หัวลำโพง



หัวลำโพง


หัวลำโพง


หัวลำโพง



สถานีรถไฟกรุงเทพฯ สร้างขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ.2453 ชาวบ้านเรียกกันว่า "หัวลำโพง" ตามชื่อคลองและถนนในบริเวณใกล้เคียง คำว่า "หัวลำโพง" นี้บ้างก็ว่ามาจากชื่อทุ่งกว้างบริเวณนั้น ซึ่งใช้เป็นที่เลี้ยงวัวของแขก ชาวบ้านเห็นฝูงวัววิ่งอย่างคึกคะนองอยู่กลางทุ่งจึงเรียก "ทุ่งวัวลำพอง" และคลาดเคลื่อนมาเป็น "หัวลำโพง" ในภายหลัง บ้างก็สันนิษฐานว่าเป็นชื่อของต้นไม้ชนิดหนึ่งชื่อ "ต้นลำโพง" ซึ่งเคยมีมากในบริเวณนี้

หากอ่านหนังสือที่เขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 จะพบคำว่า "หัวลำโพง" และ "วัวลำพอง" ใช้ปะปนกันโดยไม่รู้ใครผิดใครถูก แต่มีบันทึกฉบับหนึ่งเขียนเมื่อ ร.ศ.122 หรือ พ.ศ.2446 มีข้อความที่พอจะถือเป็นหลักฐานได้ดังนี้

"พระราชกระแสพระพุทธเจ้าหลวง ทรงท้วงเรื่องเรียก "วัวลำพอง" มีในหนังสือกระทรวงโยธา (คมนาคม) กราบบังคมทูลเปิดสะพานเฉลิมที่ 50 ข้ามคลองหัวลำโพงปลายถนนสุระวงศ์ ปี ร.ศ.122 (คำว่า "วัวลำพอง" นั้น เป็นชื่อกรมเมือง หลงมาจากคำฝรั่งเรียกหัวลำโพงไม่ชัด)"

บันทึกฉบับนี้ระบุว่า "หัวลำโพง" ไม่ได้มาจากคำว่า "วัวลำพอง" อย่างที่เข้าใจกัน แต่จะมีที่มาอย่างไรนั้นยังไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน

ปัจจุบันย่านหัวลำโพงไม่มีทุ่งกว้างสำหรับเลี้ยงวัว จะมีก็แต่สถานีรถไฟขนาดใหญ่อายุยืนยาวเกือบ 100 ปี ที่ได้รับการพัฒนาคุณภาพให้ได้มาตรฐาน เพื่อรองรับผู้คนจากทุกสารทิศทั่วประเทศ

“สถานีรถไฟกรุงเทพ” หรือเรียกกันทั่วไปว่า “หัวลำโพง” เริ่มก่อสร้างในปลายสมัยรัชกาลที่ 5 คือในปี พ.ศ.2453 การก่อสร้างแล้วเสร็จ และเปิดใช้บริการอย่างเป็นทางการโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯ ทรงกระทำพิธีกดปุ่ม สัญญาณไฟฟ้าให้รถไฟขบวนแรกเดินเข้าสู่


สถานีกรุงเทพ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ.2459


หัวลำโพง


“สถานีรถไฟกรุงเทพ” สร้างอยู่ในพื้นที่ 120 ไร่เศษ อยู่ห่างจากสถานีเดิมไปทางทิศใต้ ประมาณ 500 เมตร ตั้งอยู่ในท้องที่ แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ มีอาณาเขต

ทิศเหนือ จรดคลองมหานาค
ทิศใต้ จรดถนนพระราม 4
ทิศตะวันออก จรดถนนรองเมือง
ทิศใต้ จรดคลองผดุงกรุงเกษม
สำหรับที่ตั้งของสถานีกรุงเทพเดิมซึ่งอ
ยู่บริเวณที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพระราชพิธีเริ่มการก่อสร้าง และเปิดเดินรถไฟหลวงนั้น หลังจากได้ก่อสร้างสถานีกรุงเทพหลังปัจจุบันแล้วจึงรื้อถอนออกไป ต่อมาผู้ปฏิบัติงานรถไฟได้ร่วมกัน สละทรัพย์สร้างเป็นอนุสรณ์ปฐมฤกษ์รถไฟหลวงขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2533 เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นอนุสรณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์แก่อนุชนรุ่นหลังสืบต่อไป

