นอนหงาย

โดยปกติแล้วคนทั่วไปนิยมนอนหงาย ถือได้ว่าเป็นท่านอนมาตรฐาน เวลานอนหงายโดยไม่หนุนหมอนหรือใช้หมอนต่ำ ต้นคอจะอยู่ในแนวเดียวกันกับลำตัว ไม่ปวดคอ แต่ถ้าหนุนหมอนสักสองสามใบ คอจะก้มโน้มมาข้างหน้า ทำให้เกิดอาการปวดคอได้

ผู้มีอาการดังต่อไปนี้ควรหลีกเลี่ยงการนอนในท่านอนหงายหรือแก้ไขตามคำแนะนำ ดังนี้


ผู้ป่วยโรคปอด ไม่เหมาะที่จะนอนท่านอนหงาย

เพราะทำให้กล้ามเนื้อกระบังลมที่คั่นระหว่างช่องอกและช่องท้องกดทับเนื้อปอดเป็นเหตุให้หายใจลำบาก แต่สามารถแก้ไขได้ โดยการยกส่วนบนของร่างกายให้สูงขึ้นในลักษณะครึ่งนอนครึ่งนั่ง อาจจะใช้หมอน 2 - 3 ใบวางหนุนรองหลังไว้หรือยกพื้นเตียงส่วนบนให้สูงขึ้นพอประมาณ

ผู้ป่วยโรคหัวใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะหัวใจล้มเหลวหรือหัวใจวาย

จะมีอาการนอนราบไม่ได้ ทั้งนี้เนื่องจากไม่สามารถสูบฉีดโลหิตออกจากห้องหัวใจได้ก่อให้เกิดอาการหอบและหายใจติดขัด ผู้ป่วยโรคหัวใจจึงมักต้องลุกขึ้นนั่งหรือยืนตอนกลางคืนเพื่อที่จะหายใจได้สะดวกมากยิ่งขึ้น


ผู้ที่มีอาการปวดหลัง การนอนหงายในท่าราบจะทำให้อาการปวดรุนแรงขึ้น

เวลานอนควรใช้หมอนหนุนรองใต้โคนขาหรือวางพาดขาทั้งสองไว้บนเตียงนอน รวมทั้งควรออกกำลังกายเป็นประจำวันละ 10 - 15 นาที เพื่อช่วยบริหารกล้ามเนื้อหลังลดการเกร็งตัวและบรรเทาอาการปวดหลังได้เป็นอย่างดี
นอนตะแคง


ท่านอนตะแคงซ้าย เป็นท่านอนที่ช่วยลดอาการปวดหลังได้พอสมควร

แต่ควรกอดหมอนข้างและพาดขาไว้ ข้อเสียคือทำให้หัวใจซึ่งอยู่ด้านซ้ายทำงานลำบากขึ้น และอาหารในกระเพาะที่ยังย่อยไม่หมดตั้งแต่ก่อนเข้านอนจะคั่งค้างอยู่ในกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดลมจุกเสียดที่บริเวณลิ้นปี่ และอาจรู้สึกชาที่ขาซ้ายหากนอนทับเป็นเวลานาน หรือถ้าหนุนหมอนต่ำเกินไปจะทำให้ปวดต้นคอได้ แก้ไขโดยใช้หมอนสี่เหลี่ยมที่มีความสูงเท่าความกว้างของบ่าซ้ายหนุนนอน

ท่านอนตะแคงขวา เป็นท่านอนที่ดีที่สุด

ถ้าเทียบกับการนอนหลับในท่าอื่นๆ เพราะหัวใจเต้นสะดวกและอาหารจากกระเพาะถูกบีบลงลำไส้เล็กได้ดี ทำให้ไม่คั่งค้างอยู่ในกระเพาะอาหารนานเกินไป และเป็นท่านอนที่ช่วยบรรเทาอาการปวดหลังได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ ท่านอนตะแคงทั้งตะแคงซ้ายและขวาช่วยลดเสียงกรนได้ ในผู้ที่กรนจากการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบน เช่น ลิ้นไก่ยาว โคนลิ้นหนา ต่อมทอนซิลโตมาก หรือโพรงจมูกอุดตัน


นอกจากคุณจะเลือกนอนให้ถูกท่าเพื่อสุขภาพแล้ว

ต้องรู้จักการนอนหลับลึกหลับสนิท ซึ่งช่วยให้ร่างกายได้พักผ่อนอย่างเต็มที่และถือเป็นวิธีส่งเสริม "ภูมิชีวิต" อีกทางหนึ่ง