การจัดการศึกษามีความสำคัญยิ่งในการพัฒนาเด็กเยาวชนและประชาชน ให้เป็นผู้มีคุณภาพ สามารถพัฒนาชีวิต เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของตนเอง ทั้งครอบครัวและบ้านเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพให้เด็ก เยาวชน และประชาชนให้มีความรู้พื้นฐานเพียงพอ รู้จักคิด รู้จักใฝ่หาความรู้ มีประสบการณ์ด้วยตนเอง รู้จักปรับตัว แก้ปัญหา รู้จักพัฒนา ตลอดจนมีทักษะในการทำงาน มีค่านิยมที่ดีงามเสริมสร้างความสามารถ ความถนัดของแต่ละบุคคลให้เต็มที่ตามศักยภาพ ซึ่งหลักสูตรสถานศึกษาก็เป็นองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งในการจัดการศึกษา และพัฒนาผู้เรียนที่ยั่งยืนสามารถนำความรู้ ทักษะวิชาชีพไปพัฒนาคุณภาพชีวิตให้มั่นคงส่งผลให้มีการพัฒนาชุมชนสังคม ประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าตามลำดับ

ดร.วิเศษ ภูมิชัย ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) อุบลราชธานี เขต 4 มองว่า การสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น และการเรียนรู้เพื่อสืบทอดองค์ความรู้จากผู้มีประสบการณ์ในท้องถิ่นถือว่า เป็นการบูรณาการจัดการเรียนรู้ทั้งในและนอกสถานศึกษา โดยความสำคัญที่ทางโรงเรียนได้ศึกษาค้นคว้าและพัฒนาเป็นหลักสูตรเพื่อจัดการ เรียนการสอน ซึ่งสอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชน รวมทั้งการนำความรู้ ทักษะ ผลงานที่ได้ไปพัฒนาปรับปรุงให้มีความเหมาะสม สร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์ สามารถจำหน่ายสร้างรายได้ในครอบครัวและชุมชน เป็นแบบอย่างในการประกอบอาชีพและสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างพอเพียง

ที่ โรงเรียนบ้านท่าข้องเหล็ก สพท.อุบลราชธานี เขต 4 ก็เป็นโรงเรียนต้นแบบของการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น จนสามารถสร้างผลิตผล สร้างองค์ความรู้ สร้างงาน สร้างรายได้ในชุมชนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่ยั่งยืนมายาวนาน ทั้งนี้ โดยการประยุกต์ใช้ความรู้ และภูมิปัญญาชาวบ้านมาจัดทำเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียน โดยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ที่จะถ่ายทอดความรู้สู่เยาวชนคนรุ่นใหม่ให้มีทักษะการประกอบอาชีพของ บรรพบุรุษ คือ งานหัตถกรรมท้องถิ่น การปั้นเตาหุงต้ม การปั้นหม้อ การปั้นภาชนะเครื่องใช้ในครัวเรือน โดยนำทรัพยากรที่มีอยู่ คือ “ดินเหนียว” นำมาผลิตเป็นเตาหุงต้ม ซึ่งได้รับความร่วมมือจากวิทยากรภายนอก (ช่างปั้นเตา) มาสอนนักเรียน ให้มีความรู้ ความเข้าใจ มีทักษะ การปั้นเตา การปั้นภาชนะต่าง ๆ ได้ จนมีผลิตภัณฑ์จำหน่ายสร้างรายได้ ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่น ซึ่งหมู่บ้านแห่งนี้มีผลผลิตที่มีชื่อเสียงด้านหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผา และแหล่งจำหน่ายเตาหุงต้มพื้นบ้าน เครื่องใช้ในครัวเรือน และผลิตภัณฑ์สำหรับงานเกษตรที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

นางอรุณี สาวันดี ครูโรงเรียนบ้านท่าข้องเหล็ก ผู้รับผิดชอบกิจกรรมการเรียนการสอน กล่าวว่า ชุมชนบ้านช่างหม้อ-ท่าข้องเหล็ก มีการสืบสานงานหัตถกรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน สร้างงาน สร้างรายได้ และพัฒนาเป็นหลักสูตรสถานศึกษาถ่ายทอดความรู้สู่ผู้เรียนสอดคล้องกับวิถี ชีวิตของประชาชนสองฝั่งแม่น้ำมูล ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพ และเป็นที่รู้จักกล่าวขานถึงชุมชนแห่งนี้ ว่า ดินแดนที่ปั้นดิน...ให้เป็นเงิน แห่งหนึ่งในประเทศไทย ที่สำคัญคือวัสดุในการผลิต หรือสำหรับปั้นเตาหุงต้มดั้งเดิมของชาวบ้าน คือ ดินเหนียวจังหวัดอุบลราชธานี มีแหล่งดินเหนียวสำหรับงานปั้น คือ พื้นที่บริเวณสองฝั่งแม่น้ำมูล มีลักษณะพิเศษเป็นดินที่มีความเหนียวละเอียดอ่อน เมื่อนำไปผสมกับแกลบเผาแล้ว สามารถปั้นเป็นรูปทรงได้ง่าย

ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณสองฝั่งแม่น้ำมูลได้มีการสืบสานงานปั้นมาแต่โบราณ โดยการปั้นหม้อ ปั้นเตา หากกล่าวถึงผลิตภัณฑ์หัตถกรรมท้องถิ่น ต้องฝีมือบ้านช่างหม้อ และต่อมาได้ขยายผลไปสู่ชุมชนใกล้เคียง คือ บ้านท่าข้องเหล็ก นอกจากอาชีพปั้นหม้อ ปั้นเตา และภาชนะเครื่องใช้ในครัวเรือนแล้ว ดินเหนียวบริเวณดังกล่าว ยังสามารถนำไปปั้นอิฐที่มีคุณภาพอีกด้วย ซึ่งจะพบเห็นหมู่บ้านริมสองฝั่งแม่น้ำมูลมีงานหัตถกรรมมากมาย เช่น บ้านท่าไห บ้านหนองกินเพล บ้านท่าลาด บ้านหาดสวนยา และบ้านปากห้วยวังนอง

นายสมเกียรติ วงศ์คำจันทร์ วิทยากรท้องถิ่น กล่าวถึงขั้นตอนและทักษะการเรียนรู้ ว่า วิธีการปั้นเตา คืออุปกรณ์การหุงต้มที่ใช้ถ่านในการประกอบอาหารของชาวบ้าน ในขั้นแรกต้องจัดหาและทดสอบวัสดุ คือ ดินเหนียว ซึ่งมีอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำมูล มีลักษณะละเอียด ค่อนข้างเหลว สีเทา เมื่อนำไปผสมกับแกลบเผาสีดำ หรือสีขาว จะทำให้ความเหลวของดินลดลงเป็นดินเหนียว เกือบจะ แข็งตัว และก่อนจะปั้นเตาขึ้นรูปตามแบบ จะต้องนวดดินเหลวผสมแกลบให้พอเหมาะ แล้วปั้นเป็น หุ่นเตาตามขนาดที่ต้องการ นำไปตากแดดประมาณ 20-24 ชั่วโมง เมื่อหุ่นที่ปั้นแข็งตัวแล้วจึงนำมาตกแต่งให้เป็นเตาที่สวยงามตามขนาด แล้วนำไปเผาให้ความร้อนโดยเผาด้วยแกลบประมาณ 2-3 วัน จากนั้นนำออกมาประกอบใส่ถังสังกะสี มีหูหิ้ว ใส่ตะแกรงรองถ่าน (ลิ้นเตา) เสร็จแล้วนำออกมาจำหน่าย ทั้งขายส่ง และปลีก ปัจจุบันราคาขายส่ง ใบละ 35 บาท และตามร้านค้าทั่วไป ใบละ 60 บาท การปั้นเตา 1 คน ผลิตได้ประมาณ 100-120 ใบ สร้างรายได้ในครอบครัวและช่างปั้นเตา เดือนละ 6,000-7,000 บาท นับเป็นผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่สร้างรายได้และสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ ยั่งยืน

ว่าที่ ร.ท.คมกริช ศรีสวัสดิ์ ผอ.รร.บ้านท่าข้องเหล็ก บอกว่า เมื่อปี 2530 ทางโรงเรียนได้ประสานงานกับหน่วยงานราชการ เพื่อนำโครงการและกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน มาปรับปรุงใช้ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น คือ อาชีพดั้งเดิมของชาวบ้านในสองริมฝั่งแม่น้ำมูล การปั้นเตา การปั้นหม้อ การปั้นอิฐ และงานปั้นภาชนะเครื่องใช้ในครัวเรือน เช่น แจกัน กระถางต้นไม้ เครื่องประดับตกแต่ง สวนเกษตร เริ่มจากการศึกษาค้นคว้าภูมิปัญญาชาวบ้าน มาจัดทำเป็นหลักสูตรในสถานศึกษา และจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในกลุ่มการงานพื้นฐานอาชีพ

“ด้วยความร่วมมือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วิทยากรในชุมชนที่มีความรู้ ความสามารถ ร่วมถ่ายทอดวิชาความรู้การปั้นเตา การปั้นหม้อ และทักษะการทำงานจัดกิจกรรมส่งเสริมสนับสนุนให้ทุกคนมีส่วนร่วม และรวมกลุ่มกันเป็นองค์กรมีพลังในการพัฒนาคน พัฒนาอาชีพ พัฒนาท้องถิ่นอย่างจริงจัง โดยทางโรงเรียนได้ยึดกลุ่มเป้าหมายและพื้นที่สำคัญคือ หมู่บ้านที่อยู่ริมแม่น้ำมูล น้ำท่วมบ่อย ทำนาไม่ได้ ส่วนใหญ่ประชาชนประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป ฐานะยากจน ผลิตภัณฑ์จากชุมชนบ้านท่าข้องเหล็กจึงเป็นความโดดเด่นที่ได้สร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง” ผอ.รร.บ้านท่าข้องเหล็ก กล่าว.

ปัญญา แพงเหล่า

นสพ.เดลินิวส์