การละเล่นพื้นบ้าน ชื่อ
อีฉุด
ภาคใต้
จังหวัด กระบี่



วิธีการเล่น
ผู้เล่นตกลงกันว่าใครจะเป็นผู้เล่นก่อนหลัง โดยผู้เล่นมีลูกเกยคนละลูก หลังจากนั้นก็ขีดตารางเป็นช่องสี่เหลี่ยมจำนวน ๖ ช่อง หรือเรียกว่า ๖ เมือง โดยแบ่งเป็นซีกซ้าย ๓ เมือง ซีกขวา ๓ เมือง
การเริ่มเล่น ผู้เล่นคนที่ ๑ เริ่มเล่นโดยการทอยลูกเกยลงไปในเขตเมืองที่ ๑ แล้วกระโดดยืนเท้าเดียวในเมืองที่ ๑ หลังจากนั้นใช้ปลายเท้าฉุดลูกเกยให้ผ่านไปในเขตเมืองที่ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ตามลำดับแล้วก็ฉุดลูกเกยออกจากเขตเมืองที่ ๖ ต่อไปผู้เล่นคนเดิม ต้องทอยลูกเกยลงในเมืองที่ ๒ แล้วกระโดดยืนเท้าเดียวในเมืองที่ ๑ กระโดดต่อไปในเมืองที่ ๒ หลังจากนั้นก็เล่นเหมือนเดิมไปเรื่อยๆทุกเมือง จนถึงเมืองที่ ๖ เมื่อทอยลูกเกยและฉุดได้ครบทั้ง ๖ เมืองแล้วให้ผู้เล่นกระโดดด้วยเท้าข้างเดียวจังหวะเดียวลงบนเมืองที่ ๑ ถึง เมืองที่ ๖ ตามลำดับ ห้ามกระโดดหลายครั้งมิฉะนั้นถือว่า ตาย ต้องให้คนอื่นๆเล่นต่อ ถ้าเล่นครบท่านี้แล้วไม่ตาย ให้เล่นในท่าต่อไป คือ เอาลูกเกยวางบนหลังเท้าแล้วสาวเท้าลงในเมืองทั้ง ๖ เมือง ตามลำดับ แต่เท้าหนึ่งลงในเมืองหนึ่งได้เพียงครั้งเดียว เช่น เท้าซ้ายเหยียบลงในเมืองที่ ๑ เท้าขวาเหยียบลงในเมืองที่ ๒ เท้าซ้ายเหยียบลงในเมืองที่ ๓ สลับกันไปเช่นนี้จนกว่าจะครบทุกเมือง ลูกเกยนั้นต้องไม่ตกจากหลังเท้าและเท้านั้นต้องไม่เหยียบเส้น ท่าต่อไปนั้นให้ผู้เล่นปิดตา เดินที่ละก้าวโดยไม่ต้องวางลูกเกยบนหลังเท้าขณะเดินขณะที่ก้าวเท้าลงในแต่ละเมืองผู้เล่นนั้นต้องถามว่า "อู่ บอ" หมายความว่า เหยียบเส้นหรือไม่ ถ้าไม่เหยียบผู้เล่นคนอื่นๆจะตอบว่า "บอ" ถ้าเหยียบเส้นตอบว่า "อู่" เมื่อผู้เล่นที่ปิดตาเหยียบเส้นถือว่า ตาย ต้องเปลี่ยนให้คนอื่นๆเล่นต่อไป ถ้าเล่นยังไม่ตายผู้เล่นนั้นมีสิทธิ์ในการจองเมือง โดยผู้เล่นนั้นต้องเดินเฉียงไปแบบสลับฟันปลาไปตามช่องต่างๆ ให้ลงเท้าได้เพียงเท้าเดียว เช่น ลงเท้าซ้ายในเมืองที่ ๑ ลงเท้าขวาในเมือ งที่ ๓ และลงเท้าซ้ายในเมืองที่ ๕ แล้วกระโดดสองเท้าลงในหัวกระโหลก กระโดดเท้าพร้อมกับหันหลัง และผู้เล่นก็โยนลูกเกยข้ามศีรษะของตน
เองถ้าลูกเกยไปตกอยู่ในเมืองใดเมืองหนึ่ง เมืองนั้นจะเป็นของผู้เล่นทันที ดังนั้นผู้เล่นมีสิทธิ์ยืนสองเท้าในเมืองนั้นได้ เมื่อได้เมืองแล้วก็ให้เล่นอย่างนั้นต่อไป จนกว่าจะตายจึงจะต้องเปลี่ยนให้ผู้อื่นเล่นต่อ

โอกาสหรือเวลาที่เล่น
ในการเล่นอีฉุดนั้นไม่มีการกำหนดโอกาสและเวลาที่เล่น เพราะสามารถเล่นได้ในทุกโอกาสและการเล่นอีฉุดนั้นเป็นการเล่นของเด็กที่นิยมกันมากในท้องถิ่นจังหวัดกระบี่

คุณค่าและแนวคิด
ในการเล่นอีฉุดนั้นก่อให้เกิดความสามัคคี ความรักความผูกพันธ์กันในหมู่คณะและเป็นการฝึกความสัมพันธ์ของร่างกายในส่วนต่างๆ ทั้ง มือ เท้า และสมอง ได้เป็นอย่างดี