รางจืด
รางจืด

รางจืดมีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Thunbergia laurifolia Linn. และมีชื่อไทยอีกหลายชื่อ ได้แก่ กำลังช้างเผือก หนามแน่ ขอบชะนาง รางเย็น เขาเขียวเถา เครือเขาเขียว ยาเขียว ดุเหว่า ทิดพุด น้ำนอง แอดแอ ย้ำแย้
ลักษณะเป็นไม้เถาขนาดกลาง ลำต้นเลื้อยพันกับต้นไม้อื่น โดยอาศัยลำต้นพันรัดไม่มีมือจับ ใบเป็นใบเดี่ยวแยกจากลำต้นเป็นคู่ตรงบริเวณข้อ มีสีเขียวเข้ม รูปยาวรี หรือรูปไข่ ดอก สีม่วงอมฟ้าออกเป็นช่อตามซอกใบ กลีบของดอกมีลักษณะเป็นถ้วยรูปจาน ผลรูปทรงกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางยาว 1 เซนติเมตร เมื่อแก่แตกเป็น 2 ซีกจากส่วนบน
รางจืดที่พบในประเทศไทยมี 3 สายพันธุ์ คือ รางจืดดอกแดง รางจืดดอกขาว และรางจืดดอกม่วง แต่ที่นิยมใช้และมีสารสำคัญทางยาอยู่มากที่สุดเป็นรางจืดดอกม่วง


รางจืดปลูกได้ทั่วไป ชอบดินร่วนปนทราย ชอบความชุ่มชื้น เป็นไม้ที่ต้องการแสงแดดปานกลาง ไม่ต้องการแดดจัด
การขยายพันธุ์ นิยมวิธีปักชำ หรือใช้เมล็ดแก่ ควรทำห้างปลูกขนาดใหญ่ เพราะรางจืดเป็นไม้เถา เจริญเติบโตรวดเร็ว เก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุ 1 ปีขึ้นไป เพราะมีสารสำคัญทางยาในปริมาณสูง สำหรับการใช้ประโยชน์จากราก ให้เลือกรากที่อายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป
สรรพคุณตามตำรายาไทย รางจืดเป็นยาเย็น ใช้ได้ทั้ง ใบ ราก เถา รากและเถารับประทานแก้ร้อนใน กระหายน้ำ ใบและเถาใช้ปรุงเป็นยาถอนพิษไข้ เป็นยาพอกบาดแผล น้ำร้อนลวก ไฟไหม้ ทำลายพิษยาฆ่าแมลง หรือยาเบื่อ พิษจากดื่มเหล้ามากเกินไป
ภูมิปัญญาอีสาน เล่าสืบทอดกันมาว่า เมื่อจะปรุงอาหารที่เก็บมาจากป่าทุกครั้งให้ใส่ใบและดอกของรางจืดเข้าไปด้วย เพื่อป้องกันพิษที่อาจเกิดจากพืชหรือสัตว์ป่าที่นำมารับประทานการรับประทาน ใบใช้ครั้งละ 10-12 ใบ สำหรับแก้พิษรุนแรง หรือ 4-5 ใบสำหรับแก้ร้อนใน ถอนพิษไข้ ถอนพิษสุราหรือบำรุงร่างกาย ส่วนรากให้ใช้รากสดที่มีอายุ 2 ปีขึ้นไปเพียง 1 ราก โขลกหรือฝนผสมน้ำซาวข้าว เอาแต่น้ำดื่มให้หมดทันทีที่มีอาการ อาจให้ดื่มซ้ำได้อีกใน 1/2-1 ชั่วโมงต่อมา หรืออาจใช้ใบรางจืดแห้ง 300 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร ต้มดื่มน้ำครั้งละ 1 แก้ว ทุก 2 ชั่วโมง หรือนำใบหรือรากมาหั่นฝอย ผึ่งลมให้แห้ง บดเป็นผง บรรจุแคปซูลหรือทำเป็นเม็ดรับประทานครั้งละประมาณ 5 กรัม


งานทดลองทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า เถารางจืดมีสรรพคุณในการต่อต้านอนุมูลอิสระโดยเฉพาะส่วนของใบที่สกัดจากน้ำ ซึ่งสามารถต้านอนุมูลอิสระได้ดีกว่าหญ้าหวาน เห็ดหลินจือ และดอกคำฝอย อาจพูดได้ว่ารางจืดมีความเป็นพิษต่ำมาก นอกจากนั้นยังพบสรรพคุณด้านอื่นๆ ของรางจืดด้วย ได้แก่ ฤทธิ์ต้านพิษยาฆ่าแมลงและสารเคมี

ที่มา : นสพ.ข่าวสดคอลัมส์ น้าชาติรู้ไปโม้ด