กำลังแสดงผล 1 ถึง 7 จากทั้งหมด 7

หัวข้อ: ท่านเจ้าคุณนรฯ หรือ “ ธมฺมวิตกฺโก ภิกขุ “

  1. #1
    Maximum learning
    ศิลปิน นักเขียน
    สัญลักษณ์ของ khonsurin
    วันที่สมัคร
    Apr 2008
    ที่อยู่
    ท่าตูม สุรินทร์
    กระทู้
    8,063
    บล็อก
    197

    ท่านเจ้าคุณนรฯ หรือ “ ธมฺมวิตกฺโก ภิกขุ “

    ท่านเจ้าคุณนรฯ หรือ “ ธมฺมวิตกฺโก ภิกขุ “



    ประวัติฯ ถึงวันมรณภาพ


    ท่านเจ้าคุณนรฯ หรือ “ ธมฺมวิตกฺโก ภิกขุ “

    ท่านเจ้าคุณนรฯ หรือ “ ธมฺมวิตกฺโก ภิกขุ “


    คำนำ
    คงไม่ต้องบอกกล่าวกันถึงประวัติว่าท่านเจ้าคุณนรฯ หรือ “ ธมฺมวิตกฺโก ภิกขุ “ ว่าเป็นใคร หนังสือประวัติของท่านเจ้าคุณนรฯ นั้น ได้มีผู้เขียนขึ้นมามากมายหลายเล่มด้วยกัน ต้นฉบับที่สำคัญที่ถูกคัดลอกมาลงในหนังสืออีกหลายต่อหลายเล่มก็มีของ ท.สิริปัญโญ ,เจ้าคุณอุดมฯ , พระมหาสงัด สุวิเวโก , มูลนิธิฯ ผู้ที่เขียนประวัติของท่านเจ้าคุณนรฯ นั้นก็มีหลายท่าน เช่น อาจารย์ เสทื้อน ศุภโสภณ ,อาจารย์ ศิริ พุธศุกร์ ,คุณตริ จินตยานนท์, คุณการุณย์ เหมวนิช, คุณยศ วัชระเสถียร ผลงานของท่านเหล่านี้ได้ถูกนำไปตีพิมพ์อีกหลายครั้ง ผมได้สะสมหนังสือและภาพถ่ายของท่านเจ้าคุณนรฯไว้เพื่อศึกษาประวัติของท่าน โดยเฉพาะหนังสือประวัติมีจำนวนถึงเกือบ 40 เล่มที่ไม่ซ้ำกัน มีอยู่เล่มหนึ่งที่น่าสนใจมาก ซึ่งเขียนโดย ท่านพระภิกษุถิระปุญโญ หรือ ดร.บุญยง ว่องวานิช หนังสือเล่มนั้นชื่อ “ท่านเจ้าคุณนรฯ ในความทรงจำของข้าพเจ้า” มีเนื้อหาที่น่าสนใจอยู่หลายเรื่อง จึงได้นำมาลงในหนังสือเล่ม 2 เล่มนี้ไว้เพื่อพิมพ์แจกเนื่องในโอกาส งานทำบุญวันที่ 8 มกราคม 2548 ท่านที่ได้รับแจกหนังสือเล่มนี้คงพอจะทราบประวัติอันน่ามหัศจรรย์ และ ศีลาจาวัตรที่บริสุทธิ์งดงามของท่านเจ้าคุณนรฯ กันมาบ้างแล้ว แต่ถ้าใครที่ยังไม่เคยรู้และสนใจที่จะศึกษาประวัติโดยละเอียดของท่านเจ้าคุณนรฯ ผมก็ยินดีที่จะมอบให้เป็นธรรมบรรณาการ ถึงแม้รูปเล่มจะไม่สวยงาม แต่รับประกันว่าเนื้อหาละเอียดแน่น แต่สำหรับท่านใดที่อยากได้ หนังสือที่มีรูปเล่มสวยงามและเข้มข้นไปด้วยเนื้อหา ก็ขอเชิญไปทำบุญได้ที่มูลนิธิพระพระยานรรัตน์ฯ ท่านจะได้หนังสือที่มีคุณค่าแถมยังได้ทำบุญอีกด้วย
    สมชาย ปรางค์นวรัตน์
    5 ธันวาคม 2547

    ประวัติตอนรับราชการ


    25 กุมภาพันธ์ 2457 โปรดเกล้าฯ ให้รับราชการในกรมมหาดเล็ก แผนกตั้งเครื่อง ยศมหาดเล็กวิเศษ เงินเดือน เดือนละ 40 บาท

    1 เมษายน 2458 ยศ บรรดาศักดิ์ รองหุ้มแพร นายรองเสนองานประภาษเงินเดือนเพิ่ม 20 บาท รวม 60 บาท

    10 พฤศจิกายน 2458 ย้ายไปอยู่กองห้องที่พระบรรทม

    1 เมษายน 2459 บรรดาศักดิ์ หุ้มแพร นายเสนองานประภาษ

    30 สิงหาคม 2459 เงินเดือนเพิ่ม 40 บาท รวม 100 บาท

    1 กันยายน 2459 ยศ บรรดาศักดิ์ จ่า นายจ่ายง

    31 ธันวาคม 2460 เงินเดือนเพิ่ม 100 บาท รวม 200 บาท

    1 มกราคม 2460 ยศ บรรดาศักดิ์ รองหัวหมื่น หลวงศักดิ์นายเวร

    31 ธันวาคม 2461 เงินเดือนเพิ่ม 100 บาท รวม 300 บาท

    1 มกราคม 2461 เงินเดือนเพิ่ม 40 บาท รวม 340 บาท

    1 เมษายน 2463 ยศ บรรดาศักดิ์ หัวหมื่น เจ้าหมื่นสรรเพธภักดี

    10 พฤศจิกายน 2464 เงินเดือนเพิ่ม 160 บาท รวม 500 บาท

    1 เมษายน 2465 เจ้ากรมห้องที่พระบรรทม

    1 ธันวาคม 2465 บรรดาศักดิ์ พระยานรรัตนราชมานิต

    30 ธันวาคม 2465 องคมนตรี ร.6

    1 มกราคม 2467 ยศ จางวางตรี

    24 มีนาคม 2468 วันถวายพระเพลิงพระบรมศพล้นเกล้าล้นกระหม่อมพระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้อุปสมบท ณ พระอุโบสถวัดเทพศิรินทราวาส


    1 เมษายน 2468 เงินเดือนเพิ่ม 200 บาท รวม 700 บาท

    1 เมษายน 2469 โปรดเกล้าฯ ให้ยุบเลิกตำแหน่งที่ราชการกรมมหาดเล็กหลวง ได้รับพระราชทานบำนาญเดือนละ 84 บาท 66.2/3 สตางค์

    4 เมษายน 2469 องคมนตรี ร.7

    8 มกราคม 2514 ถึงมรณภาพด้วยความชรา (บันทึก ส.น.ว. ที่ 314 ล.ว.11 ม.ค. 2514)

    ประวัติตอนบรรพชา
    ท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต รับราชการจนกระทั่งล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 สวรรคต ท่านจึงได้บวชอุทิศถวายพระราชกุศล เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2468 ที่วัดเทพศิรินทราวาสโดยมีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอุดมศีลคุณและพระพุทธวิริยากร เป็นพระกรรมวาจาจารย์และอนุสาวนาจารย์ ท่านได้บอกว่าตำแหน่งของท่านนี้ เมื่อพระเจ้าอยู่หัวสวรรคตก็จะบวชถวายพระราชกุศล มีตัวอย่างมาเสมอแต่ไม่มีใครบวชถวายตลอดชีวิตตั้งแต่หนุ่มเหมือนท่าน ส่วนท่านเองนั้นครั้งแรกก็ไม่ได้คิดจะบวชถวายตลอดชีวิตเช่นกัน แต่จะเพราะเหตุใดท่านจึงไม่ลาสิกขา ผมจะไว้กล่าวตอนต่อไป ตอนนี้จะขอกล่าวถึงเหตุใดท่านจึงได้มาบวชที่วัดเทพศิรินทราวาสก่อน ในเมื่อบ้านท่านก็อยู่ใกล้วัดโสมนัส และท่านเองก็เรียนที่วัดโสมนัส ท่านมีอะไรเกี่ยวข้องกับวัดเทพศิรินทราวาสมาก่อนหรือ ตอนนี้แหละที่วิชาดูลายมือได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตของท่านดังที่ผมได้กล่าวมาข้างต้น ท่านบอกว่าเมื่อท่านตัดสินใจแน่วแน่ที่จะบวชแล้ว ท่านพิจารณาเห็นว่าการบวชนี้ก็เท่ากับว่าได้เกิดในเพศใหม่ มีพระอุปัชฌาย์เป็นพ่อ ฉะนั้นท่านก็ควรจะเลือกพ่อให้ดีที่สุดในเมื่อท่านมีสิทธิ์จะเลือกได้ วิธีเลือกของท่านนั้นท่านได้อาศัยวิชาดูลายมือและวิชาดูลักษณะเป็นหลักเกณฑ์ โดยท่านได้นำภัตตาหารไปถวายพระเถระชั้นผู้ใหญ่ในสมัยนั้น เวลาจะประเคนท่านแอบดูลายมือขณะที่พระรับประเคนของบ้าง ขอดูบ้างเมื่อมีโอกาสสมควรและไม่ขาดคารวะ ท่านทำดังนี้อยู่หลายวัดจนกระทั่งถึงวัดเทพศิรินทราวาส ท่านได้เห็นลายมือสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ตลอดจนเห็นลักษณะทุกอย่างแล้วท่านก็ปลงใจว่า จะเลือกสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์เป็นพ่อในการเกิดเป็นพระภิกษุในครั้งนี้ ท่านจึงได้มาขอบวชที่วัดเทพศิรินทราวาส นอกจากนี้เมื่อสมัยที่ท่านรับราชการอยู่ท่านก็ได้รู้จักสมเด็จอุปัชฌาย์มาก่อนแล้ว โดยสมเด็จไปเทศน์ในวัง ท่านผู้อ่านจะเห็นว่าท่านธมฺมวิตกฺโกเป็นผู้สุขุมละเอียดอ่อนมากในการจะตัดสินใจทำอะไร โดยมากท่านจะคิดวางโครงการเป็นขั้นเป็นตอนว่า จะทำอะไร และทำให้ได้เพียงใดก่อนเสมอ


    ส่วนเรื่องที่ท่านไม่ได้คิดบวชจนตลอดชีวิตมาแต่แรก แล้วทำไมจึงตัดสินใจบวชจนตลอดชีวิตนั้น ท่านบอกว่าตามโครงการของท่านนั้น ท่านได้วางไว้ว่าจะบวชถวายพระราชกุศลเพียงหนึ่งพรรษา แล้วหลังจากนั้นท่านจะแต่งงานแล้วเดินทางไปศึกษาต่อที่อเมริกา แล้วจะกลับมารับใช้ชาติต่อไป แต่เมื่อบวชครบพรรษาแล้ว ท่านกลับไม่คิดลาสิกขา เหตุที่ท่านไม่ลาสิกขานี้ท่านบอกว่า เพราะได้กัลยาณมิตรในทางธรรมแล้วคือ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ พระอุปัชฌาย์ของท่านเอง สมเด็จฯ ได้สอนเรื่องอริยสัจสี่แก่ท่าน จนท่านเห็นความทุกข์ที่แทรกซ้อนอยู่ในความสุข จนกล่าวได้ว่าไม่มีความสุขใดในชีวิตฆราวาสที่จะไม่มีความทุกข์ซ้อนอยู่ในความสุขนั้น และเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับชีวิตของท่านที่ผ่านมา ท่านก็เห็นได้ชัดเจนว่า ชีวิตเป็นทุกข์อย่างแท้จริง และอยากจะใฝ่หาทางพ้นทุกข์ อย่างไรก็ดีท่านก็บอกว่าท่านยังไม่ตัดสินใจจะบวชตลอดชีวิตอยู่นั่นเอง แต่จะบวชไปก่อน การบวชไปก่อนของท่านนั้นไม่ได้บวชอย่างขอไปทีหรือบวชอย่างคนที่ตัดสินใจไม่ได้ว่าจะลาสิกขาหรือไม่ ซึ่งการบวชดังกล่าวมานี้ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้บวชแต่อย่างใด นอกจากจะอยู่ไปวันหนึ่ง ๆ แต่สำหรับท่านธมฺมวิตกฺโก ท่านไม่ได้ปล่อยให้เวลาล่วงไปวันหนึ่ง ๆ อย่างเปล่าประโยชน์ ท่านบวชและเจริญสมาธิอย่างเข้มงวดในช่วงระยะเวลานี้ เพียงแต่ยังไม่ได้ตั้งใจจะบวชจนตลอดชีวิตเท่านั้น และจากการปฏิบัติของท่านนี้ ก็เกิดผลให้ท่านสมดังใจทำให้ท่านตัดสินใจได้ภายหลัง ผมได้เรียนถามท่านว่าแล้วท่านตัดสินใจบวชตลอดชีวิตเมื่อใด ท่านบอกว่าท่านตัดสินใจหลังจากบวชแล้วประมาณ 6 ปี ขณะนั้นท่านเกิดเบื่อหน่ายทุกสิ่งทุกอย่าง มีความบันเทิงแต่ในทางธรรมเพียงอย่างเดียว และเห็นความเป็นอนิจจังของบ้านเมือง จนเล็งเห็นว่าแม้ท่านจะลาสิกขาออกไป ท่านก็ไม่อาจจะไปใช้ชีวิตดังเดิมได้ ในเมื่อจิตใจของท่านเบื่อหน่ายต่อชีวิตการครองเรือน มองเห็นแต่ความทุกข์ หากลาสิกขาบทไปก็เท่ากับไปใช้ชีวิตอย่างเดิมอีก ในเมื่อท่านได้ก้าวออกมาจากชีวิตนั้นแล้ว เป็นอิสระแล้ว จะย้อนกลับไปใช้ชีวิตเช่นนั้นอีกทำไมเล่า เหมือนก้าวขึ้นมาจากโคลนตมแล้วกลับกระโดดลงไปอีกฉะนั้น ส่วนที่ท่านบอกว่า เห็นความเป็นอนิจจังของบ้านเมืองจนคิดเบื่อหน่ายนั้นก็คือ เมื่อล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 7 ทรงตั้งสมาคมเจ้า และท่านปรีดี พนมยงค์ ตั้งสมาคมราษฎร์ขึ้นมา ท่านจึงพิจารณาเห็นว่าท่านไม่อาจไปใช้ชีวิตฆราวาสได้อีกอย่างแน่นอน เพราะชีวิตฆราวาสเป็นชีวิตที่ต้องต่อสู้โดยไม่รู้ว่าต่อสู้ไปทำไม เพื่ออะไร ในเมื่อชีวิตนี้เป็นทุกข์ควรจะต่อสู้เพื่อให้พ้นทุกข์มิดีกว่าหรือ การที่ท่านตัดสินใจอย่างนี้ ผมคิดว่าคงจะเป็นผลจากการเจริญสมาธิของท่านนั่นเอง ท่านเองก็เคยปฏิเสธตำแหน่งทางราชการมาแล้ว เมื่อครั้งที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 7 รับสั่งให้เจ้าคุณไพชยนต์เทพฯ (ทองเจือ ทองใหญ่) มาติดต่อให้ไปรับราชการกับพระองค์ท่าน ซึ่งท่านธมฺมวิตกฺโกก็ได้กล่าวตอบในเชิงปฏิเสธว่า "ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ชุบเลี้ยงมาก็เปรียบเสมือนแปรธาตุตะกั่วเป็นทองคำ แม้จะทรงนำไปชุบเลี้ยงอย่างไรอีกก็เท่ากับเอาทองคำไปลงยาฝังเพชรเท่านั้น" และเพื่อเป็นการยืนยันว่า พระองค์ท่านต้องการให้กลับไปรับราชการอย่างแท้จริง ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 7 ทรงแต่งตั้งท่านธมฺมวิตกฺโกเป็นองคมนตรีของพระองค์ท่าน เมื่อ 4 เมษายน 2469 ในขณะที่ยังครองสมณเพศอยู่ ก่อนที่ท่านธมฺมวิตกฺโกจะบวชนั้นท่านมีทรัพย์สินมากพอจะเป็นเศรษฐีในสมัยนั้นได้ เมื่อท่านบวชแล้วท่านก็ได้บริจาคทรัพย์สินที่ท่านมีอยู่ให้เป็นสมบัติแก่พระศาสนา โดยท่านได้บริจาค


    1.ที่ดินที่จังหวัดนครปฐม จำนวน 7 ไร่ ได้ถวายให้แก่วัดเสน่หา จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2470


