กำลังแสดงผล 1 ถึง 3 จากทั้งหมด 3

หัวข้อ: ประวัติและปฏิปทา หลวงปู่เครื่อง สุภัทโท วัดสระกำแพงใหญ่

  1. #1
    ร่วมถ่ายทอดความรู้สู่สังคม สัญลักษณ์ของ บ่าวต้อม
    วันที่สมัคร
    Jan 2009
    ที่อยู่
    คนอำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ
    กระทู้
    347

    ประวัติและปฏิปทา หลวงปู่เครื่อง สุภัทโท วัดสระกำแพงใหญ่

    ประวัติและปฏิปทา

    หลวงปู่เครื่อง สุภัทโท

    วัดสระกำแพงใหญ่ ต.สระกำแพงใหญ่ อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ


    ประวัติและปฏิปทา หลวงปู่เครื่อง สุภัทโท วัดสระกำแพงใหญ่

    ๏ อัตโนประวัติ

    “หลวงปู่เครื่อง สุภัทโท” หรือ “พระมงคลวุฒ” อดีตเจ้าอาวาสวัดสระกำแพงใหญ่ ต.สระกำแพงใหญ่ อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ และอดีตพระเกจิชื่อดัง-พระนักพัฒนาที่ชาวอีสานใต้ต่างให้ความเลื่อมใสศรัทธากันเป็นอย่างดียิ่ง ด้วยความเป็นพระเถระที่มีเมตตาธรรมขั้นสูง เคร่งครัดในพระธรรมวินัย เข้มขลังในวิทยาคมศักดิ์สิทธิ์ด้านเมตตามหานิยม เป็นที่พึ่งพิงทางจิตใจแก่ผู้ประสบทุกข์ร้อนเดือดร้อนทั้งหลาย

    หลวงปู่เครื่อง สุภัทโท มีนามเดิมว่า เครื่อง ประถมบุตร เกิดเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พุทธศักราช 2453 ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 8 ปีจอ ณ บ้านค้อกำแพง (ปัจจุบันคือ บ้านหนองแปน) หมู่ที่ 3 ต.สระกำแพงใหญ่ อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ โยมบิดา-โยมมารดาชื่อ นายสอน และนางยม ประถมบุตร ครอบครัวประกอบอาชีพทำนา ฐานะค่อนข้างยากจน มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด 14 คน ท่านเป็นบุตรคนที่ 4 แต่พี่น้องเสียชีวิตไปในวัยเยาว์ 6 คน คงเหลืออยู่เพียง 8 คน ซึ่งมีรายชื่อตามลำดับดังนี้

    1. หลวงตาสุ สุปญโญ
    2. นายเถ้า ประถมบุตร
    3. หลวงปู่เครื่อง สุภัทโท
    4. นายนิล ประถมบุตร
    5. นายสา ประถมบุตร
    6. นางบุญจันทร์ ชูกำแพง
    7. นายบัวทอง ประถมบุตร (สันทัสถ์)
    ป.ธ. 5 ผู้ช่วยสรรพากรจังหวัด
    8. ไม่ปรากฏนาม


    ๏ การศึกษาเบื้องต้น

    สมัยนั้นการศึกษาเล่าเรียนยังไม่เจริญเท่าที่ควร ในวัยเด็กเมื่อท่านอายุได้ 8 ปี ได้ศึกษาเล่าเรียนหนังสือไทย ประถม ก. กา อยู่กับลุงเกษ ประถมบุตร ซึ่งเป็นครูสอนอยู่กับบ้านตอนเย็นหรือตอนกลางคืนเวลาว่างๆ เท่านั้น จึงทำให้การเรียนของท่านพออ่านออกเขียนได้

    ครั้นต่อมาท่านอายุได้ 15 ปี เมื่อปี พ.ศ.2467 ได้เข้าโรงเรียนรัฐบาลที่วัดสระกำแพงใหญ่ มีพี่น้องเข้าโรงเรียนพร้อมกันทั้ง 3 คน เพราะไม่มีใครช่วยพ่อแม่ทำงานเกษตรกรรมและเลี้ยงสัตว์ โยมพ่อของท่านตั้งกติกาให้เปลี่ยนกันไปโรงเรียนคนละ 7 วัน ทั้งนี้ทำให้หลวงปู่เครื่อง เรียนหนังสือไม่ได้เต็มที่เสียเวลาเรียน เรียนไม่ทันเพื่อน

