การละเล่นพื้นบ้านชื่อ
การเล่นทาย
ภาคใต้
จังหวัด นครศรีธรรมราช



อุปกรณ์และวิธีการเล่น
ผู้เล่น ไม่จำกัดจำนวน แต่ส่วนใหญ่ประมาณ ๔-๕ คน
อุปกรณ์ ไม่ต้องใช้อุปกรณ์การเล่น แต่ต้องใช้ความคิดและสติปัญญา ความฉลาดและหลักแหลม
วิธีการเล่น
๑. คนผู้ตั้งคำทาย ๑ คน
๒. กลุ่มคน ประมาณ ๔-๕ คน พยายามแก้ปัญหาให้ถูก
๓. กติกา ผู้เล่นจะตกลงกันเองว่าผู้แพ้จะต้องถูกลงโทษอย่างไร เช่น ต้องกินน้ำให้หมดแก้ว ล้างจาน ล้างบาตร ล้างห้องน้ำ กวาดบ้าน จุดหลัง (ใช้นิ้วเพียงนิ้วเดียวแกะลงไปบนเม็ดใดเม็ดหนึ่งที่เกิดขึ้นกลางหลัง) ฯลฯ
๔. ประเภทการทาย มีหลายแบบ ได้แก่ แบบเล่นคำ คำผวน สองแง่สองง่าม คำสัมผัส คำกลอน แบบตลกทะลึ่ง ความรู้ทั่วไป เชาว์ปัญญา โดยผู้ถูกถามจะต้องคิดแก้ปัญหาตอบให้ได้ภายในเวลาจำกัด ถ้าแก้ไม่ได้ก็ต้องตั้งคำทายไปใหม่
๕. ตัวอย่างสำนวนคำทาย
ถาม : ไอ้ไหรเหอ แก่ ๆ นุ่งแดง เด็ก ๆ นุ่งขาว สาว ๆ นุ่งเขียว
ตอบ : พริกขี้หนู
ถาม : คนไอ้ไหรฟันไม่เข้า
ตอบ : คนฟันยื่น
ถาม : ไอ้ไหรเหอ ข้างล่างก็ขน ข้างบนก็ขน พอชนกันสบาย
ตอบ : คนนอนหลับตา
ถาม : ไอ้ไหรเหอ "เขียวชอุ่ม ไม่มีพุ่ม มีแต่เม็ด"
ตอบ : ฝน
ถาม : ไอ้ไหรเหอ "ก้อนเนื้อแยงรูเนื้อ น้ำออกเพรื่อชื่นใจคนนอน"
ตอบ : เด็กกินนมแม่
ถาม : ไอ้ไหรเหอ "ตัวเท่าหิด อวดฤทธิ์กับพระจันทร์"
ตอบ : หิ่งห้อย
ถาม : ไอ้ไหรเหอ "ตากแดดตากฝน ทนอยู่ได้นานหลายปี"
ตอบ : หลังคาบ้าน
ถาม : "มีหกตัดหัว มีเก้าตัดหาง มีแปดตัดกลาง เหลือเท่าใด"
ตอบ : ศูนย์
ถาม : ไอ้ไหรเหอ "มาแต่เมืองไกล ไทยเขียน"
ตอบ : เทียนไข
ถาม : "สีไหร ทำให้คนรบกัน"
ตอบ : สีดา
ถาม : ไอ้ไหรเหอ "หางยาวกว่าหัว ตัวมันร้องได้ รวดเร็วทันใจชอบใช้ทุกคน"
ตอบ : รถไฟ
ถาม : "ไอ้ไหรไปกับปาก"
ตอบ : หอย

โอกาส/เวลาที่เล่น
การเล่นทาย เล่นได้ทุกเวลา เมื่อมีเวลาว่าง ส่วนใหญ่จะเล่นทายในวัยเด็ก เล่นทายกันระหว่างเพื่อนฝูง พี่น้อง และพ่อแม่ ตั้งคำทายแก้กันไป แก้กันมาสนุกสนานมาก

คุณค่า
๑. คุณค่าทางปัญญา การเล่นทายเป็นการฝึกความคิด ลับสมอง ฝึกปฏิภาณไหวพริบ ความเฉลียวฉลาด เพราะผู้ถูกถามต้องคิดตอบปัญหาให้ได้อย่างรวดเร็ว ผู้ฝึกการคิดจึงกลายเป็นคนฉลาด มีเหตุผล
๒. คุณค่าทางอารมณ์ การเล่นทายจะสนุกสนาน ให้ความขบขันและเฮฮาได้เสมอ
๓. คุณค่าทางสังคมและวัฒนธรรม การเล่นทายสะท้อนให้เห็นความคิด และวัฒน-ธรรมของสังคมนั้นเด่นชัด เกิดการรวมตัวกันในกลุ่มในหมู่พี่น้อง เกิดความสนิทสนมในหมู่เพื่อนฝูง เป็นประโยชน์ทางสังคมในการร่วมทำกิจกรรมอื่น ๆ อีก