถ้าว่าเป็นกุศล ก็ไม่ใช่ทุกข์, ถ้าว่าเป็นทุกข์ ก็ไม่ใช่กุศล, คำว่า เวทนาเป็นทั้งกุศลเป็นทั้งทุกข์' ไม่ชอบ"

    ถ "พระองค์จะทรงสำคัญข้อความนั้นเป็นไฉน: เหมือนอย่างว่าผู้ใดผู้หนึ่งจะวางก้อนเหล็กที่ร้อนลงในมือข้างหนึ่งของบุรุษ, ในมือที่สองวางก้อนน้ำค้างที่เย็นอย่างที่สุดลง, สิ่งทั้งสองนั้นจะเผาหรือไม่ "

    ร "เผาซิ พระผู้เป็นเจ้า"

    ถ "ก็สิ่งนั้นจะร้อนทั้งสองสิ่งหรือ "

    ร "ไม่ร้อนทั้งสองสิ่ง พระผู้เป็นเจ้า"

    ถ "เย็นทั้งสองสิ่งหรือ "

    ร "ไม่เย็น พระผู้เป็นเจ้า"

    ถ "ขอพระองค์จงทรงทราบ: ข้อนี้แหละเป็นเครื่องข่มพระองค์, ถ้าว่าของที่ร้อนเผาได้, มิใช่ของนั้นจะร้อนทั้งสองสิ่ง, เหตุนั้นข้อที่ว่านั้นมิไม่ชอบหรือ ถ้าว่าของที่เย็นเผาได้, มิใช่ของนั้นจะเย็นทั้งสองสิ่ง, เหตุนั้น ข้อที่ว่านั้นมิไม่ชอบหรือ ก็เหตุไฉน สิ่งทั้งสองนั้นเผาได้, แต่ไม่ร้อนทั้งสองสิ่ง, และไม่เย็นทั้งสองสิ่ง, สิ่งหนึ่งร้อน สิ่งหนึ่งเย็น, แต่ว่าเผาได้ทั้งสองสิ่ง, เหตุนั้น ข้อที่ว่านั้น มิไม่ชอบหรือ "

    ร "ข้าพเจ้าไม่สามารถจะเจรจากับพระผู้เป็นเจ้า ผู้ช่างพูดได้ ขอพระผู้เป็นเจ้าจงขยายความเถิด" แต่นั้น พระเถรเจ้าอธิบายความให้พระเจ้ามิลินท์เข้าพระราชหฤทัยด้วยอภิธรรมกถาว่า "จักรทั้งหลายหกเหล่านี้: คือ โสมนัส ที่อาศัยความกำหนัดหก ที่อาศัยเนกขัมมะ (คุณ คือ ความออกไป) หก, โทมนัส ที่อาศัยความกำหนัดหก ที่อาศัยเนกขัมมะหก, อุเบกขา ที่อาศัยความกำหนัดหก ที่อาศัยเนกขัมมะหก, เวทนา ที่เป็นอดีตสามสิบหกอย่าง, ที่เป็นอนาคตสามสิบหกอย่าง, ที่เป็นปัจจุบันสามสิบหกอย่าง, รวมย่นเวทนาเหล่านั้นเข้าด้วยกัน เป็นเวทนาร้อยแปด"

    ร "พระผู้เป็นเจ้าช่างฉลาดจริง ๆ"


    ................................................................


    6 นามรูปปฏิสนธิคหณปัญหา

    พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้า อะไรเล่าจะปฏิสนธิ "พระเถรเจ้าทูลตอบว่า "นามและรูปนั่นแหละจะปฏิสนธิ"

    ร "นามและรูปนี้หรือจะปฏิสนธิ "

    ถ "นามและรูปนี้จะปฏิสนธิหามิได้, ก็แต่ใครทำกรรมดีกรรมชั่วไว้ด้วยนามและรูปนี้, นามและรูปอื่นจะปฏิสนธิขึ้นด้วยกรรมนั้น"

    ร "ถ้าว่า นามและรูปนั้นไม่ปฏิสนธิ ผู้นั้นเขาจักพ้นจากบาปกรรมมิใช่หรือ "

