การละเล่นพื้นบ้านชื่อ
เพลงขอทาน
ภาคเหนือ
จังหวัด สุโขทัย



อุปกรณ์และวิธีการเล่น
อุปกรณ์ เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบจะเล่นตามคนที่ถนัด บางคนอาจเล่นคนเดียวได้ มากกว่า ๑ ชิ้น ส่วนมากจะเป็นเครื่องกำกับจังหวะ เช่น ฉิ่ง กรับ ฉาบ โหม่ง และโทน เป็นต้น แต่ถ้าเล่นเป็นคณะอาจมีหลาย ๆ ชิ้น ทำให้เกิดความสนุกสนานครึกครื้นยิ่งขึ้น

วิธีการเล่น
๑. ทำนองโทน ผู้ร้องอาจตีโทนหรือตีฉิ่งไปด้วย เป็นจังหวะชั้นเดียว ดำเนินเรื่องช้า ๆ สามารถยึดเสียงไปตามที่ต้องการให้ ซึ่งเป็นเทคนิคของคนร้อง ถ้ามีหลายคนลูกคู่จะคอยร้องรับในสองวรรคท้ายของแต่ละท่อนเสมอไป
๒. ทำนองโหม่ง ผู้ร้องอาจตีโหม่งเองหรือให้คนอื่นตีก็ได้ในจังหวะชั้นเดียวค่อนข้างเร็วปานกลาง เนื้อร้องจะเป็นแนวตลกเสียมากกว่า มีการร้องแก้กันระหว่างพ่อเพลงกับแม่เพลง เมื่อร้องจนแต่ละบทจะต้องตีโหม่งรับ ซึ่งส่วนมากจะเป็นโหม่ง ๓ ใบ
๓. ทำนองกรับ ผู้ร้องต้องมีความชำนาญเป็นพิเศษ ขณะร้องต้องตีกรับไปด้วย ลักษณะกรับเป็นกรับชนิดกลมสองคู่ มีเสียงทุ้มกับเสียงแหลม ในมือทั้งซ้ายขวาตีสลับพลิกแพลงเป็นจังหวะเหมือนฉิ่ง ฉาบ เร็วบ้างช้าบ้าง ดูสนุกสนาน มีการรัวกรับและออกลีลาท่าทางต่าง ๆ ซึ่งเป็นความสามารถเฉพาะตัว ปัจจุบันหาคนเล่นได้ยากมาก

โอกาสหรือเวลาที่เล่น
เพลงขอทาน มีวิวัฒนาการมาจากการเล่านิทานปากเปล่าเป็นบทกลอนใส่ทำนองและมีดนตรีประกอบ เรียกว่า เพลงขอทาน การเล่นเพลงขอทานจะมีในโอกาสที่มีผู้ว่าจ้างไปเล่น หรือผู้เล่นไปเล่นตามที่สาธารณะต่าง ๆ แล้วผู้ฟังจะให้เงินหรือสิ่งของตอบแทน ส่วนใหญ่จะเป็นหลังฤดูเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ปัจจุบันจะมีคณะเล่นเพลงขอทานและไปแสดงในงานต่าง ๆ ที่มีผู้ว่าจ้าง

คุณค่า / แนวคิด / สาระ
การเล่นเพลงขอทานเป็นการแลกเปลี่ยนกันระหว่างผู้เล่นกับผู้ฟัง ผู้เล่นให้ความบันเทิงทางเสียงเพลงและดนตรี ส่วนผู้ฟังเมื่อได้รับความสุขจากการฟังก็ให้ทรัพย์สิ่งของเป็นของตอบแทน ปัจจุบันเพลงขอทานเป็นการละเล่นพื้นบ้านที่นักดนตรีรุ่นใหม่นำมาประยุกต์กับเครื่องดนตรีสากล ทำให้ทำนองเพลงเป็นที่นิยม และมีผู้สืบสานพร้อมทั้งนำไปเล่นในงาน อีกประการหนึ่งเพลง ขอทานเป็นการแสดงออกในเชิงกวีของคนไทย เพราะเนื้อร้องมีลักษณะเป็นกลอนหัวเดียว และเป็นเรื่องราวมีคติสอนใจ