    2.ที่ดินที่ตำบลพญาไท อำเภอดุสิต นครหลวงฯ (พระนคร) จำนวนเนื้อที่ดิน 5 ไร่ 67 ตารางวา ได้ถวายให้แก่วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2475

    ที่ดินเหล่านี้ หากจะขายในเวลานี้ (พ.ศ. 2516) คงจะมีมูลค่านับสิบล้านบาท ส่วนในด้านคู่ครองท่านก็มีคู่หมั้นอยู่ก่อนที่จะบวชคือ คุณชุบ มานะเศวต นับว่าชีวิตของท่านในทางฆราวาสไม่ขาดตก
    บกพร่อง หากท่านไม่บวชท่านก็สามารถใช้ชีวิตของฆราวาสได้อย่างสบายไม่เดือดร้อน และไม่อดตายอย่างที่ใคร ๆ เขาว่าท่าน แต่ท่านกลับสละทรัพย์สมบัติ คนรัก จนหมดสิ้น ท่านบอกว่าคุณหญิงซึ่งเป็นพี่สาวคุณชุบบอกว่า คุณชุบหมั้นกับใครก็ไม่หมั้นมาหมั้นกับพระยานรรัตนฯ บ้า ๆ หมั้นเขาแล้วกลับบวชไม่สึก ตอนนี้ผมได้เรียนถามท่านว่าทำไมเลือกคุณชุบเป็นคู่หมั้น ท่านมีหลักเกณฑ์อย่างไร ท่านบอกว่าท่านเลือกคุณชุบ เพราะคุณชุบไม่สวยและดื้อเหมือนกับท่าน และอีกอย่างหนึ่งคุณชุบเป็นลูกคุณหลวง ท่านบอกว่าท่านรักและเคารพคุณพ่อของท่าน ไม่ต้องการแต่งงานกับผู้หญิงที่บิดามีฐานะเหนือกว่าคุณพ่อของท่านซึ่งมีบรรดาศักดิ์เป็นคุณพระ เพราะท่านเกรงว่าจะไม่ให้ความเคารพคุณพ่อของท่าน ปัจจุบันนี้คุณชุบก็ยังมีชีวิตอยู่และเป็นหญิงใจเดียว คุณชุบ มานะเศวต ครองตัวเป็นโสดตลอดมาโดยไม่ได้แต่งงานกับใคร นับว่าเป็นยอดหญิงที่หาได้ยากยิ่ง เมื่อท่านธมฺมวิตกฺโกมรณภาพ คุณชุบก็มาเคารพศพอยู่เสมอ และทำบุญอุทิศให้แก่ท่านตามกำลังความสามารถ (หากคุณชุบได้อ่านหนังสือเล่มนี้จะคิดอย่างไรผมไม่อาจคาดได้ ผมได้แต่ตั้งจิตขออภัยไว้ในที่นี้ หากมีอะไรไม่สมควรก็ขออภัยด้วย เพราะการเขียนประวัติของท่านนั้นไม่อาจจะไม่กล่าวถึงคุณชุบได้เลย ผมเขียนตามที่ท่านบอกเล่าให้ฟังและด้วยความเคารพอย่างสูงสุดต่อท่านธมฺมวิตกฺโก ผู้มีคุณต่อผมอย่างมหาศาล ผมพยายามจะเขียนทุกอย่างที่ท่านเล่าให้ฟัง ไม่ปรารถนาจะให้เสื่อมเสียแก่ใคร ในทางกลับกันผมปรารถนาจะเขียนเพื่อเทิดทูนท่านธมฺมวิตกฺโกและทุกคนที่เกี่ยวข้องกับท่าน) สำหรับเรื่องของคุณชุบท่านได้เล่าให้ฟังอีกว่า หลังจากท่านบวชแล้วคุณชุบก็บวชบ้างโดยไปเป็นอุบาสิกาถือศีลอยู่ที่วัดโสมนัส ตลอดเวลาที่ท่านบวชท่านห้ามมิให้คุณชุบมาเยี่ยมเยียนท่านเว้นแต่มีธุระจำเป็น ท่านเกรงจะเป็นที่ครหาของผู้อื่น ท่านบอกว่าเมื่อคุณชุบถือศีลอยู่หลายปี คุณชุบมาหาท่านบอกว่าจะขอลาสึก เพราะเห็นว่าชีวิตของอุบาสิกาไม่สู้จะทำประโยชน์ให้แก่ใครมากนัก หากสึกแล้วไปเป็นครูสอนหนังสือดูจะเป็นประโยชน์มากกว่า ซึ่งท่านก็อนุญาต ท่านธมฺมวิตกฺโกเคยพูดถึงคุณชุบตอนนี้ว่าเขาเก่งเหมือนกัน ท่านธมฺมวิตกฺโกท่านชอบพูดอะไรตรง ๆ ไม่อ้อมค้อม ท่านบอกว่า "อาตมาพูดจาไม่ค่อยอ่อนหวาน เป็นคนขวานผ่าซาก" แม้เมื่อรับราชการอยู่ในวังท่านก็พูดตรงจุดตรงเป้าเสมอ บางท่านอาจจะเห็นว่าท่านพูดจาหยาบคาย แต่หากท่านผู้อ่านมาเห็นได้ยินขณะท่านพูดแล้วจะรู้สึกว่าท่านไม่หยาบเคยเลย เห็นจะเป็นว่าขณะที่ท่านพูด ท่านพูดด้วยจิตใจบริสุทธิ์ไม่ประสงค์จะให้หยาบคาย หากประสงค์จะให้ผู้ฟังเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง ท่านเคยกรุณาให้โอวาทสั่งสอนผมหลายครั้ง แต่ละครั้งท่านพูดอย่างชนิดที่เรียกว่าสะใจทุกครั้ง เมื่อจบแล้วท่านจะบอกว่าที่ต้องพูดอย่างนี้ต้องการให้เจ็บต้องการให้จำ คนเราเจ็บแล้วจำและพยายามกลับตัวใหม่เป็นคนดี ท่านสอนเสมอว่าเมื่อทำผิดแล้วไม่ต้องเสียใจ แต่ให้พยายามจำไว้เป็นบทเรียนว่าจะไม่ทำผิดเช่นนั้นอีก และท่านจะยกคำกลอนในอุทานธรรมมาสอนว่า

    ปิ้งปลาหมองอแล้วกลับนี่คำขำ
    เจ็บแล้วจำใส่กระบาลนี่ขานไข
    ผิดแล้วแก้กลับตัวเปลี่ยนหัวใจ
    จะหาใครมาวอนไม่สอนตน


    คำกลอนในอุทานธรรมนี้ท่านธมฺมวิตกฺโก ท่านจำได้หมดและมักจะยกมาพูดเมื่อเกี่ยวกับเรื่องที่ท่านพูดถึง ท่านบอกว่าผู้แต่งอุทานธรรม คือ ท่านเจ้าคุณสาสนโสภณ (แจ่ม จตสฺสลฺล) ได้เอาคำกลอนนี้มาให้ท่านระหว่างสงคราม ตอนนั้นไม่ค่อยจะมีใครอยู่วัด สมเด็จอุปัชฌาย์ก็ไปอยู่วัดเขาบางทราย ชลบุรี ท่านเจ้าคุณสาสนโสภณได้มาเยี่ยมท่านและถามว่ายังไม่ตายหรือ ท่านก็ตอบว่ายังไม่ตาย ท่านได้มอบอุทานธรรมให้ท่านเล่มหนึ่ง และท่านก็ท่องจำได้แต่นั้นมา ใครก็ตามที่เคยพบท่านจะต้องเคยได้ยินท่านให้พรว่า "จงเลือกทำแต่กรรมที่ดี ๆ นะ" ซึ่งก็มีที่มาจากอุทานธรรมเช่นกัน โดยมีบทเต็มว่า

    รักษาตัวกลัวกรรมอย่าทำชั่ว
    จะหมองมัวหม่นไหม้ไปเมืองผี
    จงเลือกทำแต่กรรมที่ดีดี
    จะได้มีความสุขพ้นทุกข์ภัย



    คำให้พรของท่านที่ว่า จงเลือกทำแต่กรรมที่ดีดีนั้น ผมเคยเรียนถามว่าชีวิตของคนไม่เหมือนกัน บางคนเกิดมาไม่มีโอกาสจะทำกรรมดีเลย เพราะไปเกิดในประเทศที่ไม่สมควร ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วจะทำอย่างไร ท่านบอกว่าถ้าเป็นอย่างนั้นก็สุดแต่บุพกรรม แต่โดยปกติแล้วคนใจแข็งต้องเว้นจากกรรมชั่วเลือกทำแต่กรรมดีได้ และท่านได้กรุณาบอกถึงลักษณะของคนใจแข็งว่าจะต้องประกอบด้วย


    1.ไม่บ่น
    2.ไม่ร้องทุกข์
    3.ไม่อยากรู้ความลับของใคร
    4.ไม่บอกความลับของตนแก่ใคร
    5.ไม่สนใจใครว่าจะเห็นตนเป็นอย่างไร
    6.ไม่กลัวความทุกข์ยาก
    7.รู้จักเอาความทุกข์ยากมาเป็นประโยชน์สร้างความก้าวหน้าในชีวิต



    เมื่อระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้คนในกรุงเทพฯ ได้อพยพออกไปอยู่บ้านนอกกันเป็นส่วนมาก ไม่ยกเว้นแม้แต่พระสงฆ์องค์เจ้า พระในวัดเทพศิรินทราวาสก็อพยพ แต่ท่านธมฺมวิตกฺโกไม่ได้ไปไหนเลย ท่านอยู่ที่กุฎิของท่านตลอดระยะเวลาสงครามครั้งนี้ ท่านได้เล่าเหตุการณ์ว่าทางด้านหลังวัดซึ่งปัจจุบันเป็นบริเวณสุสานหลวงได้มีทหารญี่ปุ่นมาพักเต็มไปหมด และอาบน้ำในสระของวัดซึ่งเดี๋ยวนี้เป็นสระเต่า ที่หน้ากุฏิของท่านเดิมเป็นศาลาใหญ่ ปัจจุบันได้รื้อออกแล้วสร้างเป็นโรงเรียนปริยัติธรรม


    ที่ศาลานี้ในระหว่างสงครามโลกได้มีญี่ปุ่นเอาเครื่องรับวิทยุมาตั้ง โดยเห็นว่าเป็นวัดไม่เป็นที่สงสัย และมีเจ้าหน้าที่มาคอยควบคุมเครื่องส่งวิทยุนี้ วันหนึ่งมีผู้มาบอกท่านว่าจะมีเครื่องบินเอาระเบิดมาทิ้งเครื่องวิทยุที่ตั้งอยู่ที่ศาลาให้ท่านหลบไปเสีย ท่านเล่าว่าท่านไม่ยอมหลบแต่กลับนั่งรอคอยอย่างสงบ เวลาประมาณหลังเที่ยงวันมีเสียงเครื่องบินผ่านมา ท่านก็เปิดหน้าต่างออกมาดูเห็นเครื่องบินวนอยู่หลายรอบและที่สุดก็ทิ้งระเบิดลงมา ท่านได้ร้องถามในใจว่า "Do you kill me, my friend?" แล้วก็มองดูลูกระเบิด ปรากฏว่าลูกระเบิดได้ผ่านศาลาและกุฏิท่านไป ลูกแรกไปตกข้างโบสถ์ ถัดจากนั้นก็ไปตกถูกตึกโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์และตึกที่ทำการของการรถไฟแห่งประเทศไทย ผลปรากฏว่าโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ คือ ตึกแม้นนฤมิต และตึกของการรถไฟฟังพินาศ ส่วนลูกที่ตกข้างโบสถ์นั้นไม่ระเบิด ภายหลังได้ติดต่อเจ้าหน้าที่มาขุดเอาไป ท่านบอกว่าพระเชียงแสนและพระประธานในโบสถ์ศักดิ์สิทธิ์ ถ้าลูกระเบิดที่ตกนั้นระเบิดขึ้นมา โบสถ์ก็คงพังเสียหายมาก ท่านผู้อ่านที่นับถือท่านอาจจะคิดว่าที่ลูกระเบิดด้านไปเพราะความศักดิ์สิทธิ์ของท่านธมฺมวิตกฺโก แต่สำหรับผมไม่ขอวิจารณ์ด้วย สำหรับท่านเองท่านไม่กลัวความตาย จึงไม่อพยพหนีไปไหน ท่านบอกว่าความตายคือมิตรที่ดีที่สุด นำความสงบมาให้ และเป็นมิตรที่ซื่อตรงจะมาถึงทุกคนอย่างแน่นอนไม่ว่าจะมั่งมียากจนดีหรือชั่ว จะต่างกันก็แต่ช้าหรือเร็วเท่านั้น นอกจากนี้การระลึกถึงความตายเป็นอนุสติอีกด้วย ถึงตอนนี้ท่านธมฺมวิตกฺโกก็ยกเอากลอนในอุทานธรรมมากล่าวว่า


    ระลึกถึงความตายสบายนัก
    มันหักรักหักหลงในสงสาร
    ทั้งมืดมนโมหันต์อันธกาล
    ทำให้หาญหายสะดุ้งไม่ยุ่งใจ


    ท่านธมฺมวิตกฺโกอยู่ในวัดเทพศิรินทราวาสตลอดระยะสงครามโดยปลอดภัย เวลากลางคืนท่านก็ลงจำวัดในหีบศพที่โยมพ่อต่อเอามาให้ แล้วใช้จีวรคลุมบนหีบศพต่างมุ้ง ท่านบอกว่าหากพลาดพลั้งระเบิดตกลงมา เวลาคนมาเก็บศพก็ไม่ลำบาก ท่านไม่ยอมออกจากวัดจริง ๆ การไม่ยอมออกจากวัดนี้เป็นความตั้งใจเด็ดขาดของท่านเอง แม้เมื่อโยมพ่อและโยมแม่เสียชีวิตท่านก็ไม่ยอมออกไปเยี่ยมศพ เพียงแต่สั่งการให้ใครทำอะไร และทำอย่างไรเท่านั้น นอกจากนี้ท่านบอกวาท่านได้นั่งสวดอุทิศส่วนกุศลไปให้