    ถ "ถ้าว่า นามและรูปนั้นจะไม่ปฏิสนธิ เขาก็อาจพ้นจากบาปกรรมได้, ก็แต่ว่า เหตุใดนามและรูปนั้นยังจะปฏิสนธิอยู่ เหตุนั้น เขาจึงไม่พ้นจากบาปกรรมได้"

    ร "ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมาให้ข้าพเจ้าฟัง"

    ถ "เหมือนอย่างว่า บุรุษคนหนึ่งไปลักมะม่วงของคนใดคนหนึ่ง, เจ้าของมะม่วงก็จับบุรุษนั้นไปถวายแด่พระเจ้าแผ่นดินว่า 'บุรุษนี้ลักมะม่วงของข้าพระองค์' ฉะนี้, บุรุษนั้นก็ให้การแก้ว่า 'ข้าพระองค์ไม่ได้ลักมะม่วงของบุรุษนี้, มะม่วงที่บุรุษนี้ปลูกไว้นั้นต้นหนึ่งต่างหาก, มะม่วงที่ข้าพระองค์ลักนั้นต้นหนึ่งต่างหาก, ข้าพระองค์ไม่ต้องรับราชทัณฑ์เลย' ฉะนี้, บุรุษนั้นจะต้องรับทัณฑ์หรือไม่ "

    ร "ต้องรับซิ พระผู้เป็นเจ้า"

    ถ "ต้องรับเพราะเหตุอะไร "

    ร "ถึงบุรุษนั้นจะให้การปฏิเสธมะม่วงที่เขาหาเสีย, ก็ต้องรับราชทัณฑ์ด้วยมะม่วงที่ตนรับทีหลัง"

    ถ "ข้อนั้นฉันใด; ใครทำกรรมดีหรือชั่วไว้ด้วยนามและรูปนี้, นามและรูปอื่นก็ปฏิสนธิขึ้นด้วยกรรมนั้น, เพราะเหตุนั้น เขาจึงไม่พ้นจากบาปกรรม ก็ฉันนั้น"

    ร "ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมาให้ข้าพเจ้าฟังให้ยิ่งขึ้นอีก"

    ถ ก็อุปมาบุรุษลักข้าวสาลี ลักอ้อย เหมือนฉะนั้น, อีกอุปมาหนึ่งว่า บุรุษก่อไฟผิงในฤดูหนาวแล้วไม่ดับ หลีกไปเสีย, ไฟนั้นก็ไหม้ไร่ของบุรุษผู้อื่น, เจ้าของไร่จับบุรุษนั้นมาถวายแด่พระเจ้าแผ่นดิน (กราบทูลฟ้อง) ว่า 'บุรุษผู้นี้เผาไร่ของข้าพระองค์' ฉะนี้, บุรุษนั้นกราบทูลว่า 'ข้าพระองค์ไม่ได้เผาไร่ของบุรุษนี้, ไฟที่ข้าพระองค์ไม่ได้ดับนั้นแห่งหนึ่ง, ไฟที่เผาไร่ของบุรุษนั้นแห่งหนึ่ง, ข้าพระองค์ไม่ต้องรับราชทัณฑ์เลย' ฉะนี้, บุรุษนั้น จะต้องรับราชทัณฑ์หรือไม่ "

    ร "ต้องรับซิ พระผู้เป็นเจ้า"

    ถ "ต้องรับเพราะเหตุไร "

    ร "ถึงบุรุษนั้นจะให้การปฏิเสธไฟที่เขาหาเสีย, ก็ต้องรับราชทัณฑ์ด้วยไฟที่ตนรับทีหลัง"

    ถ "ข้อนั้นมีอุปมาฉันใด; ผู้ใดทำกรรมดีหรือชั่วไว้ด้วยนามและรูปนี้, นามและรูปอื่นปฏิสนธิขึ้นด้วยกรรมนั้น, เพราะเหตุนั้น เขาจึงไม่พ้นจากบาปกรรมได้ ก็มีอุปไมยฉันนั้น"

    ร "ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมาให้ข้าพเจ้าฟังให้ยิ่งขึ้นอีก"

