การละเล่นพื้นบ้านชื่อ
สะโป้ก
ภาคเหนือ
จังหวัด น่าน



สะโป้ก เป็นการละเล่นอย่างหนึ่งของชาวล้านนา ซึ่งเป็นการละเล่นที่ทำให้เกิดเสียงดัง ต้นกำเนิดเสียงเกิดจากอุปกรณ์ง่ายๆ ที่ได้จากธรรมชาติ ใช้เชื้อเพลิงที่เปลี่ยนสถานะเป็นก๊าซหรือไอได้ เพื่อเป็นตัวนำปะทุทำให้เกิดเสียงดัง เข้าใจว่าการละเล่นที่ทำให้เกิดเสียงดังนั้น คงเกิดจากการเรียนรู้จากธรรมชาติ เช่น ลำไม้ไผ่ที่ได้รับความร้อน เมื่อเกิดไฟป่าจะแตกแล้วเกิดเสียงดังขึ้น ต่อมาจึงได้มีการตัดไม้ไผ่ใส่กองไฟ เพื่อให้เกิดเสียงระเบิดดังขึ้นเช่นเดียวกันที่เกิดขึ้นกับปรากฏกาณ์ตามธรรมชาติ ในเวลาต่อมาได้มีการคิดวิธีที่ทำให้เกิดเสียงดังโดยใช้เชื้อเพลิงชนิดต่าง ๆ จนคิดประดิษฐ์สะโป้กขึ้น

อุปกรณ์
๑. ไม้ไผ่ที่มีเนื้อไม้หนาประมาณ ๑ เซนติเมตร ยาว ๔-๕ ปล้อง เส้นผ่าศูนย์กลาง ๕-๖ นิ้ว (ไม้ไผ่ที่มีเนื้อบาง จะทำให้สะโป้กแตกง่าย นิยมใช้ไม้ซาง , ไม้บง)
๒. แก๊ซก้อน (อะซิทีลีน) หรือน้ำมันเบนซิน
วิธีทำ
๑. ตัดไม้ไผ่ยางยาวประมาณ ๔-๕ ปล้อง (ปล้องสุดท้ายตัดห่างจากข้อประมาณ ๕-๖ นี้ว หรือมากกว่านี้ เพื่อเป็นฐานสะโป้ก)
๒. ทะลุปล้องไม้ไผ่ให้เหลือปล้องสุดท้ายไว้
๓. เจาะรูที่ปล้องสุดท้ายเหนือข้อขึ้นไปประมาณ ๒-๓ นิ้วรูกว้างประมาณ ๒ เซนติเมตร

วิธีการเล่น
วางสะโป้กให้ตั้งเอียง นำน้ำมันเบนซินใส่ในรูที่เจาะไว้พอประมาณ (๓-๔ ลูกบาศก์เซ็นติเมตร) แล้วเอาไฟจุดที่รูน้ำมันจะติดไฟอย่างรวดเร็วในพื้นที่จำกัด ทำให้เกิดแรงอัดระเบิดเสียงดังขึ้น และสามารถจุดได้หลายครั้งจนไอน้ำมันมีน้อยไม่เพียงพอให้เกิดเสียงดังได้ จึงเติมน้ำมันอีก ในกรณีใช้ก๊าซก้อน นำก๊าซก้อนประมาณหัวแม่มือใส่ในสะโป้ก น้ำใส่ในรูเล็กน้อย ก๊าซก้อนทำปฏิกิริยากับน้ำทำให้เกิดไอ จึงจุดไฟที่รูเช่นเดียวกับวิธีใช้เบนซิน (ไฟที่ใช้จุดต้องมีเปลว เช่น เทียนควรต่อก้านไฟชนวนให้ยาว และนำลวดพันรอบไม้ไผ่ให้แน่นหนา เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดจากสะโป้กแตกได้)

โอกาสที่เล่น
สะโป้กใช้เล่นในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ไทย (วันสงกรานต์) ตั้งแต่คือวันที่ ๑๒ เมษายน จนย่างเข้าวันที่ ๑๓เมษายน ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ ตามคติความเชื่อของชาวล้านนาว่าเป็นการส่งสังขารให้ล่วงพ้นไปกับปีเก่า ต้อนรับชีวิตที่ดีขึ้นในวันปีใหม่ นอกจากโอกาสวันสงกรานต์แล้วไม่นิยมเล่นสะโป้ก

คุณค่าของการเล่นสะโป้ก
เสียงสะโป้ก ย้ำเตือนให้ทราบว่าปีเก่าได้ผ่านไป และปีใหม่ย่างเข้ามา เป็นการเตือนให้ชาวล้านนาเตรียมจิตใจให้ผ่องใส ตั้งมั่นในความดีงาม ทำความสะอาดบ้านเรือน เพื่อต้อนรับสิ่งที่ดีในวันปีใหม่ต่อไป