    ครั้นเวลาผ่านไป ทางราชการและครูไม่ยอมให้เปลี่ยนกันเรียน แต่ก็ต้องเปลี่ยนกันเรียนอยู่นั่นเอง เพราะเหตุดังกล่าวแล้วนั้น เมื่อหลวงปู่เครื่องมาโรงเรียนวันไหนจึงต้องถูกครูตีทุกวันเพราะเป็นการผิดกฎโรงเรียน จำเป็นก็ต้องทนอยู่ในสภาพนั้น ในเวลานั้นหลวงปู่เครื่องท่านเล่าว่าไม่รู้จะเชื่อฟังใครดี

    ผลที่สุด หลวงปู่ท่านก็ต้องหาอุบายแอบหนีญาติมาโรงเรียนคนเดียว ก็ทำให้มีความรู้ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน ซึ่งระยะนั้นท่านกำลังสนใจในการศึกษาเล่าเรียนหาความรู้เพิ่มเติมด้วยดี กอปรด้วยความขยันหมั่นเพียรยิ่งนัก ท่านเรียนได้ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เท่านั้น ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 เรียนได้ครึ่งปี ทางราชการมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายใหม่ ผู้มีอายุได้ 18 ปี ให้เสียค่าเล่าเรียนประถมศึกษาคนละ 4 บาท เงิน 4 บาทสมัยนั้นมีค่ามากนัก ด้วยความจำเป็น ท่านจึงต้องพ้นสภาพการเป็นนักเรียนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

    ต่อมาก็ได้อยู่ช่วยทำกิจการงานครอบครัวอย่างหนักเอาเบาสู้ ทำงานบ้านช่วยพ่อแม่ รับผิดชอบในหน้าที่ของผู้หญิงทุกอย่าง ตักน้ำตำข้าว เก็บผักหักฟืน หุงต้มเก็บหม่อนป้อนไหม ถอนกล้า ไถนา ปักดำ ทุกแขนงจนเกิดความเบื่อหน่าย จะไปเที่ยวเล่นตามเพื่อนบ้านก็ไม่มีเวลา

    ๏ การบรรพชาและอุปสมบท

    พอท่านอายุได้ 18 ปี ได้กราบลาบุพการีเพื่อบรรพชาเป็นสามเณร แต่โยมบิดา-โยมมารดาของท่านไม่อนุญาต ครั้นมีอายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ ได้กราบลาบุพการีและญาติพี่น้องเพื่ออุปสมบท ครั้งนี้โยมบิดาไม่ขัดใจ แต่โยมมารดายังป่วยเป็นโรคปอดบวม อาการหนักอยู่มาก ซึ่งป่วยมาได้ ๓ ปีแล้ว

    ท่านจึงได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดสำโรงน้อย หมู่ 6 ต.หนองห้าง อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ โดยมีพระครูเทวราชกวีวรญาณ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์ใบฎีกาชม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์พรหมมา เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “สุภัทโท” ซึ่งแปลว่า “ผู้ประพฤติงาม”

    หลังเข้าพิธีอุปสมบทเพียง 2 สัปดาห์ โยมมารดาซึ่งล้มป่วยหนักได้เสียชีวิตลง ทำให้ท่านต้องช่วยเป็นธุระจัดการงานศพมารดาเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนไปอยู่จำพรรษาวัดบ้านค้อ ต.กำแพง อ.อุทุมพรพิสัย ผ่านพ้นวันออกพรรษา บรรดาญาติพี่น้องได้มาเกลี้ยกล่อมให้ท่านลาสิกขาเพื่อมาเลี้ยงน้อง แต่ท่านเกิดความเบื่อหน่ายในชีวิตปุถุชน ตั้งใจอุทิศชีวิตให้บวรพระพุทธศาสนา แสวงหาทางหลุดพ้นทุกข์

    ก่อนหน้านั้นท่านได้ไปปรึกษาหารือกับคุณปู่ของท่าน คุณปู่ให้ข้อคิดว่า ถ้าท่านจะสึกออกมาเลี้ยงน้องนั้นไม่ดี ช่วยเขาไม่ได้หรอก แสวงหาทางพ้นทุกข์ดีกว่า คงเป็นทางช่วยตัวเองได้ คุณปู่ท่านให้ข้อคิดดังนี้ ฟังแล้วมีเหตุมีผลดี ท่านจึงตัดสินใจปฏิบัติตาม