    ถ "เหมือนอย่างว่า บุรุษคนหนึ่งถือไฟขึ้นสู่เรือนแล้วบริโภคอาหารอยู่ เมื่อไฟไหม้อยู่ก็ไหม้หญ้า, เมื่อหญ้าไหม้อยู่ ก็ไหม้เรือน, เมื่อเรือนไหม้อยู่ ก็ไหม้บ้าน, ชนชาวบ้านจับบุรุษนั้นได้แล้วถามว่า 'เหตุไฉนเจ้าจึงทำให้ไฟไหม้บ้าน,' บุรุษนั้นบอกว่า 'ข้าพเจ้าไม่ได้ทำไฟให้ไหม้บ้าน, ข้าพเจ้าบริโภคอาหารด้วยแสงสว่างไฟดวงหนึ่ง, ไฟที่ไหม้บ้านนั้นดวงหนึ่ง' ฉะนี้; เมื่อชนเหล่านั้นวิวาทกันอยู่ มาในราชสำนักของพระองค์ ๆ จะทรงวินิจฉัยอรรถคดีข้อนั้นให้ใคร (ชนะ)"

    ร "วินิจฉัยให้ชนชาวบ้าน (ชนะ) นะซิ พระผู้เป็นเจ้า"

    ถ "เพราะเหตุไร พระองค์จึงทรงวินิจฉัยอย่างนี้ "

    ร "ถึงบุรุษนั้นจะพูดอย่างนั้น, ก็แต่ว่า ไฟนั้นเกิดขึ้นแต่ไฟนั้นนั่นเอง"

    ถ "ข้อนั้นมีอุปมาฉันใด ถึงนามและรูปที่มีในสมัยใกล้ต่อมรณะแผนกหนึ่ง นามและรูปที่ปฏิสนธิแผนกหนึ่ง, ก็แต่ว่า นามรูปในปฏิสนธินั้น เกิดขึ้นแต่นามและรูปที่มีในสมัยใกล้ต่อมรณะนั่นเอง เพราะเหตุนั้น เขาจึงไม่พ้นบาปกรรมได้ ก็มีอุปไมยฉันนั้น"

    ร "ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมาให้ข้าพเจ้าฟังอีก"

    ถ "เหมือนอย่างว่า บุรุษคนหนึ่งขอนางทาริกาที่ยังเด็กอยู่แล้ว หมั้นไว้แล้วหลีกไปเสีย, ภายหลังนางทาริกานั้นโตเป็นสาวขึ้น, แต่นั้นบุรุษอื่นก็มาหมั้นแล้วกระทำววาหมงคลเสีย, บุรุษคนที่ขอไว้เดิมนั้นมา แล้วพูดว่า 'ก็เหตุไฉนท่านจึงนำเอาภริยาของเราไป,' บุรุษนั้นจึงพูดว่า 'เราไม่ได้นำเอาภริยาของท่านมา, นางทาริกาที่ยังเด็กเล็กอยู่ยังไม่เป็นสาว และซึ่งท่านได้ขอไว้และได้หมั้นไว้นั้นคนหนึ่ง, นางทาริกาที่โตเป็นสาวขึ้น ข้าพเจ้าได้ขอได้และได้หมั้นไว้นั้นคนหนึ่ง' ฉะนี้, เมื่อชนเหล่านี้นวิวาทกันอยู่ มาในพระราชสำนักของพระองค์ ๆ จะทรงวินิจฉัยอรรถคดีข้อนั้นให้ใคร (ชนะ)"

    ร "วินิจฉัยให้บุรุษเดิม (ชนะ) นะซิ พระผู้เป็นเจ้า"

    ถ "เพราะเหตุไร พระองค์จึงทรงวินิจฉัยอย่างนั้น "

    ร "ถึงบุรุษนั้นจะพูดอย่างนั้น, ก็แต่ว่า นางทาริกานั้นก็โตเป็นสาวขึ้นแต่นางทาริกานั้นนั่นเอง"

    ถ "ข้อนั้นมีอุปมาฉันใด ถึงนามและรูปที่มีในสมัยใกล้ต่อมรณะแผนกหนึ่ง นามและรูปในปฏิสนธิแผนกหนึ่ง, ก็แต่ว่า นามและรูปในปฏิสนธินั้น เกิดแต่นามและรูปที่มีในสมัยใกล้ต่อมรณะนั่นเอง, เพราะเหตุนั้น เขาจึงไม่พ้นจากบาปกรรมได้ ก็มีอุปไมยฉันนั้น"