    ท่านธมฺมวิตกฺโกมีหนังสือไว้สำหรับแจกผู้ที่ไปหาท่าน ชื่อหนังสือ สันติวรบท โดยมีคำสอนของท่าน 9 ข้อ นอกจากนั้นก็เป็นบทสวดมนต์และอื่น ๆ ผมได้เคยรับแจกจากท่านตั้งแต่คำสอนของท่านยังมีเพียง 6 ข้อ แต่มาเมื่อท่านพิมพ์เพิ่ม ผมก็ได้รับแจกจากท่านเรื่อยมาจนเล่มสุดท้ายที่ท่านพิมพ์มีคำสอนของท่าน 9 ข้อ มีคำสอนหนึ่งท่านให้ชื่อว่าดอกมะลิ ตอนนั้นยังไม่พิมพ์รวมในเล่มเดียวกัน แต่ท่านพิมพ์ในแผ่นกระดาษสี่เหลี่ยม ท่านได้แจกให้กับผมเมื่อปี พ.ศ. 2510 พร้อมกับกระดาษอีกแผ่นหนึ่ง เป็นรูปดอกบัวมีแปดกลีบ และมีรูปเพชร 3 เม็ดอยู่บนดอกบัวนั้น ท่านได้อธิบายให้ฟังว่า ดอกบัวที่มีแปดกลีบหมายถึงอริยมรรคอันมีองค์แปดและเพชรหมายถึงพระรัตนตรัย นอกจากนี้ดอกบัวเป็นดอกไม้อันเกิดมาแต่โคนตมแต่น้ำ แต่ดอกบัวก็ไม่ติดโคลนติดน้ำ เพชรเกิดมาแต่หินแต่เพชรก็ไม่ติดหิน ฉันใดก็ดี คนเราที่เกิดมาในโลกก็ไม่ควรติดโลกฉันนั้น และภาพอันเกิดจากจินตนาการของท่านธมฺมวิตกฺโกนี้ ผมได้เอามาเป็นภาพปกของหนังสือเล่มนี้แต่เขียนขึ้นใหม่เพราะภาพเดิมหายไป ส่วนคำสอนที่มีชื่อว่าดอกมะลิ ต่อมาท่านได้พิมพ์รวมในหนังสือสันติวรบท ท่านบอกว่าหนังสือสันติวรบทนี้ ท่านพลโทเฉลิมชัย จารุวัสตร์ ได้พิมพ์ถวาย และคุณสุชีพ ปุญญานุภาพ เป็นคนตรวจแก้ถวาย ขอให้เก็บให้ดีเอาไว้ที่หัวนอน เวลานอนจะได้อ่าน จะได้เอาธรรมะเป็นเพื่อนนอน เวลาท่านจะให้ใคร ถ้าเป็นผู้ชายท่านจะเอาใส่กระเป๋าเสื้อให้ ถ้าเป็นผู้หญิงท่านจะวางให้บนศรีษะ ถ้าเสื้อใครไม่มีกระเป๋าบางครั้งท่านก็ไม่ให้โดยบอกว่าวันหลังค่อยมาเอา ท่านจะสั่งว่าให้ไปทำปกให้ดีอย่าปล่อยให้ชำรุดเสียหาย ถ้านิยมความศักดิ์สิทธิ์ก็ให้ถือเอารูปพระที่หน้าปกหนังสือ ถ้ามีศรัทธาในเรื่องกรรมก็ให้ถือเอาคำสั่งสอนในหนังสือนั้นไปประพฤติปฏิบัติ เพราะผู้ใดปฏิบัติธรรมแล้วธรรมจะรักษาผู้ประพฤติปฏิบัติไว้ไม่ให้ตกต่ำเป็นของแน่นอนยิ่งกว่าความศักดิ์สิทธิ์ใดในโลกนี้ หนังสือสันติวรบทนี้เล่มแรกที่ข้าพเจ้าได้รับเป็นปกสีเหลืองไม่มีรูปอะไร ต่อมาท่านได้ทำเป็นรูปพระแก้วองค์เดียว และต่อมาเมื่อพิมพ์ครั้งหลังท่านได้เพิ่มรูปพระพุทธชินราช พระพุทธสิหิงค์เป็นรูปพระสามองค์ อันนับได้ว่าเป็นพระประจำเมืองของเรา ใครที่ได้รับหนังสือของท่านผมมั่นใจว่า หนังสือนั้นมีความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งกว่าพระเครื่องใด ๆ ของท่าน ถ้าจะนับถือความศักดิ์สิทธิ์ ขอให้เก็บรักษาไว้ให้ดีเถิด บัดนี้ท่านก็ละโลกนี้ไปแล้ว ไม่มีโอกาสที่จะได้รับหนังสือนี้จากท่านอีกต่อไป ท่านธมฺมวิตกฺโกไม่เคยสอนให้ใครเชื่อในอิทธิปาฏิหาริย์ แต่สอนให้เชื่อในเรื่องกรรม ให้หมั่นทำความดี เพราะอิทธิปาฏิหาริย์ใด ๆ ก็ไม่อาจทำให้ผู้เชื่อถือหรือปฏิบัติไปสู่ความพ้นทุกข์ได้



    การเขียนประวัติของท่านธมฺมวิตกฺโกนี้ แต่เดิมผมตั้งใจจะเขียนถึงท่านในด้านเดียวคือ การเจริญสมถวิปัสสนากรรมฐานของท่าน เพื่อจะให้ผู้มีศรัทธาในผลการปฏิบัติของท่านได้ถือเป็นตัวอย่างในการปฏิบัติถ้าอยากจะเจริญรอยตามท่าน ซึ่งในเรื่องนี้ท่านก็ได้กรุณาเล่าให้ฟัง นับแต่เริ่มแรกการปฏิบัติของท่านแต่บวชทีเดียว แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ผมได้ฟังแต่ตอนแรกอยู่ไม่กี่ครั้ง ภายหลังท่านมีกิจธุระคือมีผู้มาเยี่ยมเยียนท่านมาก เมื่อก่อนวันที่ 5 ธันวาคม 2513 จนไม่มีเวลาได้พบท่านให้ท่านเล่าเรื่องดังกล่าวต่อ หลังจากวันที่ 5 ธันวาคม 2513 ผมเกือบจะไม่ได้พบท่านเลย ที่ผมบอกว่าเกือบจะไม่ได้พบนี้ คือผมได้พบเพียงครั้งเดียวเท่านั้น และในครั้งนั้นไม่ได้คุยถึงเรื่องการเจริญสมถวิปัสสนากันเลย แม้จะได้คุยกับท่านเป็นเวลานานมากก็ตาม ผมเองไม่เคยคิดว่าท่านจะมรณภาพเร็วอย่างนี้ คิดอยู่เสมอว่าท่านจะต้องอยู่ต่อไปอีกอย่างน้อยก็ 2-3 ปี แม้ท่านจะได้พูดเสมอว่าท่านจะอยู่อีกไม่นานท่านจะจากไปแล้ว เช่น "โรคที่อาตมาเป็นไม่หายหรอก จะหายพร้อมกับตาย แต่ไม่ต้องห่วงเพราะสังขารเป็นที่อาศัยของจิตเท่านั้น" หรือ "คุณไม่ต้องกังวลเรื่องความเจ็บป่วยของอาตมา เพราะพุทธเจ้าสอนว่า ร่างกายเป็นรังของโรค มะเร็งก็เหมือนกับกาฝากที่เกาะต้นไม้ ถ้าต้นไม้แข็งแรงกาฝากก็ตาย คุณดูต้นประดู่ที่ข้างกุฏิอาตมาซิ กาฝากมาเกาะเมื่อไรก็ตายหมด เพราะประดู่แข็งแรงกว่า แต่อาตมาตอนนี้แก่แล้วร่างกายไม่แข็งแรง คงจะแพ้กาฝาก" เป็นต้น ผมก็ไม่เคยเฉลียวใจ คิดอยู่แต่ว่าท่านจะต้องผ่านการเจ็บป่วยไปได้เหมือนทุกครั้งที่ท่านเจ็บป่วย และคงจะมีเวลาไต่ถามท่านถึงเรื่องการเจริญสมถวิปัสสนาต่อไป อีกอย่างหนึ่งแม้ท่านจะเจ็บป่วยอย่างไร ท่านก็ไม่เคยแสดงว่าท่านต้องทุกขเวทนาอยู่ ท่านสดชื่นแข็งแรงเหมือนปกติ แม้บางครั้งจะมีเลือดไหลออกจากแผนตลอดเวลา ท่านก็ไม่ร้อนใจแต่อย่างใด บอกแต่ว่าเป็นเรื่องธรรมดา


    ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ ทำให้ผมไม่อาจเขียนเรื่องการเจริญสมถวิปัสสนาของท่านอย่างละเอียดได้ นอกจากจะเขียนได้แต่เฉพาะตอนต้น ๆ ที่ท่านเล่าให้ฟังเท่านั้น ท่านเล่าว่าการทำสมาธิ ท่านได้ฝึกทำมาแต่ครั้งยังเป็นฆราวาส เมื่อท่านบวชท่านได้ฝึกต่อไปโดยตัดกระดาษเป็นรูปวงกลมติดไว้ข้างฝาห้องแล้วนั่งเพ่งจนกระทั่งท่านเห็นภาพนี้ชัด ไม่ว่าจะหลับตาหรือลืมตา เป็นภาพที่ติดอยู่ในจิต เป็นภาพนิมิต และต่อมาท่านได้ขยายภาพนิมิตนี้ในจิต ให้ใหญ่ให้เล็กได้ตามความประสงค์ หรือจะทำให้ภาพวงกลมนี้มีมากมายหลายภาพจนนับไม่ถ้วนก็ได้ การที่ท่านเลือกรูปวงกลมมาเป็นภาพสำหรับกำหนดจิต แทนที่จะเป็นพระพุทธรูปหรืออย่างอื่น ก็เพราะว่าท่านเห็นรูปวงกลมนี้เหมือนกับสังสารวัฎที่หมุนเวียนอยู่เสมอ ต่อมาเมื่อท่านเห็นว่าท่านมีกำลังจิตแรงกล้าพอแล้ว ท่านได้ทดลองอำนาจกำลังจิตของท่านโดยเอาหัวกะโหลกผีมาตั้งเรียงไว้ 4 หัวข้างที่นอนของท่าน เมื่อเตรียมการเสร็จแล้วก็รวบรวมอำนาจจิต นั่งสมาธิอยู่หน้าหัวกะโหลกผีเหล่านั้น โดยเอาหัวกะโหลกผีเป็นจุดกรรมฐาน เมื่อนั่งใหม่ ๆ ภาพที่เกิดในนิมิตปรากฏอย่างแปลกประหลาดพิศดาร โดยหัวกะโหลกเหล่านั้นได้หลอกหลอนท่าน ลอยเข้ามาหาท่านบ้าง ห่างไปบ้าง ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง แต่ภายหลังเมื่อท่านได้กำหนดอารมณ์ให้ภาพเหล่านี้ผ่านเลยไปแล้ว ท่านก็ได้เห็นหัวกะโหลกเหล่านั้นในสภาพที่เป็นจริง ไม่มาหลอกหลอนท่านอีกต่อไป ซึ่งยังความปลาบปลื้มยินดีให้แก่ท่านมากขึ้น นี่เป็นเพียงการทดลองอำนาจจิตที่ฝึกไว้ของท่านเท่านั้น และก็เป็นที่น่าเสียดาย ที่ท่านก็ได้เล่าให้ผมฟังเพียงเท่านี้ แล้วก็ไม่ได้มีโอกาสจะซักถามให้ท่านเล่าต่ออีกเลย ความหวังของผมที่จะเขียนถึงการเจริญสมถวิปัสสนาของท่านก็เป็นอันล้มเหลวไป นับเป็นเคราะห์กรรมของผมเอง และเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องแปลก เพราะเมื่อครั้งที่ผมได้ให้ท่านเล่า เพื่อจะได้เอามาเขียนหลังท่านมรณภาพแล้วนั้น ท่านได้บอกว่า "ไม่มีประโยชน์ดอก เพราะไม่คิดว่าคุณจะเขียนได้" เมื่อผมนึกขึ้นมาครั้งใด อดคิดไม่ได้ว่าท่านสามารถหยั่งรู้กาลอนาคตได้ว่า ผมไม่มีทางจะเขียนได้โดยละเอียดเลย เมื่อผมได้ฟังเพียงเท่านี้ก็ขอเล่าให้ท่านผู้อ่านฟังเพียงเท่านี้



    บัดนี้ท่านธมฺมวิตกฺโกได้ละจากโลกไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2514 เวลาประมาณ 11.00 น. เหลือเพียงประวัติชีวิตอันบริสุทธิ์ มีแต่ความดีงามไว้ให้ทุกคนได้ดำเนินตาม ท่านเป็นตัวอย่างยืนยันถึงความสุขอันเกิดแต่ความสงบโดยแท้ คนที่ไม่ต้องการอะไรเลยในชีวิต เป็นผู้ประสบความสุขอย่างแท้จริงยิ่งกว่าคนที่ต้องการทุกอย่างในชีวิต ท่านเป็นตัวอย่างของสงฆ์ผู้ทรงศีลบริสุทธิ์ ไม่มีความอยากใด ๆ ไม่ปรารถนาจะเป็นอาจารย์ของผู้ใด ไม่ใฝ่หาลาภสักการะ ไม่ใฝ่หาชื่อเสียงเกียรติคุณ เป็นผู้ปฏิบัติตรงต่อพระธรรมวินัยโดยเคร่งครัด มีความกตัญญูเป็นเลิศยากจะหาใครมาทัดเทียม นับแต่นี้ต่อไปแม้จะไม่มีสังขารของท่านธมฺมวิตกฺโก แต่คุณงามความดีของท่านก็จะยังคงอยู่ตลอดไปไม่เสื่อมสลาย ท่านเคยบอกว่านามฉายาของท่านคือ ธมฺมวิตกฺโก นั้นมีความหมายถึงการระลึกถึงธรรม หรือการตรึกถึงธรรม อันเป็นนามเดิมของท่าน เมื่อครั้งที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ท่านเคยบอกเสมอว่า "ถ้าคิดถึงอาตมาก็ให้คิดถึง ธมฺมวิตกฺโก เพราะ ธมฺมวิตกฺโก คือการระลึกถึงธรรม เมื่อคิดถึงเช่นนี้แล้วธมฺมวิตกฺโกก็จะอยู่ข้าง ๆ เสมอ ไม่จำเป็นจะต้องมาหาอาตมา เพราะเมื่อมาหาก็มาเห็นแต่สังขาร ซึ่งวันหนึ่งก็จะเน่าเปื่อยและเสื่อมสิ้นไป จงระลึกถึงธรรมดีกว่า จะมีคุณค่าต่อชีวิตยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด ศีลและธรรมเป็นหลักของมนุษย์ มนุษย์จะอยู่ได้สงบเยือกเย็นเป็นสุขก็โดยศีลและธรรม หากขาดสิ่งเหล่านี้แล้วมนุษย์ก็จะมีค่าเสมอกันกับสัตว์" พวกเราทั้งหลายที่มีจิตศรัทธาต่อท่านธมฺมวิตกฺโก จงมาระลึกถึงท่านด้วยการระลึกถึงธรรมดังที่ท่านปรารถนาเถิด เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูต่อท่าน และเมื่อพวกเราทั้งหลายได้ระลึกถึงธรรมและปฏิบัติธรรมกันแล้ว ด้วยอานุภาพแห่งธรรมนั้น จะช่วยคุ้มครองให้ถึงซึ่งความสุขอย่างยิ่ง คือพระนิพพาน อย่างมิต้องสงสัยเลย

    …………………………………………………..
    *********************************


    อิสระ เสรี เสมอภาค




    *********************************

  2. #2
    Maximum learning
    ศิลปิน นักเขียน
    สัญลักษณ์ของ khonsurin
    วันที่สมัคร
    Apr 2008
    ที่อยู่
    ท่าตูม สุรินทร์
    กระทู้
    8,063
    บล็อก
    197
    *****************************
    ปาฏิหาริย์ในพุทธศาสนา
    ท่านธมฺมวิตกฺโก ไม่ได้สอนให้พุทธศาสนิกชนเชื่อถืออิทธิปาฏิหาริย์ แต่บุคคลส่วนมากก็เชื่อว่าท่านมีอิทธิปาฏิหาริย์มิใช่น้อย เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระบรมศาสดาของชาวพุทธทั้งหลาย พระองค์ไม่ทรงส่งเสริมให้สาวกแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ แต่พระองค์ก็ไม่ทรงปฏิเสธว่าการแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ตามโอกาสอันจำเป็นเป็นสิ่งไม่สมควรเสียเลยผู้ที่ศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างพินิจพิเคราะห์แล้ว จะเห็นได้ว่า พระศาสนานี้เผยแพร่อย่างกว้างขวางและยืนยงคงอยู่มาได้ ก็เพราะอิทธิปาฏิหาริย์ที่พระบรมศาสดาและสาวกของพระองค์แสดงตามโอกาส มีส่วนช่วยน้อมโน้มจิตใจของผู้ที่ยังไม่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาให้มาเลื่อมใส เพราะฉะนั้นท่านธมฺมวิตกฺโก จึงได้ไม่ฝ่าฝืนพระพุทธบัญญัติในการที่ท่านสวดอธิษฐานจิตให้พระเครื่องมีคุณค่าสูงยิ่งขึ้น เป็นการช่วยประชาชนให้ปลอดภัย บำรุงชาติให้พัฒนา และเผยแพร่พระศาสนา ตัวอย่างเช่น ประชาชนมีกำลังใจเข้มแข็ง ต่อสู้ภยันตรายในการดำเนินชีวิต และในการผจญอริราชศัตรู โรงเรียนขนาดใหญ่ได้อุบัติขึ้นมาช่วยเยาวชนเป็นอันมาก ให้พรั่งพร้อมไปด้วยวิชาภรณ์ อุโบสถสูงเด่นเป็นสง่า สัมฤทธิ์ขึ้นมาช่วยให้พระสงฆ์ทำสังฆกรรมโดยสะดวก และถาวรวัตถุอื่น ๆ อันอำนวยประโยชน์แก่สาธารณชน ก็กำลังสำเร็จเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งนี้เพราะบารมีและฤทธานุภาพแห่งท่านธมฺมวิตกฺโก แม้ในครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าก็ทรงยกย่องพระมหาเถระที่ชื่อว่า พระโมคคัลลาน์ว่า เป็นผู้เลิศกว่าพระสงฆ์รูปอื่นในทางแสดงฤทธิ์ได้เป็นอัศจรรย์ เพราะท่านสามารถน้อมนำบุคคลในศาสนาอื่นจำนวนมากเข้ามาเป็นพุทธศาสนิกชน จนถึงขนาดเจ้าลัทธิอื่น ๆ เคียดแค้น ชิงชัง ริษยา ได้ว่าจ้างให้โจรไปดักปลงชีวิตท่านเสีย
    เรื่องปาฏิหาริย์ ไม่ว่าจะเป็นการดักใจเป็นอัศจรรย์ การสั่งสอนเป็นอัศจรรย์ หรือการแสดงฤทธิ์เป็นอัศจรรย์ ล้วนได้รับการรับรองว่ามีจริง แต่การสั่งสอน (คำสั่งสอน) เป็นอัศจรรย์ถือว่าเป็นปาฏิหาริย์ที่ดีที่สุด พระพุทธศาสนานี้ ถึงจะไม่มีเรื่องปาฏิหาริย์เลย ก็สามารถเผยแพร่และมั่นคงอยู่ได้ เพราะเรื่องปาฏิหาริย์เป็นเพียงเปลือกนอกหรือกระพี้ของพระพุทธศาสนา คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามีเหตุผลที่ผู้รู้อาจตรองตามให้เห็นจริงได้ เป็นนิยยานิกธรรม นำผู้ปฏิบัติให้พ้นทุกข์ เป็นสุขได้ ผู้ฉลาดเมื่อปรารถนาแก่นไม้ ย่อมไม่เข้าใจผิดคิดว่าเปลือกนอกและกะพี้เป็นแก่น ย่อมผ่ากะเทาะเปลือกและกะพี้ออกจนถึงแก่น ฉันใด ผู้ปรารถนาพุทธธรรมแท้ก็เช่นเดียวกัน เมื่อมีพระปฏิมาคือรูปเปรียบของพระพุทธเจ้าแล้ว ไม่ควรติดอยู่แค่ความศักดิ์สิทธิ์ ต้องขวนขวายปฏิบัติธรรมบำเพ็ญความดีตามที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอน จึงจะพบสัจธรรมแท้ หรือเมื่อมีรูปเปรียบพระสงฆ์ ก็ให้นึกถึงคุณของพระสงฆ์ ปฏิบัติตามแนวทางของท่าน เว้นทุจริตทั้งหลาย จึงจะชื่อว่า มีพระเป็นที่พึ่งคุ้มครองป้องกันภัย แม้พวกเราจะเลื่อมใสในปาฏิหาริย์ของท่านธมฺมวิตกฺโก เราก็ไม่ควรปลื้มจนลืมจริยธรรมของท่าน และถึงแม้ว่าท่านจะไม่มีปาฏิหาริย์ ปรากฏเป็นอิทธิฤทธิ์ต่าง ๆ แต่ท่านก็คงเป็นอภิปูชนีย์ที่ควรเคารพนับถืออย่างแท้จริงสำหรับเราทั้งปวงอยู่นั่นเอง เพราะปฏิปทาของท่านย่อมสำคัญกว่าสิ่งอื่น