“สถานีกรุงเทพ” มีแบบก่อสร้างเป็นรูปโดมสไตล์อิตาเลียนผสมผสานกับศิลปะยุคเรอเนสซองมีลักษณะคล้ายกับ สถานีรถไฟ เมืองแฟรงค์เฟิร์ตในประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน อีกทั้งวัสดุในการก่อสร้างก็เป็นวัสดุสำเร็จรูปจากเยอรมันนี เช่นกัน ลวดลายต่างๆที่ประดับไว้เป็นศิลปะที่มีความวิจิตรสวยงามมาก บันไดและเสาอาคารบริเวณทางขึ้นที่ทำการกองโดยสาร หรือโรงแรม-ราชธานีเดิมเป็นหินอ่อน โดยเฉพาะเพดานเป็นไม้สักสลักลายนูน ซึ่งหาดูได้ยาก จุดเด่นของสถานีกรุงเทพอีกอย่างหนึ่งคือ กระจกสีที่ ช่องระบายอากาศ ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ซึ่งติดตั้งไว้อย่างผสมผสานกลมกลืนกับตัวอาคารเช่นเดียวกับนาฬิกาบอกเวลาที่มีอายุเก่าแก่ เท่าๆกับตัวอาคารสถานี โดยติดตั้งไว้ที่กึ่งกลางยอดโดมสถานี เป็นนาฬิกาที่สั่งทำพิเศษเฉพาะไม่ระบุชื่อบริษัทผู้ผลิตแสดงให้เห็น เหมือนนาฬิกาอื่นๆ นาฬิกาเรือนนี้มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 160 เซนติเมตร ควบคุมด้วยไฟฟ้าระบบดี.ซี.จากห้องชุมสายโทรศัพท์กรุงเทพ เป็นเครื่องบอกเวลาแก่ผู้สัญจรผ่านไป-มา และผู้ใช้บริการที่สถานีกรุงเทพจนถึงปัจจุบันนี้


หัวลำโพง


บริเวณด้านหน้าสถานีกรุงเทพมีสวนหย่อมและน้ำพุสำหรับประชาชน โดยข้าราชการรถไฟได้รวบรวมทุนทรัพย์เป็น มูลค่า 9,150.-บาท จัดสร้างอนุสาวรีย์น้อมเกล้าฯอุทิศส่วนกุศลถวายแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง อนุสาวรีย์ที่ว่านี้เป็นรูป “ช้างสามเศียร” มีพระบรมฉายาลักษณ์ด้านข้างแบบลายนูนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประดิษฐานอยู่ เดิม สถานีกรุงเทพใช้เป็นที่รับ-ส่ง ทั้งผู้โดยสารและสินค้า โดยถ้าเรายืนอยู่บริเวณด้านหน้าสถานีและหันหน้าเข้าสู่สถานี ภายใต้พื้นที่ หลังคารูปครึ่งวงกลมจะเป็นส่วนให้บริการแก่ผู้โดยสาร พื้นที่ด้านขวามือเป็นที่ตั้งของโรงแรมราชธานี ซึ่งปัจจุบันนี้เป็นที่ทำการ กองโดยสาร และด้านซ้ายมือจะเป็นที่ทำการรับ-ส่งสินค้า ซึ่งปัจจุบันเป็นจุดจอดรถแท๊กซี่ โดยในส่วนพื้นที่บริการด้านสินค้านี้

การรถไฟฯได้พิจารณาให้ย้ายไปอยู่ที่ย่านสินค้าพหลโยธินตั้งแต่ปี พ.ศ.2503 เนื่องจากมีการขยายตัวทั้งด้านการโดยสารและสินค้า ประกอบกับการจราจรบริเวณหน้าสถานีเริ่มมีปัญหา อีกทั้งเพื่อปรับปรุงย่านสถานีกรุงเทพเสียใหม่ให้สามารถรองรับการโดยสาร ที่มีความหนาแน่นเพิ่มขึ้นทุกๆปี

สถานีกรุงเทพได้รับการปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับการสภาพการโดยสารตลอดมา เป็นต้นว่าการขยายความยาว ของชานชาลาหรือก่อสร้างชานชาลาและหลังคาคลุมชานชาลาเพิ่มเติม ปรับปรุงห้องจำหน่ายตั๋ว โดยแยกเป็นห้องจำหน่ายตั๋ว ประจำวันและห้องจำหน่ายตั๋วล่วงหน้า จัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆแก่ผู้โดยสารและผู้ที่มารับส่ง เช่น ร้านอาหาร/เครื่องดื่ม

