ชื่อ
ทานสลากภัต หรือกิ๋นสลาก
ภาคเหนือ
จังหวัด น่าน



ทานสลากภัต หรือกิ๋นสลาก หรือตานก๋วยสลาก เป็นประเพณีเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล เรื่องมีอยู่ว่า ขณะที่พระพุทธเจ้าประทับ ณ พระเชตวันมหาวิหารนั้น วันหนึ่งนางกุมารีได้อุ้มลูกชายวิ่งหนีนางยักขินีผู้มีเวรต่อกันหลายชาติ แล้วติดตามจะทำร้ายลูกของนาง นางเห็นจวนตัวจะวิ่งหนีไปที่อื่นไม่ได้จึงวิ่งเข้าไปในเชตวัน ไปพึ่งพระพุทธเจ้า ขณะที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรม พระองค์ทรงตรัสสอนไม่ให้จองเวรต่อกัน นางทั้งสองเห็นชอบชั่วดี นางยักขินีรับศีล ๕ แล้วกราบทูลพระพุทธองค์ว่านางไม่รู้จะไปทำอะไรเพราะรักษาศีลเสียแล้ว ฝ่ายนางกุมารีเห็นดังนั้นจึงอาสาพานางยักขินีไปอุปการะ นางยักขินีจึงตอบแทนอุปการะคุณแก่นางกุมารี โดยพยากรณ์บอกเรื่องอุตุนิยมวิทยา และการทำนาแก่นางกุมารี และยังได้บอกแก่ประชาชนทั่วไปจนร่ำรวย เพื่อตอบแทนคุณนางยักขินีคนเหล่านั้นจึงพากันเอาเครื่องอุปโภค บริโภค อาหารการกิน เครื่องใช้มามอบให้นางเป็นอันมากจนเหลือใช้ นางจึงมาทำเป็นสลากภัต โดยให้พระสงฆ์ทำการจับสลากอุปโลกป์กรรมคือของที่ถวายมีทั้งราคามาก ราคาน้อย พระสงฆ์องค์ใดได้ของมีค่าน้อยก็อย่าเสียใจ ให้ถือว่าเป็นโชคดีของตนไม่ดี

ความสำคัญ
ประเพณีการทำบุญตานก๋วยสลากหรือกิ๋นสลากของชาวเหนือนับเป็นประเพณีทำบุญกลางบ้านที่ยิ่งใหญ่ และสำคัญยังเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นมาจนทุกวันนี้ เป็นประเพณีที่ดีงามควรที่จะได้ช่วยรักษาและอนุรักษ์ไว้ เป็นประเพณีที่มีคติธรรมมาจากศาสนาพุทธที่มีแก่นสารที่สำคัญ คือ เป็นการสั่งสอนใจคนให้รู้จักบาปบุญคุณโทษ สอนให้สร้างความดีในชาตินี้เพื่อผลบุญในชาติหน้า สอนให้ลูกหลานมีความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่ปู่ย่าตายายผู้ล่วงลับไปแล้วด้วยการตานก๋วยสลาก และสามารถอุทิศผลานิสงส์นี้ไปเป็นเนื้อนาบุญแก่ผู้ตานก๋วยสลากเองเมื่อถึงแก่กรรมแล้ว

พิธีกรรม
ก่อนวันพิธี ๑ วันเรียกว่า วันดาสลาก ผู้หญิงจะจัดเตรียมสิ่งของปัจจัยเครื่องไทยทานเพื่อบรรจุในก๋วย(ตะกร้าไม้ไผ่) ซึ่งผู้ชายสานเตรียมไว้แล้วด้านหน้าก๋วยสลากจะมี"เส้นสลาก" หรือข้อความจารึกชื่อผู้ถวายพร้อมระบุด้วยว่า เพื่ออะไร สำหรับผู้ใด
ในวันทานสลาก พระภิกษุตามวัดต่างๆจะได้รับนิมนต์ให้มาร่วมรับการถวายทาน ชาวบ้านที่เป็นศรัทธาวัดก็จะนำก๋วยสลากด้วย กรรมการวัดมีหน้าที่จัดเตรียมสลากอีกชุดหนึ่งเท่ากับจำนวนก๋วยสลากที่ชาวบ้านจะถวาย เมื่อถึงเวลาก็นิมนต์พระสงฆ์ที่มาร่วมพิธีทุกรูปจับสลากได้เบอร์ใดก็จะออกเดินค้นหาต้นสลากที่วางไว้ เมื่อพบแล้วชาวบ้านก็จะถวายทานต้นสลาก หรือบางทีพระสงฆ์ก็อาจอ่านชื่อศรัทธาตามเส้นสลากเพื่อเรียกให้ศรัทธานำเอาก๋วยสลากไปถวาย พระสงฆ์จะให้พรเป็นอันเสร็จพิธี

สาระสำคัญ
ทางคติธรรม การตานก๋วยสลาก จะสอนใจพระสงฆ์และสามเณรมิให้ยึดติดในลาภสักการะ รู้จักการตัดกิเลส และหลักการทำบุญตานก๋วยสลากนั้นเป็นวิธีการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่งคือการบริจาคด้วยความบริสุทธิ์ใจ รู้จักเสียสละเพื่อส่วนรวม ไม่เห็นแก่ตัว ไม่ยึดมั่นถือมั่นในลาภ ยศ สุข สรรเสริญ นอกจากนี้ยังแสดงถึงพลังความสามัคคีของชาวบ้านที่ร่วมมือร่วมใจกันทำบุญกุศลโดยพร้อมหน้ากัน