    การเข้าพบท่านเจ้าคุณนรฯ

    พระอาจารย์ทองเจือ เล่าให้ฟังว่าเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2512 ท่านได้ไปกราบนมัสการท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ เป็นครั้งแรกในพระอุโบสถวัดเทพศิรินทร์ฯ เพื่อจะขออนุญาตสร้างพระพร้อมทั้งขอคำแนะนำในการสร้าง พระอาจารย์ทองเจือเล่าให้ฟังว่า ครั้งแรกที่ท่านพบท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ รู้สึกเคารพนับถือขึ้นมาทันที เพราะเห็นผิวพรรณอันผ่องใส ใบหน้าอิ่มเอิบมีสง่าราศีผิดแผกกับพระอื่น ๆ ที่ท่านเคยพบมา ท่านจึงนึกในใจว่าท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ คงจะสำเร็จญาณขั้นสูงสมกับที่เขาเล่าลือกันแน่ แต่จะสำเร็จญาณขั้นใดไม่อาจจะรู้แน่ ท่านนึกในใจต่อไปว่า ทำอย่างไรจึงจะทราบได้ว่า ท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ สำเร็จญาณขั้นใด พออาจารย์ทองเจือนึกในใจเสร็จ ท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ ก็หันมามองหน้าแล้วพูดออกมาดัง ๆ ว่า “อันกระแสจิตวิทยุหรือโทรทัศน์นั้น ผมได้ค้นพบมานานแล้ว และก็ได้สำเร็จมาหลายปีแล้ว” เมื่ออาจารย์ทองเจือได้ยินท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ พูดออกมาเช่นนั้นก็รู้สึกขนลุกซ่า มีความมหัศจรรย์ในใจอย่างยิ่ง จึงคิดว่าท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ คงรู้วาระจิตแน่ ๆ เพื่อความแน่ใจท่านจึงนึกถามในใจต่อไปอีกว่า
    “ได้ทราบข่าวว่าท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ ไม่เคยออกจากวัดไปไหน แต่ท่านไปเรียนรู้พิธีการกระทำพุทธาภิเษกสร้างพระมาจากไหนฯ”
    พออาจารย์ทองเจือนึกถามเสร็จ ท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ ก็พูดออกมาดัง ๆ อีกว่า
    “อันการกระทำพิธีพุทธาภิเษกสร้างพระนั้น ผมได้ศึกษาและดูมาจากวัดสุทัศน์ ในสมัยสมเด็จพระสังฆราชแพท่านยังมีชีวิตอยู่”
    พออาจารย์ทองเจือได้ยินท่านพูดออกมาเช่นนี้ ก็รู้แก่ใจว่าท่านสามารถรู้วาระจิต อ่านจิตออกแน่แล้ว และก็คิดว่าการที่ท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ บอกว่าเคยไปดูการทำพิธีสร้างพระของสมเด็จพระสังฆราชแพ ก็คิดว่าท่านคงจะไปโดยอำนาจญาณถอดการทิพย์เป็นแน่ เหมือนดังเช่นครั้งสมเด็จพระสังฆราชแพกระทำพิธีพุทธาภิเษกพระกริ่งก็นิมนต์เจ้าคุณเฒ่าวัดหนัง (พระภาวนาโกศลเถระเอี่ยม) มาด้วยทุกครั้ง เมื่อท่านเจ้าคุณเฒ่ารับปากว่าจะมา สมเด็จพระสังฆราชแพก็สั่งเตรียมอาสนะไว้ให้เพราะท่านตรัสว่า เมื่อเขารับปากว่าจะมาเขาก็ต้องมา ซึ่งหมายถึงท่านเจ้าคุณเฒ่าต้องไปร่วมพิธีพุทธาภิเษกด้วยทุกครั้ง และสมเด็จพระสังฆราชแพก็รู้ว่าท่านมา แต่บุคคลอื่นอาจไม่มีใครทราบ คงเห็นแต่อาสนะว่าง ฉะนั้นการไปดูของท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ จึงอาจมีลักษณะเช่นเดียวกัน (ผู้เขียน)
    เมื่ออาจารย์ทองเจือรู้แน่ว่าท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ สามารถรู้วาระจิตก็นึกถามปัญหาที่ท่านใคร่รู้ต่อไปในใจอีกว่า
    “เห็นเขาลือกันว่า พระที่ท่านปลุกเสกนั้นมีความศักดิ์สิทธิ์นัก และมีผู้ประจักษ์ในปาฏิหาริย์กันมาก ไม่ทราบว่าท่านปลุกเสกด้วยคาถาอะไร”
    ท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ หันมามอง แล้วพูดออกมาดัง ๆ ได้ยินกันทั่ว ๆ ไปอีกว่า
    “อันการปลุกเสกพระนั้น พระชินบัญชร คาถาของท่านสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆัง ดีที่สุด ผมเองก็ใช้คาถาชินบัญชรในการปลุกเสกพระทุกครั้ง”
    เมื่อได้ฟังเช่นนั้นแล้ว อาจารย์ทองเจือนึกในใจต่อไปอีกว่า
    “อยากจะเรียนถามถึงการสร้างพระเพื่อนำมาให้ท่านปลุกเสกนี้ว่าจะมีพิธีอย่างไร”
    เมื่อนึกในใจเสร็จ เจ้าคุณนรรัตนฯ ก็บอกกล่าวถึงวิธีการตระเตรียมพิธีการต่าง ๆ และนอกจากนี้ยังบอกให้ปูอาสนะ เตรียมไว้สำหรับท่านด้วย โดยที่ท่านจะมาปลุกเสกให้โดยญาณ อาจารย์ทองเจือนึกในใจต่อไปอีกว่า
    “ผมเองก็อยากจะคุยกับท่านนาน ๆ แต่รถยนต์ที่นั่งมาก็ขอยืมเขามา จะปล่อยให้คนรถคอยนานก็รู้สึกเกรงใจ วันหลังจะต้องหาโอกาสมาคุยกับท่านใหม่”
    เมื่อนึกในใจดังนี้แล้ว ท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ ก็พูดออกมาดัง ๆ ว่า
    “ไอ้ราชยานยนต์นี่มันยุ่งจริงนะ ตัว ย. ยักษ์ นี่มันยุ่งจริง ๆ ผมเองแต่ก่อนนี้เคยมีแต่ได้ให้เขาไปนานแล้ว”
    อาจารย์ทองเจือได้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า ท่านได้เรียนถามท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ โดยการนึกในใจอีกหลายคำถาม ซึ่งท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ ก็สามารถล่วงรู้ทุกครั้ง และตอบได้ตรงกับคำถามที่ท่านนึกไว้ และในการถามการตอบดังกล่าวนั้นก็มีผู้อื่นร่วมอยู่ด้วยหลายท่านแต่ก็ไม่มีผู้ใดทราบว่าท่านได้คุยกับท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ เพราะท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ ท่านก็พูดของท่านไปเรื่อย ๆ เหมือนการพูดคุยกับบุคคลอื่น ๆ อย่างธรรมดา แต่ทุกครั้งที่ท่านนึกถามในใจขึ้นมา ท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ ก็พูดออกมาเป็นคำตอบตรงกับคำถามที่ท่านถามไปทุกที ท่านจึงเชื่อแน่ว่าท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ เป็นพระภิกษุที่บรรลุธรรมขั้นสูง จนถึงขั้นสามารถรู้วาระจิตได้แน่ ๆ


    *******************************
    *********************************


    อิสระ เสรี เสมอภาค




    *********************************

  3. #3
    Maximum learning
    ศิลปิน นักเขียน
    สัญลักษณ์ของ khonsurin
    วันที่สมัคร
    Apr 2008
    ที่อยู่
    ท่าตูม สุรินทร์
    กระทู้
    8,063
    บล็อก
    197
    ภัยของกามคุณ



    ครั้งหนึ่งในสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ในเพศสมณวิสัย ในคราวครั้งนั้นได้มีอุบาสิกาท่านหนึ่ง เล่ากันว่าอุบาสิกาท่านนี้เป็นบุคคลที่รู้จักคุ้นเคยกับเจ้าคุณนรฯ ในสมัยเมื่อท่านยังเป็นฆราวาส แล้ววันหนึ่งอุบาสิกาท่านนั้นได้มานมัสการเจ้าคุณนรฯ แล้วก็ได้เล่าให้ท่านฟังว่า ตนได้ไปเรียนวิปัสสนากรรมฐานมา แต่ยังไม่เข้าใจอะไรดี ขอให้ท่านเจ้าคุณได้เมตตาชี้แจงให้ฟังด้วย เจ้าคุณนรฯ หรือท่าน “ธมฺมวิตกฺโก ภิกขุ” ผู้มีจิตเปิดเผย ก็ได้ตอบชี้แจงความข้องใจของอุบาสิกาท่านนั้นไปสั้น ๆ ว่า


    “อุปสรรคสำคัญอันดับหนึ่งของการเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้น ก็คือความพอใจในกามคุณนั้นเอง ตราบใดที่ความพอใจในกามคุณยังมีอยู่แล้ว ความหวังในการเจริญวิปัสสนาให้เกิดปัญญานั้นก็ยากที่จะเป็นไปได้ ให้ระวังภัยกามคุณนี้ให้มาก”


    อุบาสิกาท่านนั้นได้ฟังแล้ว แทนที่จะมองเห็นอุปสรรคในการเจริญวิปัสสนาของตน นำเอาความรู้ที่ท่านเจ้าคุณเมตตาชี้บอกตามตรงนั้นไปแก้ไขปัญหาในการเจริญวิปัสสนานั้น แต่ก็กลับโกรธด้วยคิดว่า ท่านเจ้าคุณตำหนิที่ตนเป็นผู้มีอายุแล้วยังทำตัวกระตุ้งกระติ้ง แต่งหน้าทาปากแต่งเล็บเหมือนเด็กสาว ๆ จึงได้กราบลาท่านเจ้าคุณไปด้วยความน้อยใจ เมื่ออุบาสิกาท่านนั้นกลับไปแล้ว ด้วยความห่วงใยอุบาสิกาท่านนั้น ท่าน “ธมฺมวิตกฺโก ภิกขุ” จึงได้กล่าวกับศิษย์ใกล้ชิดที่ยังนั่งอยู่กับท่านว่า


    “อุบาสิกาเข้าใจผิด เขาคงโกรธอาตมา ที่พูดไปนั้นก็มิได้ตั้งใจที่จะให้เขาเสียใจอะไรหรอก แต่กามคุณนี้มันมีอำนาจจริง ๆ ขอให้ระวังมันไว้ให้ดีเท่านั้นเอง”
    นับว่าเป็นที่น่าประหลาดใจ หลังจากการทักท้วงของท่านเจ้าคุณไปไม่นานนัก ก็มีข่าวมาว่า อุบาสิกาท่านนั้น ถูกกามคุณเล่นงานเข้าให้แล้วจริง ๆ โดยถูกผู้ชายรุ่นลูกรุ่นหลานของตนปอกลอกเอาไปด้วยกลกามที่ตนหลงใหลไปจนหมดเนื้อประดาตัว
    จากอุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นแก่อุบาสิกาท่านนั้น อย่างที่ใคร ๆ ไม่คาดฝันว่า มันจักเป็นไปตามคำของท่าน “ธมฺมวิตกฺโก ภิกขุ” ได้กล่าวเตือนสติไว้ล่วงหน้านี้ จึงได้มีการเล่าลือกันไปว่า อุบาสิกาท่านนั้นด่วนใจร้อนไปหน่อย เข้าใจผิดคำเตือนของผู้หวังดี จึงได้เสียทีเด็กหนุ่มหมดเนื้อประดาตัวไปด้วยประการฉะนี้




    การรดน้ำมนต์

    การรดน้ำมนต์ของท่านธมฺมวิตกฺโก เท่าที่เคยทราบมา ปรากฏว่าไม่เหมือนใคร ไม่มีใครเหมือน ไม่เคยได้ยินได้ฟังว่าเคยมีพระอาจารย์องค์ใดปฏิบัติดังที่ท่านเคยได้กระทำมา ปรกติการรดน้ำมนต์โดยทั่ว ๆ ไปนั้น จะต้องมีการตักน้ำใส่บาตร ใส่ขันใหญ่หรือบางแห่งก็ใช้ถัง เอาไปตั้งหน้าพระอาจารย์ มีการจุดเทียนบริกรรมหยดน้ำตาเทียนลงไปในน้ำด้วย พอเสร็จจะมีการรด ผู้ที่จะรดต้องผลัดเปลี่ยนเสื้อผ้า เช่นผู้ชายก็นิยมนุ่งผ้าขาวม้า ผู้หญิงนุ่งผ้ากระโจมอก ออกไปนั่งพ้นชายคา ให้พระอาจารย์ท่านรดน้ำมนต์ให้จนเปียกโชกไปหมด จึงจะเรียกกันว่ารดน้ำมนต์ แต่วิธีการรดน้ำมนต์ของท่านธมฺมวิตกฺโกไม่ซ้ำแบบใครโดยผู้ที่ประสงค์จะให้ท่านรดน้ำมนต์ ต้องเอาแก้วหรือปรกติเคยมีถ้วยพลาสติกใบหนึ่งประจำอยู่ที่ตุ่มน้ำมนต์ ไปตักน้ำมนต์จากตุ่มลายมังกรที่ตั้งอยู่หน้ารูปหล่อของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านซ้ายของพระประธานในพระอุโบสถแล้วเอามาประเคนถวายท่าน ท่านจะบริกรรมเสกด้วยพระคาถาต่อไปนี้ 1 จบ