ร้านค้าเบ็ดเตล็ด ร้านขายหนังสือพิมพ์ ที่ทำการไปรษณีย์ เป็นต้น นอกจากนี้แล้วสถานีกรุงเทพยังเป็นสถานที่รณรงค์ต่อต้านภัยจาก การสูบบุหรี่โดยจัดให้เป็นเขตปลอดบุหรี่เพื่อสุขภาพของผู้โดยสารของทุกคนส่วนรวมในปี 2541 สถานีกรุงเทพได้รับการปรับปรุง ในส่วนพื้นที่รองรับผู้โดยสารหรือผู้เข้ามาใช้บริการอื่นๆ แบบที่เรียกว่า“พลิกโฉม” โดยมีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงภาพลักษณ์ของรถไฟ ไทยให้ตอบรับกับปีอะเมซิ่งไทยแลนด์ และรองรับการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 6 – 20 ธันวาคม พ.ศ.2541 โดยการรถไฟฯได้คัดเลือกและแต่งตั้งบริษัทไทยสินเอ็กซ์เพรส จำกัดซึ่งมีประสบการณ์ในการบูรณะ และพัฒนาอาคารอันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์หลายแห่งมาแล้ว ให้เป็นผู้ดำเนินการ ทั้งนี้มีเงื่อนไขว่าต้องอนุรักษ์และพัฒนา อาคารสถานีกรุงเทพให้อยู่ในสภาพเดิม เนื่องจากเป็นอาคารที่อยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานที่มีคุณค่าแก่การอนุรักษ์


หัวลำโพง



ในการปรับปรุงอาคารสถานีกรุงเทพจะประกอบด้วยการปรับปรุงพื้นที่ 2 ข้างในห้องโถงอาคารให้เป็นร้านขายอาหาร และร้านค้า โดยมีชั้นลอยเพื่อเป็นที่นั่งคอยของผู้โดยสารเป็นการเพิ่มบริการให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบายในการนั่งรอ และ สามารถเลือกซื้อ อาหาร ตลอดจนของใช้จำเป็นอื่นๆได้ตามความต้องการโดยมีร้านค้าหลากหลาย อาทิ ร้านอาหาร, ขนม, เครื่องดื่ม, ผลไม้ ขนมปังและเบเกอรี่, ไอศกรีม, อาหารจานด่วน, อุปกรณ์การเดินทาง, หนังสือ และร้านขายยา เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีบริษัท ที่ให้บริการด้านการท่องเที่ยว,บริษัทรับจองโรงแรมและตั๋วเครื่องบิน,บริการแลกเปลี่ยนเงินตรา ,ตู้ เอ.ที.เอ็ม. และห้องละหมาด เป็นต้นสำหรับห้องจำหน่ายตั๋วประจำวันก็ได้จัดสร้างขึ้นใหม่ โดยหันหน้ารับผู้โดยสารที่เดินทางเข้ามาในสถานีบนชั้น 2 ของห้องขายตั๋วทำเป็นพื้นที่ทำงานของพนักงาน เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและสะดวกในการปฏิบัติงาน ส่วนที่เป็นห้องโถงจะคง สภาพเดิมไว้ เพื่อให้สามารถรองรับผู้โดยสารจำนวนมากๆได้ ในส่วนชานชาลาได้เพิ่มเติมร้านขายของและจัดเป็นที่พักสำหรับ ผู้โดยสารที่มารอการเดินทางด้วย ทางด้านข้างของอาคารสถานีทิศตะวันตก หรือคลองผดุงกรุงเกษม ก่อสร้างเป็นหลังคาคลุมใหม่เป็นรูปโค้งครึ่งวงกลมครอบคลุมพื้นที่ 1,000 ตารางเมตร เป็นพื้นที่สำหรับรองรับผู้โดยสารขาเข้าและขาออกให้ได้รับ ความสะดวกมากขึ้นกว่าเดิมการปรับปรุงเพื่อพลิกโฉมของสถานีกรุงเทพใหม่ที่กล่าวมานี้แล้วเสร็จและจัดพิธีเปิดอย่างเป็น ทางการเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2541

“สถานีกรุงเทพ” เป็นสถานีเก่าแก่คู่บ้านคู่เมือง ถ้านับอายุจนถึงปัจจุบัน(พ.ศ. 2544)ก็มีอายุถึง 85 ปีแล้ว ปัจจุบัน เป็นศูนย์กลางการขนส่งผู้โดยสารทางรถไฟ ในแต่ละวันจะมีขบวนรถเข้า-ออก ประมาณ 200 ขบวน และมีผู้โดยสารเดินทางเข้า และออกที่สถานีนี้นับหมื่นคนเลยทีเดียว โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดนักขัตฤกษ์สำคัญๆ เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ เข้าพรรษา หรือตรุษจีน จะมีผู้คนหลั่งไหลมาใช้บริการที่สถานีกรุงเทพนี้นับแสนคนจนสถานที่อันกว้างขวางโอ่โถงของสถานีแห่งนี้ดูคับแคบลงไปเลยทีเดียว นอกจากความเก่าแก่แล้ว “สถานีกรุงเทพ” ยังเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญยิ่งทางประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม ศิลปกรรม และการ คมนาคมขนส่งสมควรยิ่งที่จะต้องอนุรักษ์ไว้ให้เป็นมรดกของชาติและอนุชนรุ่นหลังสืบไป.


หัวลำโพง



ที่มาจาก การรถไฟแห่งประเทศไทย