กำลังแสดงผล 1 ถึง 2 จากทั้งหมด 2

หัวข้อ: อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)

  1. #1
    Maximum learning
    ศิลปิน นักเขียน
    สัญลักษณ์ของ khonsurin
    วันที่สมัคร
    Apr 2008
    ที่อยู่
    ท่าตูม สุรินทร์
    กระทู้
    8,063
    บล็อก
    197

    อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)

    อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)



    บุคคลสำคัญในสงครามโลกครั้งที่ 2

    บุคคลแรกที่ควรรู้จักมากที่สุด คือ
    อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)


    อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)


    อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)



    อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)
    เกิดเมื่อวันที่ 20 เมษายน ค.ศ. 1889 เวลา 06.30 น.
    ที่ Braunau-am-Inn ในประเทศออสเตรีย
    บิดาของเขาชื่อ Alois Shiklgruber
    มารดาชื่อ Klara เป็นภรรยาคนที่ 3


    ในวัยเด็ก เขาเป็นเด็กที่ขาดความรัก ความอบอุ่นจากบิดาและมารดา
    แต่ฮิตเลอร์ก็ไม่ชอบให้ใครมาวิจารณ์พ่อของเขาในทางที่ไม่ดี
    แม่ของเขาแม้จะไม่ค่อยมีเวลาให้เขา แต่ก็จะคอยตามใจเขาทุกครั้งที่มีโอกาส
    ให้เขาในทุกๆสิ่งที่เขาต้องการ ว่ากันว่า การเอาใจอย่างเกินเหตุนี้เอง
    ที่เป็นสาเหตุของการก้าวไปสู่ความเป็นจอมเผด็จการแห่งยุคในที่สุด


    ฮิตเลอร์ในวัยเด็ก เป็นเด็กที่มีความเฉลียวฉลาด แม้ว่าจะขี้เกียจอย่างมาก ในงานที่ต้องใช้เวลานานๆ เขาเป็นเด็กช่างฝัน มีเพื่อนไม่มากนัก พรรคนาซีของเขามักจะทำการประชาสัมพันธ์อยู่เสมอว่า ฮิตเลอร์ในวัยเด็ก มีความเป็นผู้นำตามธรรมชาติ โดยเขามักจะนำเพื่อนๆทุกคนในสนามเด็กเล่นอยู่เสมอ อีกทั้งยังประชาสัมพันธ์อย่างจริงจังว่า ฮิตเลอร์สนใจในการค้นคว้าประวัติศาสตร์ ซึ่งที่จริงแล้ว มีคนแย้งอยู่เสมอว่า เขาไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์การบุกรัสเซียของ นโปเลียน เลย แม้แต่ผิวเผิน ทำให้เขาประสบกับความพ่ายแพ้ในรัสเซีย เช่นเดียวกับ นโปเลียน หนึ่งในวีรบุรุษที่เขาโปรดปราน


    อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)



    บิดาของฮิตเลอร์ตายในปี ค.ศ. 1903 ครอบครัวของเขาย้ายไปเมือง Linz ที่นี่ฮิตเลอร์ตัดสินใจเรียนวาดภาพ อย่างไรก็ตาม พรสวรรค์ในการวาดภาพของเขา ได้ถูกทำลายลงด้วยการขาดความเพียรพยายามของเขา ปี ค.ศ. 1907 เขาไม่ประสบความสำเร็จ ในการสอบเข้าเรียนศิลปะที่สถาบัน Vienna ในช่วงที่เขากำพร้าพ่อ เขาก็ดูมีความสุขดีกับการอยู่กับแม่ของเขา แม้ว่าเขาจะเขียนในหนังสือเรื่อง การต่อสู้ของข้าพเจ้า (Mein Kampf) ว่า เขาต้องออกไปทำงานไกลๆ เพื่อหาเลี้ยงตัวเองก็ตาม (forced to go far from home to earn his bread) ในโรงเรียน ฮิตเลอร์ทำคะแนนตกหลายวิชา และถูกปฏิเสธที่จะให้เลื่อนชั้นครั้งแล้วครั้งเล่า จนกระทั่งเขาตั้งใจที่จะไปเป็นศิลปินวาดภาพ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จอีก


    ต่อมาเขาเลือกที่จะเรียนเปียนโน แล้วก็ถอดใจ เลิกเรียนอีก เขาย้ายมาเวียนนาเมืองหลวงของออสเตรีย (ฮิตเลอร์เป็นคนออสเตรีย ไม่ใช่คนเยอรมัน) ที่นี่เองที่เขาได้พบกับลัทธิชาตินิยม (Nationalism) และลัทธิการแบ่งแยกเชื้อชาติ (Racism) อันนำมาซึ่งชนวนแห่งสงครามโลกครั้งที่สอง สงครามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่มวลมนุษยชาติเคยรู้จัก


    อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)



    สมาชิกรัฐสภาเยอรมัน (Reichstag) แสดงความเคารพแบบนาซีต่อฮิตเลอร์ ภายหลังการประกาศผนวกดินแดนออสเตรียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเยอรมัน มีผู้วิเคราะห์ว่า ฮิตเลอร์ใช้การปลุกระดมความรักชาติด้วยการใช้ Theater เช่น สัญลักษณ์อินทรีเหนือ สวัสดิกะที่ตื่นตา รวมทั้งการสวนสนามที่ปลุกเร้าความรักชาติ และการประชาสัมพันธ์ที่มีแบบแผนดีเยี่ยม (โลกตะวันตกมักพูดถึงการประชาสัมพันธ์ของฮิตเลอร์ ว่า เป็นการโฆษณาชวนเชื่อ หรือ Propaganda) รวมไปถึงการปลูกฝังอุดมการณ์ลัทธินาซี ให้กับเยาวชนตั้งแต่อายุ 10 ปีขึ้นไป ในนามของ ยุวชนฮิตเลอร์ จึงทำให้อุดมการณ์นาซี หยั่งรากลึกลงไปในจิตใจของชาวเยอรมันทุกระดับชั้น ไม่ต่างจากการปลูกฝังอุดมการณ์ลัทธิบางลัทธิ ที่สามารถทำให้สมาชิกลัทธิยอมเสียสละชีวิตของตนเองได้ อย่างไรก็ตามคงไม่มีใครปฏิเสธว่า การปลูกฝังอุดมการณ์ความรักชาติของนาซี ก็สามารถนำมาใช้เป็นแบบอย่างได้ หากรู้จักการแบ่งแยกระหว่าง ความรักชาติ ออกจากความหลงชาติ และความคลั่งชาติ



    ฮิตเลอร์และมุสโสลินี จอมเผด็จการแห่งอิตาลี ที่มีความอิจฉาในตัวฮิตเลอร์ พยายามทุกอย่างที่จะเลียนแบบ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ กลับถูกชาวอิตาลีโค่นล้ม และสังหารอย่างโหดเหี้ยมในที่สุด กล่าวกันว่า การเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สองของอิตาลี นอกจากจะไม่ช่วยให้เยอรมันประสบชัยชนะแล้ว ยังเป็นการบั่นทอนทรัพยากรต่างๆ ในการทำสงครามของเยอรมันลงอีกด้วย เนื่องจากประสิทธิภาพของกองทัพอิตาลี ยังไม่มีความพร้อม อาวุธยุทโธปกรณ์ก็ล้าสมัย เยอรมันต้องเข้าไปช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลาตั้งแต่การยุทธในบอลข่าน มาจนถึงการรบในแอฟริกา และการรบในอิตาลีเอง


    ฮิตเลอร์อาสาสมัครเข้าร่วมรบกับกองทัพเยอรมันภายใต้การนำของพระเจ้าวิลเฮล์ม ไกเซอร์ (Kaiser) โดยอยู่ในกรมบาวาเรียนที่ 16 (the 16th Bavarian Regiment) ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ทั้งๆที่เขามีปัญหาด้านสุขภาพ


