การละเล่นพื้นบ้านชื่อ
กลองหลวง
ภาคเหนือ
จังหวัด ลำพูน



อุปกรณ์และวิธีการเล่น
กลองหลวง เป็นกลองที่มีขนาดใหญ่และยาวมาก อาจกล่าวได้ว่าเป็นกลองที่ยาวที่สุดของประเทศไทย ลักษณะทั่วไปเป็นกลองที่ขึงหนังแท้หน้าเดียว มีสายเร่งเสียง รูปร่างคล้ายกลองซิงมองกลองปู่เจ่ และกลองแอว มีความประณีตทางศิลปะ และมีความซับซ้อนทั้งโครงสร้างภายใน ระบบเสียงกลองหลวงได้พัฒนาขึ้นด้วยฝีมือคนไทยเชื้อสายยอง ที่อาศัยอยู่บริเวณสองฝั่งลุ่มแม่น้ำปิง ระหว่างจังหวัดลำพูนและเชียงใหม่ โดยเนื่องมาจากความเชื่อในเรื่องพลังอำนาจของเสียง จึงทำให้เกิดการสร้างสรรค์และพัฒนากลองขึ้นเป็นจำนวนมาก
กลองหลวงที่นิยมในปัจจุบัน มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางหน้ากลองกว้างประมาณ ๒๘ นิ้ว มีความยาวประมาณ ๑๓๐ นิ้ว การเคลื่อนย้ายจึงต้องอาศัยพาหนะ เช่น เกวียนล้อเลื่อนหรือรถยนต์ การตีกลองหลวงต้องใช้ผ้าพันเป็นรูปกรวยหรือก้นหอย และกำเอาไว้แน่นเวลาตีให้ส่วนที่เป็นปลายแหลม ก้นหอย กระทบกันบริเวณริมจ่ากลอง (ข้าวเหนียวผสมขี้เถ้า) ด้วยกำลังแรง จะเกิดเสียงดังกังวานก้องไปไกล คุณภาพของเสียงกลองหลวงขึ้นอยู่กับองค์ประกอบต่างๆ ได้แก่ ไหกลอง เหงือกกลอง รูเอวกลอง หนังกลอง หูหิ่ง คร่าวหูหิ่ง หนังขิน จ่ากลอง ผู้ตีกลอง วัสดุที่ใช้ในการตี ตำแหน่งที่ตี วิธีการตี จังหวะการตี และการควบคุมแรงในการตีกลอง

โอกาสหรือเวลาที่เล่น
กลองหลวงจะนำออกมาใช้ในงานในแต่ละปี เมื่อหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวไปจนถึงหลังสงกรานต์ คือเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน กลองหลวงจะใช้ในขบวนแห่เมื่อวัดจัดให้มีงาน เช่น งานสรงน้ำฉลองพัดเปรียญ งานครัวตาน (ครัวทาน) ถวายทาน โบสถ์ วิหาร หรืองานบุญต่างๆ ก็จะจัดให้มีขบวนแห่ ซึ่งมีกลองหลวงร่วมด้วย การตีแห่กลองหลวงจะใช้การตีแห่ทึดโมง โดยมีฆ้องชุดใหญ่ตีร่วมด้วย คือ ชุด ๙ ใบหรือ ๗ ใบ นอกจากนี้ก็มีฉาบและกลองตะหลดปด ซึ่งเป็นกลองสองหน้า มีไม้ตีสองอันร่วมด้วย ในงานบุญหนึ่งๆ จะมีขบวนแห่หลายขบวนที่วัดอื่นๆ ส่งมาร่วมขบวนงานบุญด้วย งานบุญต่างๆ ดังกล่าว เมื่อขบวนแห่เสร็จสิ้นแล้ว ช่วงบ่ายทางวัดจะจัดให้มีการตีกลองหลวงแข่งขันกัน ระหว่างกลองหลวงของวัดต่างๆ ที่มาร่วมงานบุญ เรียกว่า การโฮมกลอง

คุณค่า / แนวคิด / สาระ
กลองหลวง ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างชุมชน หรือหมู่บ้านกับวัดอย่างชัดเจน กิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับกลองหลวง เริ่มตั้งแต่การสร้าง การใช้ การเก็บรักษาและอื่น ๆ ต้องอาศัยความร่วมมือของวัด หมู่บ้าน พระ และชาวบ้านอย่างใกล้ชิด เทคนิควิธีการต่างๆ ในการสร้างกลองหลวง จะแสดงถึงภูมิปัญญาของชาวยองและชาวล้านนาอย่างแท้จริง เมื่อสร้างเสร็จแล้วจะถือว่าเป็นสมบัติของวัดและหมู่บ้านนั้นๆ ปัจจุบันกลองหลวงได้มีการแข่งขันกันมากขึ้น จึงทำให้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งเกียรติยศและศักดิ์ศรีของชุมชนที่เป็นเจ้าของ กลองหลวงจึงจัดเป็นเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งที่มีความเป็นเอกลักษณ์ของตนเองทั้งรูปแบบและบทบาทในสังคมล้านนา