    “สิทฺธมตถุ สิทฺธมตถุ สิทฺธมตถุ อทํ พลํ เอตสฺมึ รตนตฺตยสฺ สมฺปสาทนเจตโส”
    เสร็จแล้ว ท่านจะเรียกให้เข้าไปนั่งคุกเข่าพนมมือ อ้าปากอยู่ตรงหน้าท่าน จากนั้นท่านก็จะเทน้ำมนต์กรอกใส่ปากเลย ซึ่งปรากฏว่าท่านกรอกได้แม่นยำมาก ไม่เคยมีน้ำมนต์หกเรี่ยราด พลาดจากปากใครได้เลย หากมีคนเข้าไปขอรดน้ำมนต์จากท่านเป็นหมู่ จำนวนหลายคนด้วยกันแล้ว ท่านจะเรียกผู้ที่มีอาวุโสสูงสุดเข้าไปรดก่อน แล้วคนอื่นจึงค่อยตามกันเข้าไปเป็นลำดับ เมื่อน้ำมนต์หมด ก็ไปตักแก้วใหม่ มาถวายให้ท่านเสกใหม่ ใช้รดคนต่อ ๆ ไปจนหมด


    พ.อ. จิตต์ ธนะโชติ อดีตรองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีระหว่างที่ป่วยด้วยโรคมะเร็ง ได้เคยเข้าไปขอให้ท่านช่วยรดน้ำมนต์ให้ เมื่อปลายปี 2513 รวม 4 ครั้ง ได้บรรยายถึงการเข้ารับน้ำมนต์จากท่านครั้งแรกไว้ดังนี้

    “…..คล้าย ๆ กับว่าท่านเจ้าคุณนรฯ จะรู้ใจข้าพเจ้าจึงหยิบแก้วน้ำเปล่าใบหนึ่ง สั่งให้ไปตักน้ำมนต์ในโอ่งลายมังกร ที่ตั้งอยู่หน้ารูปหล่อเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ญาณวรเถระ ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านซ้ายของพระประธานในโบสถ์ แล้วก็นำแก้วน้ำมนต์มาถวายท่านเจ้าคุณนรฯ ท่านรับแล้วก็ตั้งบริกรรมสักครู่นานเท่าใด ข้าพเจ้าก็ลืมไปเสียแล้ว จำได้แต่ว่านั่งพนมมือหลับตาภาวนาตามไปกับท่าน โดยขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย คุณบิดามารดา ปู่ย่าตายายและทวด ตลอดจนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายพร้อมกับขอให้บารมีของท่านเจ้าคุณนรฯ ช่วยคุ้มครองรักษาด้วย เมื่อท่านเรียกก็ลืมตาขึ้น แล้วก็คลานเข้าไปหา ท่านสั่งให้นั่งตัวตรง อ้าปากเงยหน้าขึ้นดูเพดานโบสถ์ ท่านก็กรอกน้ำมนต์ในแก้วด้วยมือของท่านเอง โดยไม่ให้ข้าพเจ้าจับแก้วน้ำมนต์นั้นเลย”
    ท่านเคยบอกกับบางคนว่า การรดน้ำมนต์ของท่านด้วยวิธีการเช่นนี้เป็น วิธีการของพรหม
    แต่จะเป็นวิธีของพรหมอย่างไร ด้วยเหตุใด ท่านมิได้อธิบายต่อ คงรับทราบจากท่านแต่เพียงเท่านั้น


    ผู้ที่เคยขอรดน้ำมนต์ครั้งแรก ๆ จากท่านนั้น มักได้รับคำแนะนำวิธีการปฏิบัติดังกล่าวนี้ จากท่านพระครูปัญญาภรณ์โสภณ (พระมหาอำพัน บุญหลง) ช่วยชี้ทางให้
    นอกจากนี้การเข้ารับการรดน้ำมนต์จากท่านโดยตรง ด้วยวิธีการดังกล่าว ซึ่งน้อยคนจะมีโอกาสได้รับแล้ว ยังมีการรดน้ำมนต์อีกวิธีหนึ่ง ซึ่งทุกคนสามารถปฏิบัติได้ด้วยวิธีง่าย ๆ ซึ่งท่านบอกว่ามีผลเท่ากับรดน้ำมนต์ให้เองเหมือนกัน

    วิธีที่ว่านี้ก็คือ เมื่อเวลามีฝนตกพรำ ๆ ผู้ที่ประสงค์จะรับการรดน้ำมนต์ ให้ออกไปเดินกรำฝน แล้วบริกรรมภาวนา ด้วยพระคาถาสั้น ๆ แบบหัวใจคาถาโบราณทั้งหลาย จากนามฉายาของท่านที่ว่า

    “ธมฺมวิตกฺโก ๆ ๆ ๆ”

    ให้บริกรรมเช่นนี้เรื่อยไป ก็จะมีผลเท่ากับท่านรดน้ำมนต์ให้เหมือนกัน
    ท่านได้ให้อรรถาธิบายว่า “ธมฺมวิตกฺโก” นั้น แปลว่า ผู้ตรึกธรรม หรือผู้พิจารณาธรรม ผู้คิดถึงธรรม ธรรมะย่อมคุ้มครองผู้นั้น



    สัมภาษณ์นายแพทย์ไพบูลย์ บุษปธำรง


    ท่านพระคุณปัญญาภรณ์โศภณและผมได้บวชอยู่ที่วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อ พ.ศ. 2512 เป็นพระนวกะภิกษุ และผมเคารพท่านพระภิกษุพระยานรรัตนฯ เมื่อทราบถึงประวัติการปฏิบัติธรรมของท่านมีความสะอาดบริสุทธิ์ มีพลังจิตเข้มแข็ง เช็าเย็นลงโบสถ์ท่านไม่เคยขาด ผมก็เข้าไปกราบท่าน ก็ได้รับศีลรับพรจากท่านทุกครั้ง และผมก็เคารพบูชาท่านด้วยจิตใจเลื่อมใส ผมสังเกตว่าท่านเป็นเม็ดริมคอข้างซ้าย จึงคิดสงสัยว่าคงเป็นเนื้อร้าย แต่ท่านไม่ยอมให้แตะต้อง ไม่ยอมให้รักษา ท่านพูดว่าเมื่อเป็นเองก็หายเอง เม็ดนั้นก็ค่อยโตใหญ่ขึ้น พอกลางปี พ.ศ. 2513 ฝีก็แตก ผมรู้ว่าท่านไม่ยอมให้รักษาและให้ทำแผล ท่านกลัวว่าจะไปทำลายเชื้อบัคเตรีก็จะเป็นบาป ผมจึงถวายยาเหลืองให้ท่าน แต่ท่านไม่ยอมรับ ผมต้องอธิบายเรียนให้ทราบว่า ยานี้ไม่ได้ฆ่าเชื้อไม่ได้รักษาให้หาย เพียงแต่ทำให้ทุเลาความเวทนาเท่านั้น ผมได้พยายามอธิบายให้ท่านทราบถึง 3 ครั้ง ท่านจึงรับยาเหลืองไว้ ผมได้พบก้อนเนื้อเท่าปลายหัวไม้ขีดไฟหลุดออกมาตามขอบริม ๆ ในระหว่างที่ถวายการทำแผลให้ท่าน ผมได้นำมาให้นายแพทย์ภิญโญ ศิริยพันธ์ สถาบันพยาธิทหารบก ปรากฏว่าเป็นโรคเนื้อร้าย SQUAMOUS CELL CARCINOMA ก่อนที่จะทำแผลผมได้พบกับคุณจำเนียร ปัทมะสุนทร หลานสะใภ้ท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า บอกผมว่าเวลานี้แผลที่คอพระภิกษุพระยานรรัตนฯ ใหญ่ขึ้น เย็นวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2513 ผมรีบไปคอยท่านที่จะลงโบสถ์สวดมนต์เสร็จแล้ว ผมจึงได้ขอทำแผลเพราะรู้สึกจะเป็นเนื้อร้าย ครั้นจะบอกตรง ๆ ว่าเป็นมะเร็ง ก็กลัวพระเณรอุบาสกอุบาสิกา และท่านที่เคารพจะพากันตื่นตกใจ ท่านได้พูดกับผมว่า อาตมาให้หมอทำเป็นขวัญมือเป็นคนแรกและให้ทำเป็นคนสุดท้าย จะไม่ให้ใครได้ทำอีก พูดเสร็จท่านก็เอนกายลงกับอาสนสงฆ์ วันนั้นผมได้เห็นแผลที่คอท่านนั้น หากเป็นบุคคลธรรมดาสามัญแล้วจะบาดเจ็บสาหัสไม่สามารถจะทนได้ที่จะไม่ร้องครวญครางด้วยความเจ็บปวดอย่างแสนทารุณ และต้องล้มหมอนนอนเสื่อ สังขารไม่สามารถจะทนเดินไปไหนได้ แต่ท่านก็ยังมีอาการปกติเหมือนเป็นธรรมดา คล้ายกับว่าไม่มีความรู้สึกทรมานในการเจ็บปวดครั้งนี้ เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ที่ผมได้เห็นได้พบมา เมื่อผมถามท่านก็บอกว่าไม่รู้สึกปวด เฉย ๆ เพียงแต่รู้ว่าเป็นเหมือนมีก้อนอะไรมาติดอยู่


    เมื่อทำแผลให้ท่านเสร็จเรียบร้อย ท่านก็สวดมนต์อุทิศแผ่ส่วนกุศลถวายแก่พระมหากษัตรยิ์ในวงศ์จักรีทุกพระองค์ เสร็จแล้วท่านก็ยังนั่นพูดกับผู้ที่ยังไม่กลับมีทั้งพระและฆราวาสยังอยู่ในโบสถ์ ท่านยังพูดกับผมว่า “หมอ อันความตายและการพลัดพรากจากกันนั้นเป็นธรรมดา และเป็นไปตามธรรมชาติ เขาตายกันนับแต่ครั้งปู่ย่าตายาย แต่โบราณกาลมาตลอด ถ้าเราพิจารณาให้ดีก็จะรู้ว่า การตายไม่ใช่เป็นสิ่งที่น่าสยดสยองอย่างคนส่วนมากคิด คนเราเกิดมาก็ต้องมีสังขารเป็นที่อาศัย สังขารก็มีเวลาอยู่อย่างจำกัดย่อมจะมีเสื่อมมีทรุดโทรมเป็นไปตามกาลเวลา ความตายไม่ได้เป็นสิ่งที่หายไปไหน หากเป็นเพียงเปลี่ยนจากภพหนึ่งไปเกิดอีกภพหนึ่ง อุปมาเหมือนหมอกับอาตมาซึ่งอยู่ในเวลาปัจจุบันเดี๋ยวนี้กำลังสนทนา เวลาดับผ่านไปทุกวินาทีทุกชั่วโมง และหมอได้ทำแผลให้อาตมา ประเดี๋ยวหมอก็จะต้องกลับไปบ้านและอาตมาก็กลับไปกุฏิ และทุกคนก็พากันกลับไปที่อยู่ของตน นี่ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เราต้องจากกัน เราได้พลัดพรากกันแต่เรายังมีชีวิต มีสังขารร่างกาย เมื่อเราไปแล้ว แต่ที่นี่ที่เราได้มาร่วมสนทนาก็จะว่างเปล่า ไม่มีหมอ ไม่มีอาตมา และไม่มีใคร เพราะต่างแยกกันไป รู้ว่าเรายังมีชีวิตอยู่ทุกคน อาตมาก็อยู่ที่กุฏิหลังจากที่ได้นั่งสนทนากัน แต่เวลานั้นก็ได้ผ่านดับไปตามโมงยาม เวลาไม่กลับมาอีกเป็นอดีต หมอก็เช่นเดียวกันก็ต้องนึกว่าวันนี้ได้ไปทำแผลให้อาตมา และได้สนทนากันในโบสถ์ที่วัดเทพศิรินทราวาส แต่เวลานั้นได้ผ่านไปเป็นอดีต ไม่กลับมาใหม่ เราก็มีแต่ความทรงจำเหลือไว้เท่านั้น แต่เราก็คิดถึงกันได้ทางใจ การตายก็เหมือนกับ เป็นการจากไปไม่ได้สูญไปไหน ยังคงอยู่ หากแต่เปลี่ยนจากสภาวะปัจจุบันนี้ไปอยู่อีกสภาวะหนึ่ง ซึ่งยากที่จะอธิบายให้เข้าใจได้ง่าย ๆ และเราก็ยังสามารถระลึกถึงกันได้ อย่าเข้าใจว่าสูญสิ้นไป ความตายความเกิดนั้นมีอยู่ตลอดเวลา”




    *********************************


    อิสระ เสรี เสมอภาค




    *********************************

  4. #4
    Maximum learning
    ศิลปิน นักเขียน
    สัญลักษณ์ของ khonsurin
    วันที่สมัคร
    Apr 2008
    ที่อยู่
    ท่าตูม สุรินทร์
    กระทู้
    8,063
    บล็อก
    197
    การสนทนาธรรม
    ตั้งแต่เรื่องนี้ไปเป็น เรื่องของการสนทนาธรรมระหว่าง ท่านเจ้าคุณนรฯ กับ ดร.บุญยง ว่องวานิช เมื่อครั้งสมัยบวชอยู่ที่วัดเทพศิรินทราวาส



    ต้องว่ายน้ำให้เก่งก่อน
    การบวชของข้าพเจ้าครั้งที่สองเมื่อปี 2507 ข้าพเจ้ายังจำคำพูดของแม่ชีวรมัย กบิลสิงห์ ว่า ” ท่านเจ้าคุณนรฯ ไม่สอนใคร เอาแต่ตัวรอดแต่ผู้เดียว ” จึงถามท่านเจ้าคุณนรฯ ว่า “เขาพูดกันว่าพระเดชพระคุณไม่สอนธรรมะใคร เอาตัวรอดแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น” ท่านเจ้าคุณนรฯ ฟังเฉย ๆ แล้วตอบว่า “ถ้ามีใครตกน้ำกำลังจะจมน้ำตาย ถ้าเราคิดจะไปช่วยเขา เราต้องว่ายน้ำให้เก่งเสียก่อน จึงจะไปช่วยเขาได้ ถ้าว่ายน้ำไม่แข็ง เข้าไปช่วยเขา อาจถูกเขาฉุดหรือกอดจมน้ำตายได้ แม้พระพุทธเจ้าก็ทำเช่นนี้ พระพุทธองค์เข้าป่าศึกษาและปฏิบัติถึง 6 ปี ตรัสรู้แล้วจึงออกมาสอนผู้อื่น” คำพูดของท่านเจ้าคุณนรฯ น่าคิดมาก แต่ก็มีข้อโต้แย้งจากหลายฝ่ายว่า คนจบปริญญาตรีอาจจะสอนคนมีความรู้ต่ำกว่าปริญญาตรีได้ คนจบปริญญาเอกก็สอนคนจบปริญญาตรีได้ ข้อโต้แย้งนี้มีเหตุผลน่าฟัง ข้าพเจ้าขอฝากไว้ให้เป็นอาหารแห่งความคิดของท่านผู้อ่านต่อไป





    สนใจในอำนาจจิตมาก่อน

    ก่อนที่ท่านจะรับราชการอยู่ในพระราชวัง ท่านเจ้าคุณนรฯ สนใจในอำนาจของพลังทางจิตมาก่อน ท่านอ่านตำราเป็นภาษาอังกฤษ เมื่อข้าพเจ้าขอดู ท่านก็เอามาให้ดู ดังมีรายนามหนังสือต่อไปนี้ :-

    1) The Hindu – Goi Science of Breath by Yogi Ramacharaka
    2) Gnani Goga (The Yoga of Wisdom) by Yogi Ramacharaka
    3) The Hindu – Yogi Science of Breath by Yogi Ramacharaka
    4) A Series of Lessons in Raja Yoga by Yogi Ramacharaka
    5) The Practical Water Cure As Practiced in India and other Oriental Countries by Yogi Ramacharaka Published by The Yogi Publication Society; Chicago, U.S.A.
    6) Live Wisely – Live Well ! An Explanation of The Value of Air, Sunlight, Movement and Response as Natural Healing Factors by Bernhard Detmar M.D., Ph.D. (Berlin)
    7) Fourteen Lessons in Yogi Philosophy and Oriental Occultism : A Unique Work Covering the Entire Field of the Yogi Philosophy and Oriental Occultism by Yogi Ramacharaka
    8) Hatha Yoga or The Yogi Philosophy of Physical Will-Being Yogi Ramacharaka
    9) The Science of Psychic Healing by Yogi Ramacharaka
    ข้าพเจ้าจึงสั่งซื้อจากผู้พิมพ์เมืองนอกมาได้หลายเล่ม อ่านแล้วรู้สึกว่า ท่านเจ้าคุณนรฯ มีความรู้ลึกในเรื่องพลังทางจิตมาก ก่อนที่จะรับราชการในพระราชวังเสียอีก