    ในกองทัพนี่เอง ที่ทำให้ชีวิตที่เพ้อฝัน และขาดการเอาจริงเอาจังของเขาเปลี่ยนไป เขากลายเป็นคนที่มีระเบียบวินัย สนุกสนาน ร่าเริง ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความกล้าหาญ พร้อมที่จะรับภารกิจที่เต็มไปด้วยอันตราย จนได้รับเหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็กชั้นที่ 2 (the Iron Cross Second Class) ซึ่งภายหลังถูกยกระดับให้เป็นเหรียญชั้นที่ 1 เป็นที่น่าสังเกต คือ เขาได้รับการเสนอชื่อให้เข้ารับเหรียญกล้าหาญนี้ โดยฝ่ายเสนาธิการประจำกรมของเขา ซึ่งเป็นคนยิว ชนชาติที่จะถูกเขาทำลายล้างในห้วงเวลาต่อมา ฮิตเลอร์ มีความภาคภูมิใจในเหรียญกล้าหาญนี้มาก เขาจะประดับเหรียญตรานี้เพียงเหรียญเดียวอยู่เสมอ



    ภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งได้สิ้นสุดลง พร้อมๆกับความพ่ายแพ้ของเยอรมัน ฮิตเลอร์เองก็ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เนื่องจากได้รับบาดเจ็บจากการถูกโจมตีด้วยแก๊สพิษจากฝ่ายอังกฤษ เยอรมันถูกจำกัดในทุกๆด้าน ด้วยสนธิสัญญาแวร์ซาย (The Treaty of Versailles)



    อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)



    ฮิตเลอร์มีความเชื่อว่า ความพ่ายแพ้ของเขา และกองทัพเยอรมัน เกิดขึ้นมาจากศัตรูที่อยู่ภายใน (Enemy within) มากกว่า ความพ่ายแพ้ต่อกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตร เขาเชื่อว่าศัตรูที่อยู่ภายในนั้น หักหลังประเทศเยอรมัน พวกนั้นก็คือ พวกยิว พวกคอมมิวนิสต์ หรือมาร์กซิส และพวกนักการเมือง สนธิสัญญาแวร์ซายจำกัดทุกอย่าง กองทัพเยอรมันถูกลดลงเหลือเพียง 100,000 คน เศรษฐกิจของประเทศเยอรมันถูกทิ้งให้อยู่ในสภาพที่สิ้นหวัง


    ในขณะเดียวกัน ลัทธิคอมมิวนิสต์ ก็เริ่มประสบความสำเร็จมากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มจากการล้มราชวงศ์โรมานอฟ ของพระเจ้าซาร์ในประเทศรัสเซีย และแผ่ขยาย เข้าสู่เยอรมัน มีการจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ขึ้นในเยอรมัน ฮิตเลอร์ซึ่งสังกัดอยู่ในลัทธิชาตินิยมขวาจัด ได้นำกำลังเข้าโจมตีสหภาพแรงงานซึ่งเป็นหัวหอกของพวกคอมมิวนิสต์ ตลอดจนกลุ่มธุรกิจของฝ่ายคอมมิวนิสต์


    ผู้นำกลุ่มของฮิตเลอร์ในขณะนั้นคือ Anton Drexler ประกาศว่า พรรคชาตินิยมของเขาจะไม่มีชนชั้นเหมือนพวกคอมมิวนิสต์ เป็นองค์กรสังคมนิยมชาตินิยม (คอมมิวนิสต์เองก็เป็นสังคมนิยมเช่นกัน แต่เป็นสังคมนิยมแบบคอมมิวนิสต์ ซึ่งอยู่ในซีกซ้ายจัด) มีการก่อตั้งลัทธิสังคมนิยมชาตินิยมขึ้น เรียกว่า National Socialist German Workers' Party หรือเขียนเป็นภาษาเยอรมันว่า National Sozialistische Deutsche Arbeiter Partei ภายหลังเรียกสั้นๆว่า National Sozialist หรือ NAZI นั่นเอง



    อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)


    11 พ.ย. 1923 ฮิตเลอร์และพลพรรคนาซีของเขาพยายามทำการปฏิวัติ แต่ไม่สำเร็จ เขาถูกจับพร้อมกับพรรคพวกของเขา เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นที่ Munich Putch เขาถูกจำคุก ด้วยโทษ 5 ปี แต่จริงๆ เขาถูกจำคุกเพียงแค่ 9 เดือนเท่านั้น หนังสือพิมพ์ต่างตีพิมพ์คำให้การ คำสัมภาษณ์ของเขา ที่ต้องการฟื้นฟูประเทศเยอรมัน ระหว่างที่ติดคุก เขาเขียนหนังสือชื่อ การต่อสู้ของข้าพเจ้า (Mein Kampf) ความพ่ายแพ้ของเขาในครั้งนี้ กลับทำให้เขาได้รับความนิยมมากขึ้น

    ในเดือน พ.ค. 1927 ถึง 1928 ฮิตเลอร์ ถูกห้ามกล่าวคำปราศรัยในที่สาธารณะ และในปี 1928 นี่เองที่ฮิตเลอร์เช่าวิลล่าที่ Obersalzberg ที่นี่เขาได้พบกับ Angela Raubal พี่สาวต่างมารดาของฮิตเลอร์ ซึ่งเข้ามาในฐานะแม่บ้านพร้อมด้วยลูกสาวคือ Geli Raudal เป็นครั้งแรกที่ฮิตเลอร์ตกหลุมรักสาวน้อย Geli อย่างบ้าคลั่ง บางทีอาจจะเป็นครั้งเดียวที่เขาตกหลุมรักในชีวิตของเขาทั้งชีวิต


    พรรคนาซีเริ่มได้รับความนิยมอีกครั้งจากการนำทางของ Gregor Strasser ผู้ร่วมงานของฮิตเลอร์ จากยอดของสมาชิกพรรคนาซี ในปี 1927 ที่มีอยู่ประมาณ 72,000 คน ได้เพิ่มเป็น 178,000 คนในปี 1929 หรือเพียง 2 ปีต่อมา


    ในปี 1929 นี้เอง ที่ Heinrich Himmler นักธุรกิจที่ร่างกายอ่อนแอ และล้มเหลว ซึ่งต่อมาได้เป็นผู้นำระดับสูงสุดคนหนึ่งของพรรคนาซี ได้ทิ้งฟาร์มเลี้ยงไก่ของเขา เข้าร่วมกับฮิตเลอร์ และได้เป็นหัวหน้าหน่วย Waffen SS (Armed SS) ซึ่งเป็นหน่วยอารักขาของฮิตเลอร์ (Hitler bodyguarde) โดยในขณะนั้นมีจำนวนเพียง 200 คน แต่ก็เป็นสองร้อยคนที่คัดสรรมาเป็นอย่างอย่างดี เพื่อคานอำนาจกับห่วย SA


    อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)

    ในขณะเดียว เออร์เนส โรห์ม (Ernest Rohm) คนสนิทของฮิตเลอร์ ที่ได้ก่อตั้งกองกำลัง SA (Strumabtielung) -สตุมอับไทลุง- เพื่อเป็นกองกำลังส่วนตัวของฮิตเลอร์ แต่โรห์ม เริ่มทำตัวเป็นเอกเทศ และมีทีท่าว่าจะไม่สามารถควบคุมได้ กองกำลัง SA เองก็ดูเหมือนจะเชื่อฟังโรห์ม มากกว่า ฮิตเลอร์ ในปี 1930 จำนวนของ SA และ SS มียอดเพิ่มสูงขึ้นถึง 100,000 คน ซึ่งมีจำนวนมากกว่ากองทัพเยอรมัน (Reichswehr) ในขณะนั้น ที่ถูกจำกัดโดยสนธิสัญญาแวร์ซายเสียอีก

