ชื่อ
ประเพณีสารทเดือนสิบ
ภาคใต้
จังหวัด นครศรีธรรมราช



ช่วงเวลา ระยะเวลาของการประกอบพิธีสารทเดือนสิบมีขึ้นในวันแรม ๑ ค่ำถึงแรม ๑๕ ค่ำ เดือนสิบ แต่วันที่ชาวนครศรีธรรมราชนิยมทำบุญคือวันแรม ๑๓-๑๕ ค่ำ

ความสำคัญ
เป็นความเชื่อของพุทธศาสนิกชนชาวนครศรีธรรมราช ที่เชื่อว่าบรรพบุรุษอันได้แก่ ปู่ย่า ตายาย และญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว หากทำความชั่วจะตกนรกกลายเป็นเปรต ต้องทนทุกข์ทรมานในอเวจี ต้องอาศัยผลบุญที่ลูกหลานอุทิศส่วนกุศลให้แต่ละปีมายังชีพ ดังนั้นในวันแรม ๑ ค่ำเดือนสิบ คนบาปทั้งหลายที่เรียกว่าเปรตจึงถูกปล่อยตัวกลับมายังโลกมนุษย์เพื่อมาขอส่วนบุญจากลูกหลานญาติพี่น้อง และจะกลับไปนรกในวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือนสิบ
ในโอกาสนี้เองลูกหลานและผู้ยังมีชีวิตอยู่จึงนำอาหารไปทำบุญที่วัด เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวที

พิธีกรรม
พิธีกรรมของประเพณีสารทเดือนสิบ มีดังนี้
๑. การจัดหฺมฺรับ
เริ่มในวันแรม ๑๓ ค่ำ ชาวบ้านจะเตรียมซื้ออาหารแห้ง พืชผักที่เก็บไว้ได้นาน ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน และขนมที่เป็นสัญลักษณ์ของสารทเดือนสิบ จัดเตรียมใส่หฺมฺรับ
การจัดหฺมฺรับ คือ การบรรจุและประดับด้วยสิ่งของ อาหาร ขนมเดือนสิบลงในภาชนะที่เตรียมไว้ เช่น ถาด กาละมัง เข่ง กระเชอ เป็นต้น ชั้นล่างสุดบรรจุอาหารแห้ง ชั้นสองเป็นพืชผักที่เก็บไว้นาน ชั้นสามเป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน ขั้นบนสุด ประดับขนมสัญลักษณ์เดือนสิบ ได้แก่ ขนมพอง ขนมลา ขนมบ้า ขนมดีซำ ขนมแต่ละชนิดมีความหมายดังนี้
ขนมลา เป็นเสมือนเสื้อผ้าที่ให้บรรพบุรุษใช้นุ่งห่ม
ขนมพอง เป็นเสมือนแพที่ให้บรรพบุรุษข้ามห้วงมหรรณพ
ขนมกง เป็นเสมือนเครื่องประดับ ใช้ตกแต่งร่างกาย
ขนมบ้า เป็นเสมือนเมล็ดสะบ้า ไว้เล่นในวันตรุษสงกรานต์
ขนมดีซำ เป็นเสมือนเงินตรา ไว้ให้ใช้สอย
๒. การยกหฺมฺรับ
ในวันแรม ๑๔ หรือ ๑๕ ค่ำ ชาวบ้านจะยกหฺมฺรับที่จัดเตรียมไว้ไปวัด และนำภัตตาหารไปถวายพระด้วย โดยเลือกไปวัดที่อยู่ใกล้บ้านหรือวัดที่บรรพบุรุษของตนนิยมไป
๓. การฉลองหฺมฺรับและบังสุกุล
เมื่อนำหมฺรับไปวัดแล้ว จะมีการฉลองหฺมฺรับ และทำบุญเลี้ยงพระเสร็จแล้วจึงมีการบังสุกุล การทำบุญวันนี้เป็นการส่งบรรพบุรุษและญาติพี่น้องให้กลับไปยังเมืองนรก
๔. การตั้งเปรต
เสร็จจากการฉลองหมฺรับและถวายภัตตาหารแล้ว ชาวบ้านจะนำขนมอีกส่วนหนึ่งไปวางไว้ตามบริเวณลานวัด ข้างกำแพงวัด โคนไม้ใหญ่ เรียกว่า ตั้งเปรต เพื่อแผ่ส่วนกุศลเป็นทานแก่ผู้ล่วงลับที่ไม่มีญาติ หรือญาติไม่มาร่วมทำบุญให้ การชิงเปรตจะทำตอนตั้งเปรตเสร็จแล้ว เพราะเชื่อว่าถ้าหากใครได้กินของเหลือจากการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ จะได้รับกุศลเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง
บางวัดนิยมสร้างหลาเปรต เพื่อสะดวกแก่การตั้งเปรต บางวัดสร้างหลาเปรตไว้บนเสาสูงเพียงเสาเดียว เกลาและชะโลมน้ำมันเสาจนลื่น เมื่อเวลาชิงเปรตผู้ชนะคือผู้ที่สามารถปีนไปถึงหลาเปรตซึ่งต้องใช้ความพยายามอย่างมาก จึงสนุกสนานและตื่นเต้น

สาระ
ประเพณีสารทเดือนสิบมีสาระสำคัญหลายประการ ดังนี้
๑. เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ที่ได้อบรมเลี้ยงดูลูกหลาน เพื่อตอบแทนบุญคุณ ลูกหลานจึงทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้
๒. เป็นโอกาสได้รวมญาติที่อยู่ห่างไกล ได้พบปะทำบุญร่วมกันสร้างความรักใคร่สนิทสนมในหมู่ญาติ
๓. เป็นการทำบุญในโอกาสที่ได้รับผลผลิตทางการเกษตรที่เริ่มออกผลเพราะเชื่อว่าเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว
๔. ฤดูฝนในภาคใต้จะเริ่มขึ้นในปลายเดือนสิบ พระภิกษุสงฆ์บิณฑบาตยากลำบาก ชาวบ้านจึงจัดเสบียงอาหารนำไปถวายพระในรูปของหฺมฺรับ ให้ทางวัดได้เก็บรักษาเป็นเสบียงสำหรับพระภิกษุสงฆ์ในฤดูฝน