ชื่อ
ประเพณีการแต่งงาน
ภาคใต้
จังหวัด นราธิวาส



ช่วงเวลา การแต่งงานจะกระทำกัน ๓ ขั้นตอน คือ
๑. การสู่ขอ โดยฝ่ายชายจะให้ฝ่ายญาติผู้ใหญ่ที่เป็นผู้หญิงล้วน ๆ เป็นเถ้าแก่ไปทาบทามสู่ขอกับพ่อแม่ฝ่ายหญิง
๒. การหมั้น เมื่อถึงกำหนดหมั้นฝ่ายชายจะจัดเถ้าแก่นำขบวนขันหมากไปยังบ้านฝ่ายหญิง โดยชายผู้จะเป็นเจ้าบ่าวไม่ได้ไปด้วย
๓. พิธีแต่งงาน โดยทั่วไปจะจัดหลังจากหมั้นและไม่เกิน ๒ สัปดาห์ โดยถือฤกษ์ ๔ -๕ โมงเย็นของวันใดวันหนึ่ง
พิธีการแต่งงานของมุสลิมจะไม่นิยมแต่งในช่วงที่ประกอบพิธีฮัจญ์

ความสำคัญ
เพื่อเป็นการสัมพันธ์ของมนุษยชาติ ซึ่งหลักการต่าง ๆ จะไม่หนีหรือหลักเลี่ยงความเป็นจริง จึงถือได้ว่าเป็นทางสายกลางที่ทำให้มนุษย์มีความสมบูรณ์ในการเป็นคนหรือสัตว์ประเสริฐ

พิธีกรรม
๑. การสู่ขอ ในอดีตการสู่ขอฝ่ายชายจะให้ญาติผู้ใหญ่ที่เป็นผู้หญิงล้วน ไปสู่ขอกับพ่อแม่ฝ่ายหญิง เมื่อพ่อแม่ฝ่ายหญิงตกลงก็จะได้กำหนดวันหมั้น การตอบตกลงของพ่อแม่ฝ่ายหญิงจะไม่ขอความคิดเห็นจากบุตรสาวของตนเลย แต่ในปัจจุบันผู้ไปสู่ขอคืนมารดาหรือญาติผู้ใหญ่ของฝ่ายชายต้องไปสู่ขอกับผู้ใหญ่ของฝ่ายหญิง พร้อมกับมีของฝากฝ่ายหญิงอาจเป็นขนมหรือผลไม้ก็ได้ เมื่อไปถึงแล้วก็บอกว่ามีธุระที่จะขอปรึกษาด้วย แล้วสอบถามว่าผู้หญิงที่ต้องการไปสู่ขอมีคู่หรือยัง ถ้าฝ่ายหญิงบอกว่าไม่มีก็จะบอกว่าต้องการสู่ขอให้กับใคร ฝ่ายหญิงจะไม่ตอบตกลงในตอนนั้น และจะไม่ตอบรายละเอียด แต่จะขอเวลาปรึกษากันระหว่างญาติ ๆ ประมาณ ๗ วัน ในช่วงนั้นฝ่ายหญิงอาจจะส่งคนที่นับถือไปบอกฝ่ายชายในกรณีที่ตกลง ถ้าไม่ตกลงก็จะเงียบเฉยให้เป็นที่รู้เอาเอง เมื่อฝ่ายหญิงตกลงฝ่ายชายก็จะไปตกลงเรื่องวันแต่งงาน สินสอด ของหมั้นและมะฮัร
๒. การหมั้น ในอดีตเมื่อถึงวันกำหนดหมั้น ฝ่ายชายจะจัดเถ้าแก่ขบวนขันหมากไปยังบ้านฝ่ายหญิง ฤกษ์แห่ขันหมากใช้เวลาตอนเย็นประมาณ ๔-๕ โมงเย็น "ขันหมาก" ประกอบด้วยพาน ๓ พาน คือ พานหมากพลู พานข้าวเหนียวเหลือง และพานขนม แต่บางรายที่เป็นผู้มีฐานะดีก็อาจจะเพิ่มพานขนมขึ้นอีกก็ได้ พานหมากพลูนั้นจะมีเงินสินสอดใส่ไว้ใต้พานหมากพลู เงินจำนวนนี้เรียกว่า ลาเปะซีเฆะ หรือ เงินรองพลู ส่วนพานขนมนั้นประกอบด้วย ขนมก้อ (ตูปงปูตู) ข้าวพองและขนมก้อนน้ำตาล (ตูปงฮะลูวอคีแม) เป็นต้น ขันหมากดังกล่าวทุกพานคลุมด้วยผ้าสีสวย เมื่อขบวนขันหมากไปถึงบ้านฝ่ายหญิงก็ให้การต้อนรับ เถ้าแก่ฝ่ายชายจะบอกกล่าวขึ้นว่า "วันนี้ (ออกชื่อเจ้าบ่าว)ได้เอาของมาหมั้น (ชื่อเจ้าสาว) แล้ว" เมื่อเถ้าแก่ฝ่ายหญิง