    ทำนายแม่นดังตาเห็น

    ท่านเจ้าคุณธรรมไตรโลกาจารย์ สมณศักดิ์ในขณะนั้น (เมื่อ พ.ศ. 2500) ขณะนี้ท่านเป็นเจ้าอาวาสของวัดเทพฯ แล้ว เล่าให้ฟังว่า ท่านเจ้าคุณนรฯ ทำนายดวงชะตาแม่นมาก แต่น่าเสียดายที่ท่านเลิกเสียแล้ว ข้าพเจ้าถามว่าขอให้ยกตัวอย่างมาให้ดูสักเรื่องว่าแม่นอย่างไร เจ้าคุณธรรมฯ เล่าว่า ครั้งหนึ่งมีมหาดเล็กในวังมาให้ท่านทำนาย เจ้าคุณนรฯ เตือนว่าอย่าไปบางลำภูบนนะจะถูกตีหัว มหาดเล็กคงจะลืมหรืออย่างไรไม่ทราบ ไปบางลำภูบนถูกตีหัวจริง ๆ ข้าพเจ้าจึงนำเรื่องนี้ไปถามท่านเจ้าคุณนรฯ ท่านตอบว่าเวลาจิตนิ่ง มันจะเกิดเป็นภาพมาให้เห็นว่ามหาดเล็กผู้นี้ถูกตีหัวแตก จึงเตือนเขาไป ข้าพเจ้าถามว่าเห็นอย่างไร ท่านตอบว่าเห็นเหมือนกับเห็นภาพยนตร์ ข้าพเจ้าซักอีกว่าทำไมท่านเจ้าคุณนรฯ เลิกทำนาย ท่านตอบว่า วิชานี้ทำให้คนติด ไม่ทำให้คนพ้นทุกข์ จึงเลิก




    เกิดวันเสาร์ด้วยกัน

    ครั้งหนึ่งท่านเจ้าคุณนรฯ หยุดสนทนา แล้วเอามือชี้หน้าข้าพเจ้า ถามว่า ข้าพเจ้าเกิดวันเสาร์ใช่ไหม ข้าพเจ้าตกใจ ทำไมท่านทราบ ข้าพเจ้าไม่ได้บอกใคร ไม่ได้คิดว่าวันเสาร์ต่างกว่าวันอื่น จึงถามท่านไปว่าทำไมท่านรู้ ท่านตอบว่า การพูดจาแบบนี้เป็นคนเกิดวันเสาร์ ข้าพเจ้าถามว่าท่านพูดจาอย่างไร ท่านตอบว่า คนเกิดวันเสาร์คิดอะไรก็พูดตรงไปตรงมา โดยไม่คิดว่าจะถูกใจผู้ฟังหรือไม่ แต่คนเกิดวันเสาร์นี้เข้าทางศาสนาได้ดี ท่านพูดต่อไปว่า ท่านเจ้าคุณนรฯ ก็เกิดวันเสาร์เหมือนกัน นิ่งไปสักพัก ท่านพูดต่อว่า “คนเกิดวันอังคารดีกว่า” ข้าพเจ้าถามว่าดีกว่าตรงไหน ท่านตอบว่า คนเกิดวันอังคารเป็นคนแข็งเหมือนกัน แต่มีวิธีพูดให้ถูกใจคนจึงดีกว่าตรงนี้

    แอบถามท่าน

    ครั้งหนึ่งข้าพเจ้าและอาจารย์เสถียร โพธินันทะ ไปคุยที่กุฏิท่านเจ้าคุณศรีวิสุทธิญาณ สมณศักดิ์ในขณะนั้น ข้าพเจ้าคุยว่าข้าพเจ้าชอบบทเจริญพระพุทธมนต์ตอนจะลงท้ายที่สุดที่ว่า

    ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง รักขันตุ สัพพะเทวะตา
    สัพพะพุทธานุภาเวนะ สะทา โสตถิ ภะวันตุ เต
    และต่อไปยัง “ธัมมา” และ “สังฆา”

    โดยให้ความเห็นว่า “สั้นและใจความคลุมหมด” ท่านเจ้าคุณศรีฯ บอกว่า คุณบุญยงพูดเหมือนในหลวงรัชกาลที่ 6 ท่านก็ชอบบทนี้เหมือนกัน

    ตอนหนึ่งท่านเจ้าคุณศรีฯ ให้ความเห็นว่า พระสงฆ์ในวัดกำลังเดาว่าจิตของท่านเจ้าคุณนรฯ คงเข้ากระแสพระนิพพานแล้ว แต่สงสัยว่าอยู่ในระดับไหน ข้าพเจ้าเก็บเอาความสงสัยนี้มาคิดและตัดสินใจว่าจะต้องถามท่านตรง ๆ เลยจะดีกว่า วันหนึ่งข้าพเจ้าถามท่านว่า


    “ท่านอยู่วัด ไม่ไปยุ่งกับใคร ศีล 5 ควรจะบริสุทธิ์”
    ท่านมองหน้า คงสงสัย แต่ไม่ตอบ ข้าพเจ้าถือว่าอาการนิ่งของท่านว่าท่านรับว่าจริง ข้าพเจ้าพูดต่อไปว่า “ถ้าศีล 5 บริสุทธิ์ และมีความเชื่อมั่นในพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ จิตของผู้นั้นก็เข้าสู่กระแสพระนิพพานแล้ว มีพระในวัดนี้อยากจะทราบว่า ท่านสำเร็จแล้ว อยู่ในระดับไหน?” ท่านเจ้าคุณนรฯ ตอบทันทีว่า เรื่องนี้บอกไม่ได้ ข้าพเจ้าแย้งว่าข้าพเจ้าก็เป็นพระ ท่านก็เป็นพระ น่าจะบอกได้ เพราะเป็นการบอกระหว่างพระด้วยกัน ท่านเจ้าคุณนรฯ ตอบทันทีว่า “พระบวชใหม่บอกไม่ได้” เป็นอันว่าจบ ข้าพเจ้าต้องแบกความสงสัยของข้าพเจ้าไว้เพียงแค่นั้น เหมือนกับพระในวัดเทพฯ ทั้งหลาย

    โยคีในอินเดีย

    ท่านเล่าเรื่องโยคีในอินเดียว่า พวกนี้เก่ง พอน้ำกามเต็มถุงอัณฑะ ความรู้สึกทางเพศก็จะเกิด พวกโยคีเหล่านั้นใช้พลังจิตเปลี่ยนน้ำกามเหล่านั้นเป็นพลังงานกลับไปเลี้ยงร่างกายได้อีก ความรู้สึกทางเพศจึงไม่อันตราย อีกประการหนึ่งพวกนี้สามารถเอาพลังทางอากาศ (ปราณะ หรือออกซิเจน) ไปเลี้ยงร่างกายแทนอาหารได้




    สมณศักดิ์

    ตอนหนึ่งท่านเจ้าคุณนรฯ ปรารภว่า ทางโลกนี่แปลก พระพุทธเจ้าให้เลิกชั้นวรรณะ แม้แต่ยศถาบรรดาศักดิ์ต่าง ๆ ให้ยกเลิกหมด มาถือพรรษาเป็นหลัก แต่ทางโลกกลับไปตั้ง “พระครู” กับ “เจ้าคุณ” หลายระดับ มันขัดกัน ข้อนี้ข้าพเจ้าไม่มีความเห็น ท่านเจ้าคุณนรฯ เพียงปรารภ เรื่องจึงเงียบหายไป ทิ้งข้อคิดไว้ให้คนที่ชอบคิดช่วยกันคิด




    ส้วมสาธารณะ

    ตอนหนึ่งท่านถามทำเอาข้าพเจ้าตกใจพูดไม่ออก ท่านถามว่า เมื่อเป็นฆราวาสเคยไปเที่ยวส้วมสาธารณะหรือเปล่า? ข้าพเจ้ารู้ทันทีว่าหมายถึงอะไร หลังจากอึกอักสักครู่และพอตั้งสติคิดว่า ขณะนั้นข้าพเจ้าเป็นพระสงฆ์ และจะไม่ยอมผิดศีลข้อ “มุสาวาทาฯ” จึงตอบไปว่า “เคย” ท่านถามอีกว่า “มาตุคาม” แปลว่าอะไร ข้าพเจ้าตอบ “ไม่ทราบ” ท่านอธิบายว่า “มาตุคาม” แปลว่า “แผ่นดิน” แผ่นดินเป็นของสาธารณะ เป็นของรองรับความสกปรกทั้งหลาย ทำไมเอาของดี ๆ ของเราไปอยู่ในส้วมสาธารณะ ข้าพเจ้านิ่งเพราะขณะนั้นยังงง หาคำตอบไม่ได้ ท่านพูดต่อไปอีกว่าสตรีเป็นศัตรูของพรหมจรรย์ ถ้าตัดตรงนี้ไม่ได้ จะไปนิพพานไม่ได้เช่นกัน ข้าพเจ้าคิดในใจต่อไปว่า “บางคนเป็นถึงมหาเปรียญ วนไปเวียนมาก็ไม่พ้นบ่อน้ำน้อย ๆ นี้” เมื่อถูกท่านเจ้าคุณนรฯ ถามกลับเอาตรง ๆ เล่นเอาการสนทนาหมดรสชาติไปแยะ ทุก ๆ วันมีแต่ข้าพเจ้าเป็นฝ่ายถามท่าน พอถูกถามบ้างก็จนปัญญา




    ตอนอำลา

    เมื่อข้าพเจ้าลาสิกขา ก่อนจะขึ้นรถยนต์ที่หลังวัด ข้าพเจ้าไม่ลืมที่จะยกมือไหว้ไปทางกุฏิท่านเจ้าคุณนรฯ เห็นท่านยืนอยู่ตรงหน้าต่าง มองมายังข้าพเจ้าพอดี พอท่านเห็นข้าพเจ้ายกมือไหว้ ท่านก็ยืนแบบสำรวม นั่นเป็นภาพสุดท้ายของความทรงจำที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าเข้าใจว่าท่านมายืนส่งข้าพเจ้า ต้องเล่าอีกว่า เมื่อข้าพเจ้าทำพิธีลาสิกขาเสร็จแล้ว ข้าพเจ้าไปอาบน้ำหลังกุฏิ ท่านเจ้าคุณนรฯ เดินมาทางด้านหลังกุฏิ เอาน้ำมารดอวยพรให้ข้าพเจ้า ฟังแล้วชื่นใจ คำอวยพรของท่านไพเราะที่สุดในชีวิตของข้าพเจ้า ตอนหนึ่งท่านว่า “ขอให้เป็นเสมือนพระจันทร์วันเพ็ญ ถ้ามีเมฆหมอกมาบังก็ขอให้ผ่านไป ขอให้พระจันทร์ทอแสงสว่างตลอดไป”


    ยังมีเรื่องเล่าต่ออีก แต่ขณะนี้ข้าพเจ้าระลึกได้เพียงเท่านี้ ถ้าระลึกได้อีก วันหลังจะนำมาเล่าต่อ

    ขอสรุปว่า ท่านเจ้าคุณนรฯ บรรพชาอุปสมบทเมื่ออายุ 29 จิตไม่มั่นคงอยู่ถึง 6 ปี เมื่อครบ 6 ปีแล้ว จิตจึงมั่นคง ท่านบำเพ็ญทางจิตทางเดียว ถ้าจะนับอายุออกบวช 29 และ 6 ปี แห่งความไม่มั่นใจแล้ว ก็จะคล้ายกับพระพุทธเจ้า




    อดทนเป็นเลิศ

    ในด้านความอดทนเป็นเลิศไม่มีผู้ใดที่จะมีขันติได้อย่างท่าน ถึงแม้ร่างกายของท่านจะไม่ค่อยสมบูรณ์อย่างบางคน จะสังเกตข้อวัตรปฏิบัตินับจากท่านบวชไม่เคยขาดการทำวัตร จะมีก็อยู่ครั้งหนึ่งท่านถูกงูเห่ากัดที่ข้อเท้าจนบวมเป่ง จนสมเด็จพระอุปัชฌาย์ได้ตักเตือนว่า “อย่าทรมานนักคุณ” ท่านจึงได้หยุดการลงพระอุโบสถ 1 วัน แต่รุ่งขึ้นก็หายเป็นปกติ ทั้ง ๆ ที่มิได้ไปหาหมอหรือกินยารักษา ท่านรักษาด้วยสมาธิจิตอย่างแท้จริง ถ้าปกติเป็นผู้อื่นข้าพเจ้าคิดว่าจะต้องรีบไปหาหมอ และพักรักษาเป็นเวลาหลายวัน ยังมีอยู่ครั้งหนึ่ง ตอนเย็นหลังจากท่านลงจากทำวัตรเรียบร้อย ก่อนจะสรงน้ำท่านได้เอาน้ำมารดต้นไม้ในกระถาง แต่ในขณะที่กำลังรดน้ำอยู่ก็รู้สึกว่าถูกสัตว์กัดที่บนหลังเท้าซ้ายเป็นรอย 4 เขี้ยว ตอนแรกเข้าใจว่าเป็นงู ต่อเมื่อท่านที่อยู่กุฏิข้างเคียงได้เอาไฟฉายมาส่องเห็นมีคางคกแดงอยู่ข้างกระถาง ท่านนึกว่า “คางคกกัดก็มิได้” ตอนที่ถูกกัดครั้งแรกมีอาการปวดมาก ท่านจึงได้เรียนให้ท่านเจ้าคุณธรรมไตรโลกอาจารย์ทราบว่า ท่านถูกคางคกกัด แต่ท่านได้สั่งกำชับไม่ให้บอกแก่ใคร เพราะเกรงว่าจะเดือดร้อนนำหมอมาฉีดยาให้ พร้อมกันนี้ก็ได้สอบถามนายชิตซึ่งเป็นคนรักษาโบสถ์ บอกว่าถ้าคางคกกัดก็ต้องตาย ท่านเลยได้บอกกับนายชิตว่า ถ้าพรุ่งนี้เช้าอาตมาไม่ลงมาทำวัตรแสดงว่าอาตมาตายนะ หลังจากนั้นท่านก็เดินขึ้นไปบนกุฏิแล้วเอาผ้ารัดเข่าซ้ายแน่น จากนั้นจึงใช้วิธี Inhibition ขับไล่ความปวด ท่านได้ปฏิบัติต่อสู้จนรุ่งสว่างถึงหายปวด ส่วนขาข้างซ้ายใต้เข่าลงมายังปวดอยู่ แต่ท่านก็คงจะปฏิบัติลดลงมาจนแห้งหายไปเป็นปกติ ด้วยวิธีบำบัดโดยทางโยคศาสตร์ นอกจากนี้ท่านก็ยังเป็นมะเร็งกรามช้าง คือกรามทั้งสองข้างจะบวมและเป็นแผลในปาก ตอนแผลยังไม่แตกจะมีอาการปวดมาก แต่ท่านก็มิได้เคยขาดการลงสวดมนต์ในโบสถ์ ถึงแม้ท่านจะอ้าปากไม่ค่อยได้ แต่ด้วยความเพียรพยายามด้วยสัจจะอธิษฐาน ท่านยอมทนทุกข์ทรมานต่อเวทนาอย่างแสนสาหัสจนกระทั่งแผลแตก ในระยะที่แผลแตกท่านก็มิได้จำวัด จะต้องใช้หมอนกองสูงถึงอก ก้มหน้าหนุนหมอนอ้าปากให้หนองไหลลงสู่กระโถน เมื่อแผลหายจะปรากฏที่แก้มเป็นรอยบุ๋มอย่างเห็นได้ชัด


    ยังมีอยู่คราวหนึ่ง ท่านพระครูปัญญาภรณ์โสภณ (มหาอำพัน บุญหลง) เล่าให้ฟังว่า วันหนึ่งขณะที่พระภิกษุธมฺมวิตกฺโก ได้ฟังเทศน์ในพระอุโบสถ ซึ่งวันนั้นเป็นวันพระ หลังจากที่ได้ฟังเทศน์จบ ท่านก็ได้เดินกลับไปกุฏิ ขณะที่กำลังก้าวขึ้นบันไดไปห้องชั้นบน ก็รู้สึกว่าร่างกายซีกซ้ายของท่านหมดแรงคล้าย ๆ จะเป็นอัมพาตไปแถบหนึ่ง ทรงตัวต่อไปไม่ได้ แต่ท่านก็มีสติอันมั่นคงดี โดยพยายามพยุงตัวเองทรุดลงนั่ง พร้อมกันนั้นท่านจึงได้ใช้วิชาการที่ท่านได้ศึกษาปฏิบัติ โดยการเอามือข้างขวาคลำตรงที่หัวใจดูก่อนเพื่อตรวจชีพจรที่ยังเต้น แล้วท่านจึงได้ใช้วิธี Directing the Circulation มายังซีกซ้าย ต่อจากนั้นไม่นานก็จะรู้สึกค่อย ๆ ร้อนขึ้นที่ปลายนิ้ว และพร้อมกับร่างกายซีกด้านซ้ายก็จะค่อย ๆ อบอุ่นขึ้นมาเป็นปกติ นอกจากนี้ท่านยังได้เล่าว่าตอนบ่ายหลังจากลงโบสถ์ก็ยังมีอาการแบบเดียวกับที่เป็นตอนเช้า แต่ท่านก็ได้ใช้วิธีปฏิบัติมาแบบเดิมก็เป็นปกติ และนับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาก็ไม่เคยปรากฏว่าจะเป็นอีกเลย ซึ่งวิธีนี้ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจถ้ามีผู้ใดจะนำไปปฏิบัติบ้างก็อาจจะเป็นประโยชน์ไม่น้อย