    ตอนนี้หนทางสู่ความสำเร็จ ดูเหมือนจะถูกวางอยู่ข้างหน้าของฮิตเลอร์แล้ว เขาเริ่มวางแผนการจัดการองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ ในปี 1928 แฮร์มาน เกอริง (Herrmann Goering) ซึ่งต่อมาเป็นผู้บัญชาการกองทัพอากาศเยอรมัน หรือ ลุฟวาฟ (Luftwaffe) และ โจเซฟ เกบเบิล (Goebbels) ซึ่งต่อมารับผิดชอบงานด้านการประชาสัมพันธ์ของพรรคนาซี ได้รับเลือกเข้าสู่สภาไรซ์สตาค (Reichstag)

    ฮิตเลอร์รู้ดีว่า เศรษฐกิจของเยอรมันขณะนั้น อยู่ในภาวะที่ไม่มั่นคง เต็มไปเงินกู้ยืมจากต่างประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจหลังสงครามของรัฐบาลเยอรมันในขณะนั้น ก็ไม่ได้มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรม ฮิตเลอร์มองว่า ความมั่งคั่งทางอุตสาหกรรม จะเป็นหนทางนำไปสู่ความเติบโตทางเศรษฐกิจ และส่งผลให้เยอรมัน มีอิสรภาพทางการเงิน ฮิตเลอร์จึงประกาศว่า พรรคนาซี เป็นพรรคที่นิยมการค้าเสรี (Free Enterprise) และจะใช้อุตสาหกรรมนำความมั่งคั่งมาสู่เยอรมัน


    ปลายปี 1930 ฮิตเลอร์ได้รับทุนจาก Emil Kirdorf ผู้นำอุตสาหกรรมเหมืองแร่ของเยอรมัน เงินการเมือง และพิมพ์ใบปลิวปลุกจิตสำนึกของคนเยอรมันอย่างมากมาย ส่งผลให้พรรคนาซีมีสมาชิกเพิ่มเป็นกว่าครึ่งล้านคน ดูเหมือนว่าไม่มีอะไรจะหยุดยั้งฮิตเลอร์ได้อีกต่อไปแล้ว

    ในทางตรงกันข้าม ประเทศเยอรมันกลับวิ่งสวนทางกับพรรคนาซี ผลจากเศรษฐกิจตกต่ำ (the great depression) ส่งผลให้เยอรมันกลายเป็นหนี้อย่างมหาศาล ค่าเงินมาร์กตกต่ำ สภาไรซ์สตาค ไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ ส่งผลให้ประชาชนเดือดร้อนอย่างมาก


    เดือน ก.ย. 1930 มีการเลือกตั้งทั่วไป พรรคนาซีประสบความสำเร็จอย่างมาก จากนโยบายที่ฮิตเลอร์ใช้หาเสียง ความสำเร็จนี้สร้างความแปลกใจให้กับทุกคน แม้กระทั่งตัวฮิตเลอร์เอง โดยพรรคนาซีได้รับเสียงถึง 6,500,000 เสียง ได้ที่นั่งถึง 107 ที่นั่งในสภา เป็นพรรคใหญ่อันดับสอง จากเดิมที่เคยมีเพียง 12 ที่นั่งในการเลือกตั้งเมื่อปี 1928 ไม่เพียงแต่พรรคนาซีเท่านั้น ที่ประสบความสำเร็จ พรรคคอมมิวนิสต์ก็เช่นเดียวกัน ที่ได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นจากเดิม 23 ที่นั่งเป็น 77 ที่นั่ง แสดงให้เห็นว่าประชาชนเยอรมันเริ่มแตกออกเป็นสองฝ่าย เพื่อหาทางสู้กับวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ

    ผู้นำพรรคนาซีทั้งหกคน ประกอบด้วย
    ฮิตเลอร์ สตราสเวอร์ (Strasser)
    โรห์ม (Roehm)
    เกอริง (Goering)
    เกิบเบิล (Goebbels)
    และ ฟริค (Frick)

    ต่างช่วยกันบริหารงานพรรค และขยายขอบเขตออกไปอย่างกว้างขวาง ในเดือน ก.ค. 1932 พรรคนาซีได้รับความนิยมสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยสามารถครองที่นั่งในสภาได้ถึง 230 ที่นั่งจากที่นั่งทั้งหมด 608 ที่นั่งในสภา

    อย่างไรก็ตาม จากการบริหารที่ผิดพลาดของ เกอริง ที่ได้รับเลือกเป็นประธานสภา ได้นำไปสู่การเลือกตั้งใหม่ ส่งผลให้ที่นั่งของพรรคนาซีลดลงเหลือ 196 ที่นั่งจากทั้งหมด 584 ที่นั่ง ในขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์กลับได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นเป็น 100 ที่นั่ง และแม้จะมีความพยายามในการหยุดยั้งฮิตเลอร์จากหลายๆฝ่าย ในวันที่ 30 มกราคม 1933 ฮิตเลอร์ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นอัครมหาเสนาบดี (Chancellor)

    24 ก.พ. 1933 พลพรรคนาซีของฮิตเลอร์ ในสังกัดของเกอริง บุกเข้าไปในที่ทำงานของพรรคคอมมิวนิสต์ พร้อมทั้งพบหลักฐานว่า พวกคอมมิวนิสต์กำลังวางแผนจะปฏิวัติ อีก 3 วันต่อมา คือ 27 ก.พ. เกิดไฟไหม้รัฐสภา ผู้นำนาซีหลายคนเดินทางไปถึงที่เกิดเหตุกลางดึก พร้อมทั้งประกาศว่า เพลิงไหม้ครั้งนี้เกิดจากการกระทำของพวกคอมมิวนิสต์


    รุ่งขึ้นฮิตเลอร์เข้าพบประธานาธิบดีฮินเดนเบอร์ก เพื่อออกกฏหมายฉุกเฉิน ยกเลิกสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้เพื่อปกป้องประเทศชาติและประชาชน จากนั้น พวกคอมมิวนิสต์กว่า 4,000 คนก็ถูกจับและถูกกวาดล้างอย่างหนัก อย่างไรก็ตาม ในภายหลังมีหลักฐานว่าผู้วางเพลิงรัฐสภานั้น ก็คือคนของพรรคนาซี ที่กระทำตามบัญชาของเกอริง


    ช่วงนี้เองที่หน่วย เอส เอ (SA) ของโรห์มมีอำนาจมาก และแสดงท่าทีที่บ่งบอกถึงความไม่ภักดีต่อฮิตเลอร์ และมุ่งภักดีต่อโรห์ม ในที่สุด ฮิตเลอร์ก็ตัดสินใจทำลายองค์กร SA ในวันที่ 6 มิ.ย. 1934 ณ โรงแรม Tegernsee ซึ่งอยู่ห่างออกไป 50 ไมล์จากมิวนิค โรห์ม พร้อมกับเด็กหนุ่มคู่ขาของเขา (โรห์มเป็นเกย์ และใช้ SA ในการหาเด็กหนุ่มมาเป็นคู่ขา) ถูกจับ ทหารเอส เอส ได้รับคำสั่งจากฮิตเลอร์ ให้ยื่นโอกาสแห่งเกียรติยศด้วยการฆ่าตัวตายกับโรห์ม ทหารเอส เอส วางปืนให้เขา แล้วออกมา เวลาผ่านไป 10 นาที โดยที่ไม่มีเสียงปืน ทหารเอส เอส จึงเดินเข้า แล้วจ่อยิงโรห์มจนเสียชีวิต พร้อมกันนั้น หัวหน้าหน่วย SA ก็ถูกจับตัว บ้างถูกขัง บ้างถูกสังหารโดยทหารเอส เอส ซึ่งได้ก้าวขึ้นมาแทนกองกำลัง SA