    ร "ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมาให้ข้าพเจ้าฟังอีก"

    ถ "เหมือนอย่างว่า บุรุษคนหนึ่งซื้อน้ำนมสดแต่มือนายโคบาลแล้ว ฝากไว้ในมือนายโคบาลแล้วหลีกไปเสีย ด้วยคิดว่า 'ในวันรุ่งขึ้นเราจักไปเอา' ฉะนี้, ในเวลาอื่น นมสดนั้นก็แปรเป็นนมส้มไปเสีย บุรุษนั้นมาแล้วกล่าวว่า 'ท่านจงให้นมสดนั้นแก่เรา' ฉะนี้ นายโคบาลนั้นก็ให้นมส้ม, บุรุษนั้นกล่าวว่า 'เราไม่ได้ซื้อนมส้มแต่มือท่าน ๆ จงให้นมสดนั้นแก่เรา,' นายโคบาลบอกว่า 'ท่านไม่รู้จัก นมสดนั้นแหละกลายเป็นนมส้ม' ฉะนี้; เมื่อชนเหล่านั้นวิวาทกันอยู่ มาในราชสำนักของพระองค์ ๆ จะทรงวินิจฉัยอรรถคดีข้อนั้นให้ใคร (ชนะ) "

    ร "วินิจฉัยให้นายโคบาล (ชนะ) นะซิ พระผู้เป็นเจ้า"

    ถ "เพราะเหตุไร พระองค์จึงทรงวินิจฉัยอย่างนั้น "

    ร "ถึงบุรุษนั้นจะพูดอย่างนั้น, ก็แต่ว่า นมส้มนั้นเกิดแต่นมสมดนั้นนั่นเอง"

    ถ "ข้อนั้นมีอุปมาฉันใด; ถึงนามและรูปที่มีในสมัยใกล้ต่อมรณะแผนกหนึ่ง นามรูปในปฏิสนธิแผนกหนึ่ง, ก็แต่ว่า นามรูปในปฏิสนธินั้นเกิดแต่นามและรูปที่มีในสมัยใกล้ต่อมรณะนั้นเอง, เพราะเหตุนั้น เขาจึงไม่พ้นจากบาปกรรมได้ ก็มีอุปไมยฉันนั้น"

    ร "พระผู้เป็นเจ้าช่างฉลาดจริง ๆ"


    ....................................................................


    7 ปุนปฏิสนธิคหณปัญหา

    พระราชาตรัสถามว่า "ก็พระผู้เป็นเจ้าจักปฏิสนธิหรือไม่ "

    พระเถรเจ้าทูลตอบว่า "อย่าเลย มหาราช ประโยชน์อะไรของพระองค์ด้วยข้อที่ตรัสถามนั้น, อาตมภาพได้กล่าวไว้ก่อนแล้วมิใช่หรือว่า ถ้าอาตมภาพยังมีอุปาทานอยู่ ก็จักปฏิสนธิ, ถ้าว่าไม่มีอุมาทาน ก็จักไม่ปฏิสนธิ"

    ร "ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมาให้ข้าพเจ้าฟัง"

    ถ "เหมือนอย่างว่า บุรุษคนหนึ่งทำความชอบไว้แก่พระเจ้าแผ่นดิน ๆ ก็ทรงยินดี พระราชทานบำเหน็จแก่บุรุษนั้น ๆ บำเรอตนให้เอิบอิ่มบริบูรณ์ ด้วยกามคุณทั้งห้า เพราะบำเหน็จที่ได้รับพระราชทานนั้น, ถ้าว่าบุรุษนั้นบอกแก่ชนว่า 'พระเจ้าแผ่นดินไม่ทรงตอบแทนแก่เราสักนิดเดียว' ฉะนี้, บุรุษนั้นจะชื่อว่าทำถูกหรือไม่ "

    ร "ไม่ถูกเลย พระผู้เป็นเจ้า"

    ถ "ข้อนั้นมีอุปมาฉันใด; ประโยชน์อะไร ของพระองค์ด้วยข้อที่ตรัสถามนั้น, อาตมภาพได้กล่าวไว้ก่อนแล้วมิใช่หรือว่า ถ้าว่าอาตมภาพยังมีอุปาทานอยู่ ก็จักปฏิสนธิ, ถ้าว่าไม่มีอุปาทาน ก็จักไม่ปฏิสนธิ ก็มีอุปไมยฉันนั้น"

    ร "พระผู้เป็นเจ้าช่างฉลาดจริง ๆ"

    ..............................................................