    ประวัติและปฏิปทา หลวงปู่เครื่อง สุภัทโท วัดสระกำแพงใหญ่
    หลวงปู่เครื่อง สุภัทโท


    ๏ การศึกษามูลกัจจายน์และพระปริยัติธรรม

    ต่อมา ท่านตัดสินใจเดินทางไปวัดทุ่งไชย เพื่อจุดประสงค์ว่าจะไปศึกษาเล่าเรียนคำภีร์มูลกัจจายน์ ไปอยู่ได้ 2 เดือน เข้าไปกราบนมัสการท่านอาจารย์ใหญ่ ท่านบอกว่าในระยะนี้ไม่ได้สอน เลิกทำการสอนมานานแล้ว เพราะนักเรียนน้อย ไม่มีพระเณรสนใจเรียนมูลเดิม จึงนมัสการลากลับวัดเดิมอีก

    ครั้นต่อมา คุณอาของหลวงปู่เครื่อง ก็นำพาเดินทางไปวัดท้องหล่มใหญ่ จ.มหาสารคาม พอไปถึงเจ้าอาวาสก็ลาสิกขาไปเสียแล้ว เพราะหาพระเณรที่สนใจศึกษาไม่มี ท่านจึงได้เดินทางต่อไปที่วัดบ้านยางใหญ่ ต.เมืองแคน อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ฝากตัวเป็นศิษย์กับพระอุปัชฌาย์สาย เจ้าอาวาส เพื่อขอเรียนบาลีและคัมภีร์มูลกัจจายน์ พระอุปัชฌาย์สาย เอ็นดูลูกศิษย์คนนี้มาก ด้วยผลการเรียนเป็นที่น่าพอใจ ท่านเรียนได้ดี ทั้งในการแปลภาษาบาลีเป็นประโยคคล่องแคล่วและใส่สัมพันธ์ด้วย เริ่มตั้งแต่การสนธิ เป็นต้นไป นานๆ เข้าพระอุปัชฌาย์สาย ปล่อยให้ท่านแปลด้วยตนเองเป็นประโยคๆ ไป

    ครั้นกาลต่อมา สหธรรมมิกที่เรียนด้วยกันปรึกษาหารือกันว่า การเรียนคัมภีร์มูลกัจจายน์สมัยนี้เขาไม่นิยมเสียแล้ว หลวงปู่บอกว่าตอนนี้กิเลสเป็นเจ้าเรือนมากระซิบให้หลงงมงายไปเสียอีก ท่านจึงได้พิจารณาใคร่ครวญดูเหตุผลแล้ว จึงกราบนมัสการลาพระอุปัชฌาย์สาย ไปเรียนบาลีไวยากรณ์ หวังเอาพระเปรียญกับเขาบ้าง

    เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ.2477 ท่านจึงได้ออกเดินทางไปอยู่วัดหลวงเมืองอุบล อ.เมือง จ.อุบลราชธานี เพื่อเข้าศึกษาบาลีไวยากรณ์ และนักธรรม

    พ.ศ.2479 สอบได้นักธรรมชั้นตรี

    พ.ศ.2480 สอบได้นักธรรมชั้นโท

    พอสอบได้เสร็จก็ป่วยเป็นโรคเหน็บชา ในตอนนั้นท่านได้นัดหมายกันกับเพื่อนพระองค์หนึ่ง คือท่านมหาบุญมา แสนทวีสุข เป็นเพื่อนรักกันมากที่สุด นัดหมายกันว่าจะย้ายไปเรียนหนังสืออยู่กรุงเทพฯ ท่านว่าเหมือนมีพญามารมาตัดรอนท่าน คือเจ้ากรรมนายเวร กิเลสมาพันผูก คือ บรรดาญาติพี่น้องห้ามไม่ให้ไป โดยเหตุผลดังกล่าวจึงเป็นอุปสรรคมาขัดขวางไม่ให้ไปศึกษา ท่านว่าคงจะเนื่องด้วยผลกรรมของท่านสร้างมาจึงเสียผลที่ท่านควรไป

    เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2481 ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดพงษ์พรต ต.หนองกว้าง อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ เป็นเวลา 11 ปี ในระหว่างนั้น พ.ศ.2483 สอบได้นักธรรมชั้นเอก