    เดือนเม.ย. 1934 สุขภาพของประธานาธิบดีฮินเดนเบอร์ก (Hindenburg) ประธานาธิบดีเยอรมันในขณะนั้นไม่สู้ดีนัก เขาเสียชีวิตในวันที่ 2 สิงหาคม 1934 สามชั่วโมงหลังจากนั้นฮิตเลอร์ได้ประกาศรวมตำแหน่งประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรี (บางทีเรียกว่าอัครมหาเสนาบดี - Chancellor) เข้าด้วยกันและตั้งตัวเองเป็นประมุขของรัฐและผู้บัญชาการทหารสูงสุด หรือที่เรียกว่า ผู้นำ (Fuhrer) ทำให้เยอรมันก้าวเข้าสู่ความเป็นเผด็จการสมบูรณ์แบบนับแต่นั้นเป็นต้นมา


    ในขณะที่ฮิตเลอร์ขึ้นดำรงตำแหน่งนั้น เยอรมันกำลังอยู่ในสภาวะล้มละลาย เศรษฐกิจตกต่ำ คนว่างงานมากมายมหาศาล เมื่อเขาได้เป็นผู้นำ ระหว่างปี 1934 - 1938 เขาทำการสร้าง และฟื้นฟู อุตสาหกรรมภายในประเทศ อย่างขนานใหญ่ มีการสร้างอาวุธ อย่างชนิดที่โลกไม่เคยเห็นมาก่อน การพัฒนาเป็นไปอย่างก้าวกระโดด เขาฉีกสนธิสัญญาแวร์ซายทิ้ง อย่างไม่เกรงกลัว ชาวเยอรมันต่างพากันยกย่องฮิตเลอร์ ในฐานะผู้ที่พลิกโชคชะตาของชาติ จากความล้มละลาย กลับสู่ความเป็นมหาอำนาจอีกครั้ง ฮิตเลอร์ประกาศว่า อาณาจักรไรซ์ที่สาม ของเขา จะมีอายุยืนยาวนับพันปี

    ในขณะเดียวกัน เขาก็เริ่มสร้างความมั่นคงภายนอก เพื่อประวิงเวลาการรุกรานจากภายนอกออกไป ทำให้เยอรมันไม่ต้องพะวักพะวนกับสงครามที่อาจจะมีขึ้น และสามารถทุ่มเทให้กับการพัฒนาประเทศได้อย่างเต็มที่ เช่น เซ็นสนธิสัญญาไม่รุกรานกันและกันระหว่างเยอรมันกับโปแลนด์ เพื่อทำให้มั่นใจว่า โปแลนด์ซึ่งเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศสจะไม่รุกรานเยอรมัน หากเยอรมันรบกับฝรั่งเสส หรือในกรณีที่เยอรมันบุกฝรั่งเศส

    ในเดือนมีนาคม 1935 ฮิตเลอร์เริ่มสร้างกองทัพอย่างขนานใหญ่ กองทัพอากาศ หรือ Luftwaffe ได้ถูกสร้างขึ้นอย่างเป็นทางการ จริงๆแล้วเยอรมันมีการฝึกนักบินมาล่วงหน้านี้อย่างลับๆ มากว่าสองปีแล้ว ในนามนักบินพลเรือน ขณะเดียวกันชาวเยอรมันที่อยู่ในออสเตรีย โปแลนด์ และเชคโกสโลวาเกีย ต่างก็พากันสนับสนุนรัฐบาลให้เข้าร่วมกับเยอรมัน


    ปี 1933 ฮิตเลอร์วางแผนการพัฒนาเศรษฐกิจของเยอรมัน โดยมอบให้ Dr. Schacht อดีตผู้ว่าการธนาคารไรซ์ (Reichbank) เป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งแผนการดังกล่าวประสบความสำเร็จอย่างมาก และส่งผลให้ ปี 1937 เยอรมันสามารถลดจำนวนคนว่างงานลงได้จำนวนมาก สร้างผลผลิตทางอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมหาศาล ยกระดับคูณภาพชีวิตของชาวเยอรมันให้สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ชาวเยอรมันล้วนต่างภาคภูมิใจในความเป็นชนชาติเยอรมัน ซึ่งคงจะโทษชาวเยอรมันไม่ได้ ที่มีความรู้สึกภาคภูมิใจเช่นนี้ เพราะสิ่งมหัศจรรย์ที่ฮิตเลอร์สร้างขึ้นให้กับประเทศเยอรมันนั้น ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นง่ายๆ ในพื้นที่ใดในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกิดขึ้นในประเทศที่พ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 และถูกควบคุมในทุกรูปแบบจากสนธิสัญญาแวร์ซาย อย่างเช่นประเทศเยอรมัน มันก็เป็นสิ่งที่ชาวเยอรมันควรจะภาคภูมิใจ และยกย่องฮิตเลอร์อย่างสุดขั้ว ในฐานะผู้สร้างชีวิตใหม่ ผู้สร้างอนาคตและความหวังของชาติ


    เมื่อเยอรมันมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจแล้ว ฮิตเลอร์ก็เริ่มมองไปที่การครอบครองยุโรปและการสร้างอาณาจักรไรซ์ที่สาม โดยแผนการแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 ก.พ. 1936 ฮิตเลอร์เซ็นสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างเยอรมัน กับรัสเซีย เพื่อสร้างความมั่นใจว่า สงครามทางด้านรัสเซียจะไม่เกิดขึ้น ในขณะที่เยอรมันยังไม่พร้อม


    ขณะเดียวกัน กองทัพเยอรมันก็กำลังเตรียมการครั้งใหญ่สำหรับสงคราม กรมทหารใหม่ถูกจัดตั้งขึ้น ทหารผ่านศึกจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ถูกเรียกเข้ามาเป็นครูฝึกให้กับทหารใหม่


    วันที่ 7 มี.ค. 1936 ฮิตเลอร์เคลื่อนกำลังเข้ายึดครอง Rhineland โดยอังกฤษและฝรั่งเศสไม่มีการต่อต้าน และเป็นการพิสูจน์ว่า สนธิสัญญาแวร์ซายที่จำกัดสิทธิทุกอย่างของเยอรมัน ได้ถูกฉีกทิ้งอย่างสิ้นเชิงโดยเยอรมัน และสันนิบาตชาติ (League of Nations) หมดสิ้นอำนาจลงอย่างสิ้นเชิง


    ขณะเดียวกัน กองทัพเยอรมันได้เพิ่มจำนวนถึงกว่าหนึ่งล้านคน ฮิตเลอร์เริ่มมั่นใจมากขึ้นว่า ไม่ว่าอังกฤษ หรือฝรั่งเศส หรือใครก็ตาม ไม่สามารถหยุดยั้งอาณาจักรไรซ์ที่สามได้อีกแล้ว


    เซอร์วินสตัน เชอร์ชิล ซึ่งขณะนั้นยังไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ได้ประกาศเตือนโลกว่า สงครามกำลังใกล้เข้ามา อันตรายรออยู่ข้างหน้า แต่ผู้คนที่หวาดกลัวสงคราม ต่างก็พยายามทำเป็นไม่ได้ยินเสียงเตือนนี้ โดยเชื่อว่า การประนีประนอมกับเยอรมัน จะทำให้โลกพ้นจากสงครามได้ ต่อมาเกิดสงครามกลางเมืองในสเปน ฮิตเลอร์ไม่รอช้าที่จะส่งรถถัง เครื่องบิน และช่างเทคนิค เข้าไปช่วยในนาม คอนดอร์ (Condor Legion)


