การละเล่นพื้นบ้าน ชื่อ
หมากขุม
ภาคใต้
จังหวัด สงขลา



อุปกรณ์
๑. รางหมากขุม นิยมทำด้วยไม้นุ่น ไม้ทองหลาง ไม้ขนุน ทำเป็นรูปคล้ายเรือ ยาวประมาณ ๙๐ เซนติเมตร สูงประมาณ ๑๐ - ๑๓ เซนติเมตร ด้านบนขุดเป็นหลุมขนาดเท่ากันเรียงเป็น ๒ แถว เป็นหลุมกลมคล้ายหลุมขนมครก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๘ - ๙ เซนติเมตร ลึกประมาณ ๔ - ๕ เซนติเมตร ในแต่ละแถวนิยมมี ๗ หลุม ตรงส่วนปลายของรางหมากขุมทั้ง ๒ ข้าง มีหลุมขนาดใหญ่พิเศษข้างละหลุม มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑๐ - ๑๓ เซนติเมตร อาจทำเป็นหลุมกลมหรือหลุมรูปสามเหลี่ยม เรียกหลุมใหญ่ทั้ง ๒ ข้างนี้ ว่า แม่เริน (แม่เรือน) หัวแม่เรินหรือหัวเมือง
๒. หมาก หรือลูกหมากขุม นิยมใช้เมล็ดสวาด หรือเมล็ดสวด ซึ่งมีลักษณะกลมรีเปลือกแข็งเป็นสีเทาอ่อน มีขนาดพองาม เบา ทน และดูสะอาดตา หรืออาจใช้เมล็ดพืชอย่างอื่นที่มีขนาดและลักษณะใกล้เคียงกันก็ได้ เช่น เมล็ดมะขามสุก บางทีใช้ดินเหนียวปั้นเป็นลูกธนูแล้วตากแห้ง แต่ไม่นิยมเพราะไม่ทนและเปื้อนมือง่าย ปัจจุบันนิยมใช้ลูกแก้วแทน

วิธีเล่น
๑. ผู้เล่น ๒ คน นั่งอยู่คนละข้างของรางหมากขุมหันหน้าเข้าหากัน นำหมากมาใส่หลุมในแดนของตนทุกหลุมละ ๗ เม็ด (ไม่ใส่หลุมแม่เริน)
๒. การเริ่มเล่นจะให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเดินก่อน หรือเดินพร้อมกันก็ได้ ฝ่ายใดเดินตายก่อนก็หยุด ให้อีกฝ่ายหนึ่งเดินต่อจนตาย แล้วผลัดให้ฝ่ายที่ตายก่อนเดินต่อไป
๓. การเดินหมากจะเริ่มจากหยิบหมากทั้งหมดในหลุมใดหลุมหนึ่งทางแดนหรือเมืองของตน (หลุมทางด้านตนเอง) เดินหรือวางหมากลงหลุมทีละเม็ดจากขวาไปซ้าย เมื่อผ่านหลุมแม่เรินของตน(อยู่ทางซ้ายมือ) เอาหมากขึ้นเริน (ลงหลุมแม่เรือน)ทุกครั้ง แล้วเดินเลยไปในแดนของฝ่ายตรงกันข้าม เดินไปเรื่อย ๆ เมื่อถึงหลุมสุดท้ายของแดนตรงข้าม ก็เดินต่อในหลุมแรกของแดนตน (ไม่เดินหรือใส่ในหลุมแม่เรินของฝ่ายลงข้าม ซึ่งอยู่ทางขวามือของตน) เดินไปเรื่อย ๆ จนกว่าหมากจะหมด โดยมีกติกา ดังนี้
๓.๑ ถ้าหมากเม็ดสุดท้ายตกลงหลุมที่มีหมากอยู่เดิม ให้เอาหมากทั้งหมดในหลุมนั้นเดินต่อไปได้
๓.๒ ถ้าหมากเม็ดสุดท้ายตกตรงหลุมที่ไม่มีหมากเหลืออยู่เลย ถือว่าการเดิน "ตาย" ต้องหยุดทันที เปลี่ยนให้ฝ่ายตรงข้ามเดินต่อไป
๓.๓ เมื่อผู้เดินหมากแต่ละฝ่ายเดินหมากจน "ตาย" ต้องตรวจดูว่าตายภายในแดนของตัวเองหรือไม่ ถ้าตายในแดนของตนเองตรงหลุมที่มีหมากอยู่ของฝ่ายตรงข้าม ผู้ตายจะได้ "กิน" หรือ "กินแทน" หมากในหลุมนั้นทั้งหมดของฝ่ายตรงข้ามทันที โดยนำหมากทั้งหมดนั้นไปใส่ในแม่เรินของฝ่ายตน แล้วจึงเปลี่ยนให้ฝ่ายตรงข้ามเดินต่อไป
๓.๔ ถ้าหมากเม็ดสุดท้ายมาตกตรงแม่เรินของฝ่ายตนพอดี ผู้นั้นยัง "ไม่ตาย" มีสิทธิ์ได้เดินต่อโดยเลือกหยิบหมากในหลุมใดหลุมหนึ่งในแดนของตนเองเพื่อเดินต่อไป (ห้ามหยิบหมากของแดนฝ่ายตรงกันข้าม)
๔. เมื่อผลัดกันเดินหมากไปเรื่อย ๆ จนหมากในแดนของทั้งสองฝ่ายหมด ไม่มีหมากให้เดินการแข่งขันรอบนั้นก็ยุติลง แต่ละฝ่ายนำหมากจากแม่เรินของตนเรียงใส่หลุมในแดนของตนใหม่ ฝ่ายที่เสียหมากไปมากหมากจะไม่ครบทุกหลุม (หลุมละ ๗ เม็ด) ถ้าขาดไปกี่หลุมถือว่าเป็นหม้ายไปเท่านั้นหลุม หลุมที่เป็นหม้ายจะต้องเริ่มจากหลุมแรกทางขวามือ (เริ่มหลุมที่ ๗ จากหลุมซ้ายมือ) หลุมที่เป็นหม้ายจะยกเลิกไม่ใช้เล่นในรอบใหม่ ถ้าฝ่ายใดมีหลุมที่เป็นหม้ายจำนวนมากจะเสียเปรียบคู่ต่อสู้ เพราะโอกาสที่จะกินหมากหรือกินแทนของฝ่ายตรงข้ามจะลดลง เมื่อเล่นไปเรื่อย ๆ จนฝ่ายหนึ่งมีหลุมเป็นหม้ายเกือบหมด หรือจนหมดทุกหลุม ถือว่าเป็นการแพ้โดยสิ้นเชิง

โอกาสหรือเวลาที่เล่น
หมากขุมเป็นกีฬาพื้นเมือง ประเภทกีฬาในร่ม นิยมเล่นเมื่อมีเวลาว่าง

คุณค่า/แนวคิด/สาระ
หมากขุมเป็นการเล่นที่ฝึกทักษะวิชาคณิศาสตร์