ชื่อ
ลาซัง - โต๊ะชุมพุก
ภาคใต้
จังหวัด ปัตตานี



ช่วงเวลา นิยมทำกันในเดือน ๖ ของทุกปี และจะเลือกวันที่เป็นวันมงคลที่เหมาะกับการจัดพิธีแต่งงาน

ความสำคัญ
เป็นพิธีกรรมที่กระทำขึ้น เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจในการประกอบอาชีพชาวนา หลังจากเหน็ดเหนื่อยจากการทำนามาทั้งปี ประเพณี "ลาซัง - โต๊ะชุมพุก" ได้ช่วยผ่อนคลายให้ชาวบ้านได้สนุกสนาน อีกทั้งเป็นการเสริมสร้างขวัญ กำลังใจที่จะไถหว่านในปีต่อไป จึงเป็นประเพณีหนึ่งที่เราควรอนุรักษ์ไว้สืบไปเคียงคู่กับความกตัญญู ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ดีงามของไทยเรา

พิธีกรรม
เมื่อเสร็จสิ้นจาการเก็บเกี่ยวในรอบปีแล้ว บรรดาผู้นำหมู่บ้านก็จะหารือกันกำหนดวันทำพิธีลาซัง ฯ เมื่อใกล้ถึงวันกำหนดทุกบ้านก็จะเอาฟางจากที่นาของตนมาคนละกำมือ นำมามัดรวมกันเป็นหุ่น (โต๊ะชุมพุก) ผู้หญิงหรือผู้ชายก็จะกำหนดไว้ล่วงหน้า ให้มีจำนวนเท่ากัน โดยผลัดเปลี่ยนไปทุกหมู่บ้าน หุ่นผู้ชายคือเจ้าบ่าว หุ่นผู้หญิงคือเจ้าสาว การทำหุ่นจะระดมผู้มีฝีมือมาช่วยกันทำอย่างสุดฝีมือ พอถึงวันกำหนดนัดหมาย ทุกคนในหมู่บ้าน ก็จะแต่งกายด้วยชุดที่สวยงาม เหมือนการแห่ขันหมากไปแต่งงาน มีผู้ถือขันหมาก ชุดกลองยาว คนรำนำขบวนแห่ และผู้ร่วมขบวนแห่ตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงผู้เฒ่าผู้แก่ แต่ในขันหมากแทนที่จะเป็นพลูก็เป็นรวงข้าวที่จะนำไปทำพิธีทำขวัญข้าวเก็บไว้ในยุ้งฉาง เมื่อถึงสถานที่นัดหมาย
ก็จะนำเอาหุ่นโต๊ะชุมพุกทั้งหมดมาหาคู่ว่า หุ่นผู้ชายหมู่บ้านใดจะได้คู่แต่งงานกับหุ่นเจ้าสาวของหมู่บ้านใด โดยการหยิบฉลากจากประธานจัดงาน เมื่อได้คู่แล้วก็เริ่มพิธีแต่งงานเหมือนพิธีแต่งงานของคนโดยทั่วไป หลังจากได้คู่แล้วชาวบ้านในหมู่บ้านเจ้าของหุ่นก็ได้เป็นญาติเกี่ยวดองกัน ซึ่งเป็นการเสริมสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นอีกทางหนึ่ง

สาระ
ลาซัง - โต๊ะชุมพุก ของอำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี นับว่าเป็นประเพณีปฏิบัติอย่างหนึ่ง ที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรม ได้เห็นการทำงานร่วมกันของคนในท้องถิ่นที่เปี่ยมไปด้วยความสมัครสมานสามัคคี และที่สำคัญที่สุดคือ ความเป็นยอดแห่งความกตัญญูกตเวที ที่มีต่อพระแม่โพสพซึ่งเป็นเทพแห่งข้าว