    ฮิตเลอร์ส่งกองกำลังคอนดอร์ ลีเจี้ยน (Condor Legion) เข้าไปสนับสนุนสงครามกลางเมืองในสเปน ฝ่ายของนายพลฟรังโก จุดประสงค์ก็เพื่อสร้างประสบการณ์ให้กับกำลังพลของเขา ในขณะเดียวกันอิตาลี ภายใต้การนำของจอมเผด็จการมุสโสลินี ก็ส่งทหารเข้าร่วมกับนายพลฟรังโก กว่า หกหมื่นคน กองทัพอากาศเยอรมัน (Luftwaffe) ได้ทำการทดลองการใช้เครื่องบินแบบสตูก้า (Stuka) ในการดำทิ้งระเบิด เพื่อพัฒนาเทคนิคต่างๆ เมื่อนำมาใช้ในการเตรียมการรุกแบบสายฟ้าแลบที่เยอรมันได้เตรียมการไว้ ภายหลังสงครามกลางเมืองในสเปน กล่าวกันว่า กองทัพอากาศเยอรมันมีนักบินที่มีประสบการณ์มากกว่าชาติใดๆในโลกทีเดียว



    วันที่ 30 ม.ค. 1937 ฮิตเลอร์ได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อรัฐสภาไรซ์สตาร์ค (Reichstag) ว่า เป้าหมายของเขาไม่ได้อยู่ที่สงคราม หากแต่อยู่ที่การสร้างชาติเยอรมัน การยกระดับความอยู่ดีกินดีของชาวเยอรมัน การสร้างความมั่นใจให้กับชาวเยอรมันในชีวิตและความเป็นอยู่ รวมไปถึงการสร้างความเป็นมหาอำนาจทางทหารทั้งทางบก เรือและอากาศของเยอรมัน


    ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 1937 ฮิตเลอร์อุทิศเวลาให้กับการสร้างความสัมพันธ์กับอิตาลี มุสโสลินีตกลงที่จะเดินทางมาเยือนเยอรมันเป็นครั้งแรก


    ในปี 1938 นายกรัฐมนตรีของออสเตรียได้รับเชิญให้ไปเยือนเยอรมัน ฮิตเลอร์เรียกร้องให้มีการรวมประเทศ(anexation) Schuschnigg นายกรัฐมนตรีของออสเตรีย ไม่กล้าให้คำตอบ ฮิตเลอร์สั่งการให้กองทัพอากาศเตรียมการโจมตี


    รัฐสภาออสเตรีย ทำการขอมติประชาชนชาวออสเตรียว่าจะผนวกดินแดนกับเยอรมันหรือไม่ (ฮิตเลอร์เกิดในออสเตรีย และในออสเตรียก็มีชนชาวเยอรมันเป็นจำนวนมาก) แม้จะมีเสียงคัดค้าน วันที่ 11 มีนาคม 1938 ฮิตเลอร์เรียกร้องให้มีการรวมประเทศ วันต่อมา กองทัพเยอรมันก็ยาตราเข้าสู่ออสเตรีย ประกาศผนวกดินแดนภายใต้ชื่อ Anschluss แท้ที่จริงแล้ว ผลการออกเสียง ชาวออสเตรียลงคะแนน 99 เปอร์เซนต์ให้ผนวกเป็นส่วนหนึ่งของเยอรมัน นับการรวมดินแดนที่ไม่มีการเสียเลือดเนื้ออีกครั้งหนึ่งของฮิตเลอร์
    เมื่อทหารเยอรมันกรีธาทัพเข้าไปในออสเตรีย ชาวยิวจำนวนมากถูกจับ ค่ายกักกันที่ Mauthausen ได้ถูกจัดตั้งขึ้น และสังหารชาวยิวไปถึง 35,318 คน จนสิ้นสุดสงคราม


    ฮิตเลอร์เริ่มมองไปที่เชคโกลโลวาเกียเป็นเป้าหมายต่อไป ในขณะเดียวกัน ชาวเยอรมันต่างก็พากันชื่นชมความสำเร็จของฮิตเลอร์และพรรคนาซีของเขา โดยเฉพาะการขยายดินแดนโดยไม่มีการเสียเลือดเนื้อ อะไรจะน่าภาคภูมิใจไปกว่า การขยายดินแดนโดยไม่มีการสู้รบ และการสูญเสีย


    ซูเดเตน (Sudeten) คือแคว้นหนึ่งในเชคโกสโลวาเกีย มีประชากร กว่าสามล้านครึ่งเป็นเยอรมัน จากประชากรทั้งหมด 10 ล้านคน ผู้คนพูดภาษาเยอรมัน มีวัฒนธรรมเยอรมัน แต่ไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของเยอรมันเลย


    กรุงลอนดอนถูก Hitler ส่่งฝูงบิน Luffwaffe ถล่มอย่างหนัก ตามแผนสิงโตทะเล (Sealion) แต่ก็ไม่สามารถทำให้อังกฤษยอมจำนนได้ ในทางตรงกันข้าม กองทัพอากาศของเยอรมัน (Luftwaffe) กลับเป็นฝ่ายสูญเสียอย่างหนัก ในที่สุดฮิตเลอร์ก็สั่งยกเลิกแผนบุกเกาะอังกฤษ และหันไปเปิดสงครามด้านรัสเซียแทน ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า การที่ฮิตเลอร์ไม่สามารถพิชิตอังกฤษได้ และปล่อยให้อังกฤษเป็นสปริงบอร์ดของฝ่ายพันธมิตร ในการโจมตียุโรป มีผลอย่างมากต่อโฉมหน้าของสงคราม เพราะหากฮิตเลอร์ตัดสินใจขั้นเด็ดขาดกับอังกฤษ โดยไม่เปิดแนวรบด้านรัสเซียเป็นแนวรบที่สอง โอกาสที่ฮิตเลอร์จะครองยุโรปอย่างถาวรมีสูงมาก เพราะพันธมิตรจะไม่มีฐานในอังกฤษ เพื่อการเตรียมการยกพลขึ้นบกในวันดี เดย์ ซึ่งวันดี เดย์นี้ ได้เปลี่ยนทิศทางของสงครามอย่างสิ้นเชิง อีกทั้งพันธมิตรจะไม่มีฐานบินในอังกฤษ เพื่อโจมตีทางอากาศต่อเยอรมัน ซึ่งการโจมตีของพันธมิตรจากเกาะอังกฤษ สร้างความเสียหายทางอุตสาหกรรมให้แก่เยอรมันอย่างมาก อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการผลิตอาวุธเกือบทั้งหมดในเยอรมัน ต้องประสบกับความสูญเสียอย่างหนัก ส่งผลให้เยอรมันไม่สามารถผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ เพื่อนำไปใช้ในการรบได้อย่างเต็มที่


    เรือสินค้าในแอตแลนติคเหนือ ถูก Hitler สั่งการให้เรือดำน้ำ U Boat โจมตี เพื่อตัดเส้นทางการลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์ และกำลังพลจากอเมริกาสู่อังกฤษ แต่ภายหลังจากที่ฝ่ายพันธมิตร มีการปรับยุทธวิธีในการล่าเรือดำน้ำของเยอรมัน โดยอาศัยเครื่องบินลาดตระเวณระยะไกลเป็นปัจจัยเสริม เรือดำน้ำของเยอรมันก็เริ่มเป็นฝ่ายเสียเปรียบ และเปลี่ยนสถานะจากผู้ล่า เป็นผู้ถูกล่าในที่สุด


    จรวด V 1 (ขวา) ของเยอรมัน ถูกตามประกบโดยเครื่องบินขับไล่ของอังกฤษ จรวด V 1 นับเป็นอาวุธอีกชนิดหนึ่งที่นาซีเยอรมัน เป็นผู้บุกเบิกและนำมาใช้ ฮิตเลอร์เชื่อ ด้วยอานุภาพของอาวุธที่มีเทคโนโลยีเหล่านี้ จะทำให้โฉมหน้าของสงครามเปลี่ยนไป


