ชื่อ
การทำเคราะห์บ้าน
ภาคใต้
จังหวัด ตรัง



ช่วงเวลา
มักจะทำกันตอนหัวค่ำเกือบทุกเดือนตลอดปีที่เชื่อกันว่าเป็นวันที่ประกอบงานมงคลได้

ความสำคัญ
การทำเคราะห์บ้านนั้นเชื่อกันว่าจะเกิดสิริมงคลกับเจ้าของบ้าน ปราศจากจัญไรต่าง ๆ มารบกวน อีกทั้งยังจะบังเกิดโชคลาภแก่เจ้าบ้านอีกด้วย
ตามปกติแล้วการทำเคราะห์บ้านนั้นมักจะทำเมื่อได้มีเหตุการณ์แปลก ๆ เกิดขึ้นในบ้าน เช่น รุ้งกินน้ำ ฟ้าผ่าต้นไม้ แมวที่ออกลูกแล้วกินลูกเอง งูใหญ่เข้าบ้าน กาจับหลังคา เหี้ยเข้าบ้าน หมาขึ้นหอนบนบ้าน ไก่ร้องเหมือนออกไข่ตอนหัวค่ำ เป็นต้น หรืออีกกรณีหนึ่งที่จะต้องทำเคราะห์เรือนก็คือ เกิดการมีปากเสียงของคนในบ้านบ่อย ๆ ด้วยสาเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ และคนในบ้านเกิดเจ็บป่วยไม่สบายกันบ่อย ๆ
เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวเจ้าของบ้านจะต้องไปหาหมอมาทำพิธี ปกติแล้วมักใช้พราหมณ์หรือหมอที่เรียนมาทางด้านนี้

พิธีกรรม
๑. การเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ เจ้าของบ้านจะเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ จำพวกขนมต้มแดง ต้มขาว ปลามีหัวมีหาง ข้าวสิบสองที่ ศาลเพียงตาและหญ้าคาถักเฝือเป็นเปียยาวรอบบ้านเอาไว้
๒. การทำพิธีทำเคราะห์บ้าน หมอจะเริ่มพิธีด้วยการบูชาพระรัตนตรัย แล้วสวดชุมนุมเทวดาเพื่ออัญเชิญมาเป็นสักขีพยานว่าเจ้าของบ้านได้บูชาพระภูมิเจ้าที่แล้ว และให้ช่วยขับไล่เสนียดจัญไรออกไปจากบ้าน เสร็จแล้วหมอจะสวดอัญเชิญสิ่งศักดิสิทธิ์ พระภูมิเจ้าที่ และเทวดาทั้งหลายให้มารับเอาเครื่องเซ่นสังเวยที่ตั้งเตรียมไว้
๓. หมอจะนำศาลเพียงตาที่วางเครื่องเซ่นออกไปวางนอกบ้านตามบริเวณทางสามแพร่ง และยิงปืน จุดประทัดขับไล่เสนียดจัญไรออกไป พร้อมกับใช้หญ้าคาที่ถักเฝือปักไว้ตรงปากทางเข้าบ้าน ที่เหลือเอาไปพันรอบบ้าน เพื่อป้องกันไม่ให้เสนียดจัญไรเข้ามารบกวนคนในบ้านอีกต่อไป

สาระ
๑. เป็นลักษณะของความเชื่อในการทำเคราะห์บ้านสะท้อนให้เห็นถึงการผสมผสานของความเชื่อเกี่ยวกับผี และพราหมณ์ และพุทธ
๒. เป็นความเชื่อเกี่ยวกับเสนียดจัญไร เมื่อมีเหตุการณ์ผิดปกติแปลก ๆ เกิดขึ้นในบ้านจะทำให้คนในบ้านเกิดความเดือดร้อน เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นก็จะต้องแก้ไขและป้องกันไม่ให้เกิดด้วยความทำพิธีไล่เสนียดจัญไร การทำเคราะห์บ้านจึงเป็นพิธีกรรมที่ยึดถือปฏิบัติเรื่อยมา เพื่อความเป็นมงคลของคนในบ้านให้มีความสุขสบาย ความเจริญรุ่งเรือง