สดร. ชวนชมปรากฏการณ์วงแหวนของดาวเสาร์หาย



สดร. ชวนชมปรากฏการณ์วงแหวนของดาวเสาร์หาย



รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ในระหว่างวันที่ 3-4 กันยายนนี้ จะเกิดปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เรียกว่าวงแหวนของดาวเสาร์หาย โดยเกิดจากการโคจรของดาวเสาร์เคลื่อนที่มาในแนวระนาบเดียวกับสายตาของเราที่มองจากโลกพอดี โดยดาวเสาร์จะเอียงจนวงแหวนทำมุมกับโลกแค่ 0 องศา รวมทั้ง วงแหวนดาวเสาร์มีความหนาน้อยมากเพียง 1.5 กิโลเมตร ทำให้เรามองเห็นวงแหวน เป็นเพียงเส้นบาง ๆ จากที่เคยมองเห็นเป็นวงแหวนสว่าง และมีความกว้างพอสมควรรอบดาวเสาร์ อีกทั้งเส้นบาง ๆ ซึ่งเกิดจากเงาของวงแหวนนั้นได้แบ่งครึ่งดาวเสาร์ออกเป็น 2 ส่วน นักดาราศาสตร์เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า "จุดตัดระนาบวงแหวน" (ring plane crossing) ทำให้ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเปรียบเหมือนวงแหวนหายไป ทั้งที่วงแหวนยังคงอยู่ ทั้งนี้ ปรากฏการณ์วงแหวนหายนี้จะเกิดขึ้นทุก ๆ ครึ่งรอบของการโคจรรอบดวงอาทิตย์ ทุก 14-15 ปี ซึ่งตรงกับปีนี้พอดี อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้เป็นช่วงฤดูฝนมีเมฆมาก อาจจะสังเกตได้ยาก โดยบริเวณที่เห็นได้ชัดต้องเป็นบริเวณที่ไม่มีเมฆ เห็นได้ทั่วทุกพื้นที่ของประเทศในช่วงเวลาหลังจากดวงอาทิตย์ตก ทางด้านทิศตะวันออก ของวันที่ 3-4 กันยายนนี้ โดยผู้ที่รอชมปรากฏการณ์ไม่สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า ต้องดูผ่านกล้องโทรทรรศน์ ไม่เช่นนั้นอาจเกิดอันตรายกับสายตาได้

อย่างไรก็ตาม หากใครพลาดชมปรากฏการณ์วงแหวนดาวเสาร์หายในครั้งนี้ จะสามารถสังเกตเห็นได้อีกครั้งในวันที่ 23 มีนาคม 2568 โดยดาวเสาร์จะอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ 10 องศา




โลกวันนี้ 4 กันยายน 2552