ชื่อ
กวนข้าวยาคู (ข้าวมธุปายาสยาคู)
ภาคใต้
จังหวัด นครศรีธรรมราช



ช่วงเวลา ชาวบ้านนิยมกวนข้าวยาคูในวันขึ้น ๑๓ และ ๑๔ ค่ำ เดือน ๓ โดยใช้วัดเป็นสถานที่ประกอบพิธี ส่วนมากเริ่มกวนเวลา ๑๙.๐๐ นาฬิกา จนถึง ๐๐.๓๐ นาฬิกา

ความสำคัญ
เป็นความเชื่อเกี่ยวเนื่องกับพุทธประวัติ ตอนนางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาสยาคู เมื่อพระพุทธเจ้าเสวยแล้วก็ทรงบรรลุอภิสัมโพธิญาณ พุทธศาสนิกชนชาวนครศรีธรรมราชมีความเชื่อว่า ข้าวยาคูเป็นอาหารทิพย์ ผู้ได้รับประทานจะมีสมองดีเกิดปัญญา มีอายุยืนยาวลานามัยสมบูรณ์ ผิวพรรณผ่องใส และเป็นยาขนานเอกที่สามารถขจัดโรคร้ายได้ทุกชนิด ทั้งยังบันดาลความสำเร็จสมความปรารถนาในสิ่งที่คิดด้วย

พิธีกรรม
๑. การเตรียมบุคลากรที่สำคัญ
๑.๑ สาวพรหมจารี นุ่งขาวห่มขาว ต้องรับสมาทานเบญจศีลก่อนเข้าพิธีกวน เพื่อความบริสุทธิ์ และความเป็นสิริมงคล
๑.๒ พระสงฆ์ สำหรับสวดชัยมงคลคาถา เตรียมด้ายสายสิญจน์โยงจากพระสงฆ์ผูกไว้ที่ไม้กวน (ไม้พาย)
๒. พิธีกวน สาวพรหมจารีจับไม้กวน มีการลั่นฆ้องชัยตั้งอีโหย้ (โห่สามลา) พระสงฆ์จะสวดชยันโตตั้งแต่เริ่มกวน จนสวดจบถือว่าเสร็จพิธี ซึ่งต่อไปชาวบ้านใครจะกวนก็ได้
๓. วิธีกวน ข้าวยาคูจะกวนประมาณ ๘-๙ ชั่วโมง จึงแล้วเสร็จ และจะต้องกวนอยู่ตลอดเวลา เมื่อเริ่มเหนียวจะใช้น้ำมันมะพร้าวที่เคี่ยวไว้เติมลงในกระทะ ข้าวยาคูจะเปลี่ยนเป็นสีคล้ำเมื่อกวนเสร็จ และมีกลิ่นหอมเครื่องเทศ

สาระ
พิธีกรรมกวนข้าวยาคูให้สาระสำคัญดังนี้
๑. ความสามัคคีของชาวบ้านในการกวนข้าวยาคู ซึ่งข้าวยาคูจะทำสำเร็จได้ด้วยความสามัคคี การปรองดอง พร้อมเพรียงกัน ในการตระเตรียมเครื่องใช้และเครื่องปรุงซึ่งมีมากกว่า ๕๐ ชนิด ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อย ๓ วัน แต่ละครั้งจะกวนข้าวยาคูประมาณ ๑๐ กระทะ เตาไฟขุด ๑๐ เตา และต้องมีคนกวนข้าวยาคูอยู่ตลอดเวลาประมาณ ๙ ชั่วโมง เมื่อข้าวยาคูเริ่มเหนียวหนืดจะหนักมากต้องใช้แรงผู้ชายกวน ชาวบ้านจึงต้องร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง การกวนข้าวยาคูจึงสำเร็จ
๒. การแบ่งปันข้าวยาคู โดยตักใส่ถาดเกลี่ยให้บาง ๆ ตัดเป็นชิ้นนำไปถวายพระในวัดแจกจ่ายญาติมิตรที่มาร่วมในพิธีให้ทั่วทุกคน ที่เหลือจัดส่งไปยังวัดต่าง ๆ และนำไปฝากญาติมิตร การแบ่งปันข้าวยาคูนี้แสดงให้เห็นว่าทุกคนมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน เกิดความห่วงใยซึ่งกันและกัน แม้ไม่ได้มาร่วมกวนข้าวยาคู ก็จะได้รับข้าวยาคูเป็นของฝากให้ได้รับประทานทั่วถึงทุกคน