    ในวันที่ 28 มีนาคม 1938 ผู้นำนาซีในซูเดเตน คอนราด เฮนไลน์ (Konrad Henlein) เข้าพบฮิตเลอร์ ในขณะนั้นซูเดเตนเป็นส่วนหนึ่งของเชคโกสโลวะเกีย และเชคโกสโลวะเกียเอง ก็ปกครองโดยชนกลุ่มน้อย ในขณะที่ชนกลุ่มใหญ่ของประเทศ เป็นชาวเยอรมัน ฮิตเลอร์บอกคอนราด ให้เรียกร้องต่อรัฐบาลเชคโกสโลวะเกียว่า ชาวซุเดเตนต้องการปกครองตนเอง ซึ่งทุกฝ่ายต่างก็รู้ว่า ข้อเรียกร้องนี้รัฐบาลเชค ไม่สามารถจะยอมรับได้


    ในเดือนเมษายน และพฤษภาคม 1938 อังกฤษและฝรั่งเศส ขอให้รัฐบาลเชค มอบซูเดเตนให้กับเยอรมัน เพื่อพยายามหลีกเลี่ยงข้อขัดแย้งที่อาจจะมีขึ้น ฮิตเลอร์ยินดีกับการเรียกร้องดังกล่าว พร้อมๆกับให้สัมภาษณ์ถึงความแข็งแกร่งของกองทัพเยอรมันที่เรียงรายอยู่ตามแนวชายแดนเ
    ชคโกสโลวะเกีย


    ปลายเดือนพฤษภาคม ฝ่ายข่าวกรองอังกฤษเชื่อว่า เยอรมันเตรียมพร้อมที่จะบุกเชคโกสโลวะเกีย ในขณะที่รัฐบาลเชคเอง ก็พร้อมที่จะสู้ มาถึงตอนนี้ ฮิตเลอร์ถอยหลังมาหนึ่งก้าว พร้อมประกาศว่า เยอรมันไม่มีความตั้งใจที่จะใช้ความรุนแรงในกรณีซูเดเตน ทั้งลอนดอนและปารีส ต่างพอใจกับการสั่งสอนฮิตเลอร์ในครั้งนี้ โดยหารู้ไม่ว่าแผนขั้นต่อไปของฮิตเลอร์พร้อมอยู่แล้ว


    แผนการโจมตีเชคโกสโลวะเกียถูกวางไว้ ให้เปิดฉากในวันที่ 1 ตุลาคม 1938 ขณะที่ฝ่ายเสนาธิการของเยอรมันก็ขัดแย้งกันเองอย่างหนัก โดยอีกฝ่ายหนึ่งเกรงว่าการบุกเชคโกสโลวะเกีย จะทำให้เกิดสงครามกับอังกฤษและฝรั่งเศส เพราะอังกฤษคงไม่ยอมให้เยอรมันครอบครองซูเดเตน โดยปราศจากการต่อสู้


    เดือนมิถุนายน นายกรัฐมนตรีเนวิล แชมเบอร์เลน (Naville Chamberlain) ของอังกฤษในขณะนั้น กลับแสดงท่าทีออกมาว่า ประชาชนในซูเดเตนส่วนใหญ่เป็นชาวเยอรมัน จึงไม่สมควรที่อังกฤษจะเข้าไปก้าวก่ายปัญหาในซูเดเตน ฮิตเลอร์บินไปพบแชมเบอร์เลนถึงอังกฤษ แชมเบอร์เลนรับประกันถึงการที่จะไม่เข้าไปก้าวก่ายปัญหาดังกล่าว แต่ปัญหาอาจจะมีขึ้นได้ หากรัสเซียสนับสนุนเชคโกสโลวะเกีย เมฆหมอกแห่งสงครามปกคลุมไปทั่วยุโรป ทุกฝ่ายคาดกันว่า การบุกของเยอรมันจะนำมาซึ่งสงคราม เด็กนักเรียนในลอนดอน และปารีส เตรียมการอพยพ หน้ากากกันแก๊สพิษถูกนำออกมาแจกจ่าย


    อย่างไรก็ตาม ฮิตเลอร์ได้แสดงออกมาว่า เวลานี้ยังไม่ใช่เวลาในการเปิดสงครามของนาซี เนื่องจากเขาตระหนักดีว่า เยอรมันยังไม่พร้อมกับสงครามครั้งนี้ แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็ต้องการซูเดเตน โดยปราศจากสงคราม ปัญหาก็คือ เขาจะทำอย่างไร


    ช่วงนี้เยอรมันและอิตาลีต่างร่วมกันเดินเกมทางการเมืองระหว่างประเทศอย่างสุดความสาม
    ารถ โดยเฉพาะการแสดงออกมาว่า ซูเดเตนคือเป้าหมายสุดท้ายของฮิตเลอร์ ฮิตเลอร์ไม่ได้ต้องการสงคราม เช่นเดียวกับชาติยุโรปอื่นๆ ที่ต้องการสันติ จนในที่สุดเมื่อเวลา 0100 ของวันที่ 30 กันยายน 1938 อังกฤษและฝรั่งเศสก็ตกลงกันในข้อตกลงมิวนิค (the Munich Agreement) ที่จะมอบทุกสิ่งที่ฮิตเลอร์ต้องการ เพื่อหลีกเลี่ยงสงคราม โดยจะยินยอมมอบดินแดน 10,000 ตารางไมล์ให้ ส่งผลให้เชคโกสโลวะเกียสูญเสียแหล่งถ่านหิน 66 เปอร์เซนต์ของตน พร้อมทั้งอีก 70 เปอร์เซนต์ของแหล่งพลังงานไฟฟ้า 86 เปอร์เซนต์ของแหล่งเคมี 70 เปอร์เซนต์ของแหล่งแร่เหล็ก


    แชมเบอร์เลนกลับไปยังกรุงลอนดอน พร้อมด้วยถ้อยวาจาอมตะที่ว่า "สันติภาพในเวลาของเรา" (Peace in our time) เขาไม่รู้เลยว่า ในขณะที่เขากำลังตกลงกับฮิตเลอร์ที่มิวนิคนั้น ฮิตเลอร์ได้ตกลงกับมุสโสลินี ผู้นำอิตาลีว่า เมื่อเวลาแห่งสงครามมาถึง เยอรมันและอิตาลี จะร่วมกันต่อสู้กับอังกฤษ และฝรั่งเศส


    ในที่สุดเยอรมันก็เข้าครอบครองซูเดเตน ตามด้วยการเข้าผนวกเชคโกสโลวะเกียทั้งประเทศ รัฐบาลเชคต่อสู้อย่างสิ้นหวัง โดยปราศจากความช่วยเหลือจากโลกภายนอก 15 มีนาคม 1939 ฮิตเลอร์ส่งทหารเข้ายึดโบฮีเมีย (Bohemia) และมอราเวีย (Moravia) และรุกเข้าสู่กรุงปราค (Prague) ยึดปราสาทโบราณของกษัตริย์โบฮีเมีย เป็นที่พำนักของฮิตเลอร์ ตามมาด้วยการเข้ายึดสโลวะเกียใน 16 มีนาคม 1939 เป็นอันว่า ด้วยกลยุทธ์ทางการเมืองระหว่างประเทศที่ยอดเยี่ยมของฮิตเลอร์ เชคโกสโลวะเกียก็ถูกครอบครองโดยเยอรมันในที่สุด และสุดท้ายหากใครได้อ่านหนังสือเรื่อง การต่อสู้ของข้าพเจ้า ของฮิตเลอร์ ก็จะทราบว่า เป้าหมายต่อไปของฮิตเลอร์ คือ โปแลนด์ นั่นเอง