    ๏ ศึกษาด้านสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน

    ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดพงษ์พรต ต่อมาไม่นาน ก็ได้ดำริว่า คันถธุระไม่เป็นของพ้นทุกข์ มีแต่ธรรมปฏิบัติเท่านั้น จึงออกเดินทางไปศึกษาด้านสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน ทราบว่า ท่านอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ จำพรรษาอยู่จังหวัดอุบลราชธานี จึงออกเดินทางไปพบท่าน ได้ฝากตัวเป็นศิษย์ศึกษาพื้นฐานงานวิปัสสนากัมมัฏฐานกับท่านอยู่ระยะหนึ่ง ต่อมาจึงได้กลับมา อ.อุทุมพรพิสัย อีกครั้ง และพำนักจำพรรษาอยู่ที่วัดสระกำแพงใหญ่
    ประวัติและปฏิปทา หลวงปู่เครื่อง สุภัทโท วัดสระกำแพงใหญ่
    ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ

    ขณะนั้นมีพระอุปัชฌาย์คำ จันทโชโต เป็นเจ้าอาวาสวัดสระกำแพงใหญ่ กำลังร่วมกันสร้างสาธารณูปโภคอยู่หลายอย่าง เป็นเหตุให้ญาติโยมได้โอกาสอาราธนานิมนต์ให้อยู่เป็นแรงงานสำคัญ เช่น มีการสร้างรอยพระพุทธบาทจำลอง วิหารลอย ที่ว่าการอำเภออุทุมพรพิสัย สถานีตำรวจ และสถานีอนามัย โดยมีนายพวง สีบุญลือ นายอำเภออุทุมพรพิสัย (ในขณะนั้น) เป็นแม่แรงใหญ่ฝ่ายฆราวาส จนกระทั่งที่ว่าการอำเภออุทุมพรพิสัย และสิ่งก่อสร้างดังกล่าวเสร็จสิ้นลง ทางอำเภอและประชาชนได้จัดงานฉลองขึ้นใหญ่โตโด่งดังไปทั่ว

    ส่วนท่านเองยังต้องการแสวงหาการปฏิบัติทางด้านวิปัสสนากัมมัฏฐาน ต้องการศึกษาในชั้นสูงสุดต่อไป พอเสร็จงานฉลองจึงบอกลาญาติโยม ออกเดินธุดงค์ไปจังหวัดลพบุรี ได้พักที่สำนักหลวงปู่คำมี พุทฺธสโร เพื่อศึกษาธรรมปฏิบัติ ได้สมาทานธุดงควัตร ถือพระกัมมัฏฐาน ทำสมาธิ ได้รับรสธรรมจากหลวงปู่คำมี เป็นที่ปลื้มอกปลื้มใจ ปีติเยือกเย็น และสงบใจลงไปมาก

    หลังจากนั้นก็ได้ออกเดินธุดงค์ไปยังจังหวัดต่างๆ เมื่อไปถึงวัดป่าสระพง อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา สมาทานธุดงควัตรแล้วเดินทางไปยังถ้ำสบม่วง (ซับมืด) อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นถ้ำมีอากาศหนาวเย็น อยู่ในเขาและป่าทึบ พร้อมกับเพื่อนพรหมจรรย์อีก 5 รูป ได้อยู่บำเพ็ญกัมมัฏฐานภายในถ้ำนั้นหลายเดือน จึงเกิดเป็นไข้ป่าทุกรูป รักษาไม่หายถึงกับมรณภาพลงในถ้ำนั้นไป 3 รูป ต่อมาหลวงปู่เครื่อง กับเพื่อนอีกรูปแยกทางกันไป

    ท่านเองปีนเขาขึ้นมาตามเถาวัลย์ ไปพบฝรั่งที่ควบคุมงานก่อสร้างถนนมิตรภาพ อยู่ขณะนั้น ได้ยามา 6 เม็ด กินก็หายป่วย จากนี้ได้เดินธุดงค์ ไปจังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ไปแห่งใดก็มีญาติโยมพุทธบริษัทให้การต้อนรับอย่างคับคั่ง นำข้าวปลาอาหารมาทำบุญมากมาย แต่ท่านก็ไม่ติดที่อยู่ เดินทางต่อไปเรื่อยๆ


    ๏ ศึกษาธรรมจากหลวงพ่อสด

    กระทั่งถึงปี พ.ศ.2494 เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ไปขอเรียนวิชาธรรมกายจากหลวงพ่อเจ้าคุณ พระเทพมงคลมุนี (หลวงพ่อสด จนฺทสโร) วัดปากน้ำภาษีเจริญ ตั้งใจทำสมาธิประพฤติแนววิชาธรรมกายอยู่ 3 วัน ก็อำลาจากไป หลวงพ่อสดถึงกับประกาศในหมู่ศิษย์ของท่านว่า หลวงปู่เครื่องได้บรรลุวิชาธรรมกายแล้วอำลาจากไป

