ชื่อ
แห่ผ้าขึ้นธาตุ
ภาคใต้
จังหวัด นครศรีธรรมราช



ช่วงเวลา การแห่ผ้าขึ้นธาตุมีปีละ ๒ ครั้ง คือ ในวันมาฆบูชา ขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๓ และวันวิสาขบูชา ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ โดยนำผ้าไปห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ณ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช

ความสำคัญ
พุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช เชื่อว่า การทำบุญและการกราบไหว้บูชาที่ให้ได้กุศลจริงจะต้องปฏิบัติต่อพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า และใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้าให้มากที่สุด เมื่อพระองค์เสด็จปรินิพพานแล้ว ก็ยังมีสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้าอยู่ ได้แก่ พระธาตุเจดีย์ พระพุทธรูป การกราบไหว้บูชาสิ่งเหล่านี้ เท่ากับเป็นการกราบไหว้บูชาต่อพระพักตร์พระพุทธองค์เช่นเดียวกัน
การที่ชาวนครศรีธรรมราชนำผ้าไปบูชาพระบรมธาตุเจดีย์ ด้วยการโอบรอบองค์พระ-บรมธาตุเจดีย์ ถือว่าพระบรมธาตุเจดีย์เป็นเสมือนพระพุทธเจ้าเป็นการบูชาที่สนิทแนบกับพระพุทธองค์

พิธีกรรม
๑. การเตรียมผ้าห่มพระบรมธาตุเจดีย์
ผ้าที่นำขึ้นห่มพระธาตุ มักจะนิยมใช้สีขาว เหลือง และแดง พุทธศาสนิกชนคนใดต้องการห่มผ้าพระธาตุ จะเตรียมผ้าขนาดความยาวตามความต้องการของตน แต่ส่วนมากจะนำผ้ามาเย็บต่อกัน ซึ่งเป็นขนาดที่สามารถห่มพระธาตุรอบองค์ได้ หากใครต้องการทำบุญร่วมด้วยก็จะบริจาคเงินสมทบ
การตกแต่งผ้าห่มพระธาตุ บางคนประดิษฐ์ตกแต่งชายขอบผ้าประดับด้วยริบบิ้น พู่ห้อย แพรพรรณ ลวดลายดอกไม้สวยงาม แต่ผ้าห่มพระธาตุผืนพิเศษ จะเขียนภาพพุทธประวัติทั้งผืนยาว โดยช่างผู้ชำนาญเขียนภาพ แสดงให้เห็นความถึงความตั้งใจ ความมานะ พยายาม ในการทำผ้าพระบฏขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชาองค์พระบรมธาตุเจดีย์ แต่ในปัจจุบันผ้าห่มพระธาตุส่วนใหญ่เป็นผ้าผืนยาวเรียบ ๆ ธรรมดา
๒. การจัดขบวนแห่ผ้าขึ้นธาตุ และการถวายผ้า
ขบวนแห่ผ้าขึ้นธาตุ มาจากหลายทิศทางแต่ละคนต่างเตรียมผ้ามาเอง ใครจะแห่ผ้าขึ้นธาตุในเวลาใด ก็ได้ตามสะดวก ตลอดทั้งวันจึงมีขบวนแห่ผ้าขึ้นธาตุโดยมิได้ขาด และมักจะมีดนตรีนำหน้าขบวนเครื่องดนตรีมีเพียงน้อยชิ้น ส่วนมากแทบทุกคณะจะมีคณะกลองยาวเป็นดนตรีนำขบวน ซึ่งบรรเลงจังหวะที่ครึกครื้น เพื่อช่วยให้เดินสะดวก ขบวนแห่ผ้าขึ้นธาตุจะยืนแถวเรียงเป็นริ้วขบวนยาวไปตามความยาวของผืนผ้า ทุกคนทูนชูผ้าพระบฏไว้เหนือศีรษะ ทั้งนี้เพราะเชื่อกันว่าผ้าพระบฏเป็นเครื่องสักการะพระพุทธเจ้า จึงควรแก่การบูชาจะถือไว้ในระดับต่ำกว่าศีรษะไม่ได้โดยเด็ดขาด
วิธีการถวายผ้าพระบฏ เมื่อขบวนแห่ผ้าขึ้นธาตุถึงวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารแล้ว จะทำพิธีถวายผ้าพระบฏเพื่อเป็นพุทธบูชา โดยมีหัวหน้าคณะกล่าวนำผู้ร่วมขบวนว่าตามพร้อมกัน
๓. การนำผ้าขึ้นห่มพระธาตุ
หลังจากทุกคนกล่าวคำถวายผ้าพระบฏเรียบร้อยแล้ว จะแห่ทักษิณาวัตรรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ๓ รอบ แล้วนำผ้าเข้าสู่วิหารพระทรงม้า (พระวิหารมหาภิเนษกรมณ์) ซึ่งมีบันไดขึ้นสู่ลานภายในกำแพงแก้วล้อมฐานพระบรมธาตุเจดีย์
ตอนนี้ผู้ที่ร่วมในขบวนแห่จะส่งผู้แทนเพียง ๓ ถึง ๔ คน สมทบกับเจ้าหน้าที่ของวัดนำผ้าพระบฏขึ้นโอบรอบพระบรมธาตุเจดีย์ ที่ไม่สามารถขึ้นไปบนกำแพงแก้วได้หมดทั้งขบวนเพราะทางวัดได้กำหนดให้ลานภายในกำแพงแก้วเป็นเขตหวงห้าม ยกเว้นการนำผ้าพระบฏขึ้นบูชาองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ทั้งนี้เพราะเชื่อว่า ใต้ลานกำแพงแก้วในฐานพระบรมธาตุเจดีย์มีพระบรมสาริกธาตุประดิษฐานอยู่หากขึ้นไปเดินบนลานจะไม่เป็นการสมควร

สาระ
ความศรัทธาในพุทธศาสนา ทำให้พุทธศาสนิกชนมีจิตใจแน่วแน่ที่จะบูชาองค์พระบรมธาตุเจดีย์ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ปีหนึ่งจะต้องมาห่มผ้าพระธาตุครั้งหนึ่งไม่ให้ขาด ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ จึงให้สาระและความสำคัญดังนี้
๑. แสดงให้เห็นลักษณะของชาวนครศรีธรรมราช ที่ยึดมั่นอยู่ในพุทธศาสนา การทำบุญเพื่ออุทิศเป็นพุทธบูชาเพราะมีความประสงค์จะอยู่ใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้า
๒. แสดงให้เห็นว่าองค์พระบรมธาตุเจดีย์ เป็นศูนย์รวมจิตใจพุทธศาสนิกชนทั่วทุกทิศ จึงประสงค์มาห่มผ้าพระธาตุอย่างพร้อมเพรียงกัน