รับของหมั้นแล้ว เถ้าแก่ฝ่ายชายจะถามต่อไปทันทีว่า "เงินหัวขันหมากนั้นเท่าใด" ซึ่งเถ้าแก่ฝ่ายหญิงจะต้องตอบไปจากนั้นเป็นการปรึกษาหารือถึงกำหนดวันแต่งงาน วันจัดงาน และการกินเลี้ยง และก่อนฝ่ายชายจะกลับฝ่ายหญิงจะนำผ้าโสร่งชาย (กาเฮงแปลก๊ะ) หรือผ้าดอกปล่อยชาย (กาเฮงบาเต๊ะลือป๊ะ) อย่างใดอย่างหนึ่งใส่พานที่ใส่หมากพลูมาหมั้น ส่วนพานข้าวเหนียวเหลืองและพานขนมก็จะได้รับขนมจากฝ่ายหญิงใส่พานนำกลับ
การหมั้นในปัจจุบันจะทำได้ ๒ ลักษณะคือ หมั้นก่อนแต่งทำพิธีนิกะห์(การแต่งงานตามหลักศาสนา) หรือหมั้นหลังทำพิธีนิกะห์ ซึ่งจะเป็นผลดีและมีข้อห้ามต่างกัน กล่าวคือถ้าหมั้นก่อนแต่งงานเจ้าบ่าวจะถูกต้องตัวเจ้าสาวไม่ได้ ส่วนการหมั้นหลังพิธีนิกะห์แล้ว เจ้าบ่าวสามารถถูกต้องตัวเจ้าสาวได้ เจ้าบ่าวจึงสวมของหมั้นให้กับเจ้าสาวได้และสามารถจัดพิธีนั่งบัลลังก์เพื่อให้ญาติทั้ง ๒ ฝ่ายร่วมแสดงความยินดีได้อย่างสมเกียรติ ส่วนขันหมากมีการจัดคล้ายกับในอดีต
๓. พิธีแต่งงาน ในอดีตพิธีแต่งงานโดยทั่วไปจะจัดหลังหมั้นแล้วไม่เกิน ๒ สัปดาห์ โดยถือฤกษ์๔-๕ โมงเย็นของวันใดวันหนึ่ง ฝ่ายเจ้าบ่าวจะยกขันหมากไปยังบ้านเจ้าสาว ขบวนดังกล่าวนี้ประกอบด้วยเจ้าบ่าว เพื่อนเจ้าบ่าว และญาติผู้ใหญ่ประมาณ ๕-๖ คน การไปคราวนี้ไม่มีข้าวของอะไรต้องนำไป นอกจากเงินหัวขันหมาก (จะต้องเป็นจำนวนเลขคี่) ซึ่งใส่ไว้ในขันหมากทองเหลืองใบเล็ก ๆ ห่อหุ้มด้วยผ้าเช็ดหน้าให้เจ้าบ่าวถือไป และกล้วยพันธุ์ดี เช่น กล้วยหอมอีก ๒-๓ หวี เท่านั้น ในวันดังกล่าวทางบ้านเจ้าสาวก็เตรียมการต้อนรับโดยเชิญโต๊ะอิหม่ามเป็นประธานในพิธีแต่งงาน พร้อมด้วยคอเต็มและผู้ทรงคุณธรรมอีก ๑ คน เพื่อเป็นสักขีพยาน ผู้ทรงคุณธรรมดังกล่าวนั้นจะเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือบุคคลอื่นก็ได้ ข้อสำคัญอยู่ที่คน ๆ นั้นต้องเป็นที่ยอมรับนับถือว่าเป็นคนมีศีลสัตย์ เมื่อหัวขันหมากไปถึงบ้านเจ้าสาว ฝ่ายเจ้าสาวก็ให้การต้อนรับ โอกาสนี้เจ้าบ่าวต้องส่งมอบห่อเงินหัวขันหมากให้กับโต๊ะอิหม่าม เพื่อโต๊ะอิหม่ามจะได้ตรวจนับให้ถูกต้องครบถ้วนและควบคุมเงินหัวขันหมากนั้นไว้ จากนั้นก็มีการร่วมรับประทานอาหารกัน