    8 นามรูปปัญหา

    พระราชาตรัสถามว่า "ข้อที่พระผู้เป็นเจ้ากล่าวว่า 'นามและรูป' ดังนี้นั้น, อะไรเป็นนาม อะไรเป็นรูป "

    พระเถรเจ้าทูลตอบวง่า "สิ่งใดหยาบ สิ่งนั้นเป็นรูป, ธรรมทั้งหลาย คือ จิตและอารมณ์ที่เกิดกับจิตอันใดซึ่งเป็นของละเอียด สิ่งนั้นเป็นนาม"

    ร "เพราะเหตุไร นามอย่างเดียวก็ไม่ปฏิสนธิ หรือรูปอย่างเดียว ก็ไม่ปฏิสนธิ"

    ถ "เพราะธรรมเหล่านั้น อาศัยกันและกัน เกิดขึ้นด้วยกัน"

    ร "ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมาให้ข้าพเจ้าฟัง"

    ถ "เหมือนอย่างว่า ถ้ากลละของแม่ไก่ไม่มี ฟองของแม่ไก่ ก็ไม่มี, สิ่งใดเป็นกลละ สิ่งใดเป็นฟอง แม้สิ่งทั้งสองนั้นอาศัยกันและกัน เกิดขึ้นด้วยกัน ข้อนั้นฉันใด, ถ้าว่า ในนามและรูปนั้น นามไม่มี แม้รูปก็ไม่มี ฉันนั้น, สิ่งใดเป็นนาม สิ่งใดเป็นรูป สิ่งทั้งสองนั้น อาศัยกันและกัน เกิดขึ้นด้วยกัน ข้อนี้ได้เป็นมาแล้ว สิ้นกาลยืดยาว"

    ร "พระผู้เป็นเจ้าช่างฉลาดจริง ๆ"


    ............................................................

    9 ทีฆมัทธาปัญหา

    พระราชาตรัสถามว่า "ข้อที่พระผู้เป็นเจ้ากล่าวว่า 'กาลไกลอันยืดยาว' ฉะนี้นั้น, อะไรชื่อว่ากาลไกลนั้น "

    พระเถรเจ้าทูลตอบว่า "กาลไกลที่เป็นอดีตอย่างหนึ่ง, กาลไกลที่เป็นอนาคตอย่างหนึ่ง, กาลไกลที่เป็นปัจจุบันอย่างหนึ่ง"

    ร "กาลไกลทั้งหมดนั้น มีหรือพระผู้เป็นเจ้า"

    ถ "บางอย่างมี บางอย่างไม่มี"

    ถ "สังขารทั้งหลายใด ที่เป็นอดีตล่วงไปแล้ว ดับไปแล้ว แปรไปแล้ว กาลไกลนั้นไม่มี, ธรรมทั้งหลายใด ที่เป็นวิบาก และธรรมที่มีวิบากเป็นธรรมดา และธรรมที่ให้ปฏิสนธิในที่อื่น กาลไกลนั้นมีอยู่ สัตว์ทั้งหลายใด ทำกาลกิริยาแล้ว เกิดในที่อื่น กาลไกลนั้นมีอยู่, ส่วนสัตว์ทั้งหลายใด ปรินิพพานแล้ว กาลไกลนั้นไม่มี เพราะว่ากาลไกลนั้น ดับเสียแล้ว"

    ร "พระผู้เป็นเจ้าช่างฉลาดจริง ๆ"


    ........................................................


    ข้อมูลจาก baanjomyut.com


    ........................................................
    แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย khonsurin; 15-08-2009 at 03:20.
    *********************************


    อิสระ เสรี เสมอภาค




    *********************************

Tags for this Thread

กฎการส่งข้อความ

  • You may not post new threads
  • You may not post replies
  • You may not post attachments
  • You may not edit your posts
  •