    ปี ค.ศ. 1939 ฮิตเลอร์ให้ความสำคัญกับนโยบายต่างประเทศเป็นอย่างมาก เขาแสดงถึงความเป็นอัจฉริยะบนหมากกระดาน แห่งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เขาสามารถทำให้มหาอำนาจของโลก ต้องรอฟังคำปราศรัยแต่ละครั้งของเขา อย่างใจจดใจจ่อ


    14 เม.ย. หลังจากอิตาลีส่งทหารรุกเข้าสู่อัลบาเนีย ประธานาธิบดีรูสเวลท์ (Roosevelt) ของสหรัฐอเมริกา ได้แสดงสุนทรพจน์ถึงฮิตเลอร์ เรียกร้องให้ฮิตเลอร์รับประกันว่า เยอรมันไม่มีความต้องการดินแดนในยุโรปมากกว่าที่เป็นอยู่ ฮิตเลอร์ตอบรูสเวลท์ ด้วยสุนทรพจน์ในรัฐสภาไรซ์สตาคของเยอรมัน กล่าวกันว่า สุนทรพจน์นี้ เป็นหนึ่งในยอดสุนทรพจน์ของฮิตเลอร์เท่าที่เคยแสดงมา เขาเปรียบเทียบพื้นที่การอยู่อาศัย (lebensraum - living space) ในสหรัฐอเมริกาว่า แม้อเมริกาจะมีประชากรมากกว่าเยอรมัน เพียงหนึ่งในสาม แต่ก็มีพื้นที่อยู่อาศัยมากกว่า เยอรมันถึงสิบห้าเท่า พื้นที่ที่กว้างใหญ่นี้ มิใช่ได้มาด้วยการเจรจาบนโต๊ะเจรจา หากแต่ได้มาด้วยการยึดครองและสงคราม (by occupation and war) ฮิตเลอร์กล่าวอีกว่า ข่าวลือที่ว่าเยอรมันจะบุกสหรัฐนั้น ไม่เป็นความจริง และเป็นข่าวที่ผิดพลาด


    ในระยะนี้ ฮิตเลอร์มีชื่อเสียงมาก เขาสามารถครอบครองดินแดนต่างๆ โดยแทบจะไม่ต้องสูญเสียอะไรเลย สิ่งที่เขามองเป็นก้าวต่อไป ก็คือ โปแลนด์ โดยมองไปที่ดานซิก (Danzig) ซึ่งตามสนธิสํญญาแวร์ซาย กำหนดให้ดานซิก ซึ่งเคยเป็นของเยอรมันมาก่อน กลายเป็นเมืองเปิด เยอรมันและโปแลนด์มีสิทธิเท่าเทียมกันในการเข้า ออก ฮิตเลอร์เรียกร้องให้โปแลนด์คืนดานซิกให้กับเยอรมัน คำตอบจากโปแลนด์คือ คำตอบปฏิเสธ พร้อมทั้งมีสํญญาณให้เยอรมันเห็นว่า โปแลนด์พร้อมจะสู้


    อีกสิ่งหนึ่งที่สร้างความแปลกใจให้กับฮิตเลอร์ก็คือ อังกฤษประกาศออกมาอย่างชัดเจนว่า จะช่วยปกป้องโปแลนด์ หากถูกเยอรมันโจมตี แต่อย่างไรก็ตาม ฮิตเลอร์ยังเชื่อว่า แชมเบอร์เลน นายกรัฐมนตรีของอังกฤษนั้น อ่อนแอเกินกว่าที่จะเข้าร่วมในสงครามหากเขาบุกโปแลนด์


    ฮิตเลอร์รู้ดีว่า ถ้าเขาสามารถโดดเดี่ยวโปแลนด์ออกจากอังกฤษ และฝรั่งเศสได้ การเข้าครอบครองโปแลนด์ของเยอรมันจะไม่เกิดปัญหาใดๆ ทั้งสิ้น เพราะแสนยานุภาพของนาซีเยอรมันในขณะนั้น กองทัพโปแลนด์ไม่อาจจะต้านทานได้เลย ปัญหาอยู่ที่ว่า จะทำอย่างไรที่จะไม่ให้อังกฤษเข้ามายุ่งเกี่ยวในปัญหานี้


    เดือนเมษายน 1939 รัสเซียยื่นข้อเสนอไปยังอังกฤษและฝรั่งเศส เพื่อขอทำสนธิสัญญาสามฝ่าย คือ รัสเซีย อังกฤษ และฝรั่งเศส ในการร่วมมือทางทหาร หากโปแลนด์ถูกโจมตีจากเยอรมัน แต่อังกฤษปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าวของรัสเซีย การปฏิเสธดังกล่าว เท่ากับเป็นการยืนยันสมมติฐานของฮิตเลอร์ที่ว่า อังกฤษจะพยายามทุกวิถีทาง ที่จะหลีกเลี่ยงการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสงคราม


    เมื่ออังกฤษปฏิเสธข้อเสนอของตน รัสเซียซึ่งนำโดยโมโลตอฟ (Molotov) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่ ก็ยื่นข้อเสนอมายังเยอรมัน เพื่อขอทำสนธิสัญญาไม่รุกรานซึ่งกันและกัน (a Mutual Non-Aggression Pact) ฮิตเลอร์มองวัตถุประสงค์ของสตาลิน ผู้นำรัสเซียออกว่า การยื่นข้อเสนอมายังเยอรมันนั้น ก็เพื่อหลีกเลี่ยงสงครามกับเยอรมัน และเพื่อหาโอกาสเข้าครอบครองดินแดนในยุโรปตะวันออก หากเกิดสงครามขึ้น เพราะหากรัสเซียเข้าครอบครองดินแดนใด เยอรมันก็ไม่สามารถขัดขวางได้ เพราะต่างมีสนธิสัญญาไม่รุกรานซึ่งกันและกัน


    ฮิตเลอร์นั้นยังคงจำประสบการณ์การลงนาม ในสนธิสัญญาร่วมกันทางทหาร ระหว่างเยอรมันกับอิตาลีได้ดีว่า มุสโสลินี ผู้นำอิตาลีได้คัดค้านการลงนามของฝ่ายอิตาลี เนื่องจากเกรงว่า อิตาลีจะถูกชักนำเข้าไปสู่สงครามร่วมกับเยอรมัน แต่ฮิตเลอร์ก็ต้องการหลักประกันความมั่นคง ทางชายแดนตอนใต้ของยุโรป จึงส่งริบเบนทรอป (Ribbentrop) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเยอรมันไปเกลี้ยกล่อมมุสโสลินี โดยให้เหตุผลว่า เยอรมันก็ต้องการสันติภาพเช่นกัน เพียงแต่รอให้สถานการณ์ในฉนวนดานซิกยุติลงก่อน มุสโสลินีถึงยินยอมให้เคาน์ ซิอาโน (Count Ciano) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอิตาลี ลงนามในสนธิสัญญาเหล็ก (the Pact of Steel) ในกรุงเบอร์ลินของเยอรมัน เมื่อ 21 พฤษภาคม 1939


    เมื่อฮิตเลอร์จัดการปัญหาทางใต้ได้แล้ว เขาก็ต้องการความมั่นคงทางชายแดนด้านรัสเซีย อย่างน้อยตอนนี้ ก็ยังไม่ถึงเวลาที่เยอรมันจะรบกับรัสเซีย ในวันที่ 22 สิงหาคม 1939 ฮิตเลอร์ก็ส่งริบเบนทรอปไปมอสโคว์ เมืองหลวงของรัสเซีย เพื่อร่วมลงนามในสนธิสัญญาไม่รุกรานซึ่งกันและกัน ระหว่างเยอรมันกับรัสเซีย ในวันที่ 23 สิงหาคม ท่ามกลางความงุนงงของโลก เพราะต่างรู้ดีว่า นาซีเยอรมันนั้นเป็นศัตรูกับคอมมิวนิสต์อย่างสิ้นเชิง เซอร์วินสตัน เชอร์ชิล ซึ่งขณะนั้นยังไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ถึงกับกล่าวว่า สนธิสัญญานี้ไม่ใช่สนธิสัญญาธรรมดาแน่นอน





    แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย khonsurin; 22-09-2009 at 02:39.
    *********************************


    อิสระ เสรี เสมอภาค




    *********************************

  2. #2
    Maximum learning
    ศิลปิน นักเขียน
    สัญลักษณ์ของ khonsurin
    วันที่สมัคร
    Apr 2008
    ที่อยู่
    ท่าตูม สุรินทร์
    กระทู้
    8,063
    บล็อก
    197




    เมื่อจัดการทางด้านรัสเซียเรียบร้อยแล้ว ฮิตเลอร์ก็ส่งข้อเสนอไปยังอังกฤษ ผ่านทางเอกอัครราชฑูตอังกฤษประจำกรุงเบอร์ลินว่า เยอรมันจะรับรองความปลอดภัยของเครือจักรภพอังกฤษ และจะจำกัดการเติบโตทางทหารของเยอรมัน หากอังกฤษสัญญาจะไม่เข้าร่วมในปัญหาโปแลนด์ อย่างไรก็ตามในวันเดียวกันนั้นเอง ขณะที่ฮิตเลอร์กำลังพบกับเอกอัครราชฑูตฝรั่งเศส เขาก็ได้ข่าวว่า อังกฤษได้ลงนามความร่วมมือทางทหารกับโปแลนด์ ในกรณีที่คู่สัญญาถูกรุกรานที่กรุงลอนดอนแล้ว เป็นอันว่าความพยายามที่จะโดดเดี่ยวโปแลนด์ของเขาไร้ผล แผนการที่จะบุกโปแลนด์ในวันที่ 26 สิงหาคม 1939 ก็หยุดชะงักลงไปด้วยเช่นกัน


    หลังจากที่อังกฤษลงนามความร่วมมือทางทหารกับโปแลนด์ ฮิตเลอร์มีความเครียดเป็นอย่างมาก คนใกล้ชิดถึงกับกล่าวว่า เขาดูแก่ลง เก็บตัวเงียบ นั่งครุ่นคิดอยู่คนเดียวเป็นเวลานานๆ จากอาการดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่า เขาไม่ต้องการสงคราม ไม่ต้องการให้เกิดการล้มตาย แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็ต้องการครอบครองโปแลนด์ หรืออาจจะครอบครองทั้งยุโรป โดยที่ไม่มีสงคราม ซึ่งในความเป็นจริงนั้น มันเป็นไปไม่ได้


    สาเหตุ 3 อย่างที่สร้างความเครียดให้กับฮิตเลอร์ในช่วงนี้ คือ
    1. แรงกดดันจากอังกฤษที่มีต่อเยอรมัน เกี่ยวกับปัญหาในโปแลนด์ เพื่อป้องกันการขยายตัวของสงคราม
    2. ฮิตเลอร์กำลังพยายามหาเงื่อนไข ที่จะขจัดความร่วมมือทางทหารระหว่างอังกฤษและโปแลนด์
    3. ท้ายที่สุด ในกรณีที่หาทางออกอื่นใดไม่ได้ ฮิตเลอร์ต้องการพิชิตโปแลนด์ให้ได้เร็วที่สุด โดยใช้ สงครามสายฟ้าแลบ (Lightning war - Blitzkrieg) เพื่อให้การรบยุติลงก่อนที่อังกฤษและฝรั่งเศสจะส่งกำลังเข้ามาช่วย หรือเปิดแนวรบตามชายแดนเยอรมัน ฝรั่งเศส


    ฮิตเลอร์ขบคิดปัญหาทั้งสามข้อตลอดเวลา 9 วันก่อนการบุกโปแลนด์ วันที่ 27 สิงหาคม 1939 ฮิตเลอร์ประกาศเส้นตายในการบุกโปแลนด์ว่าคือวันที่ 1 กันยายน 1939 ครั้นพอวันที่ 28 กันยายน อังกฤษก็ตอบปฏิเสธข้อเสนอของฮิตเลอร์ ที่จะรับประกันความปลอดภัยของเครือจักรภพอังกฤษ เพื่อแลกกับการไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวในปัญหาโปแลนด์ของอังกฤษ พร้อมกันนี้อังกฤษได้เปิดช่องทางออกให้เยอรมันว่า อังกฤษพร้อมที่จะเจรจากับเยอรมันในปัญหาดังกล่าว







    ฮิตเลอร์แปลความหมายในการเสนอทางออกของอังกฤษโดยการเจรจาผิดพลาด เขามองว่าอังกฤษกำลังจะส่งสัญญาณว่า อังกฤษจะเจรจามากกว่าการทำสงคราม หากโปแลนด์ถูกโจมตี อันเป็นการยืนยันถึงความคิดของฮิตเลอร์ที่มองว่า แชมเบอร์เลน นายกรัฐมนตรีของอังกฤษนั้น อ่อนแอเกินกว่าที่จะนำประเทศเข้าสู่สงคราม มันเป็นความผิดพลาดของฮิตเลอร์ครั้งใหญ่ และผู้ที่จะได้รับผลกรรมจากการตัดสินใจผิดพลาดครั้งนี้คือ มวลมนุษยชาติทั้งโลก ที่จะต้องเผชิญกับมหาสงครามโลกครั้งที่สอง มหาสงครามแห่งการทำลายล้างครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยประสบมา


    เมื่อใกล้ถึงเส้นตาย ฮิตเลอร์ประกาศให้โปแลนด์ยอมแพ้ ก่อนที่ความเสียหายจะเกิดขึ้นแก่ประเทศโปแลนด์ รัฐบาลโปแลนด์ปฏิเสธ โดยหวังว่า อังกฤษและฝรั่งเศสจะส่งทหารเข้าช่วยตนเอง หากเยอรมันเปิดฉากบุกโปแลนด์


    และแล้วในรุ่งอรุณของวันที่ 1 กันยายน 1939 การบุกของเยอรมันก็เปิดฉากขึ้น ยานเกราะจำนวนมากมาย พร้อมทหารราบรุกข้ามพรมแดนเข้าสู่โปแลนด์ ท้องฟ้าเต็มไปด้วยเครื่องบินของกองทัพอากาศเยอรมันหรือลุฟวาฟ (Luftwaffe) กองทหารโปแลนด์ต่อสู้อย่างสุดกำลัง แต่ด้วยประสิทธิภาพของอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ต่างกันลิบลับ ทหารโปแลนด์จึงถูกกวาดล้างไปจากแนวรบอย่างไม่ยากเย็นนัก


    ฮิตเลอร์รอคอยอย่างใจจดใจจ่อต่อปฏิกริยาของอังกฤษและฝรั่งเศส จนกระทั่งเวลา 0900 น. ของวันที่ 3 กันยายน 1939 เขาก็ได้รับข่าวจากลอนดอนว่า อังกฤษและฝรั่งเศสประกาศสงครามกับเยอรมันแล้ว ความวิตกของฮิตเลอร์เป็นความจริง ข่าวนี้แพร่ไปทั่วเยอรมัน ประชาชนต่างฟังข่าวด้วยความเงียบงัน ไม่มีใครต้องการให้สงครามเกิดขึ้น ไม่มีแม้แต่คนเดียว ไม่เว้นแม้แต่ผู้ที่เป็นสาเหตุของสงครามในครั้งนี้อย่าง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์








    *********************************


    อิสระ เสรี เสมอภาค




    *********************************

Tags for this Thread

กฎการส่งข้อความ

  • You may not post new threads
  • You may not post replies
  • You may not post attachments
  • You may not edit your posts
  •