ชื่อ
การละหมาด
ภาคใต้
จังหวัด นราธีวาส



ช่วงเวลา การละหมาดเป็นการประกอบศาสนกิจที่สำคัญยิ่งสำหรับมุสลิมทุกคนที่จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง และตามเวลาในแต่ละวัน โดยแบ่งประเภทของการละหมาดออกเป็น ๒ ประเภท คือ การละหมาดฟัรดู และการละหมาดสุหนัต การละหมาดฟัรดูเป็นการละหมาดที่บังคับหรือจำเป็นต้องปฏิบัติ หากไม่ปฏิบัติจะต้องได้รับการลงโทษ โดยแบ่งเป็นสองส่วนคือฟัรดูอิน เป็นละหมาดที่บังคับต้องปฏิบัติโดยไม่มีเงื่อนไขหรือข้อยกเว้นเฉพาะตน วันละ ๕ เวลา สำหรับผู้ชายจะต้องละหมาดญุมอะฮหรือละหมาดวันศุกร์ อีกส่วนหนึ่งคือ ฟัรดูกิฟายะฮู เป็นละหมาดที่บังคับต้องปฏิบัติแต่มีเงื่อนไขในการปฏิบัติตามสถานการณ์ คือหากมีผู้ปฏิบัติอยู่บ้างแล้วจะไม่เป็นบาปแก่คนทั้งหมด เช่น ละหมาดวันอีด (คือการละหมาดในวันอิดิลฟิตรี และอิดิลอัฎฮา)
ละหมาดญะนาซะฮ (ละหมาดคนตาย) ส่วนการละหมาดสุหนัต เป็นการละหมาดเนื่องในเวลาและโอกาสต่าง ๆนอกเหนือจากการละหมาดฟัรดู

ความสำคัญ
ชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลามทุกคนต้องปฏิบัติศาสนกิจอย่างเคร่งครัดเพราะ การละหมาดเป็นศาสนกิจเพื่อเข้าเฝ้าต่อเบื้องพระพักตร์ของพระผู้เป็นเจ้าอัลลอฮ (ซุบฮาฯ) ด้วยความสงบ สำรวม จึงเป็นหน้าที่ของมุสลิมทุกคนที่จะต้องปฏิบัติเป็นกิจวัตรประจำวัน วันละ ๕ เวลาตลอดไป

พิธีกรรม
ในการละหมาดนั้นจะเริ่มปฏิบัติตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ การละหมาดฟัรดูทั้ง ๕ เวลาคือ ซุนฮ ดุฮริด อัสริอ มักริม และอีซา ซึ่งมีจำนวนรอกาอัตที่แตกต่างกันคือ ๒, ๔, ๔, ๓และ ๔ รอกาอัต ในรอกาอัตหนึ่ง ๆ ประกอบด้วยท่ายืน ท่าก้มโค้ง (รูกูอ) ท่าก้มกราบ(สุญูด) และท่านั่ง ด้วยความสงบสำรวม การก้มกราบ (สุญูด) มุสลิมจะก้มกราบได้เฉพาะกับพระเจ้าอัลลอฮ (ซุบฮาฯ)องค์เดียวเท่านั้น เวลาละหมาดให้หันหน้าไปทางกิบละอ ซึ่งกิบละอของไทยอยู่ทางทิศตะวันตก สำหรับการละหมาดญุมอะฮ หรือชาวไทยมุสลิมเรียกว่า "ละหมาดวันศุกร์" เป็นละหมาดฟีรดูจำเป็นหรือบังคับสำหรับผู้ชายที่จะต้องไปละหมาดรวมกันโดยมีอิหม่ามเป็นผู้นำละหมาด ซึ่งมีจำนวน ๒ รอกาอัด หลังจากการกล่าวคุฎบะฮ (คำอบรมของอิหม่าม) สถานที่ควรเป็นมัสยิด หากบริเวณนั้นไม่มีมัสยิดก็ให้รวมกันเพื่อการละหมาดในสถานที่ที่สะอาด โดยให้มีผู้ทำหน้าที่ มุอัซซิน กล่าวคุฎบะฮและนำละหมาด