    จากนั้นท่านก็ตั้งใจปฏิบัติสมาธิกัมมัฏฐานตามป่า ถ้ำ ภูเขา อีกหลายแห่งด้วยความมุ่งมั่นมานะพยายามอย่างเต็มที่ ได้พบภาพนิมิตต่างๆ มากมาย เป็นงูบ้าง เป็นเสือบ้าง เป็นช้างบ้าง จะเข้ามาทำร้าย ซึ่งเป็นภาพนิมิตประหลาดๆ พิกลพิการไม่เคยเห็นมาก่อน แต่ท่านไม่กลัวไม่หวาดหวั่น ควบคุมสติพิจารณา พยายามตีความด้วยปัญญา สามารถรู้ไปถึงอริยสัจธรรมแก่นแท้ได้

    ตราบจนถึงเมื่อปี พ.ศ.2494 ท่านจึงเดินทางกลับมาตุภูมิบ้านเกิดเมืองนอนอีกครั้ง และได้รับอาราธนาให้พำนักจำพรรษา ณ วัดสระกำแพงใหญ่ ภายหลังจากที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดสระกำแพงใหญ่ จึงได้พำนักจำพรรษาอยู่ที่วัดเพื่อเป็นเสาหลักให้แก่พระภิกษุ สามเณร ตลอดจนประชาชนที่อยู่โดยรอบวัด

    ด้วยเหตุที่หลวงปู่เครื่องเป็นพระนักปฏิบัติ เคยเป็นศิษย์หลวงพ่อสด จนฺทสโร วัดปากน้ำภาษีเจริญ มาก่อน ประกอบกับเคยธุดงค์ไปตามป่าเขาหลายแห่งในประเทศไทย เมื่อหลวงปู่เครื่องสร้างวัตถุมงคลออกมาแจกจ่ายบูชาให้แก่เหล่าพุทธศาสนิกชนทั่วไป ตลอดจนบรรดาคณะศิษยานุศิษย์ จึงมีความเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์เป็นพิเศษ เป็นที่เชื่อถือเพื่อเสาะแสวงหามาครอบครอง


    ประวัติและปฏิปทา หลวงปู่เครื่อง สุภัทโท วัดสระกำแพงใหญ่
    พระมงคลเทพมุนี (หลวงพ่อสด จนฺทสโร)


    ๏ ลำดับสมณศักดิ์และงานปกครองคณะสงฆ์

    พ.ศ.2480 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลกำแพง อ.อุทุมพรพิสัย และได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจข้อสอบประโยคนักธรรมชั้นตรี

    พ.ศ.2481 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดพงษ์พรต อ.อุทุมพรพิสัย เป็นเวลา 11 ปี

    พ.ศ.2488 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระคณาธิการ องค์การศึกษา อ.อุทุมพรพิสัย

    พ.ศ.2490 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์

    พ.ศ.2494 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดสระกำแพงใหญ่ จนกระทั่งมรณภาพเมื่อปี พ.ศ.2551 (ท่านเป็นเจ้าอาวาสรูปที่ 7 ต่อจากพระอุปัชฌาย์คำ จันทโชโต ที่ได้มรณภาพลง โดยท่านได้เข้ามาพำนักจำพรรษาที่วัดสระกำแพงใหญ่แห่งนี้ ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.2490)

    เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2550 เนื่องในวโรกาสมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา พระอธิการเครื่อง สุภทฺโท ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ในราชทินนามที่ “พระมงคลวุฒ”


    ๏ งานด้านการพัฒนาสังคมและสาธารณสงเคราะห์

    - พ.ศ.2530 โครงการก่อสร้างตึกผู้ป่วย “ตึกหลวงปู่เครื่อง สุภัทโท” เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครบ 5 รอบ ณ โรงพยาบาลอุทุมพรพิสัย

    - จัดสร้างศาลาประชาคมบ้านหนองแปน ต.กำแพง อ.อุทุมพรพิสัย

    - พ.ศ.2536 จัดตั้งมูลนิธิหลวงปู่เครื่อง สุภัทโท รวมทั้ง บริจาคเงินสมทบทุนสร้างพระประธานและห้องเรียนนักเรียนอนุบาล มอบให้โรงเรียนบ้านค้อ ต.สระกำแพง อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ

