ชื่อ
เช้งเม้ง
ภาคใต้
จังหวัด พังงา



ช่วงเวลา วันเช้งเม้งจะทำกันช่วงต้นเดือนเมษายน ก่อนประเพณีสงกรานต์

ความสำคัญ
วันเช้งเม้งเป็นวันที่ลูกหลานมาร่วมกันเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่หลุมฝังศพ โดยก่อนถึงวันเช้งเม้งลูกหลานจะไปทำความสะอาดถางป่า ถากหญ้าบริเวณเจดีย์หรือหลุมฝังศพให้เตียน และจะต้องพูนดินที่หลุมให้สูง เหตุเพราะเชื่อว่าถ้าพูนดินบนหลุมให้สูงแล้วจะทำให้ลูกหลานทำมาค้าขึ้น มีฐานะดีขึ้น นอกจากนั้นยังทำให้สามารถพบปะสังสรรค์กันระหว่างญาติมิตรได้อีกด้วย

พิธีกรรม
๑ อุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรม มีดังนี้
๑) เส้ง คืออาหาร ๘ อย่างมี ไก่ต้ม หมูต้ม เส้นหมี่เหลือง ปลาหมึกแห้ง ไข่ต้ม จัดใส่ถาดเดียวกัน (ถ้ามี ๓ อย่างคือ เส้นหมี่เหลือง หมูต้ม และไข่ต้ม เรียกว่า สามเส้ง)
๒) ขนม ๓ อย่าง คือ ขนมเต่า (ให้อายุยืน) ขนมฮวดโก้ย (ให้ฟูมีฐานะดี ทำมาหากินคล่อง) และข้าวเหนียวกวน
๓) ขนมเต่เหลียว มีขนมหลายอย่าง คือ ขนมก้านบัว ลูกกวาด ถั่วตัด ข้าวเหนียวตัด ขนมปลา
๔) ผลไม้ นิยมใช้สัปปะรด
๕) น้ำชา
๖) กระดาษสีต่าง ๆ (เรียกว่า บ่องจั้ว) กระดาษเงิน (หมายถึงเงินที่ลูกหลานให้บรรพบุรุษสำหรับใช้จ่าย) กระดาษทอง ประทัด ธงเทียว กาว (ก๋อ ทำโดยใช้แป้งมันสำปะหลังละลายน้ำแล้วนำไปตั้งไฟกวนจนแป้งสุก)
๗) ธูปเทียนแดง
๒ การไหว้ มีดังนี้ คือ
๑) เมื่อไปถึงลูกหลานจะช่วยกันตกแต่งหลุมศพให้สวยงามด้วยการวางกระดาษสีบนหลุมแล้วปักธงเทียวรอบ ๆ หรืออาจปักลงบนกระดาษสีก็ได้
๒) นำอาหารที่เตรียมไว้มี เส้ง ขนม ๑ จาน (ขนมเต่า ฮวดโก้ย เหนียวกวน) สับปะรด น้ำชา ๓ จอก ปักเทียนแดง ๒ เล่ม ธูปคนละ ๒ ดอก
๓) เมื่อธูปติดเกือบหมด จึงเผากระดาษเงิน (หมายถึง ลูกหลานให้เงินแก่บรรพบุรุษสำหรับใช้จ่าย) แล้วจุดประทัด เป็นอันเสร็จสิ้นพิธีกรรม

สาระ
วันเช้งเม้ง เป็นวันสำคัญที่ลูกหลานมาเคารพสักการะหลุมศพโดยการทำความสะอาด การนำของมาเซ่นไหว้ให้กับบรรพบุรุษซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญู มีความรักใคร่สามัคคีกันในหมู่เครือญาติและมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่