การละเล่นพื้นบ้าน
ชื่อ
ร็องแง็ง
ภาคใต้
จังหวัด ปัตตานี



อุปกรณ์และวิธีการเล่น
เครื่องดนตรีประกอบการเล่นร็องแง็งมี รำมะนา ฆ้อง ไวโอลิน เดิมมีเพียง ๓ อย่าง ต่อมาเพิ่มกีต้าร์ การเล่นร็องแง็ง เดิมนิยมเต้นกันในหมู่บ้านขุนนางไทยมุสลิม และแพร่หลายมาสู่ชาวบ้าน โดยอาศัยการแสดงมะโย่ง ร็องแง็งจะเต้นช่วงพักการแสดงมะโย่ง ซึ่งจะพัก ๑๐ - ๑๕ นาที เมื่อดนตรีร็องแง็งขึ้น ฝ่ายหญิงที่แสดงมะโย่งจะลุกขึ้นเต้นจับคู่กันเองและเพื่อให้เกิดความสนุกสนานยิ่งขึ้นจึงได้เชิญผู้ชายซึ่งเป็นผู้ชมเข้ามาร่วมวงด้วย ต่อมามีการจัดตั้งคณะร็องแง็งแยกต่างหากจากมะโย่ง
ปัจจุบันการเต้นร็องแง็ง ผู้เต้นประกอบด้วยชาย - หญิงฝ่ายละ ๕ คน โดยเข้าแถวแยกเป็นชายแถวหนึ่ง หญิงแถวหนึ่ง ยืนห่างกันพอสมควร ความสวยงามของการเต้นร็องแง็งอยู่ที่ลีลาการเคลื่อนไหวของเท้า มือ ลำตัวและลีลาการร่ายรำ ตลอดจนการแต่งกายของคู่ชาย – หญิงและความไพเราะของเสียงดนตรี

โอกาสหรือเวลาที่เล่น
เดิมร็องแง็งแสดงในการต้อนรับแขกเมืองในงานพิธีต่าง ๆ ต่อมานิยมแสดงในงานรื่นเริง เช่น งานประจำปี ฯลฯ

คุณค่า/แนวคิด/สาระ
ร็องแง็งเป็นศิลปะชั้นสูงที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวไทยทั้งการแต่งกาย ดนตรีและลีลาของเพลงที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ อีกทั้งยังเป็นการสร้างความบันเทิงสนุกสนานแก่ผู้เต้นและผู้ชมด้วย