    - พ.ศ.2538 สร้างถนนลาดยาง สายทิศเหนือวัด จากบ้านกำแพงถึงตลาดอุทุมพรพิสัย โดยของบประมาณสนับสนุนจากแขวงการทาง จ.อุบลราชธานี

    - พ.ศ.2539 สร้างศาลาเฉลิมพระเกียรติครองราชย์ครบ 50 ปี ให้สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ

    - พ.ศ.2540 สร้างพระประธานพร้อมหอพระ มอบให้โรงเรียนบ้านหนองห้าง ต.หนองห้าง อ.อุทุมพรพิสัย

    - พ.ศ.2541 สร้างมณฑปประดิษฐานหลวงพ่อนาคปรกโบราณ


    ๏ งานด้านอุปถัมภ์การศึกษา

    - พ.ศ.2479 ได้จัดตั้งโรงเรียนสอนพระปริยัติธรรม นักธรรมชั้นตรี-โท-เอก และบาลีไวยากรณ์ ขึ้น ณ วัดพงษ์พรต จ.ศรีสะเกษ โดยร่วมมือกับพระมหาอินทร์ สีลวโส (พระครูวิกรมธรรมโสภณ) เจ้าคณะอำเภอปรางค์กู่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นอาจารย์ใหญ่ฝ่ายปริยัติธรรม ส่วนท่านเป็นนักวิปัสสนาเน้นการปฏิบัติธรรม

    รวมทั้ง ได้ก่อสร้างกุฏิ ศาลาการเปรียญ โบสถ์ หอระฆัง จนเสร็จเรียบร้อย และได้สร้างบ่อน้ำขนาดใหญ่ก่อด้วยอิฐหน้าวัวไม่ต้องใช้ปูนซีเมนต์ ให้ชาวบ้านได้ดื่มและใช้อยู่เท่าทุกวันนี้

    - พ.ศ.2512 ได้จัดตั้งโรงเรียนพุทธมามกะเยาวชน

    - พ.ศ.2515 ได้จัดตั้งโรงเรียนศึกษาผู้ใหญ่ สำหรับพระภิกษุ-สามเณร สอนในระดับ 3-4

    - พ.ศ.2538 สร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา

    - พ.ศ.2541 สร้างโรงเรียนสระกำแพงวิทยาคม เป็นอาคาร 2 ชั้น พร้อมอุปกรณ์

    - พ.ศ.2544 สร้างห้องสมุดโรงเรียนบ้านหนองหมู อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ

    - พ.ศ.2546 เป็นประธานก่อสร้างมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) วิทยาเขตศรีสะเกษ สถาบันอุดมศึกษาสำหรับพระภิกษุสงฆ์แห่งแรกในจังหวัดศรีสะเกษ ด้วยการซื้อที่ดินและก่อสร้างบริเวณบ้านสระกำแพงใหญ่ ต.สระกำแพง อ.อุทุมพรพิสัย

    - ขณะเดียวกัน หลวงปู่เครื่องได้ทำนุบำรุงและพัฒนาวัดสระกำแพงใหญ่ ให้เจริญก้าวหน้ามากมายมาโดยตลอด ด้วยถาวรวัตถุสิ่งก่อสร้างภายในวัดมากมาย ไม่ว่าจะเป็นกุฏิ วิหาร ศาลาการเปรียญ เมรุ กำแพงวัด ซุ้มประตู และสิ่งอื่นๆ เป็นต้น ล้วนแต่สร้างขึ้นครั้งในสมัยหลวงปู่เครื่องเป็นเจ้าอาวาสทั้งสิ้น เพราะของเก่าชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ต้องรื้อถอนและสร้างใหม่ทั้งหมด


    ประวัติและปฏิปทา หลวงปู่เครื่อง สุภัทโท วัดสระกำแพงใหญ่
    มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) วิทยาเขตศรีสะเกษ


    ๏ เทพเจ้าผู้มีเมตตาแห่งอีสานใต้

    วันที่ 15 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันเกิดของหลวงปู่เครื่อง คณะศิษยานุศิษย์ทั้งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ นักการเมือง พ่อค้า ประชาชน ที่ให้ความเคารพและศรัทธาหลวงปู่อย่างแรงกล้านับแสนคน จะพากันเดินทางไปวัดสระกำแพงใหญ่ เพื่อร่วมกันอวยพรวันคล้ายวันเกิดและขอพรอันเป็นสิริมงคลไม่เคยขาด กระทั่งกลายเป็นงานใหญ่ แม้ว่าหลวงปู่จะไม่ต้องการให้จัดเอิกเกริกใหญ่โต แต่ปฏิเสธศรัทธาของบรรดาคณะศิษยานุศิษย์มิได้