    “วิธี Directing the Circulation มีอธิบายอยู่ใน Science of Breath”

    ในปัจจุบันนี้จะมีฝรั่งจากต่างประเทศที่สนใจในหลักพระพุทธศาสนา เข้ามาอุปสมบทในศาสนาพุทธก็มีจำนวนไม่น้อย แต่ส่วนมากที่จะเข้ามาอุปสมบททุกท่านมักจะได้ศึกษาหลักศาสนามาบ้างพอสมควร และบางท่านมักจะเป็นชนชั้นประเภทปัญญาชน ที่มีปริญญาและมีสภาพฐานะดีส่วนมาก ได้มีจิตเลื่อมใสในหลักธรรมทางพุทธศาสนาเป็นอันมาก ขอได้หันเข้ามาอุปสมบท เมื่อติดขัดต่อธรรมบางข้อ หรือการปฏิบัติกรรมฐานวิปัสสนา ส่วนมากก็จะมาดักพบท่านเจ้าคุณธมฺมวิตกฺโก เพื่อจะให้ท่านช่วยแนะนำการปฏิบัติ ท่านก็จะแนะนำให้โอวาทในเรื่อง “หน่ายกาม” และได้อธิบายบอกวิธีอย่างละเอียดด้วย เนื่องจากท่านเก่งในวิชาภาษาอังกฤษมาก จนเป็นที่พออกพอใจของพระภิกษุฝรั่งที่มาขอคำแนะนำจากท่าน




    *********************************


    อิสระ เสรี เสมอภาค




    *********************************

  5. #5
    Maximum learning
    ศิลปิน นักเขียน
    สัญลักษณ์ของ khonsurin
    วันที่สมัคร
    Apr 2008
    ที่อยู่
    ท่าตูม สุรินทร์
    กระทู้
    8,063
    บล็อก
    197
    เรื่องที่ 1

    ในวันวิสาขบูชาวันหนึ่ง หลังจากเวียนเทียนเสร็จ ได้มีหนุ่มสาวคู่หนึ่งเข้าไปกราบท่านธมมวิตกโกขณะที่ท่านเดินอยู่ ท่านได้หยุดและถามว่ามีเรื่องอะไรหรือ หนุ่มสาวคู่นั้นได้เรียนท่านว่ามาขอพรให้เกิดมาพบกันอีก ท่านได้ตอบว่า "มีแต่เขาไม่อยากจะมาเกิด นี่ทำไมอยากมาเกิดอีก อย่างอาตมาถ้าใครแช่งให้ไม่รู้จักผุดจักเกิด อาตมาก็จะขอบใจ เอาละเมื่อมาขอพรก็จะให้ แต่จะบอกว่าคนเราไม่ได้อะไรง่าย ๆ ด้วยการร้องขอ อยากได้อะไรต้องทำถึงจะได้" เรื่องการขอพรนี้มีคนไปขอพรท่านมาก ใครอยากได้อะไรก็ไปขอ จนท่านได้เขียนโอวาทเป็นข้อสุดท้ายลงในหนังสือสันติวรบทของท่านว่า ทำดีดีกว่าขอพร ท่านบอกว่าพรเป็นเพียงกำลังใจให้คนประพฤติปฏิบัติเท่านั้น และพุทธศาสนาก็ไม่ใช่ศาสนาของการสวดอ้อนวอนร้องขออะไร พระบรมศาสดาสอนให้เชื่อในเรื่องกรรมและผลของกรรมนั้น ฉะนั้นท่านจึงบอกว่า "ทำดีดีกว่าพร"



    เรื่องที่ 2

    คราวหนึ่งมีนักเรียนแพทย์ที่จบจากศิริราช จะออกไปเป็นแพทย์ฝึกหัดตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ได้มาขอโอวาทจากท่านขอให้ท่านกรุณาให้โอวาทด้วย เพราะจะออกไปปฏิบัติหน้าที่แล้ว ท่านธมมวิตกโกได้ให้โอวาทว่า ถ้าจะมาขอโอวาท ก็จะเตือนให้ระวังระเบิดสามลูก มีชื่อ ราคะ โทสะ และโมหะ ระเบิดสามลูกนี้ร้ายกาจมาก เป็นรากเง่าของความชั่วร้าย เรื่องโทสะเห็นจะไม่มีใครชอบพระเป็นของร้อนและเห็นได้ง่ายว่าเป็นทุกข์ แต่ราคะและโมหะให้ระวังให้มาก เพราะมาในรูปของไฟเย็นให้ความสุขได้มองไม่ค่อยเห็นความทุกข์ และราคะนั้นเมื่อมีโมหะเข้าช่วยจะไปกันใหญ่ เพราะจะพากันหลงรักหลงชัง เมื่อท่านให้โอวาทจบได้ถามแพทย์ผู้หนึ่งว่าจะไปอยู่ไหน นายแพทย์ผู้นั้นตอบว่าไปอยู่โรงพยาบาลเชียงใหม่ ท่านธมมวิตกโกบอกว่าคุณต้องระวังให้มากนะ เพราะจะเดือดร้อนจากระเบิดสามลูกนี้โดยเฉพาะลูกที่ชื่อราคะ



    เรื่องที่ 3

    ในกุฏิของท่านธมมวิตกโก นอกจากจะมีหีบศพแล้ว ยังมีโครงกระดูกแขวนอยู่ เป็นโครงกระดูกเต็มตัวร้อยไว้อย่างดี ท่านเคยชี้ให้ดูและบอกว่าเป็นโครงกระดูกผู้หญิง ท่านว่าเป็นคุณหญิงของท่าน ท่านชมว่าดีแท้ ๆ ตั้งแต่อยู่ด้วยกันมาไม่เคยทะเลาะกันเลย ไม่เคยบ่น ไม่เคยทำให้กลุ้มใจ มีแต่ให้ประโยชน์ให้สติ ให้รู้ว่าจะต้องตายเช่นนั้น วันหนึ่งก็จะเหลือแต่โครงกระดูกเช่นนี้ ได้พิจารณาทุกวัน แล้วท่านก็บอกว่าเมื่อมีเนื้อหนังหุ้มโครงกระดูกก็นิยมกันว่าสวย รักกันอยู่ด้วยกันความหลงแท้ ๆ หลงว่าจะเป็นอย่างที่เห็นอยู่ตลอดไปไม่ได้มองลึกลงไป ไม่ได้เห็นแก่นแท้ว่ามีแต่กระดูก ไม่น่าอภิรมย์แต่อย่างใด ทำไมจึงยังหลงไหลมัวเมากันอยู่ได้ แล้วท่านก็จะสรุปว่า "บ่อน้อยเท่ารอยโคหรือจะโผข้ามพ้น เป็นมหาบาเรียนยังเวียนไปหาก้น"



    เรื่องที่ 4

    ที่บริเวณกุฏิของท่านธมมวิตกโก มักจะมีชาวจีนเอาเครื่องไหว้แบบจีนไปไหว้เสมอ โดยเขานับถือว่าเป็นเซียน แต่ท่านบอกว่าเขาเห็นว่ากุฏิท่านเป็นศาลเจ้า วันหนึ่งมีชาวจีนเอาธูปเทียนป้ายหนังสือจีนและกระดองเต่าไปวางไว้ที่โคนต้นไม้ข้างกุฏิของท่าน เมื่อท่านกลับจากโบสถ์มาพบเข้า ท่านได้ชี้ให้ดูและบอกว่าชาวจีนเขายกย่องเต่ามาก เพราะเต่าเป็นสัตว์ที่อดทน แม้จะเดินช้าก็มั่นคงและไปถึงเสมอ ถ้าจะเอาเต่าเป็นตัวอย่างในการครองชีวิตก็ต้องอดทนและรอบคอบดำเนินชีวิตให้มั่นคง ส่วนในแง่ธรรมะจะเอาเต่าเป็นตัวอย่าง ก็เป็นเรื่องที่น่าเป็นตัวอย่าง เพราะเต่ามีกระดองและอวัยวะที่พ้นจากกระดองคือ 4 ขา หัวและหาง รวมเป็น 6 เปรียบเหมือน ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจของคน เมื่อเต่าพบอันตราย จะหดอวัยวะทั้งหมดเข้ากระดองจนกว่าจะปลอดภัย ถ้าคนเราจะเอาตัวอย่างนี้มาประพฤติจะดีไม่น้อย เช่นเมื่อประสาททั้ง 6 ดังที่กล่าวมากระทบกับอารมณ์ใดก็เอามาพิจารณาด้วยความระมัดระวัง เช่นเดียวกับเต่าหดอวัยวะเข้ากระดอง ไม่วู่วามตัดสินใจทำอะไรไปโดยไม่ถูกไม่ควร



    เรื่องที่ 5

    เรื่องบวชไม่สึกของท่านธมมวิตกโกนี้ ท่านบอกวาไม่เพียงแต่พี่สาวของคุณชุบว่าท่านบ้าเพียงคนเดียว แม้แต่คนอื่นก็ว่าท่านบ้าเหมือนกัน ท่านเล่าว่าพระบวชใหม่องค์หนึ่งมาบวชที่วัดเทพศิรินทร์ ขณะที่มาบวชนี้มีคู่หมั้นอยู่แล้ว เมื่อบวชแล้วก็ได้รู้จักกับท่านได้เล่าให้ท่านฟังว่า ก่อนบวชคู่หมั้นได้สั่งไว้ว่าไม่ให้มาหามาคุยกับท่านธมมวิตกโก โดยบอกว่าท่านธมมวิตกโกบ้า บวชแล้วไม่สึก คู่หมั้นของพระรูปนั้นเกรงว่า ถ้าได้รู้จักกับท่านธมมวิตกโกแล้วจะไม่สึกตามไปด้วย จึงได้ห้ามไว้เช่นนั้น เรื่องนี้ท่านธมมวิตกโกบอกว่า คนที่ทำอะไรไม่เหมือนที่โลกนิยมก็จะมีคนว่าบ้า โดยคนที่พูดไม่ได้เข้าใจโดยถ่องแท้ว่า อย่างไรจึงบ้าอย่างไรจึงดี ท่านบอกว่าคนเราที่เกิดมานี้มีหน้าที่สำคัญอย่างยิ่งที่พึงกระทำ คือการทำให้พ้นทุกข์ ถ้าไม่ทำก็เท่ากับว่าไร้ประโยชน์ในการเกิดมา เพราะจะต้องเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่นั่นเอง และคนที่มีความประสงค์จะพ้นทุกข์ และพยายามกระทำเพื่อให้พ้นทุกข์ คนที่ไม่เข้าใจก็ว่าบ้าเหมือนอย่างที่สมเด็จพุฒาจารย์ (โต) บอกว่า "เมื่อขรัวโตบ้าก็ว่าขรัวโตดี เมื่อขรัวโตดีก็ว่าขรัวโตบ้า



    เรื่องที่ 6

    ในระหว่างเข้าพรรษาท่านธมมวิตกโกจะเตือนพระภิกษุใหม่เสมอว่า ให้รีบศึกษารีบทำความดีเสียเพราะมีเวลากันคนละไม่มาก ถ้าหากไม่ขวนขวายที่จะศึกษาในทางธรรมแล้ว เมื่อสึกออกไปก็จะยิ่งไม่มีโอกาส หากใกล้จะออกพรรษาท่านก็จะเตือนอีกเช่นกัน แต่มีคราวหนึ่งท่านไม่เตือนเหมือนเคย ท่านกลับเตือนว่าอีก "กี่วัน" จะออกพรรษาแล้ว โดยพูดเป็นจำนวนวันที่เหลือ พระภิกษุบวชใหม่ไปเล่าให้ญาติโยมฟังถึงเรื่องนี้ มีบางคนบอกว่าท่านให้หวยแล้วพากันไปแทงตามตัวเลขที่ท่านพูด ปรากฏว่าในงวดนั้นลอตเตอรี่ออกตรงตามที่ท่านพูด ทำให้เล่าลือกันไปว่าท่านให้หวยแม่น เมื่อท่านทราบเรื่องนี้ท่านบ่นว่า "เหลวไหลกันใหญ่ ต่อไปนี้อาตมาจะพูดอะไรเป็นตัวเลขต้องระวังเสียแล้ว ถ้าเกิดไปแทงไม่ถูก จะพากันเสียเงินโดยใช่เหตุ นี่เคราะห์ดีว่าแทงถูก"




    *********************************


    อิสระ เสรี เสมอภาค




    *********************************

  6. #6
    Maximum learning
    ศิลปิน นักเขียน
    สัญลักษณ์ของ khonsurin
    วันที่สมัคร
    Apr 2008
    ที่อยู่
    ท่าตูม สุรินทร์
    กระทู้
    8,063
    บล็อก
    197
    เรื่องที่ 7

    มีพระภิกษุบวชใหม่รูปหนึ่ง เมื่อบวชแล้วก็ตั้งใจขวนขวายศึกษาธรรม และพยายามจะปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ท่านธมมวิตกโกเห็นอุปนิสัยเช่นนั้น จึงได้ชักชวนให้พระภิกษุรูปนั้นบวชต่อไป การชักชวนของท่านธมมวิตกโกนี้เป็นการชักชวนอย่างจริงจัง พร้อมทั้งแนะแนวปฏิบัติให้อีกด้วย แต่พระภิกษุรูปนั้นก็ยังไม่รับคำ จนกระทั่งออกพรรษา ท่านธมมวิตกโกได้บอกกับพระภิกษุรูปนั้นว่า "คุณมีอุปนิสัยเพราะคุณเรียนธรรมได้ง่าย นี่แสดงว่าคุณบวชแล้วหลายชาติ และคุณก็สึกทุกที ชาตินี้คุณไม่สึกไม่ได้หรือ" พระภิกษุรูปนั้นได้ตอบว่า "ผมยังมีวิจิกิจฉา ยังสงสัยทุกเรื่อง ยังไม่มั่นใจว่า อะไรคืออะไรเป็นที่แน่นอน คิดเอาเองว่าจะสิ้นสงสัยได้ต้องอธิษฐานขอเป็นพระพุทธเจ้าเอง เพราะเท่าที่ทราบมาพระอรหันต์ระลึกชาติเพียงกัปป์เดียวคงไม่สิ้นสงสัย" ท่านธมมวิตกโกบอกว่า "คุณคิดเหมือนคุณเสถียร โพธินันทะ คุณเสถียรบอกกับอาตมาว่าอยากเป็นพระพุทธเจ้า อาตมาเห็นเป็นเรื่องเหลวไหว เกิดมาพบพระพุทธเจ้าแล้ว ได้เรียนธรรมของท่านแล้ว จะอยากไปเป็นพระพุทธเจ้าอีก ต้องทรมานต่อไปอีกด้วยเหตุผลอะไรกัน แล้วที่คุณว่าเป็นพระอรหันต์ไม่สิ้นสงสัยนั้น คุณทราบแล้วหรือว่าพระอรหันต์เป็นอย่างไร เป็นเรื่องรู้ก่อนเกิด เหลวไหล" แล้วท่านธมมวิตกโกได้กล่าวต่อไปว่า "สำหรับอาตมานั้นต้องการให้ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย อาตมาไม่อยากจะเกิดอีก อาตมามั่นใจว่าชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย" แล้วท่านก็พูดเป็นภาษาอังกฤษว่า "This Life is the last" ผมก็ไม่ทราบว่าความหวังของท่านบรรลุผลหรือไม่ และท่านเป็นพระอรหันต์จริงหรือไม่ ใครเล่าจะมีคุณธรรมพอจะไปหยั่งรู้ได้ เพราะผู้นั้นจะต้องเป็นพระอรหันต์เช่นกัน และที่ท่านธมมวิตกโกบอกว่า ต้องการให้เป็นชาติสุดท้ายนั้น ก็มีความหมายได้สองนัย กล่าวคือเป็นชาติสุดท้ายจริง ๆ เพราะต้องนิพพานแน่ หรืออีกนัยหนึ่งเป็นชาติสุดท้ายของการเกิดเป็นมนุษย์ แล้วไปบังเกิดในภพอื่น ไปนิพพานในภพอื่น ทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงการเดาเท่านั้น ถ้าพวกเราคือผู้อ่านและผมผู้เขียนเข้าใจว่าท่านเป็นพระอริยบุคคลจริง ๆ จะเป็นพระอริยบุคคลชั้นใดก็ตาม เราท่านทั้งหลายก็ไม่อาจจะหยั่งถึงความเป็นไปหรือความคิดของพระอริยบุคคลได้ คงได้แต่ตั้งจิตอธิษฐาน ขอให้ท่านได้สมปรารถนาในเจตนาของท่านอย่างบริบูรณ์




