ชื่อ
พิธีจัดงานศพของชาวไทยทรงดำ (ไทยโซ่ง)
ภาคเหนือ
จังหวัด พิษณุโลก



ช่วงเวลา
พิธีจัดงานศพเป็นพิธีของชาวไทยโซ่งหรือไทยทรงดำบ้านคุยม่วง หมู่ ๒ ตำบลคุยม่วง อำเภอบางระกำจังหวัดพิษณุโลก พิธีนี้จัดขึ้นเมื่อมีคนในบ้านไทยโซ่งเสีย ชีวิตลง

ความสำคัญ
พิธีจัดงานศพทำให้ผู้เสียชีวิตได้ไปสู่ที่สุขคติ ครอบครัวไหนทำพิธีจะทำให้วิญญาณผู้ตายมาช่วยปกป้องคุ้มครอง คนที่มีชีวิตอยู่

พิธีกรรม
เมื่อมีคนไทยโซ่งเสียชีวิตลง ญาติก็จะอาบน้ำศพ เปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ เรียก เสื้อฮี่ เสื้อที่สวมให้คนตายไม่เอาลายออก และญาติก็ต้องสวมเสื้อฮี่ไม่เอาลายออกด้วย เสร็จแล้วนำบรรจุโลงศพในงานพิธีศพร้องไห้ไปรำพันถึงความดีของผู้ตายต่าง ๆ นา ๆ จุดประสงค์เพื่อต้องการให้เทพยดา ทราบว่า ผู้ตายรายนี้เป็นคนดี มีเกียรติยศคนในเมืองมนุษย์รักมาก ขอให้เทวดารับไปสู่สวรรค์ด้วย เดิมไม่มีพิธีสงฆ์ แต่ปัจจุบันมีบ้างเมื่อถึงกำหนดเผาหรือบรรจุศพ ญาติจะช่วยกันหามศพ เครื่องนอน เครื่องใช้จัดเป็นขบวน โดยมี ลูกชายคนโตสวมเสื้อต๊ก (เสื้อทุกข์ คือ เสื้อสีขาวเย็บชั่วคราวไม่มีแขน ใช้ผ้าขาวสี่เหลี่ยมคาดหัว) และญาติ บุตร ภรรยา และญาติต้องสวมเสื้อต๊ก เดินร้องไห้ตามไปด้วย
เมื่อศพถึงป่าแฮ่ว (ป่าช้า) ทำพิธีเผาศพ (บางศพฝัง) เมื่อเผาศพแล้วทุกคน กลับบ้าน และมีการเลี้ยงอาหาร ในวันรุ่งขึ้นจะไปเก็บกระดูกผู้ตายใส่หม้อดิน เอาสตางค์ใส่ลงในหม้อปิดฝานำไปฝัง ณ เชิงตะกอน ต่อจากนั้นมีพิธีปลูกบ้านจำลองขนาดเล็ก ๆ คล่อมหม้อดินไว้ ๑ หลัง ของใช้อื่น ๆ ใส่ไว้ใต้ถุนบ้านจำลอง บ้านนี้จะมีรั้วล้อมรอบ ชาวโซ่งเชื่อว่าผู้ตายจะได้อาศัยที่บ้านนี้ก่อนขึ้นสวรรค์ ถ้าศพเป็นหญิงไทยโซ่งจะต้องทำธงล้อมรอบรูปนกหงส์ ส่วนศพผู้ชายไม่มีธง พิธีเสร็จแล้วกลับบ้าน ต่อมาอีก ๓ - ๗ วัน จะให้หมอผีนำเชี่ยนหมาก พลู บุหรี่ ไปเชิญวิญญาณผู้ตายขึ้นไปอยู่บนเรือน โดยจัดมุมห้องในเรือนให้ หลังจากนั้น ๗ วัน จะเชิญแขกมารับประทานอาหารในกรณีเป็นศพญาติผู้ใหญ่ แต่ถ้าเป็นศพผู้น้อยจะทำในเวลา ๑๐ วัน เป็นเสร็จพิธี

สาระ
เป็นพิธีกรรมที่จัดขึ้น เพื่อระลึกถึงคุณงามความดีของผู้ตาย และแสดงถึงความสัมพันธ์ของคนในชุมชน เมื่อใครมีทุกข์ก็มาร่วมให้กำลังใจ และร่วมแสดงความเสียใจ