    หลวงปู่เครื่อง เป็นพระสงฆ์ผู้มักน้อยถือสันโดษ ไม่ยินดีในตำแหน่งและสมณศักดิ์สงฆ์ แม้ท่านจะได้รับการเสนอให้เป็น ท่านก็ปฏิเสธไม่ยอมรับ ด้วยคุณงามความดีจึงทำให้ท่านเป็นพระเถระที่ชาวศรีสะเกษให้ความเลื่อมใสศรัทธาดุจดังเทพเจ้ามายาวนาน ทุกครั้งเวลามีผู้ประสบทุกข์ร้อนใจ ล้วนแต่พากันไปกราบหาท่าน ให้ประพรมน้ำมนต์ขจัดปัดเป่าให้ทุกข์ภัยต่างๆ สลายคลาย สร้างความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต

    ตลอดจน ความนิยมในวัตถุมงคลของท่าน ก็มีส่วนเสริมสร้างเป็นทุนในงานก่อสร้างต่างๆ ภายในวัดสระกำแพงใหญ่ และงานสาธารณูปการต่างๆ

    ด้วยเหตุนี้ ชาวเมืองศรีสะเกษต่างพร้อมใจกันขนานสมญานามให้ท่านว่า “เทพเจ้าผู้มีเมตตาแห่งอีสานใต้” เป็นเทพเจ้าในดงขมิ้นที่สามารถกราบไหว้ได้โดยสนิทใจแท้


    ๏ วัดสระกำแพงใหญ่
    วัดสระกำแพงใหญ่ (พระอารามราษฎร์) หนึ่งในอู่อารยธรรมแห่งประวัติศาสตร์ เนื่องจากเป็นสถานที่ตั้งของ “ปราสาทหินสระกำแพงใหญ่” โบราณสถานสมัยขอมที่มีอายุยืนยาวกว่า 1,000 ปี ภายในบริเวณวัดสระกำแพงใหญ่ มีปราสาทหินโบราณขนาดใหญ่ที่สุดของจังหวัด ตัวปราสาทมีลักษณะคล้ายเจดีย์ หรือปรางค์โบราณ 3 องค์บนฐานเดียวกัน ก่อด้วยหินทรายมีอิฐแซม ด้านหน้ามีวิหารก่ออิฐ 2 หลัง ล้อมรอบด้วยระเบียงคต ก่อด้วยศิลาแลงและหินทราย มีโคปุระหรือประตูซุ้มทั้ง 4 ทิศ ปรางค์ประธานมีทับหลังจำหลักภาพพระอินทร์ทรงช้าง ทิศเหนือบนฐานศิลาเดียวกัน มีปรางค์ก่อด้วยอิฐ เหนือกรอบประตูมีทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์อยู่เหนือพญาอนันตนาคราชกลางเกษียรสมุทร ซึ่งมีความงดงามยิ่ง ทิศใต้มีปรางค์ก่อด้วยอิฐเช่นเดียวกับด้านทิศเหนือ เหนือกรอบประตูมีทับหลังสลักภาพพระอิศวรกับพระอุมาประทับนั่ง

    จากการขุดค้นบูรณะของกรมศิลปากรเมื่อปี พ.ศ.2535 พบวัตถุโบราณที่ทรงคุณค่าภายในบริเวณปราสาทหินสระกำแพงใหญ่อีกจำนวนมาก เช่น ทับหลังจำหลักภาพศิวะนาฏราช ทับหลังจำหลักภาพพระกฤษณะยกเขาโควรรธนะ ตามจารึกที่ศิลาทรายหลืบประตูปราสาทหินวัดสระกำแพงใหญ่ บ่งชี้ว่าปราสาทหินแห่งนี้ ถูกสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 1 ราวพุทธศตวรรษที่ 16 ตรงกับศิลปะขอมแบบปาปวน เพื่อเป็นเทวาลัยถวายแด่พระศิวะ

    ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ ก่อนหน้าที่กรมศิลปากรจะเข้าไปทำการบูรณะ มีการขุดพบพระพุทธรูปปางนาคปรก เป็นพระพุทธรูปที่แกะด้วยหินศิลาทราย สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพระเจ้าสถานวรมันรัชกาลที่ 2-3 ราวปี พ.ศ.1153 ยืนยันถึงความเก่าแก่ของโบราณแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี


    ๏ การมรณภาพ

    หลวงปู่เครื่อง สุภัทโท ได้มรณภาพลงด้วยอาการอันสงบ ณ ตึกสงฆ์พระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทโท) ชั้น 3 ห้อง 5 โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ อุบลราชธานี อ.เมือง จ.อุบลราชธานี เมื่อเวลา 02.15 น. ของวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2551 สิริอายุรวมได้ 98 ปี 13 วัน พรรษา 78 ท่ามกลางความเศร้าโศกเสียใจเป็นยิ่งนักของบรรดาคณะศิษยานุศิษย์ที่มาเฝ้าอาการป่วยอยู่จำนวนมาก หลังจากที่ท่านได้อาพาธด้วยโรคชรา มีอาการปอดอักเสบ น้ำท่วมปอด และต้องล้างไต จึงได้เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ.2551 ต่อมาได้ย้ายหลวงปู่เครื่องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์อุบลราชธานี หลังวันวิสาขบูชา 1 วัน จากนั้นก็ได้อยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดโดยตลอด เนื่องจากหลวงปู่เครื่องอายุมากถึง 98 ปีแล้วและอาพาธหลายโรค จนกระทั่งได้มรณภาพในที่สุด รวมเวลาเข้ารักษาอาการอาพาธนานกว่า 2 เดือน

    ประวัติและปฏิปทา หลวงปู่เครื่อง สุภัทโท วัดสระกำแพงใหญ่

    ประวัติและปฏิปทา หลวงปู่เครื่อง สุภัทโท วัดสระกำแพงใหญ่

    ประวัติและปฏิปทา หลวงปู่เครื่อง สุภัทโท วัดสระกำแพงใหญ่

    โดยขณะที่พักรักษาอยู่ที่โรงพยาบาล หลวงปู่เครื่องได้ฝากฝังกับบรรดาคณะศิษยานุศิษย์ ขอให้ช่วยกันสร้างพุทธวิหารหลวงพ่อนาคปรกใหญ่ที่สุดในโลก หน้าตักกว้าง 299 นิ้ว ซึ่งคาดว่าต้องใช้เงินประมาณ 50 ล้านบาท เพื่อให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมสำหรับพุทธศาสนิกชนชาวศรีสะเกษและชาวไทยทั่วประเทศ

    ประวัติและปฏิปทา หลวงปู่เครื่อง สุภัทโท วัดสระกำแพงใหญ่

    รวบรวมและเรียบเรียงมาจาก ::
    1. หนังสือพิมพ์ข่าวสด หน้า 1 คอลัมน์ มงคลข่าวสด
    วันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 ปีที่ 15 ฉบับที่ 5477
    2. หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 14 กรกฎาคม 2549
    เรื่องโดย ประวิทย์ จารุรัชกุล
    3. http://www.geocities.com/srakhumpangyai/
    แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย บ่าวต้อม; 13-09-2009 at 15:56.

  2. #2
    ร่วมถ่ายทอดความรู้สู่สังคม สัญลักษณ์ของ บ่าวต้อม
    วันที่สมัคร
    Jan 2009
    ที่อยู่
    คนอำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ
    กระทู้
    347

    รูปเหมือนหลวงปู่


    งานบำเพ็ญกุศลศพหลวงปู่


    สัญญาบัตรพัดยศหลวงปู่


    สรีระหลวงปู่บรรจุในโลงแก้ว


    รูปหล่อหลวงปู่หน้าพระอุดบสถวัดสระกำแพงใหญ่

  3. #3
    ศึกษาหาความรู้
    วันที่สมัคร
    Sep 2007
    กระทู้
    5
    เพิ่งรู้ประวัติหลวงปู่ ทั้งที่อยู่ไกล้ๆ ขอบคุณครับ..บุญบั้งไฟ บ้านทุ่งไชย วันที่14 พ.ค.54 นี้ใกล้เคียงว่างๆเชิญมาตื่นเต้นด้วยกันนะครับ....

กฎการส่งข้อความ

  • You may not post new threads
  • You may not post replies
  • You may not post attachments
  • You may not edit your posts
  •