การละเล่นพื้นบ้านชื่อ
ตาหยี
ภาคใต้
จังหวัด ยะลา



ตาหยีเป็นการละเล่นของเด็ก ๆ ทั้งหญิงและชาย นิยมเล่นกันมาประมาณ ๒๐๐ ปีเศษมาแล้ว เป็นการละเล่นที่มีการแข่งขันกันมีแพ้มีชนะขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละฝ่าย
อุปกรณ์และวิธีการเล่น
ไม้ไผ่ เมล็ดทุเรียนขนาดใหญ่ และเชือก
เมล็ดทุเรียนนิยมเก็บมาไว้ประมาณ ๔ - ๕ วัน เพื่อให้เมล็ดเหี่ยว เหนียว และทนทาน ส่วนเชือกนิยมใช้เถาวัลย์ชนิดหนึ่ง เรียกว่า เมื่อย เอามาใช้ทำเดือย

วิธีการเล่น
ประกอบด้วยเครื่องเล่น คือ ทั้งสองฝ่ายเอาเมล็ดทุเรียนของตนมาเจาะด้วยไม้แหลมที่ด้านปลายเมล็ด เจาะให้ทะลุถึงกันแล้วร้อยเชือกไว้ เอาไม้ไผ่มาผ่าซีกขนาดพอเหมาะ โดยใช้ไม้ไผ่ช่วงระหว่างข้อต่อของลำไม้ไผ่ เฉือนให้ด้านหนึ่งป้านและคม ส่วนอีกด้านหนึ่งแหลมคม ส่วนนี้เรียกว่าเขาหรือตานุ บ้างก็นิยมทำตานุด้วยงาช้าง เขาควาย หรือเหล็กก็มี และส่วนที่แหลมคมนี้เองใช้ปักหรือตัดเมล็ดทุเรียนของคู่ต่อสู้ได้ ดังนั้นต้องเอาด้านแหลมของตานุ เสียบเมล็ดทุเรียนตามยาว (ดังภาพ)
เมื่อทั้งสองฝ่ายเตรียมอุปกรณ์ของตนเองพร้อมแล้ว ก็จะลองความคมของตานุ โดยหมุนตีเม็ดทุเรียนดูก่อน มักนิยมเล่นบนพื้นทรายก่อนเล่นมีการโยนเหรียญ ทายหัวหรือก้อย ใครทายถูกจะได้ตีก่อนในการเล่น ทั้งสองฝ่ายจะตั้งชื่อเรียกฝ่ายตนเพื่อให้ดูน่าเกรงขามเช่น
อูลาแมเราะ (งูแดง) คู่กับ ดูลากูนิง (งูเหลือง)
กอแต (แกร่ง) คู่กับ กูบิง (ทรหด)

กติการการเล่น
ทั้งสองฝ่ายผลัดกันหมุนเครื่องเล่นของตนให้ส่วน "ตานุ" ตีให้ถูกเมล็ดทุเรียนของคู่ต่อสู้ ถ้าเมล็ดทุเรียนของใครแตก หรือเครื่องเล่นใครชำรุดก่อน ถือว่าแพ้

โอกาสหรือเวลาที่เล่น
นิยมเล่นตามฤดูกาลของทุเรียน เพื่อหาเมล็ดทุเรียนมาได้ง่าย เวลาที่เล่นยามว่างจากงานหรือภาระกิจอื่น ๆ

คุณค่าหรือแนวคิด
การเล่นตาหยี จัดว่าเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านโดยใช้วัสดุของผลไม้ตามฤดูกาล ลงทุนไม่มาก มีโอกาสใช้ปฏิภาณไหวพริบเพื่อเอาชนะคู่ต่อสู้ เช่นถ้าตานุปักเมล็ดทุเรียนคู่ต่อสู้จะต้องหาวิธีหมุนดึงออกโดยไม่ให้เมล็ดทุเรียนแตก แล้วต่อสู้กันใหม่จนกว่าจะชนะ คือเมล็ดทุเรียนของฝ่ายตรงข้ามแตก