    เรื่องที่ 8

    ในบั้นปลายของชีวิต ท่านธมมวิตกโกอาพาธด้วยโรคมะเร็งที่ลำคอ การอาพาธของท่านนี้พูดตามที่บุคคลธรรมดาพึงเห็น แต่สำหรับท่านธมมวิตกโกแล้ว ท่านเป็นปกติธรรมดาไม่เคยแสดงอาการใดว่าท่านได้อาพาธ ท่านปกติธรรมดาจนทุกคนที่พบเห็นท่านคล้ายจะลืมว่าท่านอาพาธ ถ้ามีใครถามถึง ท่านจะเล่าให้ฟังว่าตั้งแต่เริ่มเป็นเมื่อปี พ.ศ. 2509 มีขนาดเท่าไข่จิ้งจก และโตต่อมาเรื่อย ๆ จนมีขนาดเท่าลูกพุทรา เท่าไข่เต่า และท่านจะบอกว่าตอนนี้เท่าไข่เป็ดแล้ว เมื่อถามถึงความเจ็บปวด ท่านจะบอกว่าไม่เจ็บปวดมากนัก จะมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ผมคิดว่าถ้าเป็นอย่างไรท่านคงจะลุกเดินไม่ไหวเพราะความเจ็บปวดแล้ว แต่ท่านธมมวิตกโกท่านกลับเป็นปกติทุกอย่าง สมมติว่าถ้าแผลมะเร็งนี้เกิดขึ้นกับอวัยวะภายในไม่มีใครมองเห็นแล้ว ก็จะไม่มีใครรู้ว่าท่านอาพาธเลย ท่านเล่าว่าเมื่อก่อนจะเป็นท่านมีความรู้สึกว่าจะเป็นที่ตับ เพราะมีอาการบางอย่างที่นั่น ท่านเล่าว่าเหมือนกับมีอะไรวิ่งกันอยู่เป็นริ้ว ๆ ที่บริเวณนั้น ท่านได้อธิษฐานว่าหากจะป่วยเป็นโรคใดแล้วขอให้ปรากฏออกมา ขอให้เป็นภายนอกเถิดจะได้มองเห็น และเป็นตัวอย่างให้ศึกษา หลังจากท่านอธิษฐานแล้ว ท่านรู้สึกว่าสิ่งที่วิ่งกันอยู่นั้นได้ย้ายวิ่งมาที่ลำคอและปรากฏเป็นอย่างนี้ เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ที่แรงอธิษฐานของท่านเป็นไปตามที่ท่านอธิษฐาน เห็นจะเป็นด้วยบุญบารมีที่ท่านบำเพ็ญมา และท่านจะยกเอาอาการอาพาธของท่านเป็นตัวอย่างสอนคนที่ไปพบท่านว่า ร่างกายเป็นรังของโรคต้องเจ็บป่วยอยู่เสมอเป็นธรรมดา เป็นเรื่องของการเกิดแก่เจ็บตาย อย่าเศร้าหมองตามการป่วยเจ็บนั้น ทำใจให้ปลอดโปร่ง และให้นึกเสมอว่าการเจ็บการตายไม่แน่นอน จะมาถึงเมื่อใดก็ได้อย่าประมาทอย่ารั้งรอต่อการทำความดีในขณะที่ยังมีโอกาสทำความดี จะได้ไม่ต้องเสียใจ แม้ความตายจะมาถึงในวินาทีใดก็ตาม ท่านจะยกคำกลอนในอุทานธรรมมาพูดเสมอว่า


    ถึงกายแพ้แต่ใจเราไม่แพ้
    ใจไม่แก่เจ็บตายตามกายหนา
    กายนี้มันจะเน่าเราก็ลา
    ไปสวรรค์ชั้นฟ้านิพพานเอย




    เรื่องที่ 9
    คราวหนึ่งท่านได้เคยพูดกับนายอธึก สวัสดิมงคล นายกยุวพุทธิกสมาคมชลบุรี ภายหลังจากถวายของให้ท่านอธิษฐานจิตแล้ว เป็นคติน่าฟังมาก

    "ทั้งหมดนี่" ท่านกล่าวขึ้น พร้อมกับชี้มือไปยังหีบพระเครื่องต่าง ๆ ที่ท่านอธิษฐานจิตแล้ว "สู้ธรรมะไม่ได้"

    แสดงว่าท่านยกย่องการประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมของสมเด็จพระบรมศาสดานั้นว่า มีความสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด สำคัญยิ่งกว่าการมีพระเครื่องไว้ประจำตัว

    อีกคราวหนึ่งในปี 2513 หลังจากพิธีสวดอธิษฐานจิตเมื่อวันเสาร์ห้าผ่านไปเพียงเล็กน้อย นายแพทย์สุพจน์ ศิริรัตน์ ได้นำพระเครื่องพิมพ์นาคปรกเนื้อนวโลหะที่ท่านเจ้าคุณอุดมฯ สร้างเพื่อจำหน่ายหารายได้สมทบทุนสร้างโรงเรียนนวมราชานุสรณ์ นครนายกนั้น ราว 4-5 องค์ไปถวายให้ท่านอธิษฐานจิตซ้ำอีก ก่อนที่ท่านจะยินยอมอธิษฐานจิตให้ ได้ถูกท่านเทศนาสั่งสอนอย่างเจ็บ ๆ อยู่นานร่วม 1 ชั่วโมง

    "หมอนี่เรียนมาเสียเปล่า มาหลงงมงายอะไรกับเรื่องพรรค์นี้ !"


    ท่านได้ว่ากล่าวสั่งสอน มิให้ลุ่มหลงมัวเมาอยู่กับเรื่องของขลังและอภินิหาร เพราะอภินิหารต่าง ๆ นั้น มิได้ช่วยให้ทุกคนรอดพ้นจากภัยอันตรายได้ทุกครั้งอยู่เสมอไป

    ตลอดเวลาที่ท่านเทศนาว่ากล่าวอยู่นานโขนั้น นายแพทย์สุพจน์ ได้โต้แย้งท่านอยู่ไม่หยุดเช่นกัน โดยปกตินั้นท่านชอบคนโต้เถียงท่านด้วยเหตุผลอยู่เหมือนกัน

    การที่นายแพทย์สุพจน์โต้เถียงท่านในเรื่องอภินิหารนั้น ก็เป็นด้วยนายแพทย์ผู้นี้ได้เคยเอาพระเครื่องกรุเก่า มาทดลองยิงด้วยปืนพกด้วยมือของตนเองมาหลายครั้งหลายหน จนกระสุนหมดไปหลายกล่อง ปรากฏผลเป็นที่น่าทึ่งมาก โดยใช้วิธีอาราธนาพระไว้ที่ตัวปลาหมอ ในระยะที่ยิงได้แม่นยำอย่างสบาย แล้วก็ระเบิดกระสุนใส่เข้าไป !

    ผลของการทดลอง ปรากฏว่าจากการยิงพระนางพญากรุพิษณุโลก ราว 7-8 องค์ ส่วนใหญ่ยิงถูกแต่ไม่เข้า (คงกระพัน) บางองค์ยิงไม่ถูก (แคล้วคลาด) มีอยู่องค์หนึ่งยิงไม่ออก (มหาอุด) และพระปิดทวารของหลวงปู่เอี่ยมวัดหนัง พิมพ์ใหญ่ชนิดสองหน้า ที่เรียกกันว่าพิมพ์พระประกับนั้น ยิงไม่ออก เป็นยอดมหาอุดจริง ๆ

    จากประสบการณ์ดังกล่าวนี้เอง ทำให้นายแพทย์สุพจน์ ศิริรัตน์ เชื่อมั่นในอภินิหารของพระเครื่องเป็นยิ่งนัก และเอาเรื่องนี้มาโต้แย้งกับท่านธมมวิตกโก ที่ท่านกล่าวหาว่ามาหลงงมงายอยู่กับอภินิหารไม่เข้าเรื่อง !

    "เรื่องอภินิหาร พระเดชพระคุณว่ามีจริงไหม ?" นายแพทย์สุพจน์ เอ่ยขึ้นตอนหนึ่ง

    "จริง" ท่านตอบ จากนั้นท่านกล่าวสืบต่อไปว่า

    "หมอเคยเห็นเคยได้ยินข่าวเรื่องโจรผู้ร้ายที่แขวนพระไว้เต็มคอ แต่แล้วก็กลับถูกตำรวจยิงตาย หรือไม่ก็ถูกจับได้ ต้องติดคุกไปบ้างไหม? ถึงแม้จะมีพระอยู่เต็มคอก็ช่วยอะไรไม่ได้ใช่ไหม?"

    แล้วท่านกล่าวสำทับในที่สุดว่า "อภินิหารนั้นหนีกฎแห่งกรรมไม่พ้น"

    เมื่อถูกท่านขนาบด้วย "ไม้ตาย" เช่นนี้ ก็ทำเอานายแพทย์สุพจน์ ต้องนิ่งงันสงบปากไม่อาจจะกล่าวโต้แย้งในเรื่องอภินิหารใด ๆ กับท่านได้อีกต่อไป

    ตามที่กล่าวมานี้ จะเป็นที่เห็นได้ชัดว่า แม้ท่านธมมวิตกโกจะตั้งใจอธิษฐานจิตและแผ่เมตตาลงในพระเครื่อง ด้วยความเชื่อมั่นว่า มีความศักดิ์สิทธิ์สามารถปกป้องคุ้มครองผู้สักการะบูชาได้ก็จริง แต่ผู้มีพระเครื่องไว้คุ้มครองนั้น ก็จะต้องประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระบรมศาสดา เจ้าของที่มาแห่งองค์พระปฏิมานั้นด้วย



    เรื่องที่ 10
    เมื่อคุณหมอ ไพบูลย์ ปุษปธำรง ได้ทำแผลให้เป็นที่เรียบร้อย ท่านก็สวดมนต์อุทิศแผ่ส่วนกุศลให้ แล้ววันนั้นท่านได้กล่าวกับหมอว่า " หมอ อันความตายและการพลัดพรากจากกันนั้นเป็นของธรรมดา และเป็นไปตามธรรมชาติ เขาตายกันนับตั้งแต่คราวปู่ย่าตายาย เมื่อครั้งโบราณกาลมาแล้ว ถ้าเราพิจารณาให้ดีก็จะรู้ว่า การตายไม่ใช่เป็นสิ่งที่น่าสยดสยองอย่างที่ทุกวันมีคนส่วนมากคิด คนเราเมื่อเกิดมาก็ต้องอาศัยสังขารเป็นที่อยู่อาศัยปกติธรรมดาสังขารเราก็จะมีเวลาจำกัด ย่อมจะมีการเสื่อมและทรุดโทรมเป็นธรรมดา ฉะนั้นความตายจึงไม่เป็นสิ่งที่เสียหายตรงไหน หากแต่เป็นเพียงเปลี่ยนสภาพจากหนึ่งไปสู่อีกสภาพหนึ่งเท่านั้น อุปมาเหมือนหมอกับอาตมา ซึ่งในปัจจุบันขณะนี้กำลังคุยกันอยู่ แต่เวลาได้ล่วงเลยดับไปทุกวินาที ทุกชั่วโมง และหมอก็ได้ทำแผลให้อาตมาเสร็จ ประเดี๋ยวหมอก็จะต้องกลับไปบ้าน ส่วนอาตมาก็จะต้องกลับกุฎิ และทุกคนในที่นี้ก็จะต้องกลับไปสู่ที่อยู่อาศัยของตน


    นี่ก็เป็นเหตุผลส่วนหนึ่งของการพลัดพรากจากกัน ทั้งที่เรายังมีชีวิตอยู่ มีสังขารร่างกาย เมื่อเราได้ลุกจากไปแล้ว สถานที่นั้นก็จะว่างเปล่าปราศจากผู้คนไปชั่วขณะ เพราะเราได้แยกย้ายกันกลับไปสู่ที่พัก เหตุการณ์วันนั้นก็จะเป็นแต่เพียงอดีตเท่านั้น จะมีก็แต่ความทรงจำเท่านั้นแต่จะให้อดีตนั้นย้อนกลับมาใหม่ก็ไม่ได้ ดังนั้นการตายก็เหมือนกัน เป็นแต่เพียงการจากไป มิได้สูญไปไหน หากแต่เปลี่ยนจากสภาวะปัจจุบันไปอยู่อีกสภาวะหนึ่ง ซึ่งอยากที่จะอธิบายให้เข้าใจได้ง่าย ๆ และเราก็สามารถที่จะระลึกถึงกันได้ อย่าเข้าใจว่าสูญสิ้นไป ความตายความเกิดนั้นมีอยู่ตลอดเวลา ขออย่าประมาท"



    การทำให้ดูเป็นตัวอย่าง

    ตลอดเวลา 45 พรรษาที่ท่านอุปสมบทอยู่นั้น ท่านได้มีชีวิตอยู่อย่างวิเวกอย่างแท้จริง ทั้ง ๆ ที่ท่านอาศัยอยู่ในใจกลางของเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ และก็อยู่ในบริเวณที่อึกกระทึกจอแจไม่น้อย ท่านไม่ค่อยได้พูดคุยกับผู้ใดนัก นอกจากว่าจะมีผู้พูดกับท่านก่อน และอันที่จริงก็ไม่ค่อยจะมีใครกล้าพูดกับท่านเท่าใดนัก นอกจากว่าจะเป็นการสนทนาธรรมกัน ซึ่งท่านก็ยินดีจะให้คำตอบและอธิบายอย่างเต็มใจเท่าที่สามารถกระทำได้ ดังนั้น จึงมีหลายคนมักจะตำหนิติเตียนท่านว่าเป็นคนใจแคบ ไม่ช่วยสั่งสอนผู้อื่นบ้าง แต่ก็มีหลายท่านเหมือนกันที่ค้านว่า ความจริงข้อวัตรปฏิบัติของท่านที่ท่านได้กระทำติดต่อกันมาด้วยความสม่ำเสมอ ซึ่งแสดงถึงความเป็นผู้เด็ดเดี่ยวในทางความเพียรนั้นแหละคือ เทศน์กัณฑ์ใหญ่ทีเดียว และก็เป็นเทศน์ที่ได้ผลดีไม่น้อยกว่าการเทศน์ด้วยคำพูดเหมือนกัน เพราะเป็นการเทศน์ให้เราดูด้วยตา ไม่ใช่ให้เราฟังด้วยหูอย่างเดียว ซึ่งการเทศน์ให้ฟังนั้น บางครั้งก็อาจจะเกิดกว่าภูมิธรรมภายในของผู้เทศน์ไปไม่น้อยก็เป็นได้ ดังนั้น การเทศน์ให้ดูแบบนี้ สำหรับคนที่ใจไม่บอดจึงมีคติสอนใจได้เป็นอย่างดี





    ขอขอบพระคุณ
    ผู้ใช้นามว่า ศักดิ์ ตลิ่งชัน saktalingchan.com




    *********************************


    อิสระ เสรี เสมอภาค




    *********************************

  7. #7
    แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ สัญลักษณ์ของ กะแยงนา
    วันที่สมัคร
    Apr 2009
    กระทู้
    211
    บล็อก
    2
    ขอบคุณหลายๆเด้อจ้า มีลุงที่ทำงานเพิ่นให้เหรียญเจ้าคุณนรฯ มาเหรียญนึงจ้า เก็บไว้ติดตัวตลอด มื่อนึงไปวัดแถวอำเภอชัยบาดาล จ.ลพบุรี หลวงพ่อเพิ่นเป็นพระเขมรเพิ่นทักออกมาเลยจ้ะว่า มีคนให้พระเกจิมาแมนบอ เพิ่นเหยียบบ่ามานำ ขนลุกเลยจ้า...ท่องเวลาฝนรินๆ “ธมฺมวิตกฺโก ๆ ๆ ๆ” ถือว่าเป็นน้ำมนต์จากหลวงพ่อค่ะ

Tags for this Thread

กฎการส่งข้อความ

  • You may not post new threads
  • You may not post replies
  • You may not post attachments
  • You may not edit your posts
  •