สำหรับตัวเจ้าสาวนั้นเก็บตัวอยู่ในห้องหรือในครัวเท่านั้น หลังจากการเลี้ยงอาหารผ่านไปแล้วเจ้าบ่าวไปนั่งขัดสมาธิลงตรงเบื้องหน้าโต๊ะอิหม่าม โอกาสนี้พ่อเจ้าบ่าวจะไปถามเจ้าสาวว่ายินยอมหรือไม่ การถามตอบในครั้งนี้จะมีพยานอยู่ใกล้ ๆ หากหญิงสาวไม่ยินยอมก็จะให้ญาติผู้ใหญ่ที่สามารถอ้อนวอนเกลี่ยกล่อมจิตใจสาวจนยอมเข้าพิธี เมื่อตกปากยินยอมพยาน ๒ คน รับทราบด้วยแล้วก็ดำเนินการขั้นตอนต่อไป ดำเนินการขั้นต่อไปโดยพ่อหรือผู้ปกครอง (ต้องเป็นชาย) ของเจ้าสาว "วอเกล์" กับโต๊ะอิหม่าม บิดาจะต้องเป็นผู้จัดการแต่งงานให้บุตรสาว
ของตน แต่เมื่อผู้เป็นบิดาไม่มีความรู้ ความเข้าใจในพิธีปฏิบัติก็ให้มอบหมายให้ผู้อื่น ซึ่งมีความรู้ความเข้าใจปฏิบัติแทน จากนั้นจะมีการท่องเที่ยวหรืออ่านศาสนบัญญัติที่เกี่ยวกับการแต่งงานเรียกว่า "บาจอกุฐตึเบาะห์ ซึ่งอ่านโดยคอเติบหรือโต๊ะอิหม่ามจบจาก "บาจอกุฐตึเบาะห์" แล้ว โต๊ะอิหม่ามก็ยื่นมือไปจับปลายนิ้วมือของเจ้าบ่าวนิ้วหนึ่ง นิ้วใดก็ได้เพียงนิ้วเดียวพร้อมกับเริ่มประกอบพิธีแต่งงานให้โดยกล่าววาจาเป็นสำคัญ โดยโต๊ะอิหม่ามก็จะกล่าวดังนี้ "ยา…อับดุลเลาะห์ อากูนิกะห์ อากันดีเกา บาร์วอเกล์วอ ลีบาเปาะญอ อากันดากู ดืองันฮาลีเมาะ เป็นตีมูฮำมัด อีซีกะห์ เว็นซะบาเญาะญอ สะราโต๊ะตฆอปูและ ตีโยโก๊ะตูนา" แล้วเจ้าบ่าวต้องกล่าวตอบรับตาม "อากูตรีมอ นิกะห์ญอ คืองันอีซีกะห์ เว็บซะบาเญาะ ตึรึซึโมะอีตู" แปลว่า ได้ยอมรับการ
แต่งงาน ตามจำนวนเงินหัวขันหมากดังกล่าว

สาระ
ตามกฏเกณฑ์อิสลามนั้นการสมรสหมายถึง ชายหญิงได้ผูกจิตสัมพันธ์เพื่ออยู่ร่วมกันเป็นสามีภรรยา โดยถูกต้องตามพิธีนิกะห์ คำว่าแต่งงานภาษาอาหรับเรียกว่า "นิกะฮ์" มีความหมายว่า การกระทำพิธีแต่งงานภายใต้หลักเกณฑ์ และข้อบังคับแห่งศาสนาอิสลาม หรือ คำว่า นิกะห์ คือ การผูกปิติสัมพันธ์ระหว่างชายหญิง เพื่อเป็นสามีภรรยากัน โดยพิธีสมรสตามหลักการของศาสนาอิสลามตามบทบัญญัติของศาสนาอิสลาม
คำว่าแต่งงานในศาสนาอิสลาม จึงเรียกว่านิกะห์ ซึ่งชายคนหนึ่ง จะแต่งงานกับหญิงได้อย่างมากที่สุดในขณะเดียวกันอย่างที่สุด ๔ คน คือ หมายความว่า ชายคนหนึ่งจะมีภรรยาได้ในขณะเดียวกัน อย่างมากที่สุด ๔ คน แต่มีข้อบังคับว่าชายผู้นั้นจะต้องเลี้ยงดู ให้ความยุติธรรมกับภรรยาทั้งหมดได้ ถ้าไม่มีความสามารถแล้วก็ให้มีเพียงคนเดียวเท่านั้น