ชื่อ
พิธีฮ้องขวัญคนป่วย
ภาคเหนือ
จังหวัด พะเยา



ช่วงเวลา
ไม่มีระยะเวลาที่กำหนดตายตัว ขึ้นอยู่เมื่อมีผู้ใดผู้หนึ่งเจ็บป่วยญาติพี่น้องช่วยกันจัดทำให้

ความสำคัญ
พิธีกรรมนี้ประกอบและปฏิบัติสืบทอดต่อ ๆ กันมาเป็นระยะเวลาช้านาน และทำขึ้นมาเพื่อทำให้เกิดขวัญและกำลังใจแก่ผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยหายจากการเจ็บไข้ได้ป่วยเร็วขึ้น

พิธีกรรม
การทำพิธีฮ้องขวัญ ท่านให้ทำขันครู (ขั้นตั้ง) ให้พ่อหมอหรืออาจารย์ผู้ทำพิธีนั้น
ขั้นตั้งครูอาจารย์
๑. สวยหมาก ๔ สวย
๒. พลู ๔ สวย
๓. สวยดอก ๔ สวย
๔. เทียนน้อย ๔ คู่
๕. เทียนเล่มละ ๑ บาท ๒ คู่
๖. ข้าวเปลือก ๑ ลิตร
๗. ข้าวสาร ๑ ลิตร
๘. เบี้ยพันสาม
๙. หมากพันสาม
๑๐. ผ้าขาว - ผ้าแดง
๑๑. เงิน ๓ บาท
แต่งดาใส่ขันตั้งให้หมด (ดาหมายถึงเตรียม)
บายศรีฮ้องขวัญ
การฮ้องขวัญนั้นให้แต่งเครื่องข้าวขวัญ คือ ทำเครื่องขันบายศรีปักด้วยดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมหลายสีหลายอย่างเป็นพุ่มพวงงาม มีด้าย ๙ เส้น รอบเวียนบายศรีข้างในขันให้ใส่ข้าวปลาอาหารต่าง ๆ พร้อมทั้งเครื่องคาว - หวาน เมื่อแต่งดาเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ทำพิธีฮ้องขวัญ
การฮ้องขวัญ
ก่อนฮ้องขวัญต้องทำพิธีกล่าวทำ ปัดเคราะห์ ปัดภัยเสียก่อน โดยพ่อหมอหรืออาจารย์จะกล่าวคำปัดเคราะห์ ปัดภัยเป็นภาษาพื้นเมือง เมื่อกล่าวคำปัดเคราะห์ ปัดภัยเสร็จหมดแล้วจะทำพิธีกล่าวคำฮ้องขวัญต่อไป พร้อมทั้งมีการมัดมือด้วยด้าย ๙ เส้น เริ่มจากข้อมือซ้ายก่อนแล้วมัดข้อมือขวา ในระหว่างที่มัดข้อมือพ่อหมอหรืออาจารย์ก็จะกล่าวคำให้พรตลอด จนกว่าจะเสร็จ

สาระ
ตั้งแต่โบราณมา คนพื้นเมืองเมื่อมีผู้ใดผู้หนึ่งเจ็บไข้ได้ป่วย ผอมเหลืองไม่มีสีสัน วรรณะ กินไม่ได้นอนไม่หลับเป็นเวลาหลายวัน หรือสะดุ้งตกใจกลัวเมื่อพบเห็นสิ่งที่หวาดเสียว น่ากลัว และประสบปัทวเหตุสยดสยอง อาจทำให้ขวัญหนีดีฝ่อเหล่านี้ ญาติพี่น้องจะช่วยกันจัดแต่งขันตั้งเครื่องบายศรีเพื่อฮ้องขวัญให้กับผู้ประสบเหตุนั้น และเพื่อให้เป็นขวัญกำลังใจและเกิดความเป็นสิริมงคลแก่ผู้ที่เจ็บไข้ได้ป่วยนั้น