“ท่านพระครูญาณวิลาศ” หรือ “หลวงพ่อแดง” แห่ง “วัดเขาบรรไดอิฐ”



“ท่านพระครูญาณวิลาศ” หรือ “หลวงพ่อแดง” แห่ง “วัดเขาบรรไดอิฐ”



ในแวดวง “พระเกจิอาจารย์” ที่นอกจากมีความเชี่ยวชาญทางด้านวิทยาคมเฉกเช่นกันแล้วยังมีความสัมพันธ์ทาง “สายเลือด” ที่เรียกว่าเป็น “พี่กับน้อง” ในเมืองไทยมีไม่มากนักแต่ที่ “จังหวัดเพชรบุรี” มีเกจิอาจารย์ดังกล่าวอยู่คู่หนึ่งก็คือ “ท่านพระครูญาณวิลาศ” หรือ “หลวงพ่อแดง” แห่ง “วัดเขาบรรไดอิฐ” ยอดเกจิฯดังของเมืองเพชรบุรีซึ่งมีสถานะเป็น “พี่ชาย” ส่วนอีกท่านก็คือ “ท่านพระครูปัญญา โชติวัฒน์” หรือ “หลวงพ่อเจริญ” แห่ง “วัดทองนพคุณ” มีสถานะเป็น “น้องชาย” โดย ทั้ง “หลวงพ่อแดง” และ “หลวงพ่อเจริญ” ล้วนเป็นที่เคารพและศรัทธาของชาวเมืองเพชรบุรีและจังหวัดใกล้เคียงเป็นอย่างมากจึงนับได้ว่าโยมบิดา “คุณพ่อแป้น” และโยมมารดา “คุณแม่นุ่ม” ในสกุล “อันแสง” ของทั้ง “สองหลวงพ่อ” เป็น “ผู้มีวาสนา” ที่บุตรชายของท่านนอกจากได้อุปสมบทเป็น “พระภิกษุ” ที่มีชื่อเสียงแล้วยังเป็นพระภิกษุที่ “ครองสมณเพศ” จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิตพร้อมทั้งได้เป็น “เจ้าอาวาส” ที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น “พระครูชั้นสัญญาบัตร” ทั้งสองท่านอีกด้วย


ซึ่งในที่นี้จะขอนำประวัติที่น่าเลื่อมใสของ “หลวงพ่อเจริญ” มากล่าวถึงเท่านั้นเนื่องจาก “หลวงพ่อแดงวัดเขาบรรไดอิฐ” เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วโดย “หลวงพ่อเจริญ” เมื่ออายุได้ ๑๐ ขวบ ก็ไป อยู่กับ “พระภิกษุจัน” ซึ่งเป็นพระพี่ชายที่อุปสมบทอยู่ที่ วัดแก่นเหล็ก ต.คลองกระแชง อ.เมือง จ.เพชรบุรี เพื่อทำการศึกษาในเบื้องต้นกับท่าน “พระครูญาณวิสุทธิ” (พ่วง) เจ้าอาวาสวัดแก่นเหล็ก กระทั่งอายุได้ ๑๓ ปี จึงกลับมาช่วยครอบครัวทำนามาตลอดจนอายุครบ ๑๘ ปี จึงถูกเกณท์เข้ารับราชการเป็น “มหาดเล็กรักษาพระองค์” ซึ่งในสมัยนั้นเรียกว่า “ทหารชาววัง” ในรัชสมัย “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕” โดยมีหมายเลขประจำตัวสักด้วยหมึกดำที่แขนคือ “๓๗๙๔” สังกัดกองโยธาอยู่ ๓ ปี จึงได้รับเลือกเข้าเป็น “เลขเดือน” ที่ในสมัยนั้นเรียกว่า “เข้าเดือน” มีตำแหน่งเทียบเท่า “มหาดเล็กรักษาพระองค์” และขึ้นตรงต่อสำนักพระราชวังกระทั่งอายุได้ ๒๒ ปี จึงลาออกเพื่ออุปสมบทแทนคุณบิดามารดาตามแบบฉบับของชายไทยสมัยโบราณ แต่ขณะนั้น “หลวงพ่อแดง” ผู้พี่ชายได้ทำการอุปสมบทอยู่ก่อนแล้ว “หลวงพ่อเจริญ” จึงทำการอุปสมบทในปีถัดมา ณ วัดทองนพคุณ โดยมี “หลวงพ่อเปลี่ยน” วัดเขาบรรไดอิฐเป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า “ธัมมโชติ” เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๑


หลังอุปสมบทแล้ว “หลวงพ่อเจริญ” ก็ทำการศึกษา “พระธรรมวินัย” ควบคู่ไปกับการศึกษาทางด้าน “วิปัสสนา ธุระ” ตลอดทั้ง “ไสยเวท” ไปตามความนิยมในยุคนั้นกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๔๖๖ “หลวงพ่ออ่ำ” เจ้าอาวาสวัดทองนพคุณมรณภาพจึงได้รับการแต่งตั้งท่านเป็น “เจ้าอาวาส” สืบแทนตั้งแต่นั้นมาจวบจนถึงแก่ “มรณภาพ” เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ซึ่งตามหนังสือประวัติของ “หลวงพ่อเจริญ” ไม่ได้มีการบันทึกว่าไปร่ำเรียนวิชาอาคมมาจากที่ใด จึงเพียงแต่สันนิษฐานกันว่าท่านคงศึกษาจาก “พระครูญาณวิสุทธิ (พ่วง) ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของท่านและ “หลวงพ่ออ่ำวัดทองนพคุณ” นอกจากนี้ยังได้ทำการศึกษาตำราแพทย์แผนโบราณ พร้อมกับนำมาสงเคราะห์ชาวบ้านด้านเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นอย่างดี


ส่วนทางด้านการสร้างวัตถุมงคลนั้นนอกจาก “หลวงพ่อเจริญ” จะสร้างของท่านเองแล้วยังได้รับนิมนต์ให้ไปร่วมพิธีพุทธาภิเษกตาม วัดต่าง ๆ ทั่วประเทศด้วยเหตุนี้ท่านจึงได้ร่วมเดินทางไปกับ “พระพี่ชาย” ซึ่งก็คือ “หลวงพ่อแดงวัดเขาบรรไดอิฐ” แม้กระทั่งในพิธีพุทธาภิเษกใหญ่อย่างเช่นวัตถุมงคลฉลอง “๑๐๐ ปี” ทั้งของ “วัดราชบพิธฯ” ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ และ “วัดราชประดิษฐ์ฯ” เมื่อปี ๒๕๑๕ รวมทั้งพิธี “มหาจักรพรรดิพุทธาภิเษก” ณ วังจันทน์ จ.พิษณุโลก ปี ๒๕๑๕ และทุกภาคตั้งแต่ “ภาคเหนือ, อีสาน, กลาง, ใต้” ส่วนวัตถุมงคลที่ท่านสร้างเองก็มีหลายรุ่น ส่วนใหญ่จะเป็น “เหรียญรูปเหมือน” โดยเหรียญรุ่นแรกที่สร้างเมื่อปี ๒๔๘๕ เป็น “เหรียญพระพุทธรูปปางสมาธิในซุ้มเรือนแก้ว” จากนั้นเป็น “เหรียญรูปเหมือน” ปี ๒๕๐๐, ๒๕๐๘ โดยเฉพาะปี ๒๕๐๙ สร้างเพื่อแจกทหารที่ไปรบ “สงครามเวียดนาม” และอีกรุ่นที่มีประสบการณ์เป็นที่กล่าวขานถึงมากคือรุ่นปี ๒๕๑๒ ที่เรียกว่า “เหรียญสองพี่น้อง” หรือรุ่น “โบสถ์ลั่น” เนื่องจากระหว่างทำพิธีปลุกเสกในอุโบสถ “วัดทองนพคุณ” ปรากฏว่าอุโบสถมีเสียง “ดังลั่นขึ้น” โดยไม่ทราบสาเหตุจึงเป็นที่ฮือฮามาก ส่วนรูปแบบเหรียญด้านหน้าเป็น “รูปเหมือนหันข้าง” ของ “หลวงพ่อแดง” (พระพี่ชาย) อยู่ด้านนอก ส่วนรูป “หลวงพ่อเจริญ” (พระน้องชาย) อยู่ด้านในจึงถือว่าแปลกไปจากเหรียญคณาจารย์ทั่วไป


ทางด้านประสบการณ์ของเหรียญรุ่นนี้มีมากมายหลายร้อยเรื่อง อย่างเช่นที่เพิ่งเกิดเมื่อเร็ว ๆ นี้คือวันที่ “พระครูโกศลวัชรธรรม” (หลวงพ่ออ้วน) และลูกศิษย์ประสบอุบัติเหตุรถพลิกคว่ำบริเวณไหล่ทางที่ อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี จากเหตุฝนตกหนักรถเสียหลักหมุนคว้างก่อนจะไถลตกลงไปยังไหล่ทางทำ ให้รถพลิกคว่ำไปหลายตลบปรากฏว่า “รถพังยับเยิน” แต่ทุกคนที่อยู่ในรถไม่ได้รับบาดเจ็บใด ๆ เพราะ “หลวงพ่ออ้วน” ได้ตะโกนให้ “หลวงพ่อเจริญ” ช่วยและเรื่องที่ ๒ “นายจำรัส ฉิมฉลอง” อาชีพค้าขายอยู่ที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบฯ ระหว่างขับรถกลับบ้านปรากฏว่า “ยางแตก” ด้านหน้าคนขับทำให้รถพลิกคว่ำตกลงไปยังทุ่งนาสภาพรถพังยับเยินเช่นกันแต่ “นายจำรัส” ไม่เป็นอะไรเพราะในคอแขวน “เหรียญสองพี่น้อง” เพียงเหรียญเดียว ส่วนเรื่องที่ ๓ “นายปรีชา แตงเงิน” ผู้ รับเหมาก่อสร้างขับรถขณะฝนตกหนักพุ่งตัดหน้ารถไฟอย่างกระชั้นชิด เพราะมองไม่เห็นจึงถูกรถไฟชนอย่างจัง ผลก็คือรถของ “นายปรีชา” กระเด็นไปไกลประมาณ ๑๐ เมตร ผู้ที่เห็นเหตุการณ์คิดว่าคนขับ “ยับแน่” แต่ปรากฏว่าแค่บาดเจ็บตรงแก้มเพียงเล็กน้อยจากการถูก “กระจกรถ” ที่แตกบาดเอา ทางด้านของ “โชคลาภ” ก็ มีเช่นกันคือ “นางจำรัส จันทร์มาก” อาชีพขายกวยจั๊บ ในเมืองเพชรบุรีบูชาทั้งเหรียญและพระผงรุ่น “สองพี่น้อง” มาแขวนคอพร้อมทำการอธิษฐานขอให้ค้าขายดีทุกวัน ปรากฏว่าการค้าขายดีมากทุกวัน นอกจากนี้ยัง มีโชคจาก “ถูกลอตเตอรี่” เป็นประจำจึงทำให้ “นางจำรัส” เชื่อมั่นเป็นเพราะพุทธคุณของเหรียญและพระผงรุ่นนี้บันดาลให้เป็นไปแบบ “เหนือลิขิต?? ประกาศิตฟ้าดิน??” นั่นเอง.



จากหนังสือพิมพ์ : เดลินิวส์